tdri logo
tdri logo
2 ตุลาคม 2020
Read in Minutes

Views

ปัญหาเด็กยากจนพิเศษ

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหลังจากเกิดโรคระบาดโควิด-19 เห็นได้จากสถิติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าในภาคเรียนที่ 1/2563 มีนักเรียนยากจน 1.7 ล้านคน แบ่งเป็นนักเรียนยากจนพิเศษ 1 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าภาคเรียน 2/2562 มากกว่า 1.7 แสนคน ทั้งนี้หากเปรียบเทียบก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19  ในภาคเรียนที่ 1/2562 เทียบกับการสถานการณ์การเกิดแพร่ระบาดแล้วในภาคเรียนที่ 1/2563 พบว่ามีนักเรียนยากจนพิเศษ (นักเรียนทุนเสมอภาค) ที่ผ่านการคัดกรองใหม่ จำนวน 652,341 คน ประกอบไปด้วย กลุ่มเป้าหมายใหม่คือนักเรียนอนุบาลสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ 146,693 คน นักเรียนกลุ่มเดิมที่คัดใหม่เนื่องจากครบ 3 ปีการศึกษา 313,361 คน นักเรียนสังกัดอปท.และตชด. 14,834 คน และกลุ่มใหม่ที่คาดว่ายากจนเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจผนวกกับสถานการณ์ COVID-19 จำนวน 177,453 คน หรือ เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 50 ของนักเรียนยากจนพิเศษ ก่อนมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ทางด้านผลกระทบต่อรายได้ของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มใหม่ ทำให้รายได้เฉลี่ยลดลง จาก 1,205 บาท/คน/ครัวเรือน เหลือเพียง 1,077 บาท/คน/ครัวเรือน หรือเฉลี่ยเหลือเพียงวันละ 36 บาท ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปลายปี 2562 เฉลี่ยวันละ 40 บาท ในขณะที่หลังสถานการณ์โควิด-19 จากการสำรวจข้อมูลครัวเรือนนักเรียนยากจน พบว่าสมาชิกในครัวเรือนอายุ 15 – 65 ปี ว่างงานเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 44 เป็นร้อยละ 73 ของนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่ หลังสถานการณ์ COVID-19 และส่งผลให้สมาชิกครัวเรือนเฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น จาก 4 เป็น 5 คน หรืออย่างน้อย 1 คน จึงคาดว่าเป็นผลมาจากการกลับภูมิลำเนา เนื่องจากว่างงานในช่วง COVID-19 ที่สำคัญยังพบว่าผู้ปกครองนักเรียนลงทะเบียนบัตรสวัสดิการรัฐถึงร้อยละ 42 และยังพบว่า มีการประกอบอาชีพเกษตรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44 หากเทียบกับช่วงก่อนโรคระบาดโควิด-19 ที่มีประมาณร้อยละ 36

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เขียนโดย คณะวิจัย TDRI
2 ตุลาคม 2563

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด