tdri logo
tdri logo
11 กันยายน 2020
Read in Minutes

Views

5 ประเด็นระยะกลางที่ควรจับตามอง

คณะผู้วิจัยได้ทำการประชุมภายในสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของผู้บริหารสถาบัน ซึ่งประกอบไปด้วย คณะกรรมการบริหารสถาบัน โดยการจัดประชุมครั้งนี้เป็นวาระหนึ่งในการประชุมประจำเดือนของคณะกรรมการบริหารสถาบันที่จัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2563  

ในที่ประชุมได้มีการให้ความเห็นถึงประเด็นที่สำคัญในระยะกลางรวม 5 ประเด็นที่ต้องจับตามอง มีดังนี้ 

1. ประเด็นเรื่องการจัดการหนี้การบินไทย 

บริษัทการบินไทยเป็นองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ทำให้เกิดการขาดทุนอย่างมหาศาล จนต้องเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตามมติของคณะกรรมการบริษัทฯ ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 25631  

มูลเหตุที่เป็นประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากบริษัทการบินไทย เคยมีผลประกอบการที่ไม่ดีมาก่อนแม้แต่ในช่วงก่อนที่เกิดวิกฤติการณ์โควิด-19 โดยมีผลการขาดทุนในช่วง 3 ปีล่าสุดที่ -2,107 ล้านบาทในปี 2560 -11,625 ล้านบาทในปี 2561 และ -12,042 ในปี 2562 ซึ่งทำให้สถานะงบการเงินในปี 2562 เหลือส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่เพียง 11,659 ล้านบาท หรืออีกนัยยะหนึ่งก็คือ ถ้าปี 2563 ไม่ได้เกิดสถานการณ์โควิด-19 และบริษัทการบินไทยยังมีผลประกอบการขาดทุนแบบที่เคยเกิดขึ้นในปี 2562 ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเช่นเดียวกัน 

เมื่อพิจารณาถึงมูลหนี้ที่ต้องมีการจัดการซึ่งปรากฏอยู่ในสถานการณ์หนี้สินรวม จะพบว่าหนี้สินที่ต้องมีการจัดการอยู่ในระดับแสนล้านบาท ทำให้การอัดฉีดเม็ดเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ภาครัฐร่วมทุนจะต้องมีการอัดฉีดในระดับที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณโดยตรง หรือ การที่ธนาคารของรัฐจะต้องเข้ามาร่วมแก้ไขวิกฤติการณ์ครั้งนี้ด้วย จึงเกิดเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญว่า ภาครัฐควรที่จะอุ้มธุรกิจต่อไป หรือควรที่ถือโอกาสที่เกิดวิกฤติ ปล่อยให้ธุรกิจเข้าสู่การฟื้นฟูโดยที่ไม่แทรกแซงเพื่อให้เกิดกลไกการแข่งขันที่จะบีบคั้นให้ธุรกิจต้องเอาตัวรอดให้ได้ด้วยตนเอง 

รูปที่ 1: งบงวดการเงินของบริษัทการบินไทย 

ที่มา: www.set.or.th 

 2. ประเด็นเรื่องการสร้างรายได้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางการคลัง 

ในประเด็นนี้ สืบเนื่องจากการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทของภาครัฐ ผ่าน พรก. 1.9 ล้านล้านบาท ทำให้สถานการณ์หนี้สาธาณะของไทยมีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นมาเป็นร้อยละ 57 ของ GDP ซึ่งถือว่าใกล้เคียงที่จะข้ามระดับเพดานหนี้สาธารณะที่สะท้อนเสถียรภาพทางด้านการคลัง (กำหนดโดยภาครัฐตาม พ.ร.บ. วินัยทางการเงินการคลังที่ร้อยละ 60 ของ GDP)  

แม้ว่าในไส้ในของการก่อหนี้จะมีสัดส่วนเงินกู้ที่มาจากการลงทุนภาครัฐ ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างรายได้กลับมาในอนาคตได้ แต่กระนั้น การขาดเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่จะเข้ามาทดแทนการสูญเสียเครื่องจักรทางเศรษฐกิจเดิม ก็ยังคงมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ปัจจุบันที่แผนการพัฒนาการซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO อาจจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว เนื่องจากไม่มีผู้มาลงทุนทำกิจการ และประเทศคู่แข่งอีกหลายๆ ประเทศก็เริ่มมีแนวทางที่จะพัฒนาคล้ายคลึงกัน ในขณะที่การเดินทางด้านอากาศยานในปัจจุบันก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังไม่รู้ว่าอุปสงค์ของการเดินทาง ซึ่งเกี่ยวพันกับอุปสงค์ของการซ๋อมอากาศยานจะพลิกฟื้นกลับมาเมื่อไหร่ 

ดังนั้น ภาครัฐควรจะต้องสร้างเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ประเทศมีรายได้เข้ามาทดแทนเครื่องจักรตัวเก่าที่ไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในสถานะทางการคลังของไทยให้ดีขึ้นอีกด้วย  

3. ประเด็นเรื่องการจัดการกับหนี้ NPLs ที่เพิ่มสูงขึ้น 

แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์หนี้ NPLs ของประเทศในทุกภาคส่วนจะยังไม่สูงมากนัก แต่ก็เป็นเพราะว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการออกมาช่วยประคองสถานะหนี้ไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งยังคงมีความไม่แน่ชัดว่าปัญหาที่แท้จริงจะได้รับการแก้ไขมากน้อยเพียงใด หรือก็คือ ธุรกิจสามารถที่จะกลับมายืนได้ด้วยตนเองหรือไม่ หากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือ 

หากสังเกตข้อมูล NPLs และ SM ของไตรมาสที่ 2 ระหว่างปี 2562 และ 2563 จะพบตัวเลขที่น่าสนใจคือ ระดับ NPL ต่อสินเชื่อรวมเฉลี่ยจะมีการเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยเพิ่มจากร้อยละ 2.95 เป็นร้อยละ 3.08 หรือมียอดคงค้างเพิ่มขั้นประมาณ 59,000 ล้านบาท แต่ถ้าพิจารณาหนี้ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ หรือกลุ่มนี้ที่มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็น NPL ในอนาคต จะพบว่ามีการเพิ่มขึ้นสูงมาก จากร้อยละ 2.74 มาเป็นร้อยละ 7.53 ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือมีขนาดของหนี้ที่เสี่ยงเพิ่มสูงถึงเกือบ 812,000 ล้านบาท เทียบเท่ากับเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเกือบ 3 เท่า   

ตารางที่1: แสดงสถานะหนี้ NPL และ SM ในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 

    Q2/2562 Q2/2562 
ยอดคงค้าง NPL % ต่อสินเชื่อรวม ยอดคงค้าง SM % ต่อสินเชื่อรวม 
การเกษตร การป่าไม้ และการประมง 6,166 6.07 4,043 3.98 
การเหมืองแร่และเหมืองหิน 749 1.03 3,654 5.03 
การผลิต 121,327 5.61 86,792 4.01 
การก่อสร้าง 16,455 6.20 8,648 3.26 
การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 112,069 5.76 60,742 3.12 
กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 4,035 0.13 5,076 0.16 
กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 23,926 3.03 30,999 3.93 
การสาธารณูปโภคและการขนส่ง 6,948 0.65 27,350 2.54 
การบริการ 31,430 3.38 40,804 4.39 
การอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 127,434 2.74 150,281 3.23 
   ที่อยู่อาศัย 77,198 3.34 41,135 1.78 
    Q2/2562 Q2/2562 
ยอดคงค้าง NPL % ต่อสินเชื่อรวม ยอดคงค้าง SM % ต่อสินเชื่อรวม 
   รถยนต์ 20,404 1.82 81,702 7.30 
   บัตรเครดิต 5,791 2.48 4,468 1.91 
   ส่วนบุคคลอื่น ๆ 24,042 2.42 22,975 2.31 
อื่น ๆ 13 0.01 289 0.19 
รวม 450,553 2.95 418,678 2.74 

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย 

ตารางที่ 2: แสดงสถานะหนี้ NPL และ SM ในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 

   Q2/2563  Q2/2563 
ยอดคงค้าง NPL % ต่อสินเชื่อรวม ยอดคงค้าง SM % ต่อสินเชื่อรวม 
การเกษตร การป่าไม้ และการประมง 7,343 7.48 20,600 20.98 
การเหมืองแร่และเหมืองหิน 3,868 3.99 7,904 8.28 
การผลิต 106,495 4.85 302,590 13.92 
การก่อสร้าง 19,844 6.91 40,924 14.38 
การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 111,020 5.70 235,589 12.18 
กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 10,008 0.27 30,379 0.84 
กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 32,033 3.84 64,003 7.79 
การสาธารณูปโภคและการขนส่ง 29,455 2.77 67,672 6.47 
การบริการ 36,439 3.59 117,777 11.78 
การอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 152,501 3.12 339,736 6.96 
   ที่อยู่อาศัย 97,428 4.04 145,404 6.03 
   รถยนต์ 21,895 1.88 112,031 9.62 
   บัตรเครดิต 6,951 3.00 17,611 7.60 
   ส่วนบุคคลอื่น ๆ 26,227 2.45 64,690 6.04 
อื่น ๆ 0.00 3,274 0.87 
รวม 509,011 3.08 1,230,448 7.53 

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย 

4. ประเด็นเรื่องการผลักดัน Local Economy 

เมื่อพิจารณากลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 จะพบว่ากลุ่มคนที่มีฐานะดีจะสามารถรองรับความเสี่ยงได้ดีกว่า ในขณะที่คนหาเช้ากินค่ำที่ประสบกับวิกฤติจะพลิกฟื้นคืนมาได้ช้ากว่า ดังนั้น ภาครัฐควรจะต้องพิจารณาให้มีมาตรการเสริมด้าน Local Economy ให้เศรษฐกิจฐานรากได้รับมาตรการช่วยเหลือ และกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม 

ข้อเสนอหนึ่งที่เสนอโดยคณะผู้วิจัยก็คือ การพิจารณาสร้างตลาดนัดในสี่มุมเมือง เนื่องจากตลาดนัดเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจฐานรากได้ในระดับที่สูง และคนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์ในรูปแบบของการได้รับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยมีการประมาณการว่ารายได้ของตลาดนัด 1 แห่งจะสามารถสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 10-50 ล้านบาทต่อปี2 

ข้อมูลจาก Thaifranchisecenter.com3 ระบุว่าประเทศไทยในปัจจุบันมีตลาดนัดประมาณ 1,730 แห่ง ซึ่งโดยมากจะอยู่ในรูปของตลาดสด 1,155 แห่ง ตลาดนัด 245 แห่ง ศูนย์การค้า 157 แห่ง และคอมมูนิตี้มอลล์ 72 แห่ง  

ตารางที่ 3: แสดงจำนวนและประเภทของตลาดนัดในประเทศไทย 

ที่มา: Thaifranchisecenter.com 

เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพในการสร้างตลาดนัดแห่งใหม่ จะสามารถพิจารณาได้จากการขยายอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านทางปัจจัยอุปสงค์ของตลาดนัด ซึ่งมาจาก 3 แหล่งที่สำคัญ คือ 1. การเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรประมาณร้อยละ 0.25 2. เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อชดเชยกับ GDP ที่เสียไป ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐสามารถที่จะกำหนดอัตราเจริญเติบโตของตลาดให้เทียบเท่ากับส่วนที่หายไปของ GDP ในปีนี้ (หรือก็คือ การสร้างตลาดนัดใหม่ด้วยการอุดหนุนเยียวยาในระดับที่ใกล้เคียงกัน) จะได้ว่าภาครัฐจะต้องขยายกิจกรรมในส่วนนี้ประมาณร้อยละ 7.5 และ 3. หากภาครัฐมีการกำหนดการสร้างตลาดให้เท่ากับจำนวนเทศกาลพิเศษที่จะสามารถชักจูงให้คนมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยอ้างอิงกับจำนวนวันหยุดราชการและวันหยุดประเพณี จะได้ว่าการสร้างตลาดเพื่อรองรับกับเทศกาลสามารถเพิ่มขึ้นอีกได้ประมาณร้อยละ 2.2 นั่นคือ การสร้างตลาดนัดใหม่จะมีเพดานจำนวนที่ควรสร้างมากที่สุดไม่เกินร้อยละ 9.95 ของตลาดเดิมที่มีมาทั้งหมด 

นั่นคือ ภาครัฐควรจะพิจารณาสร้างตลาดนัดในพื้นที่ที่เหมาะสมเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 172 แห่ง และจากประมาณการมูลค่าทางเศรษฐกิจ จะได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้มากถึง 1,720-8,600 ล้านบาท 

5. ประเด็นเรื่องการเน้นประสิทธิผลสำหรับรายจ่ายทางการคลัง 

จากสถานการณ์ที่การคลังมีขีดจำกัดมากยิ่งขึ้น ทำให้การใช้จ่ายทางการคลังควรจะต้องเป็นการจ่ายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินเยียวยาที่ต้องลงไปถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรงอย่างทั่วถึง และสามารถกีดกันกลุ่มคนที่ไม่ควรได้รับการช่วยเหลือออกไปให้ได้ ในขณะที่การลงทุนจะต้องเน้นโครงการที่สามารถสร้างเศรษฐกิจได้ในระดับที่สูง สามารถสร้างรายได้คืนเป็นภาษีให้กับภาครัฐได้ในอนาคต 

การสร้างประสิทธิผลสำหรับรายจ่ายทางการคลัง จึงต้องอาศัยการปฏิรูปกกลไกการดำเนินงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การกำหนดโครงการ การติดตามโครงการ ไปจนถึงการเข้มงวดในเรื่องของปัญหาทุจริตคอรัปชั่น   

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เขียนโดย คณะวิจัย TDRI
11 กันยายน 2563

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด