ผลกระทบของโควิด-19 ต่อผู้สูงอายุ

ยศ วัชระคุปต์
ดร.สมชัย จิตสุชน

นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศไทย ไม่เพียงแต่ส่งผลให้ประชาชนเจ็บป่วยและเสียชีวิต ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง แต่กลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นกลุ่มที่มีทุนทางสังคมน้อยกว่ากลุ่มอื่น ย่อมได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า ซึ่งเป็นข้อค้นพบจากการสำรวจหลายครั้งที่ผ่านมา (ผลกระทบของโควิด-19 ต่อครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก ,โควิด-19 กระทบใคร กระทบอย่างไร พวกเขารับมือไหวไหม) นอกจากนี้ความสามารถในการปรับตัวของกลุ่มนี้ก็น้อยกว่าหากปราศจากความช่วยเหลือจากภายนอก 

ในบทความนี้จะเน้นไปที่ผลกระทบของโควิด-19 ต่อกลุ่มเปราะบางที่เป็นครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุมีร่างกายที่เสื่อมถอยไปตามอายุจึงมีความเสี่ยงในด้านสุขภาพและต้องการการดูแลที่มากกว่า และเป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยเกษียณ ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ที่น้อยกว่าในวัยทำงานจึงได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า โดยจะใช้ข้อมูลจากการสำรวจออนไลน์สองชุดที่ร่วมกันจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และทีมงานด้านข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ชุดแรกคือ  ‘ผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมโรคระบาด’ สำรวจระหว่างวันที่ 13-27 เมษายน 2563 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 43,448 ชุด และชุดสอง ‘ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมโรคระบาด’ ระหว่างวันที่ 23 เมษายน ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 27,429 ชุด

ในด้านผลกระทบด้านสังคม การสำรวจมีข้อค้นพบที่สำคัญคือ ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบในหลายเรื่องเช่นการดูแลตนเอง (การตัดผม การออกกำลังกาย) การซื้อข้าวของเครื่องใช้ จ่ายตลาด การเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ การเข้ารับบริการทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วย ในสัดส่วนระหว่างร้อยละ 70.1 – 91.8 และมีจำนวนไม่น้อยที่ระบุว่าได้รับผลกระทบดังกล่าว ‘มาก’ เช่น ร้อยละ 40.9 ระบุว่าได้รับผลกระทบมากในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ การเข้ารับบริการทางการแพทย์ และการดูแลตนเอง ในสัดส่วนร้อยละ 40.9 29.6 และ 28.2 ตามลำดับ

นอกจากนี้ มาตรการปิดสถานดูแลผู้สูงอายุส่งผลต่อการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีภาวะพึ่งพิงที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอย่างใกล้ชิด ทำให้ผู้สูงอายุอาจไม่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและสร้างภาระการดูแลให้แก่ครอบครัวผู้สูงอายุได้ แม้มีบางพื้นที่ เช่น จังหวัดนนทบุรีที่ผ่อนปรนให้เปิดสถานดูแลผู้สูงอายุแบบพักค้างคืน โดยให้ปิดเฉพาะสถานบริการแบบไปเช้าเย็นกลับก็ตาม

ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจ พบว่าผู้สูงอายุไม่ค่อยได้รับผลกระทบในด้านการมีงานทำเนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เกษียณอายุแล้ว ดังจะเห็นได้จากผู้สูงอายุที่ตอบแบบสอบถามเป็นกลุ่มข้าราชการบำนาญและไม่ได้ทำงาน/หางาน ร้อยละ 16.9 และ 34.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ดีมีผู้สูงอายุที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.9 เป็นร้อยละ 6.6 ซึ่งกลุ่มที่ตกงานมากที่สุดคาดว่าคือกลุ่มรับจ้างทั่วไป/งานไม่ประจำ ซึ่งมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 9.6 เป็นร้อยละ 6.6

ส่วนในด้านรายจ่ายนั้น ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการบริโภคที่น้อยลงและไม่ค่อยมีการเข้าสังคมมากนัก จึงมีรายจ่ายที่ไม่ค่อยสูงและไม่ได้รับผลกระทบมากนัก น่าจะมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่ประเภท เช่น ในกรณีที่ต้องมาดูแลที่บ้านเมื่อสถานดูแลผู้สูงอายุปิดลงชั่วคราว การซื้อยาเองในกรณีที่ไม่สามารถไปรับบริการที่สถานพยาบาลได้

ความช่วยเหลือและสวัสดิการจากรัฐ

รัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อมาช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือนร้อนให้ผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบหลายมาตรการ บางมาตรการก็ได้ผลดี ถูกเป้าหมาย บางมาตรการก็ยังตกหล่นผู้สูงอายุที่ควรได้รับความช่วยเหลือ เริ่มจากมาตรการเยียวยาด้วยเงินจากหลายช่องทาง (โครงการเราไม่ทิ้งกันของกระทรวงการคลัง มาตรการช่วยเหลือเงินเยียวยาเกษตรกรโดยกระทรวงเกษตรฯ หรือมาตรการเยียวยาประกันเงินว่างงานของสำนักงานประกันสังคม) แต่มาตรการเหล่านี้มุ่งเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนในวัยแรงงาน จึงไม่ค่อยครอบคลุมผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงาน

ส่วนมาตรการที่เฉพาะเจาะจงในการช่วยผู้สูงอายุประกอบด้วย (ก) เงินให้เปล่าเพิ่มขึ้นจากกรมกิจการผู้สูงอายุคนละ 50 หรือ 100 บาท (ข) การพักชำระหนี้ระยะเวลา 1 ปีสำหรับลูกหนี้กองทุนผู้สูงอายุที่กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุทุกคน ซึ่งแม้เป้าหมายถูกตัวเพราะเป็นผู้สูงอายุแต่งบประมาณที่ใช้ก็น้อยมากคือเพียง 689 ล้านบาทสำหรับโครงการแรก ในขณะที่มีเพียงผู้สูงอายุเพียง 4.1 หมื่นรายสำหรับโครงการสอง (ค) การจ่ายเงิน 3,000 บาทครั้งเดียวให้กับผู้ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งเป็นโครงการที่ดีเพราะเป็นการอุดช่องโหว่ของการตกหล่นในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งคาดว่ามีจำนวนไม่น้อย

อีกมาตรการความช่วยเหลือที่ดี คือการที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดทำโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการปิดสถานดูแลผู้สูงอายุในช่วงโควิด โดยให้การดูแลทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม มีผลช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวและรัฐในการดูแลรักษา รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานประชาชนเพราะจะช่วยสร้างงานนักบริบาลอาชีพจำนวน 15,548 คนกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

ในส่วนผลการสำรวจเรื่องมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ พบว่ามีผู้สูงอายุต้องการความช่วยเหลือในการดูแลค่าครองชีพ (เช่น คุมราคาสินค้า ลดค่าไฟฟ้า/น้ำประปา) การเพิ่มสวัสดิการแก่กลุ่มเปราะบาง (ผู้สูงอายุ) เงินให้เปล่าจากรัฐบาล (5,000 บาท/เดือน) มากถึงมากที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 50.7 44.9 และ 42.6 ตามลำดับ ที่สำคัญพบว่ามีผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ไม่สามารถเข้าถึงบางความช่วยเหลือได้ เช่น กรณีเงินเยียวยาโครงการเราไม่ทิ้งกัน เนื่องจากต้องใช้การกรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุไม่คุ้นเคย

จะเห็นว่าหลายมาตรการสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุได้ผ่านการให้เงินเยียวยามาชดเชยในกรณีที่คนในครอบครัวขาดรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตโดยตรงของผู้สูงอายุเป็นหลัก เช่น การเปิดให้บริการสถานดูแลผู้สูงอายุ ระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว การอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ส่วนด้านเศรษฐกิจอาจต้องคำนึงถึงการหางานที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยที่ยังต้องการและสามารถทำงานได้


หมายเหตุ: บทความนี้เป็นหนึ่งในผลงานโครงการศึกษาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19: กลไกการรับมือและมาตรการช่วยเหลือ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้แผนงาน economic and social monitor เพื่อการจัดทำรายงานสถานการณ์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยใช้ข้อมูลการสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ