โรคระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นอันเนื่องมาจากสาเหตุหลักจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดหรือมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง
โดยจากการคำนวณของ ธรรมรัตน์ บุญเจริญพรสุข (2563) ประเทศไทยได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะสั้นของช่วงปี 2563 ถึง 2564 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 8.4 ของจีดีพีปี 2562 หรือเท่ากับประมาณ 9.2 แสนล้านบาท และเป็นความเสียหายที่มากเป็นอันดับที่ 21 เมื่อเทียบกับ 150 ประเทศทั่วโลก
นอกจากโควิด-19 ได้ทำลายเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในระยะสั้น การแพร่ระบาดของโรคระบาดนี้ยังสามารถทิ้งบาดแผลลึกให้กับเศรษฐกิจและสร้างความเสี่ยงให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้อย่างน้อยผ่าน 3 ช่องทางด้วยกัน ได้แก่ (1) ช่องทางการสะสมทุนกายภาพที่มีแนวโน้มลดลงและใช้ระยะเวลานานกว่าที่การลงทุนจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง โดยมีสาเหตุหลักมาจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงของการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบินที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการควบคุมการเข้าออกประเท (2) ช่องทางด้านแรงงาน โดยเฉพาะกำลังแรงงานที่ลดลงในหลายภาคการผลิตอันเนื่องมาจากปัญหาด้านสุขภาพและปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงปัญหาด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพลดลงเพราะการเรียนการสอนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ทำให้การพัฒนาทักษะแรงงานหรือการสะสมทุนมนุษย์เป็นไปได้ยากขึ้น และ (3) ช่องทางการชะงักของการพัฒนานวัตกรรม ปัญหาการแพร่ระบาดทำให้ภาคธุรกิจหลายที่เน้นการรักษาระดับสภาพคล่องไว้เพื่อความอยู่รอดรวมถึงภาครัฐเองก็ต้องเน้นนำงบประมาณมากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น จึงทำให้เสียโอกาสในการนำทรัพยากรไปใช้ในการลงทุนเพื่อการวิจัยและการพัฒนา
ด้วยความเสียหายต่อเศรษฐกิจจากโควิด-19 สามารถเกิดขึ้นได้ในทั้งระยะสั้นและระยะยาว การบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจึงต้องรองรับได้ในทั้งสองระยะด้วยเช่นกัน ภาครัฐไทยได้ออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทเพื่อตอบโต้กับปัญหาด้านเศรษฐกิจที่สามารถแบ่งได้ออกมาเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจะนำไปเยียวยาผลกระทบระยะสั้นผ่านการแจกเงินให้กับผู้ที่เดือดร้อนและการส่งเสริมด้านสาธารณสุขจำนวน 6 แสนล้านบาท และการดำเนินการผ่านนโยบายการเงิน เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอีกจำนวน 9 แสนล้านบาท รวมเป็นทั้งหมด 1.5 ล้านล้านบาท ส่วนที่สองที่เหลืออีกจำนวน 4 แสนล้านบาทจะนำไปสนับสนุนนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้น งบประมาณส่วนที่สองนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขจัดบาดแผลลึกต่อเศรษฐกิจจากโรคระบาดนี้ได้
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกคำสั่งให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐรวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเขียนเสนอโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยรัฐได้จัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ภายใต้การดูแลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาและคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมเพื่อที่จะมาดำเนินการภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ผู้วิจัยจึงได้วิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และพัฒนากรอบแนวทางที่เหมาะสมกับวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้และเป็นแนวทางที่เสนอเพื่อช่วยพัฒนาโครงการและคัดกรองโครงการที่มีศักยภาพเพื่อเสริมสร้างการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย
สถานการณ์เศรษฐกิจและบริบทใหม่หลังวิกฤติการณ์โควิด-19
ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกได้ส่งกระทบอย่างหนักต่อกำลังซื้อทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด ประเทศไทยที่มีขนาดเศรษฐกิจของภาคการท่องเที่ยวก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประมาณร้อยละ 16 ของจีดีพีและเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ที่สำคัญที่มีแรงงานถึงร้อยละ 14 ของการจ้างงานทั้งหมด จึงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการควบคุมการเข้าออกระหว่างประเทศ โดยในเดือนเมษายนปี 2563 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงไปร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับเดือนในเดียวกันของปีที่แล้ว ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคการท่องเที่ยวที่เดิมทีมีความสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรมอื่นในห่วงโซ่อุปทานประมาณร้อยละ 9 ของจีดีพี ประเทศไทยจึงสูญเสียรายได้อย่างมหาศาลและลามไปสู่ผู้ประกอบการและแรงงานเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการส่งออกไทยที่เดิมทีมีขนาดมูลค่ามากถึงร้อยละ 50 ของจีดีพีก็ได้รับความเสียหายประมาณร้อยละ 13 ของมูลค่าการส่งออกในปีที่แล้วเนื่องจากการหดตัวของตลาดโลก ด้วยปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้ประเทศไทยในภาพรวมได้รับผลเสียทางเศรษฐกิจหนักกว่าหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก[1]
เมื่อมองถัดมาในรายละเอียดของเศรษฐกิจมากขึ้น ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กหรือรายย่อยที่เดิมทีก็อ่อนแออยู่แล้วก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจสูญเสียรายได้ถึงร้อยละ 60 และผู้ประกอบการภาคการเกษตรกว่าร้อยละ 80 ก็มีแนวโน้มที่จะมีรายได้ลดลง สำหรับประเด็นการจ้างงาน แรงงานกว่า 8.3 ล้านคนก็มีแนวโน้มจะตกงานหรือสูญเสียรายได้ กลุ่มนักศึกษาจบใหม่มีแนวโน้มที่จะตกงานมากขึ้นถึงร้อยละ 4.2[2] และกลุ่มเปราะบางก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากด้วยเช่นกัน โดยประชาชนไทยจำนวน 12.7 ล้านครัวเรือนมีเงินสำรองน้อยกว่า 3 เดือน และมีอีก 7 ล้านครัวเรือนที่มีเงินสำรองสำหรับเลี้ยงชีพเพียงพอสำหรับแค่ 1 เดือนเท่านั้น[3] นอกจากนี้ ปัญหาโควิด-19 อาจจะยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่สามารถเกิดการแพร่ระบาดได้หลายระลอกหรือแม้กระทั่งปัญหาของวัคซีนที่อาจจะเกิดได้ไม่ว่าเป็นประเด็นเรื่องของประสิทธิภาพและการแจกจ่ายให้ทั่วถึง ดังนั้น ความไม่แน่นอนจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงอยู่เสมอ
ด้วยความรุนแรงของปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้รัฐบาลหลายประเทศได้ดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดกันอย่างเข้มงวด และได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างให้เกิดการเปลี่ยนต่อสังคม เศรษฐกิจ และพฤติกรรมของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ทั้งนี้ แนวโน้มของบริบทใหม่หลังวิกฤติการณ์โควิด-19 หรือ New normal ที่ผู้วิจัยได้รวบรวมมาสามารถสรุปได้เป็น 3 แนวโน้มสำคัญ ได้แก่ 1) การพัฒนากระบวนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) ที่เดิมทีกระบวนการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของประชาชนและภาคธุรกิจกำลังมีการเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่แล้ว แต่ด้วยมาตรการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการบริโภค การผลิต และการทำงานต้องมุ่งพึ่งพาและปรับตัวให้เข้าโลกแห่งดิจิทัลได้เร็วมากขึ้น 2) เศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเอง (Localization) ที่ห่วงโซ่อุปทานโลกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเนื่องจากการค้าการลงทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงานเกิดได้ยากมากขึ้น ดังนั้น อุตสาหกรรมการผลิตข้ามชาติมีแนวโน้มที่จะกลับไปรองรับตลาดเชิงพื้นที่ของตัวเองมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาห่วงโซ่การผลิตติดขัด และ 3) ความตระหนักที่เพิ่มมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องสุขภาพและสาธารณสุข (Health awareness) ที่ผู้บริโภคได้หันมาห่วงเรื่องสุขภาพและความสะอาดมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้แนวทางของการผลิตและบริการต่างๆ ต้องคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย
กรอบแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว
หัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวคือการยกระดับศักยภาพในการผลิตของเศรษฐกิจหรือพัฒนาผลิตภาพของเศรษฐกิจ โดยหลักการพื้นฐานของยกระดับผลิตภาพคือการพัฒนาทุนกายภาพและทุนอื่นๆ เช่น ทุนมนุษย์ กฎระเบียบต่างๆ การพัฒนาแรงงาน และการพัฒนานวัตกรรม นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงในลำดับต่อมาคือการพัฒนาทั้งสามส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจภายใต้วิกฤติโควิด-19 และแนวโน้มที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงในอนาคต จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้วิจัยจึงได้กำหนดกรอบแนวทางดังรูปที่ 1 ดังนี้
รูปที่ 1: กรอบแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว
ที่มา: วิเคราะห์โดยผู้วิจัย
สิ่งสำคัญประการแรกของการกำหนดกรอบแนวทางดังกล่าวคือการกำหนดเป้าหมายของการพัฒนา
โดยคำสำคัญของเป้าหมายนี้ประกอบไปด้วยการทำให้เศรษฐกิจไทย “อยู่รอดได้ในวันนี้” “โตอย่างยั่งยืน” และ “โตอย่างทั่วถึง” โดยคำว่า “อยู่รอด” มีนัยยะของความหมายคือการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวของวิกฤติการครั้งนี้ควรจะต้องคำนึงถึงการนำเม็ดเงินให้เข้าถึงและหล่อเลี้ยงประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทางด้านรายได้ให้ได้ในทันทีหรือให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ คำถัดมาคือ “โตอย่างยั่งยืน” ซึ่งก็คือการพัฒนาปัจจัยกำหนดผลิตภาพเศรษฐกิจอย่างตรงเป้าและมีประสิทธิภาพ และโตอย่างทั่วถึงที่ต้องเป็นหัวใจของการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าถึงโอกาสนี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ การกำหนดโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือคัดเลือกโครงการดังกล่าวจะต้องมุ่งเน้นดำเนินการผ่าน “สามเสาหลักของเศรษฐกิจฝั่งอุปทาน” ที่ประกอบไปด้วยภาคการเกษตร ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม และจะต้องตั้งอยู่บน “สามพื้นฐาน” ได้แก่ การเน้นต่อยอดจุดแข็งของประเทศไทย การพัฒนาปัจจัยเศรษฐกิจฝั่งอุปทาน และการกระจายการพัฒนาสู่ท้องถิ่นในรูปแบบการพัฒนาแบบครบวงจร โดยทั้งหมดนี้ก็จะต้องเข้า “หนึ่งเงื่อนไข” คือจะต้องเป็นโครงการที่อัดฉีดเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วหรือต้องเป็นโครงการที่เบิกจ่ายได้ไว
พื้นฐานแรกของแต่ละโครงการคือจะต้องเน้นการส่งเสริมจุดแข็งทางด้านการผลิตของประเทศไทยที่มีความถนัดที่สามารถสร้างมูลค่าได้สูงและใช้ต้นทุนไม่มาก ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมีเอกลักษณ์ทางด้านทิวทัศน์ทางทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นจุดขายที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับสูงในหมู่ประเทศที่เน้นการท่องเที่ยวด้วยกัน รวมถึงเอกลักษณ์ของเสน่ห์คนไทยในด้านความเป็นมิตร น้ำใจ หรือที่มักเรียกกันว่าสยามเมืองยิ้มที่เป็นอีกหนึ่งจุดขายสำคัญที่นักท่องเที่ยวต่างชาติประทับใจ การรักษาพยาบาลหรือบริการด้านสุขภาพที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลกโดยเฉพาะผลงานที่ไทยสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีศักยภาพมาเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้เพื่อเป็นการเสริมคุณค่าให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อีกระดับหนึ่ง ถัดมาคือจุดแข็งด้านอาหาร ที่ไทยมีทรัพยากรอย่างอุดมสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แหล่งน้ำจืดและทะเล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในทั้งด้านการผลิตอาหารและยาสมุนไพร และจุดเด่นสำคัญสุดท้ายคือวัฒนธรรมไทยที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของประเทศซึ่งสามารถเข้าไปยกระดับคุณค่าของจุดเด่นด้านอื่นได้ทั้งด้านการท่องเที่ยวและด้านอาหาร จึงเห็นได้ว่าจุดเด่นทั้งหลายมีต่างมีคุณสมบัติที่สามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้
พื้นฐานประการสำคัญต่อมาคือการพัฒนาปัจจัยเศรษฐกิจทางฝั่งอุปทานที่ประกอบไปด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพที่มีประสิทธิภาพที่สามารถสนับสนุนการผลิตของภาคเอกชนได้จริง การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎระเบียบและมาตรฐานที่สามารถสนับสนุนและไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ทุนทางด้านเทคโนโลยี การพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความพร้อมในการปรับตัวต่อความไม่แน่นอน และสุดท้ายคือการพัฒนานวัตกรรมโดยเฉพาะส่วนสำคัญในการส่งเสริมการปรับตัวของทั้งผู้ประกอบการและแรงงานให้สามารถรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลได้และใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์
พื้นฐานสุดท้ายคือการมุ่งเน้นการพัฒนาในระดับท้องถิ่นหรือชุมชน รวมถึงการพัฒนาแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่ ดังนั้น พื้นฐานนี้คือการรวมสองพื้นฐานแรกมาเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบบนพื้นที่ชุมชนแห่งต่างๆ ในประเทศไทย เช่น ถ้าชุมชนใดมีศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ก็ต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ปัจจัยเศรษฐกิจฝั่งอุปทานที่จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสนับสนุน การพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับธุรกิจการท่องเที่ยวมูลค่าสูง พร้อมทั้งการสร้างความเชื่อมโยงกับชุมชนอื่นที่มีความถนัดแตกต่างกัน เช่น ด้านวัฒนธรรมหรืออาหารเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและส่งเสริมคุณค่าซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ แต่ละโครงการที่ผ่านทั้งสามพื้นฐาน ก็จะต้องเข้าเงื่อนไขที่ว่าต้องเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันทีและอัดฉีดเม็ดเงินเข้าถึงมือประชาชนให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและไม่ทิ้งบาดแผลต่อเศรษฐกิจไว้นานจนเกินไป
ท้ายที่สุด เหล่าโครงการที่มี 3 พื้นฐาน และผ่าน 1 เงื่อนไข จะสามารถช่วยขัดเกลาให้เสาหลักทั้งสามต้นของเศรษฐกิจฝั่งอุปทานมีคุณภาพตั้งรับเป้าหมายของเศรษฐกิจไทยการเติบโตในระยะยาวหลังปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลงไป และทำให้เศรษฐกิจและสังคมกิจอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤติปัจจุบัน โดยเสาแรกคือภาคเกษตรที่มีมูลค่าสูง พร้อมทั้งกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพต่อหน่วนการผลิตที่ใช้ต้นทุนไม่สูงจนเกินไป เกษตรกรในชมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้จากการวางระบบการผลิตครบวงจรตั้งแต่การผลิตจนถึงการขายสู่ตลาดที่เหมาะสม เสาที่สองคือภาคบริการโดยเน้นไปที่ภาคการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่ได้ยกระดับการบริการให้เข้ายุคสมัยใหม่ด้วยทักษะแรงงานภาคท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนา และเชื่อมโยงพันธมิตรด้านวัฒนธรรมและการบริการด้านสุขภาพเพิ่มมูลค่าการบริการด้านการท่องเที่ยวให้สูงยิ่งขึ้น และเสาสุดท้ายคืออุตสาหกรรมการผลิตที่มีคุณค่าและต้นทุนต่ำจากการปรับใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความสามารถในขยายตลาดเป็นวงกว้างมากขึ้น
ตัวอย่างการคัดเลือกโครงการตามกรอบแนวทางและข้อเสนอแนะ
จากที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้เสนอโครงการภายใต้กรอบวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาทั้งหมด 46,111 โครงการ รวมเป็นวงเงินทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาท โดยประกอบไปด้วยโครงการแต่ละประเภทซึ่งเรียงลำดับตามวงเงินรวมของโครงการที่เกี่ยวข้องได้ออกมากดังนี้ (1) โครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบชลประทาน และอาคาร จำนวน 34,919 โครงการ (ร้อยละ 76 ของจำนวนโครงการทั้งหมด) รวมเป็นวงเงินเท่ากับ 5 แสนล้านบาท (ร้อยละ 35 ของวงเงินทั้งหมด) (2) โครงการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร จำนวน 5,268 โครงการ (ร้อยละ 11 ของจำนวนโครงการทั้งหมด) รวมเป็นวงเงิน 3.8 แสนล้านบาท (ร้อยละ 26 ของวงเงินทั้งหมด) (3) โครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ จำนวน 476 โครงการ (ร้อยละ 1 ของจำนวนโครงการทั้งหมด) รวมเป็นวงเงิน 1.7 แสนล้านบาท (ร้อยละ 12 ของวงเงินทั้งหมด) (4) โครงการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างงานสร้างอาชีพ จำนวน 918 โครงการ (ร้อยละ 2 ของจำนวนโครงการทั้งหมด) รวมเป็นวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท (ร้อยละ 8 ของวงเงินทั้งหมด) และ (5) โครงการที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว จำนวน 2,565 โครงการ (ร้อยละ 6 ของจำนวนโครงการทั้งหมด) รวมเป็นวงเงิน 1 แสนล้านบาท (ร้อยละ 7 ของวงเงินทั้งหมด) ซึ่งสามารถสรุปได้ดังรูปที่ 2
รูปที่ 2: สัดส่วนวงเงินงบประมาณของโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจแต่ละประเภทที่หน่วยงานภาครัฐแห่งต่างๆ เสนอเข้ามา
ที่มา: ข้อมูลจากคณะกรรมการกลั่นกลองการใช้เงินกู้และการคำนวณโดยผู้วิจัย
เพื่อเป็นตัวอย่างในการใช้กรอบแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในการคัดเลือกโครงการ ผู้วิจัยได้เริ่มต้นการประเมินที่เสาหลักภาคเกษตรด้วยการเข้าไปคัดเลือกจากโครงการที่เกี่ยวข้องที่เสนอเข้ามาทั้งหมดจำนวน 5,268 โครงการ โดยในการคัดกลองขึ้นต้น ผู้วิจัยได้นำโครงการด้านเกษตรมาวิเคราะห์ตามกรอบแนวทางฯ ไปแล้วจำนวน 600 โครงการ รวมเป็นวงเงินจำนวน 3.9 แสนล้านซึ่งเท่ากับร้อยละ 88 ของวงเงินทั้งหมดของโครงการที่เกี่ยวข้องภาคเกษตรกับที่แต่ละหน่วยงานเสนอมา ทั้งนี้ จาก 600 โครงการ มีโครงการที่ผ่านการคัดกรองตามกรอบแนวทางฯ เพียงจำนวน 28 โครงการ รวมเป็นวงเงินประมาณ 9 หมื่นล้านบาท (รูปที่ 3) โดยโครงการที่ไม่ผ่านการคัดกรองประกอบไปด้วย (ก) โครงการที่ทางคณะกรรมการฯ กรอกข้อมูลลงระบบผิดผิดพลาดเกินมา 2.4 แสนล้านบาท (ข) โครงที่เน้นแต่สร้างโครงสร้างพื้นฐานภาคเกษตรที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงอย่างครบวงจร จำนวน 966 โครงการซึ่งเท่ากับ 8.4 พันล้านบาท (ค) โครงการที่เน้นเพียงแต่ซื้อเครื่องจักรและก่อสร้างอาคารเป็นอย่างเดียว จำนวน 5 พันล้านบาท (ง) โครงการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร จำนวน 3.8 พันล้านบาท (จ) โครงการสร้างตลาดกลางจำนวน 3.3 พันล้านบาท และ (ฉ) โครงการอื่นๆ ได้แก่ โครงการอบรมบุคลากรที่ขาดการส่งเสริมนวัตกรรมทันสมัย ไม่ครบวงจร และไม่มีการติดตามและต่อยอดหลังการอบรม และโครงการที่ไม่มีรายละเอียด เป็นต้น โดยโครงการที่ผ่านการคัดกรองสามารถสรุปได้ดังรูปที่ 4
รูปที่ 3: การวิเคราะห์และการคัดกรองโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร
ที่มา: ข้อมูลจากคณะกรรมการกลั่นกลองการใช้เงินกู้และการคำนวณโดยผู้วิจัย
จากการที่ผู้วิจัยได้ลองนำกรอบแนวทางที่ได้พัฒนาขึ้นมาคัดกรองโครงการเพียงหนึ่งเสาเพื่อเป็นตัวอย่างและทดสอบความเป็นไปได้ของการนำกรอบแนวไปทางไปใช้จริง ปรากฏว่ามีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่จะไม่สามารถคัดกรองโครงการจากที่แต่ละหน่วยงานเสนอเข้ามาได้ครบ 4 แสนล้านบาท เนื่องจากสาเหตุหลักคือมีจำนวนโครงการที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะผ่านผ่านกรอบแนวทางฯ นี้ไม่น่าจะเพียงพอ ผู้วิจัยจึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาออกเป็นอย่างน้อย 2 แนวทางได้แก่ (1) ขยายเวลารับข้อเสนอโครงการเพิ่มเติมจากหน่วยงานรัฐแห่งต่างๆ รวมถึงอาจเปิดการประกวดแข่งขันโครงการที่ตอบโจทย์ตามกรอบแนวทางที่ควรจะเป็นจากประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งจะทำให้ได้โครงการที่มีแนวโน้มที่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนมากขึ้น และ (2) พัฒนากรอบแนวทางการคัดกรองอื่นมาเพิ่มเติมที่มีเป้าหมายแคบลงมาแต่เน้นมุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยอาจจะใช้กรอบการพัฒนาใหญ่ในการคัดเลือกก่อน แล้วใช้กรอบแนวทางเล็กอื่นๆ เพื่อเก็บตกโครงการที่เหลือเพื่อได้ใช้เงินประมาณอย่างครบถ้วน และอาจตอบโจทย์ได้หลายเป้าหมายที่อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบนความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
รูปที่ 4: โครงการที่เกี่ยวข้องการเกษตรที่ผ่านการคัดกรองขั้นต้น
ที่มา: ข้อมูลจากคณะกรรมการกลั่นกลองการใช้เงินกู้และการวิเคราะห์โดยผู้วิจัย
[1] “Global Economic Prospects: June 2020”, World Bank, June 2020.
[2] งานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “ประเทศไทยท่ามกลางวิกฤตโควิด-19: รับมือเศรษฐกิจและสังคมอย่างตรงเป้าและยั่งยืน” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ที่จัดขึ้นโดยธนาคารโลก (World Bank) ร่วมกับสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD)
[3] รายงานผลกระทบที่สำคัญของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย ความเปราะบางของครัวเรือน และผู้ประกอบการ เดือนมิถุนายน 2563 ของกลุ่มธนาคาร สำนักงานประเทศไทย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
เขียนโดย คณะวิจัย TDRI
11 กันยายน 2563