ถึงเวลาปรับปรุงระบบการคุ้มครองเด็ก เพื่อปกป้องอนาคตของชาติ

บุญวรา สุมะโน
ณัฐินี ณ เชียงใหม่

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีข่าวความรุนแรงต่อเด็กที่ถูกนำมารายงานหลายข่าว เมื่อพิจารณาแล้วจะพบรูปแบบการกระทำความรุนแรงที่คล้ายกัน อาทิ

ผู้กระทำคือคนใกล้ตัว และผู้ถูกกระทำคือผู้ที่ด้อยกว่าในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่น เด็กและผู้หญิงข้อมูลจากการรับแจ้งเหตุของสายด่วน 1300 พบว่าตั้งแต่ ต.ค. 2561 ถึง ก.ย. 2562 มีจำนวนเด็กและเยาวชนที่ถูกกระทำความรุนแรงเฉลี่ยวันละ 5 คน และหากนับเฉพาะกรณีความรุนแรงในครอบครัวเฉลี่ย 3 คนต่อวัน รูปแบบที่พบมากที่สุด คือ การทำร้ายร่างกาย โดยมีพ่อ/แม่เป็นผู้กระทำ

เมื่อพิจารณาว่าตัวเลขการแจ้งเหตุที่สายด่วน 1300 เท่านั้น แสดงว่าตัวเลขเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงทั้งหมดในประเทศไทยน่าจะสูงกว่านี้ และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเด็กจำนวนมากกำลังเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งควรจะเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับพวกเขา และในขณะเดียวกันก็สื่อว่า ระบบการคุ้มครองเด็กในปัจจุบันยังเข้าไม่ถึงหน่วยในสังคมที่เล็กที่สุดอย่างครอบครัวได้ดีเท่าที่ควร

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อาจทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ต่อเด็กเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงเดือนมี.ค. และ เม.ย. 2563 พบว่า จำนวนการแจ้งเหตุมีรายงานลดน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยจำนวนรายงานความรุนแรงในเดือน มี.ค. และ เม.ย. 2563 คือ 154 และ 137 กรณี เทียบกับเดือน มี.ค.และ เม.ย. 2562 คือ 155 และ 176 กรณี ตามลำดับ โดยสาเหตุหนึ่งอาจมาจากการที่ผู้ต้องการรายงานเหตุความรุนแรงเข้าไม่ถึงบริการสายด่วน 1300 เพราะมีผู้เดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 โทรศัพท์เข้าไปขอความช่วยเหลือจำนวนมาก แต่ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 2563 ตัวเลขการรายงานความรุนแรงในครอบครัวที่เข้ามายังสายด่วน 1300 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคือ 169 และ 182 กรณี ในปี 2563 เทียบกับ 151 และ 164 กรณีในปี 2562 นับเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 11%

ทั้งนี้ หากดูสถิติในระบบข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงในครอบครัว จะพบว่า ความรุนแรงที่มีผู้ถูกกระทำเป็นเด็กมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 17% ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบการคุ้มครองเด็กในประเทศ โด ยพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งออกมา 17 ปีที่แล้วอาจไม่สามารถป้องกันและรับมือความท้าทายและความเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน เช่น การใช้อินเตอร์เนต นอกจากนี้ งานวิจัยประสิทธิภาพกลไกการคุ้มครองเด็กพบว่าบุคลากรในระบบคุ้มครองเด็กยังขาดความเข้าใจ รวมทั้งทักษะและเครื่องมือในการปฏิบัติงาน อาทิ ฐานข้อมูลสถานการณ์เด็กในพื้นที่ ส่งผลให้กระบวนการคุ้มครองเด็กยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ[1]

แม้ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ระบุลักษณะเด็กที่พึงได้รับการสงเคราะห์และคุ้มครองชัดเจน แต่ข้อมูลสถิติเด็กกลุ่มดังกล่าวถูกเก็บและรับผิดชอบ โดยหน่วยงานที่แตกต่างกันตามภารกิจ อาทิ เด็กกระทำผิดจัดเก็บโดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นักเรียนที่ออกจากระบบการศึกษารับผิดชอบโดยกระทรวงศึกษาธิการและข้อมูลแม่วัยรุ่นโดยกรมอนามัย เป็นต้น ข้อมูลที่กระจายอยู่ในหน่วยงานต่างกระทรวงนี้ หากมีการบูรณาการจะสามารถนำมาใช้ในการเฝ้าระวังและวางแผนลดปัจจัยเสี่ยงก่อนที่เด็กคนหนึ่งจะกลายเป็นผู้ประสบปัญหาทางสังคมได้

รายงานของ UNICEF ในปี 2558 ระบุว่า มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการกระทำมิชอบต่อเด็ก (child maltreatment) ได้แก่ การทำร้ายร่างกาย ทางจิตใจ ทางเพศ การละเลยเพิกเฉย หรือการให้รับรู้ต่อความรุนแรง ที่เกิดขึ้นในประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งรวมไทยด้วยนั้น สูงถึง 209 พันล้าน ดอลลาร์ต่อปี หรือคิดเป็น 2% ของ GDP ในภูมิภาคนี้[2] หากเราคำนึงว่าเด็กคือนาคตของชาติ การลงทุนปรับปรุงระบบคุ้มครองเด็กย่อมเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเท่ากับการลงทุนเพื่อปกป้องอนาคตของชาติ

ในปัจจุบัน กำลังมีความพยายามปรับปรุงระบบการคุ้มครองเด็ก โดยมีร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มีจุดเด่น คือให้อปท. เข้ามามีส่วนร่วมในระบบการคุ้มครองในระดับท้องถิ่น เนื่องจากปัจจุบันผู้ปฏิบัติงานคือเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในสำนักงานระดับจังหวัด การเพิ่มการดูแล ผู้ปฏิบัติงานมีความเข้าใจบริบทและสถานการณ์พื้นที่ดีกว่าบุคคลที่อยู่ในส่วนกลาง จะสามารถดำเนินกิจกรรมการเฝ้าระวังและส่งเสริมการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้

เราสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขและพัฒนาระบบการคุ้มครองเด็กได้ โดยร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวอยู่ในกระบวนการเปิดรับฟังความเห็นในเว็บไซต์ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 10 ส.ค. 2563 

[1] Coram International (2017) Quantitative and Qualitative Baseline Assessment of Specific Indicators related to the Thailand Child Protection System

[2] UNICEF (2015).Estimating the Economic Burden of Violence against Children in East Asia and the Pacific.

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 30 กรกฎาคม 2563