วิเคราะห์ปัญหางบประมาณล่าช้า

ด้วยความล่าช้าของการใช้งบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ 2564 ส่งผลให้ประชาชนและธุรกิจเกิดความกังวลใจกับปัญหาความล่าช้าของงบประมาณปี 2564 ว่าอาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่ความรวดเร็วในการช่วยเหลือคือสิ่งสำคัญ

          ความล่าช้าของงบประมาณปี 2564 จะส่งผลให้ส่วนราชการต้องใช้วงเงินตามกรอบงบประมาณปี 2563 ไปพลางก่อน โดยเฉพาะในส่วนรายจ่ายประจำ ขณะที่รายจ่ายลงทุนจะสามารถเบิกจ่ายได้ตามรายจ่ายผูกพันและรายจ่ายที่เบิกจ่ายได้ล่าช้ามาจากปีงบประมาณ 2563 โดยในส่วนนี้ ในภาพรวมจะส่งผลกระทบในระยะสั้นและจำกัด เนื่องจากว่า แม้จะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2564 ในโครงการลงทุนใหม่ๆ จะต้องชะลอไป แต่รัฐบาลยังสามารถนำเงินจาก พรก.โควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ มาเบิกจ่ายเพื่อลงทุนหรือเยียวยาเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564 ได้ อย่างไรก็ดี หากยังคงไม่สามารถเร่งออกงบประมาณปี 2564 ได้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจปี 2564 ชะลอตัวกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ แม้การใช้งบประมาณแผ่นดินปี 2564 จะล่าช้า หากแต่การเบิกจ่ายงบประมาณที่เกิดขึ้นเพียงแต่จะล่าช้าออกไป กล่าวคือ หากไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันในเดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 งบประมาณดังกล่าวจะถูกทบไปเบิกจ่ายได้ในเดือนถัดๆ ไป ของปีงบประมาณได้อยู่ดี

รูปที่ 1: การเบิกจ่ายงบประมาณแต่ละปี เทียบกับปีงบประมาณ 2563

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

หมายเหตุ งบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ 2563

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)


เขียนโดย คณะวิจัย TDRI
25 กันยายน 2563