ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์เสถียรภาพทางการคลัง ซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 ของ GDP โดยนิยามหนี้สาธารณะไทยครอบคลุมภาระหนี้ของรัฐวิสาหกิจ ที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 6.4 ของ GDP ซึ่งทำให้ข้อมูลหนี้สาธารณะของประเทศไทยดูจะสูงกว่าปกติเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลที่นับเฉพาะหนี้รัฐบาลกลางเท่านั้น
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจมหภาคในระดับสูง (อันดับ 43 จัดอันดับโดย WEF) ประกอบกับการอัดฉีดเงิน QE จากธนาคารกลางของสหรัฐ ยุโรป และประเทศญี่ปุ่น ทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในขาลง ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินโดยรัฐบาลมีต้นทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปี 5 ปี และ 10 ปี อยู่ที่ร้อยละ 1.31 ร้อยละ 1.73 และร้อยละ 2.01 ต่อปี ในปี 2562
รูปที่ 1: สถิติหนี้สาธารณะต่อ GDP และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล
ดังนั้น จากระดับหนี้สาธารณะที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ประเทศไทยจึงมีช่องว่างในการกู้ยืมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกมาก โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และการกู้ยืมเงินดังกล่าวจะไม่ส่งผลเสียทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นจนกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน (Crowding-Out Effect) และจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาระทางการคลังจนทำให้เกิดปัญหาเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โดย คณะวิจัย TDRI
14 สิงหาคม 2563