เกษตรผสมผสานถึงโครงการพัฒนา คุ้มค่าหรือไม่ ใช้ ‘SROI’ หาคำตอบ

ณัฐพร บุตรโพธิ์

การทำเกษตรแบบผสมผสานโดยไม่ใช้สารเคมี ร่วมกับการฟื้นฟูป่าเป็นหนึ่งในแนวทางภายใต้เกษตรกรรมยั่งยืน เพราะทั้งวิธีการเพาะปลูกและ ผลผลิตที่ได้ดีต่อทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรในระยะยาวโดยเฉพาะด้านสุขภาพ นอกจากนี้ การไม่ใช้สารเคมีในการทำการเกษตรยังมีส่วนช่วย ฟื้นฟูระบบนิเวศ ทั้งทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ เท่ากับว่าประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อมต่างได้ประโยชน์

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการทำการเกษตรแบบผสมผสานแบบไม่ใช้สารเคมีร่วมกับการฟื้นฟูป่ายังเป็นเพียง “ทางเลือก” ในการทำการเกษตร ปัจจุบันยังไม่ได้มีการนำไปปฏิบัติเป็นวงกว้างในกลุ่มเกษตรกรไทย

สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะที่ผ่านมายังไม่มีการติดตาม และประเมินความคุ้มค่าต่อประชาชน สังคมและสิ่งแวดล้อม จากการทำการเกษตรในลักษณะดังกล่าว

แนวทางหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ การใช้ เครื่องมือ Social Return on Investment (SROI) หรือ การประเมินผลตอบแทนทางสังคม จากการลงทุนมาวัดความคุ้มค่า และจากผลการศึกษาโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยภายใต้โครงการ “การประเมินผลตอบแทนทางสังคมของโครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและการ ส่งเสริมการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ได้ใช้เครื่องมือ SROI มาวัดความคุ้มค่าโครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและการส่งเสริม การผลิตอาหารอย่างยั่งยืน (FLR349) ที่หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมลงทุนส่งเสริมให้เกษตรกรใน พื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ออกจากวงจรการ เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปรับเปลี่ยนวิธีการ เพาะปลูกตามแนวคิดของการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ ไม้ยืนต้น พืชผัก สมุนไพรต่างๆ แทนนั้นพบว่าให้ผลคุ้มค่าต่อ เกษตรกรสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง

Social Return on Investment (SROI) บอกอะไร

เพื่อศึกษาว่าโครงการที่เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรใน อ.แม่แจ่ม นั้นเป็นไปตามเป้าหมาย และคุ้มค่าหรือไม่ ทีมวิจัยใช้เครื่องมือ Social Return on Investment (SROI) โดยสอบถามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนร่วมในโครงการ ได้แก่ เกษตรกร องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ผู้บริโภค ร้านอาหาร และภาคีเครือข่าย จากนั้นทางทีมวิจัยได้ตีมูลค่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินออกมา เปรียบเทียบกับเงินต้นทุนที่ใช้ไป

จากการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากโครงการมีหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรมีสุขภาพกายดีขึ้น ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวดีขึ้น ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งผู้บริโภคเองก็ได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีเกษตร ทำให้มีสุขภาพดี หรือแม้แต่ภาครัฐก็มีภาระในการรักษาพยาบาลผู้ที่เจ็บป่วยจากสารเคมีลดลง

นอกจากด้านสุขภาพแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการที่พื้นที่ป่าได้รับการฟื้นฟูทำให้เป็นแหล่งกักเก็บ คาร์บอน และยังทำให้ภาครัฐประหยัด งบประมาณในการจัดการสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

คุ้มค่าแค่ไหน วัดด้วยมูลค่าระหว่างผล ที่สังคมได้เป็นตัวเงิน กับเงินลงทุนของโครงการ

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้สูงถึง 176,954,579.83 บาท ในขณะที่มูลค่าปัจจุบันของเงินลงทุนที่หน่วยงานต่างๆ ลงทุนในโครงการนี้เท่ากับ 20,944,832.85 บาท ดังนั้น มูลค่า ปัจจุบันของผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) เท่ากับ 8.4 นั่นหมายถึงทุกๆ 1 บาท ที่เราลงทุนในโครงการก่อให้เกิดผลตอบแทนทางสังคมเท่ากับ 8.4 บาท ความคุ้มค่าที่ปรากฏเป็นตัวเลขนี้ ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ประกอบการ ตัดสินใจลงทุน สนับสนุนโครงการต่อไป และยังเป็นข้อมูลชี้วัดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการติดตามและประเมินผลอีกด้วย

SROI วัดผลเพื่อขยายผลโครงการพัฒนาต่างๆ อย่างยั่งยืน

นอกเหนือจากโครงการที่ผู้เขียนกล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีโครงการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการขยายผล ส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นโครงการช่วยเหลือสังคม โครงการ CSR ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ส่งผลกระทบและเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคนจำนวนมากและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

จากผลศึกษาข้างต้นทำให้ผู้เขียนเห็นว่าเครื่องมือวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม SROI นี้มีประโยชน์และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อวัดมูลค่าทางสังคมในโครงการพัฒนา หรือโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกรณีที่การเปลี่ยนแปลงไม่มีราคาตลาด เพื่อเป็นข้อมูลให้นักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน นำไปสู่การลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 24 กันยายน 2563