มาตรการในการป้องกันและแก้ปัญหาด้านแรงงานอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19

การเสนอมาตรการในการป้องกันและแก้ปัญหาด้านแรงงานจากการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้เป็นรายงานที่รวบรวมข้อเสนอแนะด้านแรงงานที่เคยนำเสนอภายใต้โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจมาเรียบเรียงและสรุป เนื่องจากแรงงานเป็นองค์ประกอบหนึ่งของปัจจัยการผลิต อุปสงค์ต่อแรงงานเกิดจากกระบวนการผลิตสินค้าและการบริการซึ่งเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้แรงานยังมีบทบาทด้านสังคมจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ได้นำมาศึกษาภายใต้โครงการของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติโดยเฉพาะมิติของการติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐบาลผ่าน ศบค. ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน และการจ้างงานในสาขาอาชีพต่าง ๆ รายงานฉบับนี้ได้รวบรวมข้อมูลในการวิเคราะห์ และสังเคราะห์เพื่อนำเสนอมาตรการในการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขผลกระทบที่มีต่อแรงงานเป็นการเฉพาะในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่กล่าวมาข้างต้น

กำลังแรงงานคนไทยเติบโตในอัตราลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับอัตราการเติบโตของประชากร อีกทั้งกำลังแรงงานไทยได้รับการศึกษาสูงขึ้นทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะต่ำ จากการประมาณภาพรวมแรงงานของประเทศภายใต้โครงการผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ต่อตลาดแรงงาน[1] พบว่ากำลังแรงงานที่ใช้ในภาคการผลิตของไทยในปี 2553 มีแรงงานทั้งหมด 39.98 ล้านคน แบ่งออกเป็นแรงงานไทย 38.64 ล้านคน และแรงงานต่างด้าว 1.34 ล้านคน สัดส่วนของแรงงานต่างด้าวคิดเป็นร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงาน ในไตรมาสแรกปี 2563 ประเทศไทยมีการจ้างแรงงานไทย 38.33 ล้านคนแต่มีอัตราส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวสูงถึง 3.10 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.0 ของกำลังแรงงานทำให้เศรษฐกิจไทยใช้แรงงานทั้งหมดถึง 41.43 ล้านคน ทิศทางของมาตรการจึงควรพัฒนาผลิตภาพของแรงงานไทยให้สูงขึ้นและลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำให้น้อยลง การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานครั้งใหญ่ในวิกฤตการระบาดของโควิด-19 จะเป็นโอกาสที่ดีในการปรับโครงสร้างตลาดแรงงานไทยเสียใหม่

การนำเสนอมาตรการด้านแรงงานต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนของมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานคนไทย และมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว

1.1 มาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานคนไทย

การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 2 ปี 2564 ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างจากการใช้มาตรการตามกฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลเพื่อให้อำนาจ ศบค. ทำงานในการประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด กำกับดูแล ควบคุม และติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 18 เดือนที่โครงการวิจัยนี้ดำเนินการและได้นำเสนอผลการวิจัยเชิงมาตรการที่ใช้หลักฐานอ้างอิงเป็นหลักสนับสนุนทางรัฐบาลมากมายหลายด้านและหลายครั้ง สำหรับการนำเสนอมาตรการอันเป็นผลจากความพยายามที่จะบรรเทา หรือแก้ปัญหาผลกระทบที่มีต่อตัวแรงงงานไทยท่ามกลางความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ซึ่งกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าสายพันธุ์จากประเทศจีน (อู่ฮั่น) จนเป็นสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แอฟริกา และล่าสุดสายพันธุ์อินเดีย การติดเชื้อเกิดขึ้นหลายระลอก มีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็วและเกิดผลกระทบที่รุนแรง มีการสูญเสียชีวิตในเวลาอันสั้นเกิดกับผู้สูงอายุ และคนในวัยทำงานทั่วประเทศ จำนวนผู้ป่วยใหม่ยังมีแนวโน้มสะสมเพิ่มขึ้นจนเป็นหลักแสนนับจากช่วงเวลาตั้งแต้ต้นปี 2563 จนถึงวันที่จัดทำรายงานฉบับนี้  ณ สถานการณ์ปัจจุบันก็ยังไม่แน่นอนว่าจะควบคุมการระบาดได้เมื่อไร[2]

ผลกระทบต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดปัญหากับภาคแรงงานที่ต้องมีมาตรการแก้ไข พัฒนาดังต่อไปนี้

1. จากภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไทยติดลบต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 5 ไตรมาสต่อเนื่องกันมาจนถึงข้อมูลล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2564 การคาดการณ์โดยหลายสถาบันเศรษฐกิจของไทยและของโครงการนี้พบว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) เฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.5-2.5 ในปี 2564 และน่าจะดีขึ้นเมื่อประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19  ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันยังไม่สงบได้โดยง่าย เมื่อพิจารณาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจหน้าที่ของรัฐบาลคือจะต้องหาวิธีการที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตให้เกินกว่าร้อยละ 3 ต่อปี เพื่อที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการดูดซับแรงงานที่ว่างงานได้มากขึ้น (การศึกษานี้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลทางด้านเศรษฐกิจเป็นการเฉพาะ)

2. จากการติดตามภาวะตลาดแรงงานตลอดช่วงเวลาที่ระบาด ปี 2563 จนถึงไตรมาสแรกปี 2564 พบว่า อัตราการว่างงานเปิดเผย (open unemployment) ยังผันผวนในระดับสูงทุกไตรมาส จากการประมาณการในอนาคต 3-4 ปีข้างหน้า อัตราว่างงานเปิดเผยยังคงอยู่ในระดับสูงถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว แต่ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวดังได้กล่าวมาแล้วอัตราการว่างงานน่าจะอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 2 โดยจำนวนผู้ว่างงานอยู่ระหว่าง 6-7 แสนคน และมากกว่าร้อยละ 40 เป็นผู้มีการศึกษาระดับอนุปริญญาถึงปริญญาตรีหรือสูงกว่า ซึ่งเป็นการสูญเสียค่าเสียโอกาสถ้าพวกเขาได้งานทำสูงถึงปีละ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี และในทางทฤษฎีจะพบว่าความรู้ของพวกเขาจะลดลงทุกปี ซึ่งการศึกษานี้มีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

2.1 ยกระดับสมรรถนะของผู้ว่างงานด้วยการ upskills และ reskills ตามความสมัครใจและให้ทุกคนทดสอบมาตรฐานสมรรถนะให้มีใบประกาศนียบัตรติดตัวทุกคนโดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับ IT Digital  และ Robotics ส่วนสายสังคมก็ควรจะทำเช่นเดียวกันโดยเฉพาะคนทำงานในภาคบริการที่ทุกคนควรจะได้ทดสอบสมรรถนะด้านอาชีพที่ต้องการจะทำงานจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) หรือสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) และเมื่อต้องการหางานทำก็ทำได้โดยสมัครหางานผ่านระบบ Platform “ไทยมีงานทำ” ของกรมการจัดหางานและแหล่ง platform และ/หรือ Website ของเอกชน เช่น Jobdb.com Thailand เป็นต้น

2.2 สำหรับคนว่างงานในระดับพื้นฐานความรู้น้อย แต่มีประสบการณ์ แต่อาจจะล้าสมัยก็ต้องเพิ่มสมรรถนะให้ตนเองในอาชีพที่ยังมีความต้องการสูง เช่น งานด้านการขนส่ง งานขับรถบรรทุก งานดูแลความปลอดภัย งานดูแลผู้สูงอายุ งานบริการโดยทั่วไป เป็นต้น แต่ควรที่จะเพิ่มเติมทักษะในวิชาชีพนั้น ๆ และทดสอบมาตรฐานจาก กพร. และ สคช. เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานภาคบริการในปลายปี 2564 และปี 2565

2.3 สำหรับผู้มีวิชาชีพติดตัวอยู่แล้ว เช่น พนักงานห้างสรรพสินค้า พนักงานนวดไทยและสปา ธุรกิจโรแรมและที่พัก และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ควรจะใช้เวลาว่างเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้มีมาตรฐานอาชีพติดตัว แรงงานส่วนนี้ควรได้รับการอุดหนุนจากหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) สถาบันคุณวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) สมาคมแพทย์แผนไทย สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และสภา อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้เข้ามาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายและค่าทดสอบให้กับผู้ว่างงานในวิชาชีพเหล่านี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างน้อยในช่วงปี 2564-2565 ซึ่งการระบาดของโควิด-19 น่าจะบรรเทาลงเมื่อประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้รับวัคซีนแล้ว

3. ส่งเสริมอาชีพอิสระ (Entrepreneur) ส่วนใหญ่เป็น SMEs และ Micro enterprises (MSMEs) จากการศึกษาของโครงการนี้ SMEs และ MSMEs ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างมากเนื่องจากปริมาณลูกค้าลดลง ผู้บริโภคสินค้าในกลุ่มที่มิใช่อาหารลดลงเป็นอย่างมาก คงมีเพียงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร แต่ก็ถูกจำกัดโดยมาตรการของ ศบค. บางครั้งให้ปิดกิจการบางครั้งให้จำกัดเวลาขาย ลดจำนวนคนนั่งบริโภคในร้าน ซื้อกลับบ้านได้อย่างเดียว แต่เนื่องจากในช่วงการระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ธุรกิจส่วนใหญ่และสำนักงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีแนวโน้มให้พนักงานหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงด้วยการทำงานที่บ้าน (work from home) จึงไม่มีคนเดินซื้อสินค้านอกจากจะซื้อขายผ่าน online เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคงเป็นร้านค้า/ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงเท่านั้น การปิดตลาดสดเกือบจะทั่วกรุงเทพฯ เป็นระยะ ๆ และมาตรการการปิดห้ามดำเนินกิจการมีจำนวนมากกระจายอยู่ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ดังนั้นคนงานที่ถูกกระทบจำเป็นต้องกลับจากแหล่งทำงานต่างพื้นที่มาอยู่บ้านหรือบางคนยังเช่าบ้านอยู่ที่เดิม แต่ต้องหาธุรกิจอิสระเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำ เท่าที่มีทุนทรัพย์ การช่วยเหลือเงินหมุนเวียนของกลุ่มธุรกิจ MSMEs และ SMEs จึงเป็นมาตรการที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่มีวงเงินเกือบห้าแสนล้านบาท แต่ช่วยเหลือได้เพียงแสนกว่าล้านบาท
จึงทำให้ธุรกิจขนาดย่อมเหล่านี้ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ จึงใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตโควิด-19 อย่างยากลำบากและจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน

การให้ความช่วยเหลือในรูปสวัสดิการของรัฐในรูปของ “เงินตั้งตัว” ดอกเบี้ยต่ำหรือไม่มีดอกเบี้ยยังมีความสำคัญมาก ๆ กับธุรกิจขนาดย่อม (MSMEs) ซึ่งทางธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ยังเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนเหล่านี้ได้ ควรเร่งรัดผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การเพิ่มเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน หรือเป็นเงินโอนโดยตรงสู่ธุรกิจขนาดย่อมที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ ส่วน SMEs ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบควรเร่งรัดการสนับสนุนสภาพคล่องและการฟื้นฟูธุรกิจ SMEs ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เพื่อให้ SMEs จำนวนมหาศาลมากกว่า 2.7 ล้านราย ปกติจ้างงานมากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่าทั้งจำนวนผู้ตกงาน จำนวนผู้ทำงานต่ำระดับหลายล้านคนมีแรงงานของ SMEs และ MSMEs ปะปนอยู่ในกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐจำนวนมากอยู่ระดับหนึ่งแต่เป็นเพียงการเยียวยาชั่วคราวไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้พวกเขามีอาชีพมีรายได้ที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงจากพวกเขากันเองจึงจะยั่งยืน

4. อาชีพอิสระที่แยกออกมาชัดเจนและจ้างคนมากกว่า 10 ล้านคน คือ ภาคการเกษตร คนทำงานภาคเกษตรไม่สามารถได้รับการคุ้มครองทางสังคม เหมือนกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ แต่เมื่อเกิดการระบาดรุนแรงของโควิด-19 รอบ 3 มีคนย้ายกลับไปอยู่อาศัยในภาคเกษตร แต่ความเป็นจริงตัวเลขในไตรมาส 1 ปี 2563 ประมาณ 10.77 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 11.07 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเพียง 300,000 คนเท่านั้น การช่วยเหลือเกษตรกรและลูกจ้างเกษตรอีกประมาณ 1 ล้านคนเศษเป็นเรื่องของความไม่แน่นอนด้านรายได้ซึ่งก็ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้วและมีรายได้เป็นฤดูกาล เป็นต้น การที่จะช่วยเหลือกลุ่มคนทำงานเกษตร คือ

4.1 ต้องไปเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร และการแปรรูปการเกษตรเพิ่ม เพราะว่าราคาพืชผลสำคัญๆ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด ล้วนต้นทุนสูงและมีกำไรจากการทำการเกษตรต่ำมาก การเปลี่ยนจากการทำการเกษตรอย่างเดียว (Mono cropping) จึงต้องเปลี่ยนเป็นทำการเกษตรหลายอย่าง (Multiple cropping)  ให้เกษตรกรสามารถทำมาหากินได้ทั้งปี จากการปลูกไร่นาสวนผสม ตั้งแต่พืชสวน พืชผักสวนครัว (รายได้ทุกวัน) ปลูกพืชหลัก เช่น ข้าว ผลไม้ (ตามฤดูกาล) ไม้ยืนต้น (เน้นสะสม) เป็นต้น โดยอาชีพเหล่านี้ขอให้มีที่ดิน และถ้ามีแหล่งน้ำด้วยจะดีมาก เพื่อช่วยให้แรงงานที่ตกงานหรือย้ายกลับชนบทจำนวนสามแสนคนดังกล่าวสามารถประกอบอาชีพอิสระได้อย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเพาะปลูกทุกประเภทให้เป็น smart agriculture ทั้งไร่นา พืชไร่ พืชสวน ปศุสัตว์ให้เป็น organic ปลอดภัยทั้งผู้ปลูกและผู้รับซื้อที่สำคัญที่สุดคือการบริหารปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดต้องทำควบคู่กันไปกับการส่งเสริมการปลูก

4.2 สำหรับเกษตรกรที่มีที่ดิน ไม่สามารถประกอบอาชีพด้วยตัวเอง เนื่องจากมีอายุมาก เจ็บป่วย หรือไม่มีลูกหลานมารับช่วงมรดกทำการเกษตรก็ทำได้ด้วยการรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ได้ทั้งพืช และสัตว์ เพื่อให้สามารถปรับปรุงเป็น “เกษตรแปลงใหญ่” โดยการใช้เทคโนโลยีในการปลูกและทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเสริม และสามารถดูแลให้ผลผลิตมีรายได้สม่ำเสมอ เพียงพอ ไม่ต้องพึ่งพาการส่งเสริมมากเหมือนแต่ก่อน เป็นต้น และใช้ที่ดินส่วนของ Home Plot มาใช้ประโยชน์ลดรายจ่ายประจำวันด้วยการปลูกในสิ่งที่กินได้ ส่วนที่เหลือขายแบ่งปันในสิ่งที่ปลูก

4.3 สำหรับแรงงานภาคเกษตรเป็นลูกจ้างเอกชนส่วนมากไม่มีที่ดินทำกิน พวกเขาทำงานรับจ้าง รายได้เฉลี่ยไม่เกิน 5,500 บาท/เดือน ช่วงโควิด-19 ระบาด พวกเขาได้รับเงินตามมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ ถ้าเปรียบเทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว พวกเขาได้รับต่ำกว่าถึงประมาณร้อยละ 35 ซึ่งมาตรการช่วยเหลือกลุ่ม
พวกเขาควรให้มีรายได้เหมือนค่าจ้างขั้นต่ำ 330 บาท/วัน แต่เนื่องจากเป็นแรงงานอิสระรับเหมาทำงานรายวัน
ไม่มีค่าจ้างแน่นอนอย่างน้อยที่สุด ก็ควรจะอยู่ในมาตรา 40 ของประกันสังคม คนกลุ่มนี้ควรได้รับความช่วยเหลือจากทางรัฐมาอุดหนุนให้พวกเขาอยู่ในมาตรา 40 และถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็คือ ขยายประกันสังคมแบบเต็มรูปแบบ คือให้พวกเขาได้รับการคุ้มครองครบทั้ง 7 อย่าง เนื่องจากเป็นแรงงานในวัยทำงานเหมือนกับแรงงานทั่วไปในภาคอุตสาหกรรมหรือบริการ ถ้าทำได้จะแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร และสามารถลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรได้อีกทางหนึ่ง

5. การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ผลกระทบของโควิด-19 ทำให้พวกนักอุตสาหกรรมต้องดิ้นรนหาทางอยู่รอด รักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน (ไม่รวม SMEs ที่ได้กล่าวมาแล้ว) ประเทศคู่แข่งคู่ค้าทั่วโลกอยู่รอด จึงอยู่เหนือผลกระทบของโควิดได้บางส่วน อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้นทำในจังหวัดปริมณฑล เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม เลยไปถึงเพชรบุรี จะมีความเสี่ยงทั้งที่อยู่โรงงานซึ่งต้องอยู่ในรายการผลิตด้วยกันเป็นเวลานานอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง แล้วก็ต้องกลับมาอยู่หอพักซึ่งก็เป็นอีกส่วนของ cluster โรงงาน การที่ต้องเว้นระยะห่าง (Distancing) จึงยากพอควร ทำให้เกิดเป็นสาเหตุของการระบาดของโควิด-19 รอบสามในปัจจุบัน ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมประเภทนี้ในยุค New Normal ก็คงต้องหาทางเพิ่มเครื่องจักรอัตโนมัติแทนแรงงานมากขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้ capital หรือ technology intensive  ไม่น่าห่วงเนื่องจากใช้พนักงานน้อย และเป็นช่างเทคนิคระดับสูง มีฐานะดีอาจจะมีที่อยู่ไม่แออัด ดังนั้นนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือกลุ่มนี้ไม่มีอะไรที่รัฐต้องไปช่วยเขามากนักนอกจากการการอำนวยความสะดวกโดยภาครัฐให้ทำธุรกิจได้โดยง่าย เนื่องจากอุตสาหกรรม Large Manufacturing Industries (LMs) พวกนี้สามารถปรับตัวได้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสาขาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว การปรับตัวจึงทำได้ง่ายกว่าที่คนไทยเป็นเจ้าของทั้งหมด ข้อเสนอคือ

  • การสำรวจให้ทราบจำนวนแน่นอนว่าจะมีแรงงานออกจากระบบเท่าใด เพราะว่าไม่สามารถยกระดับตัวพวกเขาให้สามารถปรับตัวเข้ากับแนวโน้มอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีสูงได้ จึงต้องส่งเสริมโอกาสในการสร้างอาชีพใหม่ให้พวกเขา โดยหน่วยงานของรัฐ เช่น กพร. และหรือ สคช. ควรได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐเพื่อช่วยฝึกอบรมทั้ง upskills และ reskills เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างอาชีพใหม่ทั้งที่เป็นตลาดแรงงานทางการ (ในระบบ) และตลาดแรงงานนอกระบบ จากมาตรฐานฝีมือแรงงานและ/หรือมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่ได้รับการฝึกอบรมและมี certificate รองรับตัวพวกเขาว่าสามารถทำงานได้จริง โดยควรให้ความสนใจกับกลุ่มอุตสาหกรรมพวกใช้แรงงานเข้มข้น และมีแรงงานลดลงตั้งแต่เกิดการะบาดของโควิด-19 ถึงปัจจุบัน คือ สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องหนังและรองเท้า ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ เป็นต้น ที่ต้องเอาใจใส่ต่อความเสี่ยงในการตกงานมากที่สุด

6. ท้ายที่สุดเป็นภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคที่มีการจ้างงานมากกว่าภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมรวมกัน เมื่อเริ่มการระบาดของโควิด-19 มีการจ้างงาน 20.08 ล้านคน ในภาพรวมตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2563 กับไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งเป็นการเข้าสู่การระบาดของโควิด-19 รอบที่ 3 ซึ่งเป็นลำดับแรกที่ได้รับผลกระทบต่อการจ้างงานมากที่สุดดังนี้

ตารางที่ 1: การจ้างงานในภาคบริการ

ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ

จากตารางข้างต้น 7 อาชีพหลักภาคบริการจากทั้งหมด 13 อาชีพ มีการจ้างงานถึงร้อยละ 66 และเป็นสาขาที่ถูกกระทบการจ้างงานไม่มาก พิจารณาจากรายไตรมาส (QoQ) มีการจ้างงานลดลงเพียง 285,000 คน เท่านั้น เชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้ได้ย้ายกลับไปภาคการเกษตร ซึ่งมีจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ดังได้กล่าวมาแล้วในรายงานวิจัยหลายฉบับที่พบว่าผลกระทบของโควิด 19 ทำให้การว่างงานอาจเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว คือ จากร้อยละ 0.8 เป็นร้อยละ 2 เป็นอย่างมาก คิดเป็นจำนวนคนประมาณ 7 แสนกว่าคน ในส่วนผู้ว่างงานเป็นแรงงานที่มาจากภาคบริการประมาณร้อยละ 40 แต่ที่เป็นปัญหา คือ ยังมีคนทำงานต่ำระดับ (1-39 ชั่วโมง) อยู่ถึง 5.678 ล้านคนในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 หรือร้อยละ 28.2 ซึ่งรายได้ลดลงจากการที่สถานประกอบการในภาคบริการยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามภาวะปกติ นอกจากนั้นยังทำให้คนที่เคยทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงลดลงร้อยละ 3.9 มาตรการในการช่วยเหลือแรงงานภาคบริการ มีดังนี้

          6.1.ในระยะสั้น (1 ปี) จะต้องทำให้คนไทยสามารถออกนอกบ้านเพื่อจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยวได้โดยสบายใจมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็เพียงแต่จะหาวิธีป้องกันโควิด-19 ไม่ให้ระบาดต่อไปอย่างยืดเยื้อ ด้วยการฉีดวัคซีนถ้วนหน้า (2 เข็ม) ภายในปี 2564 และลดการติดเชื้อใหม่ให้ลดลงเหลือระดับหลักร้อย ด้วยการปูพรหมหาผู้ติดเชื้อใหม่ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด และปลดล๊อกมาตรการระงับเดินทาง และเปิดให้สถานบริการ ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และแหล่ง Entertainments ต่างๆ ให้สามารถทยอยเปิดทำการได้ทั้งหมดที่ห้ามไว้ภายในปี 2564 โดยประชาชนยังต้องระมัดระวังเรื่อง Distancing และการสวมหน้ากากอนามัยเป็นส่วนหนึ่ง ของการใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นปกติใหม่ (New Normal) เมื่อการไว้วางใจของประชาชนเกิดขึ้น การเคลื่อนย้ายตัวเองไปยังแหล่งต่างๆ ที่กล่าวมา ธุรกิจ/สถานประกอบการก็จะเริ่มฟื้นตัวภายในปี 2564 การว่างงานจะลดลง การจ้างงานเต็มที่ก็จะเกิดมากขึ้นโดยลำดับ

          6.2.ในช่วงเวลา 6-7 เดือน ที่เหลือของปี 2564 นี้ ถ้าสถานประกอบการประเภทไหนถูกห้ามไม่ให้เปิดกิจการ รัฐก็จะต้องชดเชยขั้นต่ำให้พวกเขาสามารถรักษาสถานประกอบการร้านค้าเอาไว้ให้ได้จนถึงเหตุการณ์เข้าสู่ New Normal ในปี 2565 โดยกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาคนกลุ่มนี้ให้ชัดเจน

          6.3.ในระยะปานกลางหลังปี 2565 เป็นต้นไป การใช้มาตรการเชิงป้องกันไม่ให้เกิดโควิด -19 ระบาด จะเป็นมาตรการหลักมากกว่าการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภาระงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลก็จะบรรเทาลง ทำให้รัฐบาลมีเงินเหลือมาพัฒนามากขึ้นและดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเศรษฐกิจระหว่างประเทศยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร การพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้นจากการศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) พบว่าการขยายตัวของ GDP (ปรับฤดูกาลแล้ว) ระยะกลาง (ปี 2565- 2575) ของประเทศจะเติบโตอยู่ระหว่างร้อยละ 1.5-2.5 เท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนี้โอกาสที่จะดูดซับแรงงานเก่าที่ตกงานและแรงงานใหม่ 3-4 แสนคนต่อปีที่จบออกมาใหม่ และ/หรือ อายุถึงวัยทำงานและไม่ได้เรียนหนังสือไม่หมดอย่างแน่นอน ความสนใจการจ้างงานเยาวชนจะได้รับความสนใจมากกว่าการจ้างงานผู้สูงอายุ ข้อเสนอแนะ คือ

          6.3.1 ต้องมีโครงการส่งเสริมทั้งการประกอบอาชีพอิสระและอาชีพในระบบควบคู่กันไป โดย
ผู้ประสงค์ทำงานในระบบ (Formal Sector ) คงรับได้ไม่หมด นอกจากทางประเทศไทยจะฟื้นตัวภาคบริการด้วยการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาประเทศไทยได้ด้วยวัคซีนพาสปอร์ต โดยจำกัดการท่องเที่ยวเป็น Sand Box ไปก่อน เช่น ภูเก็ต สมุย พังงา กระบี่ เป็นต้น ก็จะเกิดผลดีกับสายการบินในประเทศ การส่งเสริมให้คนไทยหรือชาวต่างประเทศมาจัด Mice และคนไทยจัดสัมมนาต่างจังหวัดก็จะช่วยให้ธุรกิจการเงินหมุนเวียนในต่างจังหวัด ดูดซับแรงงานที่จบใหม่ในต่างจังหวัดได้มากขึ้น โดยรัฐบาลต้องใช้นโยบายและมาตรการเฝ้าระวัง Post โควิด-19 อยู่ตลอดเวลา พร้อมที่จะจำกัดกิจการของสถานประกอบการ/หรือกิจการบางอย่างที่ส่อที่จะทำให้เกิดการระบาดซ้ำขึ้นมาอีกเป็นรอบที่ 4 ให้ได้

          6.3.2 จัดทำโครงการ Public Private Co-payment หรือ Cost Sharing เพื่อให้ผู้ตกงาน (ทั้งคนเก่าและคนใหม่) ได้มีโอกาสเพิ่มเติมประสบการณ์ในการทำงานจากสถานที่จริง ถ้านายจ้างพอใจก็สามารถปรับสภาพรับเข้าทำงานได้ทันที โครงการไทยมีงานทำก็คงต้องทำงานต่อไปเพื่อเปิดโอกาสให้นายจ้างกับผู้สมัครงานได้พบกัน โดยให้แรงจูงใจกับผู้สมัครงานที่จดทะเบียนกับโครงการมีงานทำไปขอทดสอบฝีมือแรงงาน และ/หรือคุณวุฒิวิชาชีพ หรือมาตรฐานอาชีพได้ โดยรัฐบาลให้การอุดหนุนค่าใช้จ่ายเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าแรงงานทำงานเป็น และแรงงานมีความภูมิใจที่ตนเองมีสมรรถนะที่มีมาตรฐาน

          6.3.3 เชื่อมประสานระบบศูนย์ข้อมูลการศึกษาและการมีงานทำของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งจัดทำ Big Data ผู้เรียนผู้จบการศึกษาที่กำลังจะออกมามีงานทำและใช้ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Machine Learning และ/หรือ Data Analytic เพื่อทราบประเภทตำแหน่งงานที่แท้จริงเพื่อจับคู่อุปสงค์-อุปทาน (Matching Demand and Supply) ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการช่วยเหลือผู้ต้องการมีงานทำในยุค New and Next Normal

1.2 มาตรการในการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว

จากตัวเลขที่กล่าวมา ประเทศไทยใช้แรงงานต่างด้าวเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 8 โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ส่วนที่เพิ่มมากขึ้น คือ ประชากรมีการศึกษาต่ำของไทยเติบโตน้อยลง และแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน ในปีที่ผ่านมาเมื่อรวมกับแรงงานไทยมีมากกว่า
41 ล้านคน คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 0.36 ต่อปี จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้สามารถฟันธงได้ว่าประเทศไทยขาดแคลนแรงงานระดับล่างจนต้องจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นทุกปี การพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในระดับสูงทำให้มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้น แรงงานต่างด้าวบางส่วนที่ถูกเลิกจ้างก็ไม่ได้กลับประเทศ แต่ยังแฝงตัวทำงานผิดกฎหมายอยู่ต่อไป (ถึงแม้ประเทศไทยจะออกกพระราชกำหนดนโยบายการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวของไทยในส่วนของแรงงานถูกกฎหมาย และ/หรือแรงงานต่างด้าวทักษะสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐบาลไทยค่อนข้างจะเปิดกว้าง[3] และไม่มีปัญหามากนักกับแรงงานกลุ่มนี้ เพียงแต่ยังมีปัญหาเรื่องของ visa ในการทำงานและการรายงานตัวต่อหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองทุก 90 วัน หรือเรื่องของการต่ออายุวีซ่าแรงงานทักษะสูง ซึ่งกำหนดให้พำนักในประเทศไทยแต่ละครั้งน้อยเกินไป โดยปัจจุบันอาจให้อยู่ได้คราวละ 2 ปี แต่ต้องรายงานตัวทุก 1 ปี เพื่อแสดงตัวตนว่ายังอยู่ในประเทศไทย

นโยบายแรงานต่างด้าวทักษะสูง

สำหรับแรงงานต่างด้าวมีทักษะระดับกลางและระดับสูง ปัจจุบันสถานประกอบการหรือนายจ้างสามารถ apply ขอ Work permit ได้โดยตรงกับกรมการจัดหางาน (ทุกเขต/พื้นที่) สำหรับแรงงานทักษะระดับกลางนั้น ทางสถานประกอบการหรือนายจ้างสามารถนำเข้าผ่านทาง BOI (จากการเกี่ยวข้องโดยตรงกับ FDI) หรือ ระบบ MOU ได้ตามความต้องการ นั่นเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติยึดกรอบนโยบายปฏิบัติงานมาด้วยดีจนถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากสถานประกอบการและ/หรืออุตสาหกรรมของไทยเป็น MSMEs และSMEs มากกว่าร้อยละ 99 ของสถานประกอบการทั้งหมด ความต้องการแรงงานทักษะสูงในอดีตจนถึงปัจจุบันมีไม่มากนัก เนื่องจากสถานประกอบการและ/หรืออุตสาหกรรมไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงประมาณ 9,100 บาทต่อการจดทะเบียนต่างด้าว 1 คน ถ้าต้องพึ่งพานายหน้า (ที่ถูกต้องตามกฎหมาย) เป็นผู้นำพาเข้ามาตามความต้องการของนายจ้างก็อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเกือย 3 หมื่นบาทต่อคน ซึ่งนายจ้างได้แจ้งความจำนง
ขอจ้างแรงงานทักษะปานกลางถึงสูงดังกล่าว ในรูปโควตาจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะจ้างแรงงานต่างด้าวที่มีทักษะสูงจะเพิ่มขึ้นจากความพยายามที่จะยกระดับอุตสาหกรรมและสถานประกอบการให้เป็น 4.0 เพื่อเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพหรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก จากประสบการณ์ของประเทศพัฒนาแล้วจะจ้างแรงงานทักษะสูง สัดส่วนสูงร้อยละ 35 – 50 ของการจ้างงานทั้งหมด เช่น อินเดีย จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งเปรียบเทียบกับประเทศไทยจ้างแรงงานทักษะสูงเฉลี่ยอยู่ประมาณร้อยละ 3-5 เท่านั้น แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายจริง ๆ จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย[4] พบว่ามีแรงงานทักษะสูงกระจายอยู่ในอุตสาหกรรม เช่น  การเผลิต  ขายส่งและขายปลีก  วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคนิค
ที่พักแรมและบริการร้านอาหาร ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปคือ ข้อค้นพบของ ธปท. ในกลุ่มอุตสาหกรรม 10 กลุ่ม มีบางอุตสาหกรรมเริ่มใช้แรงงานทักษะสูงมากขึ้น เช่น ร้อยละ 15-18 เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ายังแตกต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้วค่อนข้างมาก ความจำเป็นเร่งด่วน คือ ควรมีมาตรการดังนี้

1. สำรวจความต้องการแรงงานทักษะสูงในแต่ละสาขา เพื่อให้ทราบลักษณะอาชีพของผู้มีทักษะสูงและจำนวนที่ต้องการเพื่อไม่ให้แย่งงาน จะต้องกำหนดโควตาระหว่างคนไทยกับคนต่างด้าว โควตาที่คาดว่าจะใช้ในปัจจุบัน คือ แรงงานไทยต่อแรงงานต่างด้าว 4:1 ซึ่งล้าสมัยต้องแก้ไข เนื่องจากบางสาขาอาชีพ เช่น บริษัทหรือสถานประกอบที่ใช้เทคโนโลยีหรือ IT หรือธุรกิจอื่นที่จำเป็นต้องใช้โควตามากกว่า 4:1 จึงเป็นหน้าที่ของกรมการจัดหางานที่จะต้องปรับเปลี่ยนโควตาต่างด้าวเป็นไปตามความจำเป็นของผู้ประกอบการได้ เช่น 3:1 หรือ 2:1 ตามลักษณะการใช้กำลังคนระดับสูงของประเภทอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการ

2. ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างนิเวศในการดึงดูดแรงงานระดับสูงในทิศทางเดียวกันกับสิงคโปร์ เพื่อนำมาถ่ายทอดสมรรถนะสมัยใหม่ให้กับแรงงานไทยให้เติบโตด้านสมรรถนะอย่างก้าวกระโดดด้วยระบบ coaching ad mentoring ที่มีแรงงานไทยมีความพร้อมที่จะรองรับทักษะขั้นสูง แต่ถ้ายังไม่พร้อมก็ต้องจ้างแรงงานทักษะสูงมาทำงานคู่กับคนไทย ซึ่งต้นทุนก็จะสูงเป็นเงาตามตัวและจะยิ่งดีมากกว่านี้คือการนำคนไทยที่เก่งแต่ทำงานอยู่ต่างประเทศกลับมาช่วยพัฒนาประเทศในสาขาที่ขาดแคลนด้วยเงื่อนไขที่เป็นไปได้ เช่นพิจารณาเรื่องค่าจ้าง ค่าตอบแทนที่แข่งขันได้อย่างน้อยกับประเทศในเอเชีย เป็นต้น

3. การสร้างแรงจูงใจให้แรงงานทักษะสูงที่เป็นชาวต่างชาติเหล่านี้ได้รับความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตในการทำงานและพักผ่อนด้วยการอำนวยความสะดวกในการต่อวีซ่า อำนวยความสะดวกเรื่องความต่อเนื่องของประกันชีวิตและ/หรือประกันสิทธิในการคุ้มครองในเรื่องการรักษาพยาบาล และได้รับการดูแลเช่นเดียวกับคนไทยอย่างเสมอภาค และการได้รับวัคซีนเช่นเดียวกับคนไทย เป็นต้น

มาตรการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานต่างด้าวระดับล่าง

จากการที่ผู้เขียนเป็นอนุกรรมการของกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี จึงได้เสนอแนะมาตรการหลายเรื่องในระยะยาวเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นแนวทางในการแก้ไข

ช่วงก่อน โควิด-19 ระบาด

1. เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลแรงานต่างด้าวทักษะต่ำ ด้วยการนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าระบบจนได้จำนวนมากที่สุด (ใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย) ซึ่งประเทศไทยในยุค คสช. สามารถออกกฎหมายนิรโทษกรรมนำแรงงานที่ผิดกฎหมายมาจดทะเบียนน่าจะได้มากกว่าร้อยละ 90 โดยได้แรงงานถูกกฎหมายประมาณเกือบ 3 ล้านคน เพื่อนำมาบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพแต่ต้องป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายให้ได้ มิฉะนั้นก็จะกลับไปมีสภาพเหมือนเดิมคือไม่รู้ว่าต่างด้าวอยู่ที่ใหน ทำอะไร ถ้าพวกถูกกฎหมายถูกทดแทนด้วยแรงงานผิดกฎหมายไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำอะไร

2. ต้องดำเนินการเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายกับทั้งผู้ประกอบการ นายหน้า ผู้นำพา ตลอดจนตัวแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายด้วยการลงโทษที่รุนแรง เพื่อให้ลดการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย

3. ต้องดูแลให้แรงงานต่างด้าวทุกคนได้รับการคุ้มครองด้านประกันสังคมและเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของแรงงานต่างด้าวให้ได้ตามสิทธิที่พึงได้และเท่าเทียมกับคนไทย

มาตรการระหว่างและหลังโควิด-19 ระบาด

จากการศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่มกราคม 2563 ถึงปัจจุบัน ในช่วงการศึกษาของโครงการพบว่า แรงงานต่างด้าวเป็นต้นเหตุของการระบาดกลุ่ม (cluster spreader) เป็นระยะ เช่น ที่สมุทรสาคร ในช่วงปลายปี 2563 เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาดรอบสองและต่อมามีการระบาดตามสถานประกอบการประเภทต่างๆ แต่ละจังหวัดโดยเฉพาะบริเวณจังหวัดกรุงเทพและปริมณฑล แต่จำนวนไม่มากเหมือนที่เกิดในตลาดกุ้ง ตลาดมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร จนกลายเป็น สมุทรสาครโมเดล แต่ในที่สุดก็ยังมีระบาดหนักอีกครั้งตาม cluster ของโรงงานอุตสาหกรรมในย่านสมุทรสาครและจังหวัดปริมณฑล และจังหวัดเพชรบุรี/ราชบุรี ในช่วงเดือนเมษายน/พฤษภาคม 2564 และมีบางส่วนที่เกิดกับ camp คนงานผู้ประกอบการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว รวมทั้งก่อนหน้านั้นมีการระบาดในชุมชนแออัดหลายพื้นที่ และเมื่อเร็วๆ นี้ เกิดจากหลายแหล่งที่มีผู้คนพลุกพล่านอยู่ตลอดเวลา เช่น ตลาดสด เป็นต้น แต่จะมีทั้งคนไทยและคนต่างด้าวปะปนกัน การแพร่ระบาดเป็นดาวกระจายไปทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ

จุดที่พูดถึงเรื่องแรงงานต่างด้าวที่ถูกกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติได้โดยง่ายจากการระบาดรอบ 3 แต่การบริหารจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวยังไม่เสร็จสิ้น การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ ทำให้การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวไม่ค่อยราบรื่น ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

1.กลุ่มแรก กลุ่มที่ถูกกฎหมายประมาณ 2.15 ล้านคน ซึ่งจะต้องต่ออายุ คือ กลุ่มบัตรสีชมพู จำนวน 1,364,214 คน กลุ่ม MOU อยู่ทำงานครบ 4 ปี จำนวน 131,585 คน และกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม. 29 ธันวาคม 2563 อนุญาตให้กลุ่มที่สิ้นสุดการอยู่อาศัยในประเทศไทยและหลบหนีเข้าเมืองจำนวนประมาณ 0.601 ล้านคน จดทะเบียนให้ถูกต้องและสามารถอยู่ในประเทศไทย

จากการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (อคบต.) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 ได้นำข้อเสนอแนะของ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ และคณะไปใช้ในการจัดระเบียบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเสียใหม่ โดย อคบต. เห็นชอบในหลักการลดความซ้ำซ้อนของการแก้ปัญหาแรงงานกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะการต่ออายุการทำงานในประเทศไทย โดยใช้มติ ครม. ทำให้ผู้ที่ต้องขอมติ ครม. ทุกครั้งปีละหลายครั้ง เพื่อให้กลุ่มต่างๆ ที่จดทะเบียนต่างกรรมต่างวาระสามารถทำงานต่อไปได้ อีกทั้งการระบาดของ โควิด-19 ยังไม่สงบ ทำให้การดำเนินการต่ออายุกลุ่มแรกดังกล่าวยุ่งยาก ล่าช้าไปอีก โดยมีข้อเสนอจาก อคบต. ให้ทุกกลุ่มไม่ว่าจะหมดอายุบัตรตอนไหน แต่ทุกกลุ่มจะได้รับสิทธิการอยู่และทำงานถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งถือว่าเรื่องนี้เป็นการปลดล็อกข้อกำหนดกฎระเบียบให้ง่ายต่อการบริหารจัดการแรงงาน โดยเฉพาะการขยายอายุการทำงานของทุกกลุ่มในอนาคต

2.กลุ่มที่สอง เป็นการเสนอให้ อคบต. มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวจำนวน 601,177 คน ถ้ายึดตามขั้นตอน 6 ขั้นตอน จะเริ่มช้าลงเมื่อถึงระยะที่ 5 เนื่องจากมีแรงงานมากกว่า 241,000 คน (ร้อยละ 39.93) ยังไม่ได้ตรวจ โควิด-19 เนื่องจากมีปัญหาประวัติคนงานต่างด้าวคลาดเคลื่อน (ใช้เวลานานในการยืนยัน) และอาจจะมีส่วนมาจากนายจ้างที่ลงทะเบียนไว้ว่าจะรับเข้าทำงานหรือมีปัญหาเรื่องเงินที่จะออกให้แรงงานต่างด้าวก่อนประมาณ 390 ล้านบาท และต้องซื้อบัตรประกันสุขภาพ เช่น คุ้มครอง 5 เดือน 1,400 บาท คิดเป็นเงินเกือบ 340 ล้านบาท ซึ่งนายจ้างต้องแบกภาระแทนลูกจ้างไปก่อน และถ้าธุรกิจยังไม่สามารถดำเนินการโดยราบรื่นเนื่องจากปัญหาโควิด-19 การจ่ายเงินแทนลูกจ้างตามขั้นตอนที่เหลือลำดับที่ 7 และ 8 นายจ้างต้องออกให้ก่อนอีกหลายร้อยล้านบาททำให้นายจ้างลังเลใจที่จะลงทุนออกเงินแทนลูกจ้างต่างด้าวที่คาดว่าจะนำมาทำงาน

ตารางที่ 2: การดำเนินงานจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเคยผิดกฎหมาย โดยให้กึ่ง-นิรโทษกรรม (Quasi Amnesty)

ที่มา : สำนักบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว (สบร.)

อย่างไรก็ตาม ทางผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อเสนอของ อคบต. ในการข้ามขั้นตอนการตรวจโควิด-19 (โดยกระทรวงสาธารณสุข) ให้ออกใบอนุญาตในการทำงาน บต.28 ไปก่อน เพื่อให้ขั้นตอนออกบัตรสีชมพู/ออกใบอนุญาตทำงานเดินเรื่องต่อไปได้ เพราะถ้าหลักฐานไม่ครบก็ไม่สามารถออกใบอนุญาตทำงานให้ได้อยู่ดี

ซึ่งที่กล่าวมาต้องการชี้ให้เห็นว่าข้อแนะนำของ TDRI ให้วันสิ้นสุดการทำงานของทุกกลุ่มที่
จดทะเบียนและได้รับอนุญาตให้ทำงานมาสิ้นสุดวันเดียวกันคือ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยใช้กฎระเบียบที่มีอยู่โดยไม่ต้องออกกฎระเบียนอะไรใหม่ แต่ที่เสนอแนะผลกระทบของโควิด-19 กับแรงงานต่างด้าวกลุ่มพิเศษ จำนวน 601,177 คน มีดังนี้

1. ต้องให้ความสนใจเร่งให้กลุ่มแรงงานที่ได้รับเสมือนนิรโทษกรรมได้เข้าระบบโดยเร็วและครบถ้วน ถ้าเกิดแรงงานบางส่วนนายจ้างที่ได้ลงทุนออกค่าใช้จ่ายให้ก่อนเพื่อให้ได้คนไปทำงานเกิดล้มละลายหรือธุรกิจไปต่อไม่ได้ก็ต้องหาวิธีให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ให้ยังอยู่ต่อในประเทศได้โดยหานายจ้างใหม่ (ซึ่งเคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้ให้กรมการจัดหางานรับผิดชอบในการหานายจ้างใหม่ให้แรงงานกลุ่มนี้) เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถกลับบ้านได้ เช่น เมียนมา มีปัญหาความไม่สงบจากการยึดอำนาจ มีการสู้รบและเศรษฐกิจฝืดเคือง ประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานระดับล่าง ทางกรมการจัดหางานต้องพยายามหางานให้คนต่างด้าวเหล่านี้ได้ทำงาน ถ้าไม่สามารถหานายจ้างได้ พวกเขาจะไม่มีเงินใช้สอยในชีวิตประจำวัน สุมหัวกันอยู่อย่างหนาแน่น
มีโอกาสแพร่เชื้อโควิด-19 ได้อีกจะเป็นเรื่องความมั่นคง แต่ถ้าไม่มีนายจ้างต้องการจริงๆ ต้องปล่อยให้พวกเขากลับบ้านเราก็จะหมดภาระความรับผิดชอบ

2. แรงงานอีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ แรงงานต่างด้าวไม่มีนายจ้าง 58,531 คน จะต้องใช้วิธีประชาสัมพันธ์ให้พวกเขามีงานทำ มีนายจ้างโดยเร็ว (ทะเบียนอยู่กับกรมการจัดหางาน) แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ถ้าไม่มีงานทำจะอยู่อย่างยากลำบาก จึงต้องหาวิธีบริหารจัดการให้พวกเขามีที่อยู่ประจำ ไม่หลบหนีไปทำงานท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ยังไม่สงบและคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม ป้องกันโควิด-19 การระบาดซ้ำซ้อนจากแรงงานผิดกฎหมาย (ถ้าเขาหานายจ้างไม่ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2564) กลุ่มนี้ เนื่องจากพวกเขากลับบ้านก็อยู่ไม่ได้และอยู่ก็ไม่มีนายจ้างไม่มีงานทำ ดังนั้นในช่วงยังผ่อนผันอยู่อีก 3 เดือนนี้จะต้องบริหารแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ให้ได้ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาความมั่นคงและกลายเป็น
ผู้แพร่เชื้อโควิด-19 อีกระลอกหนึ่ง

3. ในระยะยาว สำหรับแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ 1 ต่ออายุจนถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 มีเวลามากพอที่จะคิดลดการพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวในทุกภาค (เกษตร อุตสาหกรรม และบริการ) จะต้องให้แรงจูงใจในการปรับลดการจ้างแรงงานต่างด้าว โดยอาจใช้มาตรการภาษีเป็นแรงจูงใจ ทั้งในส่วนของการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมที่มีภารพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในสัดส่วนที่สูงในการลดหรือไม่เก็บภาษีการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์มาใช้ในการลดการพึ่งพึงแรงงานต่างด้าว และ/หรือให้ tax holiday กับสถานประกอบกิจการที่จ้างแรงงานต่างด้าวลดลง (จะลดเท่าไรเป็นไปตามข้อตกลง)

4. ฟื้นการจ้างงานระยะสั้นเป็นฤดูกาลให้เป็นระบบให้มีองค์กรรองรับแรงงานเหล่านี้ แรงงานกลุ่มนี้หายไปช่วง โควิด-19 ระบาดคงเป็นองค์กรนายหน้าเพื่อรับงานตามฤดูกาลในประเภทต่างๆ โดยการลด transection cost ของการจ้างโดยการให้พวกเขาสามารถย้ายแหล่งทำงานไปยังภาคการเกษตรของพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ เพื่อรับจ้างทำงาน เช่น เตรียมดินเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพื้นผัก ผลไม้ เป็นต้น

ที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้เป็นรายงานฉบับร่างถ้าหากผู้อ่านท่านใดมีข้อสังเกตุหรือข้อเสนอแนะทีมวิจัยขอยินดีรับมาปรับปรุงรายงานให้มีประโยชน์มากขึ้น

ที่มา:

  1. บทความเรื่อง ผลกระทบ โควิด-19 ต่อตลาดแรงงานไทย โดย เกศินี ธารีสังข์ และอลงกรณ์ ฉลาดสุข
  2. บทความเรื่อง สถานการณ์การจ้างงาน ณ เดือน มิถุนายน 2563 โดย อลงกรณ์ ฉลาดสุข และ ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
  3. บทความเรื่อง ผลกระทบ โควิด-19 ต่อตลาดแรงงานไทยยังน่าเป็นห่วงในปี 2564 โดย อลงกรณ์ ฉลาดสุข และ ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
  4. บทความเรื่อง ผลกระทบโควิด-19 ต่อการจ้างงานในภาคบริการของประเทศไทย โดยดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ และโชคชัยชาญ วิโรจน์สัตตบุษย์
  5. ผลกระทบ โควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน : กรณีศึกษาแรงงานหญิง โดย ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์และโชคชัยชาญ วิโรจน์สัตตบุษย์
  6. บทความเรื่อง ผลกระทบโควิดต่อแรงงานต่างชาติ โดย สิรวิชญ์ รัตนประทีปทอง
  7. บทความเรื่อง ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย
    โดยดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ และคณะ
  8. บทความเรื่อง แนวทางการช่วยเหลือเยียวยาแรงงาน โดยอลงกรณ์ ฉลาดสุข
  9. บทความเรื่อง ผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานนอกระบบ โดย ราตรี ประสมทรัพย์
  10. บทความเรื่อง ประกันสังคมแบบถ้วนหน้า โดยราตรี ประสมทรัพย์ และสิรวิชญ์ รัตนประทีปทอง
  11. บทความเรื่อง การจ้างงานแรงงานรายชั่วโมงในช่วงวิกฤตการระบาด โควิด-19 โดยโชคชัยชาญ วิโรจน์สัตตบุษย์ ราตรี ประสมทรัพย์ และสิรวิชญ์ รัตนประทีปทอง
  12. บทความเรื่อง ผลของมาตรการเยียวยาของรัฐบาลจากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ที่มีต่อต่อภาคเศรษฐกิจ การมีงานทำและการว่างงาน โดยดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ และคณะ
  13. บทความเรื่อง ความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนจาก 62% เป็น 75% โดยสาวอุษณีย์ ศรีจันทร์
  14. บทความเรื่อง ความเหมาะสมของมาตรการลดหย่อนการส่งเงินประกันสังคม โดยราตรี ประสมทรัพย์ และสิรวิชญ์ รัตนประทีปทอง
  15. บทความเรื่อง ประสิทธิภาพของโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ (Co-payment) จากรัฐบาล โดยดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ และคณะ

[1] ดูการศึกษาบทความ เรื่อง ผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ต่อตลาดแรงงาน

[2] ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,485 รายยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 159,792 รายกลับบ้านแล้ว 108,919 รายอยู่ระหว่างรักษาตัว 50,416 รายยอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,031 ศพประเทศไทยเป็นอันดับที่ 82 ของโลก ที่มา: สถิติ ของ ศบค.

[3] ระเบียบของกรมการจ้ดหางาน ให้นายจ้างที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวต้องมีเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 2 ล้านบาท และจะถูกกำหนดการจ้างเป็นโควตาคือ จ้างต่างด้าว 1 คนต่อแรงงานไทย 4 คน หรือ 1:4

[4] https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256402TheKnowledge_MigrantWorkers-.aspx

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เขียนโดย คณะวิจัย TDRI
25 กันยายน 2563