tdri logo
tdri logo
14 สิงหาคม 2020
Read in Minutes

Views

6 มิติความเปราะบางระดับจังหวัด ในวิกฤติโควิด-19

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งในภาคเศรษฐกิจและภาคสังคม ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในด้านต่างๆ ที่พื้นฐานเดิมต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น เช่น ผู้มีรายได้น้อย คนไร้บ้าน ธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าว หรือแม้แต่ธุรกิจที่ต้องพึ่งพาอาศัยคนต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว ที่โดนจำกัดการประกอบกิจการจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในงานศึกษานี้ จะชี้ให้เห็นถึงจังหวัดที่มีความเปราะบางในมิติต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังและออกนโยบายหรือมาตรการที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม  

ความยากจน 

ตามนิยามความยากจน จะพิจารณาจากเส้นความยากจนซึ่งวัดด้านการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จากฐานข้อมูลปี 2561 พบว่า โดยเฉลี่ยทั่วประเทศ มีเส้นความยากจนอยู่ที่ 2,710 บาทต่อคนต่อเดือน เมื่อนำมาพิจารณาถึงจังหวัดที่มีความเปราะบางสูงมากในด้านความยากจน พบว่า จังหวัดที่มีจำนวนคนจนต่ำกว่าเส้นความยากจนสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (375,185 คน) บุรีรัมย์ (261,121 คน) กาฬสินธุ์ (251,497 คน) และปัตตานี (248,440 คน) 

ผู้มีรายได้น้อย 

กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย จะพิจารณาเกณฑ์ที่รายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี โดยอาศัยข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จังหวัดเปราะบางที่มีจำนวนครัวเรือนที่รายได้ต่อครัวเรือนต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี สูงที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ (2,420,141 ครัวเรือน) สมุทรปราการ (554,245 ครัวเรือน) ชลบุรี (485,816 ครัวเรือน) นนทบุรี (457,186 ครัวเรือน) และปทุมธานี (383,507 ครัวเรือน) 

หนี้นอกระบบ 

ครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบสูง ถือเป็นครัวเรือนที่มีความเสี่ยงทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จังหวัดเปราะบางที่มีครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ (148,269 ครัวเรือน) ปัตตานี (61,960 ครัวเรือน) สมุทรปราการ (47,493 ครัวเรือน) สุรินทร์ (37,889 ครัวเรือน) และนครราชสีมา (31,226 ครัวเรือน)  

คนไร้บ้าน 

คนไร้บ้าน ถือเป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่สำคัญ จากข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ปี 2562 พบว่า จังหวัดที่มีจำนวนคนไร้บ้านจำนวนมาก ได้แก่ กรุงเทพฯ (1,029 คน) นครราชสีมา (133 คน) เชียงใหม่ (112 คน) สงขลา (100 คน) ชลบุรี (87 คน) ขอนแก่น (76 คน) 

แรงงานต่างด้าว 

แรงงานต่างด้าวนับเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย จากข้อมูลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2561 พบว่า จังหวัดที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ได้แก่ กรุงเทพฯ (588,795 คน) สมุทรสาคร (190,020 คน) นครปฐม (138,892 คน) นนทบุรี (135,723 คน) ชลบุรี (111,496 คน) สมุทรปราการ (110,943 คน) และปทุมธานี (97,067 คน) 

นักท่องเที่ยวต่างชาติ 

นักท่องเที่ยวต่างชาติมีส่วนสำคัญในการนำรายได้เข้าสู่ประเทศ และช่วยสร้างงานให้แก่คนในพื้นที่ อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับผลกระทบทั้งหมด จากข้อมูลรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศ ต่อ GPP โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า จังหวัดที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ภูเก็ต (1.79 เท่า) กระบี่ (0.91 เท่า) พังงา (0.61 เท่า) 

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 มีจังหวัดเปราะบางที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังในหลายมิติ ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์ที่เริ่มรุนแรงขึ้นทั่วโลก อาจเริ่มส่งผลกระทบต่อประเทศได้ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีความเปราะบางสูง 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

(ชื่อบทความเดิม: ปัญหาจังหวัดเปราะบาง 6 มิติ)

โดย ผศ.ดร. ปิยะพรรณ ช่างวัฒนชัย และทีมวิจัย 
14 สิงหาคม 2563 

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด