ผลกระทบของโควิด-19 ต่อครัวเรือนเด็กเล็ก

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ คือ ครัวเรือนเด็กเล็ก โดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า เด็กไทยจำนวนมากอยู่ในสถานะยากจนในประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 22 ที่เผชิญความยากจนในหลากหลายมิติ  

ความน่ากังวลใจอยู่ที่ ผลกระทบของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ยากจนกลุ่มนี้ จะส่งผลกระทบต่อไปอีกนานแสนนานตลอดชั่วชีวิต เนื่องจากวัยเด็กเป็นพื้นฐานที่จะส่งผลกระทบไปทั้งชั่วชีวิต 

รายงานผลกระทบการย้ายถิ่นของประเทศไทยที่มีผลต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคมปี 2559 ระบุว่ามีเด็กมากกว่าร้อยละ 20 ที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ทำให้เด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในสถานะที่ยากจน ซึ่งจะส่งผลทำให้น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และพัฒนาการของเด็กเหล่านี้จะช้ากว่าเด็กที่มาจากครอบครัวไม่ยากจน 

ผลการสำรวจครัวเรือนที่มีความยากจนโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ที่ลงไปเก็บข้อมูลในจังหวัดที่มีการย้ายถิ่นสูงได้แก่ พิษณุโลกและขอนแก่น พบว่า ครัวเรือนที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่กว่า 1 ใน 3 ที่มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ และอาจจะไม่สามารถประคับประคองชีวิตความเป็นอยู่ได้ถึงสิ้นเดือน มิ.ย.ร้อยละ 20 ของครัวเรือนที่สำรวจต้องยืมเงินญาติหรือกู้นอกระบบ 

ดังนั้น ผลกระทบของโควิด-19 ยิ่งทำให้ครัวเรือนที่มีเด็กเล็กที่มีความยากจน จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก และนำไปสู่ปัญหาการจัดการหนี้สินของครัวเรือนในอนาคตต่อไปอีกนาน 

กล่าวโดยสรุป ปัญหาสังคมประการหนึ่งที่สำคัญ คือ ปัญหาความซ้ำซ้อนของปัญหาสังคม โดยกลุ่มครัวเรือนเด็กเล็กที่มีฐานะยากจน เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการพัฒนาในช่วงปฐมวัยที่ล่าช้ากว่ากลุ่มครัวเรือนฐานะไม่ยากจน กลับต้องเผชิญสถานการณ์วิกฤติทางการเงินเพิ่มเติมเข้าไปอีก ทำให้ความรุนแรงของปัญหาหนักขึ้น ภาครัฐจึงควรที่จะกำหนดกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหาสังคมเป็นทุนเดิม และมีปัญหาโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติมเป็นกลุ่มที่มีลำดับความสำคัญสูงในการให้ความช่วยเหลือ เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เขียนโดย คณะวิจัย TDRI 
.11 กันยายน 2563