โจทย์สำหรับทีมเศรษฐกิจใหม่

การลาออกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอุตตม สาวนายน เมื่อวันที่ 10 กรกฏาคม 2562[1] ทำให้ตำแหน่งผู้นำทีมเศรษฐกิจของประเทศทางด้านการคลังต้องมีการเปลี่ยนสลับหาคนใหม่ขึ้นแทน พร้อมๆกันนั้น นายวีรไท สันติประภา ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตัดสินใจไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคัดเลือกสำหรับการดำรงตำแหน่งในวาระที่ 2 ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายน 2563[2] ทำให้ตำแหน่งผู้นำเศรษฐกิจของประเทศทางด้านการเงินของไทย ต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วยเช่นเดียวกัน

          บทความนี้ เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอโจทย์ทางด้านเศรษฐกิจที่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญภายใต้สถานการณ์โควิด-19 สำหรับทีมเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าว

          สำหรับทีมเศรษฐกิจใหม่ทางด้านการคลังนำโดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แทนที่ตำแหน่งเดิมที่ว่างลง มีประสบการณ์เด่นคือ เป็นอดีตเลขาธิการของสภาพัฒน์ และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาก่อน

          ประสบการณ์การเป็นข้าราชการและรมต. คมนาคม ทำให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมการทำงานของข้าราชการ และการจัดการกับกลุ่มการเมือง ในขณะเดียวกัน ประสบการณ์การทำงานสภาพัฒน์ และกระทรวงคมนาคมจะช่วยในการจัดการด้านเศรษฐกิจระยะสั้น (ปี 64-65) และการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวเพื่อทดแทนธุรกิจศูนย์ซ่อมบารุงอากาศยานที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเพราะโควิด-19

          ประเด็นทางด้านการคลังที่ควรจะให้ความสนใจ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อช่วยกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ งบเยียวยา/ งบฟื้นฟูตาม พ.ร.บ. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่คงค้างการพิจารณาและยังเหลืองบประมาณบางส่วนที่สามารถนำมาใช้ในการเยียวยาเพิ่มเติมได้ และแผนเศรษฐกิจระยะยาวใหม่เพื่อสร้างความมั่นใจและสร้างฐานรายได้ให้กับภาครัฐเพื่อนำมาใช้ชดเชยเงินกู้ที่เกิดขึ้นเพื่อต่อสู้กับปัญหาโควิด-19 ในปัจจุบัน

          สำหรับทีมเศรษฐกิจใหม่ทางด้านการเงินนำโดย นาย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แทนตำแหน่งเดิมที่ว่างลง มีประสบการณ์เด่นคือ เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน และเป็นที่ปรึกษาให้กับนายกรัฐมนตรีในสมัยปัจจุบัน

          ผู้ว่าเศรษฐพุฒิ เป็นหนึ่งในสองนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในระดับโลก ร่วมกับดร. วีรไท สันติประภพ (อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) เคยได้รับการดึงตัวกลับมาช่วยงานประเทศโดยหม่อมเต่า จตุมงคล โสณกุล ทั้งสองต่างก็ให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่าจะมุ่งเน้นที่นโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว ทำให้การเปลี่ยนผ่านผู้ว่า ธปท. ไม่ทำให้นโยบาย การเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก     ประเด็นทางด้านการเงินที่ควรจะให้ความสนใจ คือ การแก้ไขปัญหาหนี้ SMEs เฉพาะจุดที่ได้รับผลกระทบ การเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs กองทุนเพื่อจัดการหนี้เสียที่เป็น NPL รวมไปถึงการจัดการกับปัญหาหนี้การบินไทย


[1] https://th.wikipedia.org/wiki/คณะรัฐมนตรีไทย_คณะที่_62

[2] https://www.prachachat.net/finance/news-468713

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เขียนโดย คณะวิจัย TDRI
16 ตุลาคม 2563