ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ตั้งแต่ช่วงมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย เมื่อต้นปี 2563 แรงงานต่างชาติ 3 สัญชาติในไทยมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากการเลิกจ้างของกิจการที่ได้รับผลกระทบจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด แรงงานต่างชาติบางส่วนยังอาศัยอยู่ในประเทศ อย่างไรก็ตามแรงงานต่างชาติบางส่วนอพยพกลับประเทศต้นทางช่วงเดือนเมษายนที่เป็นช่วงหยุดยาวและไม่สามารถกลับเข้าประเทศได้จากมาตรการ
ล็อกดาวน์ที่ระงับการอพยพเข้า-ออก และการค้าระหว่างชายแดนทั้งหมด ในระยะต่อมาเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานเริ่มเกิดในภาคประมง และก่อสร้างที่มีความต้องการใช้แรงงานต่างชาติสูง ซึ่งติดเงื่อนไขการเปลี่ยนนายจ้างที่แรงงานยังชำระหนี้ค่านำเข้ากับนายจ้างเดิมไม่หมด หรือยังไม่ถูกเลิกจ้างโดยสมบูรณ์ หากจ้างงานแรงงานในประเทศเหล่านี้ก็เป็นการจ้างงานอย่างไม่เป็นทางการ

          เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้พิจารณาและเห็นชอบแนวทางการดำเนินการนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา เข้ามาทำงานตาม MOU แต่ต้องกักตัว 14 วัน และนายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการกักตัวเพิ่ม 14,000 บาทต่อคน[1] ตามประเภทกลุ่มและประเภทกิจการ การอนุมัติให้นำเข้าแรงงานต่างชาติหลังปลดล๊อกดาวน์อาจช่วยคลี่คลายปัญหาการขาดแรงงานได้ แต่ก็ยังเป็นอุปสรรคต่อผู้นำเข้าที่ต้องรอตามระยะเวลากักตัวถึง 14 วันละยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำตามมาตรการเพิ่ม

          ข้อเสนอแนะที่เคยเสนอคือ 1. เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ้างงานให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างสามารถหานายจ้างได้ใหม่อย่างถูกกฎหมาย ให้แรงงานว่างงานที่ยังอยู่ภายในประเทศมีงานทำ ลดภาระค่านำเข้าและลดความเสี่ยงด้านการแพร่ระบาดจากแรงงานที่นำเข้ามาใหม่[2] 2. มาตรการเยียวยาแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยให้ ลดความแออัด ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด 3. เพิ่มความเข้มงวดในพื้นที่ชายแดน สกัดการลักลอบเข้าประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพในประเทศไทย และ 4. ลดต้นทุนมาตรการกักตัว และเพิ่มจำนวนการรองรับการกักตัวสำหรับแรงงานต่างด้าวที่จะกลับมาทำงานในประเทศ

          กลุ่มแรงงานต่างชาติเป็นกลุ่มที่ต้องจับตามองเพราะมีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดสูงเนื่องจากการเดินทางย้ายถิ่น การอยู่รวมเป็นกลุ่มแออัด และขาดการดูแลด้านสาธารณะสุขที่มีมาตรฐาน อีกทั้งเดิมทีการอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งก็มีนายหน้าในการลักลอบนำเข้า การเพิ่มค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายยิ่งบีบคั้นให้ทั้งผู้นำเข้า และตัวแรงงานจากประเทศต้นทางเกิดแรงจูงใจในการลักลอบผ่านทางชายแดนเพื่อเลี่ยงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดยิ่งขึ้น จึงต้องเน้นย้ำการควบคุมทั้งด้านค่าใช้จ่าย และการเฝ้าระวังการลักลอบเข้าประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยงของการแพร่ระบาดจากแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

          ประเด็นสุดท้าย (End Note) เป็นเรื่องของความปลอดภัยและ/หรือลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งตัวแรงงานต่างด้าวเพื่อนผู้ร่วมงานและครอบครัวแรงงานต่างด้าวทุกคนรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นคนไทยจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนสองเข็มทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็วที่สุด


[1] แรงงานต่างด้าวขาดแคลนหนัก “ก่อสร้าง-ประมง” ต้องการ 1.2 ล้านคน, ประชาชาติธุรกิจ, 23 กรกฎาคม 2563 (https://www.prachachat.net/economy/news-495666)

[2] ผลกระทบของ Covid-19 ที่มีผลต่อการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย, TDRI, 28 สิงหาคม 2020 (https://tdri.or.th/2020/08/covid-19-impact-on-migrant-workers/)

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เขียนโดย คณะวิจัย TDRI
25 กันยายน 2563