ประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคม หลังการระบาดครั้งแรก

บทความนี้ เขียนขึ้นเพื่อประเมินผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการระบาดในรอบที่ผ่านมา ซึ่งในปัจจุบัน อาจจะกล่าวได้ว่าการระบาดในระลอกแรกน่าจะถึงจุดสิ้นสุดแล้วอย่างเป็นทางการ โดยสถานการณ์ผู้ติดเชื้อล่าสุด ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2563 พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมที่ 3,785 ราย ทั้งนี้ แม้ว่าสถิติอย่างเป็นทางการจะยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ แต่เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศและตรวจพบในระหว่างที่อยู่ในสถานกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อของภาครัฐ (State Quarantine)

รูปที่ 1: สถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 7 วันของไทย

ที่มา: JHU CSSE COVID-19 Data

          คณะผู้วิจัยได้อาศัยกรอบนิยามกลุ่มเปราะบางของ องค์การอนามัยโลก (2012) มาใช้เป็นหลักคิดในการกำหนดกลุ่มเปราะบางทางสังคมจากปัญหาโควิด-19 ซึ่งได้มีการกำหนดขอบเขตไว้ดังนี้

          “Vulnerability is the degree to which a population, individual or organization is unable to anticipate, cope with, resist and recover from the impacts of disasters.” – WHO (2012)[1]

          ซึ่งนัยยะ หมายถึง ความเปราะบาง คือ ระดับความสามารถในการเข้าร่วม จัดการ ต้านทานและฟื้นฟูจากภัยพิบัติ นั่นคือ กลุ่มที่มีความเปราะบาง คือ กลุ่มคนที่ไม่สามารถดูแล จัดการและฟื้นฟูให้พ้นจากภัยพิบัติได้ด้วยตนเอง

          คณะผู้วิจัยประเมินสถานการณ์ในปัจจุบัน พบกลุ่มทางสังคมที่เข้าข่ายว่าเป็นกลุ่มเปราะบางรวม 9 กลุ่ม ดังนี้

          1. ครัวเรือนเด็กเล็ก พบว่ามีรายได้ลดลงมากกว่าครัวเรือนปกติ และรายจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าครัวเรือนปกติ รวมทั้งมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมากกว่าครัวเรือนปกติ และเงินออมลดลงกว่าครัวเรือนปกติ[2]

          2. ข้อมูลของ กองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา พบว่า เด็กนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น 2.4 แสนคน โดยมีรายได้เฉลี่ยลดลงจาก 1,205 บาท/คน/ครัวเรือน เหลือเพียง 1,077 บาท/คน/ครัวเรือน หรือเหลือเงินใช้วันละ 36 บาทต่อคน[3]

          3. ผลการประมวลฐานข้อมูลการสำรวจสภาวะการทำงานของประชากร ณ เดือน มิถุนายน 2563 พบว่าเด็กจบใหม่ 2.6 แสนคน แรงงานที่ตกงานแล้ว 7.3 แสนคนและแรงงานที่เสี่ยงตกงานอีก 1.6 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะว่างงานยาว 1-3 ปีกลายเป็นคนตกงานถาวร

          4. ข้อมูลการสัมภาษณ์ มูลนิธินวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดหางานให้กับคนพิการ ให้ข้อมูลว่าแรงงานคนพิการมีความเสี่ยงจะตกงานไม่น้อยกว่า 1,000 ตำแหน่ง

          5. ข้อมูลจากเวทีเสวนาระดมความคิดเห็นผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานสูงวัย จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ร่วมกับ สภาวิจัยแห่งชาติ และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พบว่าแรงงานสูงอายุ ตกงานแล้ว 1 แสนคน ถูกลดชั่วโมงการทำงาน 2.5 แสนคน และมีงานแต่ไม่มีรายได้ 2.4 แสนคน

          6. ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 รายงานปัญหาครัวเรือนยากจน ปัญหาที่อยู่อาศัย และคนเร่ร่อนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงโควิด-19

          7. ธุรกิจ SMEs เข้าไม่ถึงเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง (ติดตามสถานการณ์โดยการสืบค้นข้อมูล ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2563

          – โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) 5 แสนล้านบาท มีผู้เข้าถึงเพียง 70,255 ราย (จาก SMEs ทั้งหมด 3.1 ล้านราย) คิดเป็นสินเชื่อ 117,809 ล้านบาท (ปล่อยได้เพียง 23.6% ของเม็ดเงินทั้งโครงการ)

          – พบปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบจากธุรกิจรายใหญ่ โดยระยะเวลาในการรับชำระเงินจากการขายสินค้าช้ากว่าปกติ (เครดิตเทอมเพิ่มจาก 30-45 วันในปี 2559 มาเป็น 60-120 วัน)

          8. จังหวัดที่เปราะบางต่อรายได้ภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูเก็ต พังงา และกระบี่ เป็น 3 จังหวัดที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้สถานการณ์ที่ภาคท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในจังหวัดดังกล่าว

          9. กลุ่มเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย โดยการสัมภาษณ์ตัวแทนจากกรมสุขภาพจิต พบว่ามีความเสี่ยงที่จะพบจำนวนคนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 2-3 ปีข้างหน้า


ที่มา

[1] World Health Organization (2002). “Environmental Health in Emergencies and Disasters: A Practical Guide.”

[2] https://tdri.or.th/2020/08/covid19-impact-early-child/

[3] https://www.thereporters.co/around-thailand/eef-01-2563/

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

คณะวิจัย TDRI
30 ตุลาคม 2563