เหลียวหลังประเทศไทยกับการจัดการโควิด-19 ด้วยวาทกรรมที่ว่า “สุขภาพต้องมาก่อนเสรีภาพ

โควิด-19 เป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติในทุกมิติ ส่งผลร้ายแรง และขยายวงกว้างไปทั่วทุกแห่งทั่วโลก ผู้คนต่างหวาดกลัวโรคภัยสายพันธุ์ใหม่ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้หลายๆ ประเทศต้องหาหนทางในการจัดการความเสี่ยงและภัยคุกคามดังกล่าวอย่างฉับพลัน พุ่งเป้า และในบางกรณีก็ปรากฏร่องรอยการกระทำที่กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นการทั่วไป โดยในสาระสำคัญของการออกมาตรการที่กระทบกับสิทธิและเสรีภาพเพื่อรับมือกับโควิด19 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ การควบคุมคน (ห้ามใกล้ชิด ห้ามเดินทาง ห้ามรวมกลุ่ม) การควบคุมสถานที่ (การปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ) และการควบคุมสินค้า (การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การห้ามกักตุนสินค้าบางประเภทอย่าง หน้ากากอนามัย  
แอลกอฮอร์ และเจลล้างมือ ฯลฯ) 

ทั้งนี้ การกระทบในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนข้างต้นอาจจะเป็นไปในลักษณะที่เกินส่วน และไม่จำเป็น และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือ การใช้เหตุโควิดมาเป็นข้ออ้างในการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งสองสิ่งดังกล่าวถูกนำมายึดโยงเพื่อจำกัดการใช้สิทธิและเพิ่มความเปราะบางทางการเมืองซึ่งอาจจะส่งผลกระทบที่บานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการควบคุมและจัดการโควิด เสรีภาพและสิทธิบางประการก็ถูกลิดรอนไป อาทิ กรณีที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งๆ ที่มี พ.ร.บ.โรคติดต่อ กำหนดแนวทางจัดการสถานการณ์ระบาดให้มีประสิทธิภาพได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่รัฐกลับใช้ยาแรงด้วยการปิดสถานที่ หรือประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการแก้ไขโดยฉับพลัน แต่ผลที่ตามมาก็กระทบรุนแรงไม่แพ้กันโดยไม่มีมาตรการเยียวยาอะไรมารองรับได้อย่างทันท่วงที  

ทั้งนี้ เราย่อมไม่อาจปฏิเสธความจริงที่ว่า โรคระบาดอย่างโควิด19 ไม่ต่างอะไรกับภัยธรรมชาติที่มาอย่างไม่ทันที่เราได้เตรียมพร้อมตั้งรับ เพราะยังไม่มีวัคซีนออกมาจัดการได้ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ การที่รัฐใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่ขาดการมีส่วนร่วม สร้างภาระให้ประชาชนเกินสัดส่วน ความเสียหายรุนแรงมหาศาลในมิติต่างๆ อันเป็นผลที่ตามมาจากเลือกใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลก็ถูกจำกัดหรือได้รับข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ตลอดจนไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชอบจากการกระทำทางปกครองในระยะเวลาที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังคงมีผลใช้บังคับ  

ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ก็มีความระอุไม่แพ้กัน เพราะมีการจัดตั้งกลุ่มทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งการแสดงออกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เช่น การรวมตัวทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้ประเทศไทยมีทิศทางการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยแบบตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริงมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การแสดงออกทางการเมืองดังกล่าว ก็ถูกจำกัดในช่วงแรก เพราะรัฐใช้อำนาจห้ามบุคคลมารวมตัวกันเพื่อชุมนุมเพราะอาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่ระบาด อีกทั้ง การออกคำสั่งบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้สิทธิทางการเมือง เช่น การระบุว่าห้ามไม่ให้มีการกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เป็นคำสั่งที่เปิดช่องให้ตีความได้โดยอิสระโดยผู้ใช้กฎหมาย  

นอกจากนี้ รัฐยังใช้อำนาจจากกฎหมายอื่นๆ เพื่อลดทอนเสรีภาพของประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด19 เช่น การใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ไปเอาผิดกับผู้ที่แสดงความคิดเห็น หรือการวิพากษ์วิจารณ์การจัดการ หรือการแจ้งเบาะแสที่รัฐมองว่าเป็นการบิดเบือน โดยอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเข้าใจผิด ซึ่งเป็นการสร้างความกลัวและความกังวลในการแลกเปลี่ยนและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยที่ในหลายๆ กรณีไม่ได้เป็นไปเพื่อเหตุดังกล่าว แต่รัฐก็ยังเป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบังคับใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งขัดกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน รวมไปถึงการเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ ที่เป็นไปอย่างจำกัด และลดทอนการตรวจสอบ และการแสวงหาความโปร่งใสและความเท่าเทียมจากการใช้อำนาจทางปกครององรัฐ 

เราจะเห็นได้ว่า พฤติกรรมที่รัฐแสดงออกผ่านมาตรการยาแรงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐมีนัยที่น่าขบคิดอยู่อย่างน้อย 2 กรณี ประการแรก รัฐไม่ประสงค์ให้ประชาชนออกมาร่วมขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยจึงใช้เหตุโควิด19 ต้องห้ามไม่ให้ดำเนินการจัดกิจกรรมใดๆ ที่คาดว่าจะเป็นไปเพื่อการแสดงออกทางการเมือง และทำให้เกิดการปะทะสังสรรค์ทางความคิดในหมู่ผู้มาร่วมชุมนุมทางการเมือง ประการที่สอง รัฐมองว่าสถานการณ์โควิด19 เป็นเรื่องที่สุขภาพต้องมาก่อนเสรีภาพ เสรีภาพจะไม่มีความหมายหากขาดผู้ใช้และผู้แสดงออก ดังนั้น การรักษาชีวิตจึงต้องมาก่อนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ วาทกรรมดังกล่าวนี้มีปัญหาในแง่ที่ว่า การรักษาชีวิตไม่ใช่เป็นไปเพื่อให้ปลอดจากโรคร้ายเท่านั้น แต่การรักษาชีวิตสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ เช่น เรื่องของปากท้อง ที่อยู่อาศัย และภัยธรรมชาติด้วยเช่นกัน มาตรการของรัฐในการจัดการกับโควิด19 เป็นการควบคุมเข้มงวดเสียจนประชาชนไม่อาจที่จะทำกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจได้ กระทบต่อรายได้ ความเป็นอยู่ ตลอดจนการเสียสมดุลทางสวัสดิภาพและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งที่ผ่านมาเราคงได้เห็นตัวอย่างในหลายๆ กรณีแล้วว่า การเลิกกิจการของภาคธุรกิจ การถูกเลิกจ้าง ความตึงเครียด  หรือการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น ก็เป็นผลมาจากการกดดันจากการควบคุมที่เข้มงวดของรัฐในการจัดการโควิด19 ด้วยเช่นกัน  

ผลที่ตามมาจากพฤติกรรมดังกล่าว อาจจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ขาดความเข้าอกเข้าใจ และไม่รอบด้านในระยะยาว เพราะประชาชนอาจจะไม่ป่วยด้วยโควิด19 แต่ปัญหาความทุกข์ยากในมิติอื่นๆ ไม่ได้เป็นการประกันว่าจะรักษาชีวิตของประชาชนไว้ได้เช่นกัน ซึ่งน่าคิดต่อไปว่าสำหรับรัฐแล้ว ในสถานการณ์หนึ่งๆ รัฐมีศักยภาพในการรักษาสมดุลความมั่นคงของประชาชนผ่านนโยบาย มาตรการและการกระทำทางปกครองได้มีประสิทธิภาพหรือไม่ และหากรัฐยังคงยึดแนวทางดังกล่าวนี้อยู่ ก็จะเข้าสู่วังวนแบบเดิมที่ประชาชนจะต้องมาเป็นผู้เสียสละแบกรับต้นทุนต่างๆ ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ ทางความเป็นอยู่ สละสิทธิทางการเมือง และจำกัดวงจรชีวิตทางสังคม และขาดอิสระหรือโอกาสในการที่จะพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง โดยที่รัฐไม่อาจทราบเสียงของประชาชนได้อย่างเต็มที่เลยว่าประชาชนต้องการอะไรบ้างเพื่อแลกกับราคาที่ต้องเสียสละนั้น ถึงที่สุดแล้ว รัฐอาจจะไม่ได้รับความร่วมมือของประชาชนในการปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ หรือการต่อต้านรัฐเพราะมองว่ารัฐกำลังซ้ำเติมสถานการณ์ให้ทวีความเลวร้ายก็เป็นได้  

ดังนั้น เพื่อให้รัฐจัดการกับสถานการณ์ข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เขียนจึงเห็นว่ารัฐต้องมีมาตรการที่สำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างการบริหารจัดการภาครัฐในสถานการณ์โรคระบาด กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เพราะทั้งสองเรื่อง ไม่ควรจะต้องมีเรื่องใดมีอำนาจเหนือกว่าอีกเรื่องหนึ่ง ทว่าสามารถผสานสองเรื่องนี้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ร่วมกันได้ โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้ 

  1. แม้ว่ารัฐจะให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นอันดับแรก และเพียบพร้อมไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุข แต่รัฐควรที่จะประเมินความเสียหายจากโควิดในมิติอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เพราะรัฐไม่ควรให้ความสำคัญกับสิทธิหนึ่งจนละเลยสิทธิอื่นๆ และสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องที่จะประนีประนอมกันได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐควรศึกษาปัญหาและผลกระทบจากโควิด19 เพื่อให้เข้าใจถึงสภาพปัญหาที่แท้จริง และแสวงหาแนวทางเยียวยาให้เหมาะสมและตรงจุด โดยถอดรื้อโครงสร้างชุดคำสั่งของรัฐต่อการจัดการสถานการณ์โรคระบาดที่มีช่องโหว่และเป็นความผิดพลาด ทั้งนี้ ในบริบทที่แตกต่างกันทางพื้นที่ ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางวัยและเพศ รัฐควรจะออกแบบนโยบายสาธารณะที่เฉพาะตัว เพื่อสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องเพราะทุกคนมีสิทธิป่วยเป้นโรคระบาดได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกๆ คนจะได้รับผลกระทบที่เท่ากันตามไปด้วย 
  1. รัฐพึงมั่นใจว่าในการจัดการเยียวยาหรือให้ความช่วยเหลือใดๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด19 จะเป็นไปโดยไม่เลือกปฏิบัติ และให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่รัฐจัดสรรไว้ให้อย่างถ้วนหน้า  
  1. รัฐควรสร้างบรรยากาศให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมจัดการแก้ไขปัญหานี้ ไม่ใช่เป็นไปในลักษณะอำนาจนิยม และเน้นการออกคำสั่งจากส่วนกลาง ด้วยการนี้ รัฐพึงต้องเน้นการกระจายข้อมูลข่าวสารให้ทั่วถึง และเชื่อถือได้ แสดงถึงความโปร่งใสและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐกับประชาชน ทำให้ประชาชนเกิดความร่วมมือในการต่อสู้กับโควิด19 
  1. ในกิจกรรมทางการเมืองภายใต้การต่ออายุ พรก. ฉุกเฉิน รัฐพึงสร้างความชัดเจนในการออกกฎระเบียบ และไม่เป็นการขัดกันเองในกฎหมายอื่น เพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเกินส่วน และไม่เป็นการตีความตามอำเภอใจของผู้ใช้กฎหมาย ตลอดจนไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้แสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองทั้งในพื้นที่สาธารณะและในพื้นที่ออนไลน์จนกระทบกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 
  1. การต่ออายุ พรก. ฉุกเฉิน เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นวงกว้างทั้งประเทศ รัฐจึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการออกมติต่ออายุในกฎหมายดังกล่าว โดยจะต้องสร้างความเข้าใจให้ชัดเจนถึงความจำเป็นและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะไม่มีวิธีการอื่นใดที่จะเหมาะสมไปกว่านี้ ทั้งนี้ รัฐไม่ควรนำการต่ออายุ พรก. ฉุกเฉิน ไปใช้เพื่อควบคุมหรือทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ทางการเมืองหรือคงไว้เพื่อจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่สาธารณะ การเซ็นเซอร์ชิพในโลกออนไลน์ ตลอดจนเสรีภาพของสื่อในการเสนอข่าวโดยใช้ระยะเวลานานเกินสมควร  

วิธีการกำกับดูแลของรัฐในการแก้ไขปัญหาโควิด19 ผ่านวาทกรรมที่ว่า “สุขภาพมาก่อนเสรีภาพ” นั้น บ่งชี้ว่าผู้ออกคำสั่งให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางสาธารณสุข โดยลดทอนมิติอื่น ซึ่งแน่นอนว่าการให้น้ำหนักกับประเด็นดังกล่าวทำให้รัฐตัดสินใจที่จะใช้กฎหมายความมั่นคงอย่าง พรก. ฉุกเฉิน เพื่อมากำกับประชาชนภายใต้การจัดการกับสงครามโรคระบาดอย่างรุนแรง จนหนีไม่พ้นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ หากรัฐทำความเข้าใจว่าโควิด19 คือ ความเป็นความตายของประชาชนทุกคน ดังนั้น รัฐจึงไม่ควรเข้ามาผูกขาดการปลอดโรคและการติดเชื้อโดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามากำหนดชะตากรรมชีวิตตนเองบ้าง ซึ่งการแสดงออกทางการเมืองก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าทุกคนอยากมีอิสระและอำนาจในการจัดการชีวิตของตนเอง โดยมีรัฐเป็นผู้คุ้มครองให้เกิดบรรยากาศการมีส่วนร่วมและเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่นนี้ ถึงจะกล่าวได้ว่ารัฐจัดการสงครามไวรัสในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย จิรวัฒน์ สุริยะโชติชยางกูล 
31 ตุลาคม 2563