สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
งานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2563 “แฮกระบบราชการ เปลี่ยนระบบปฏิบัติการประเทศ: จากบทเรียนการรับมือวิกฤติโควิด-19 สู่ความพร้อมรับมือความท้าทายในโลกใหม่ การเสนอนำเสนอหัวข้อ “อินเตอร์เฟสของระบบรัฐไทยกับการมีส่วนร่วมของประชาชน” นักวิชาการ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ ร่วมชี้ปัญหารัฐไทยที่มักไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิด พัฒนา ระบบและบริการ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการตอบสนองตามความต้องการ ส่งผลให้ประเทศขาดโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างตรงจุด
ดร. กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวเปรียบ การมีส่วนร่วมของประชาชนในบริการของรัฐไทยเป็นอินเตอร์เฟส (interface) ในระบบคอมพิวเตอร์ โดยนำเสนอให้เห็นภาพว่าอินเตอร์เฟสคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์และตัวเครื่อง และอินเตอร์เฟสคอมพิวเตอร์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากระบบสั่งการด้วยคำสั่ง (Command line) สู่ระบบสั่งการจากสัญลักษณ์ (Icons) สั่งด้วยเสียง สั่งด้วยท่าทาง และแม้แต่สั่งด้วยคลื่นสมอง ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นมิตรต่อผู้ใช้งานและตอบสนองไวต่อความต้องการของผู้ใช้งาน
แต่หากเปรียบกับอินเตอร์เฟสของระบบรัฐไทยซึ่งทำหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการและภาครัฐ พบว่าอินเตอร์เฟสของรัฐไทยยังขาดการพัฒนา สังเกตได้จากการที่บริการของรัฐจึงยังเข้าถึงยาก ไม่ทันสมัย ไม่ตอบสนองความต้องการหรือเสียงเรียกร้องของประชาชน และขาดโอกาสเชื่อมโยงความคิดริเริ่มของคนในสังคมและระดมทรัพยากรจากภาคส่วนอื่น ที่ผ่านมา รัฐไทยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านอินเตอร์เฟสแบบเดิมๆ โดยเน้นการมีส่วนร่วมในลักษณะของการแจ้งให้ทราบ (Inform) และการขอความเห็น (Consult) เป็นส่วนใหญ่ แต่รัฐกลับไม่ให้ข้อมูลที่เข้าใจง่ายแก่ประชาชนและใช้คำศัพท์เทคนิคโดยไม่จำเป็น อีกทั้งไม่นำเสนอข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้าน นอกจากนี้ กระบวนการขอความเห็นหลายครั้งไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน เป็นเพียง “พิธีกรรม” และไม่นำความเห็นต่างของประชาชนไปปรับปรุงการให้บริการ ดร. กรรณิการ์ เสนอว่า ถึงเวลาที่รัฐไทยต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคเอกชนในฐานะผู้ใช้บริการได้ร่วม “แฮก” อินเตอร์เฟสของภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพการให้บริการและการทดลองนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อช่วยภาครัฐให้สามารถสร้างบริการที่ตรงตามความต้องการของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมคิด (Involve) ร่วมตัดสินใจและลงมือปฏิบัติ (Collaborate) รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนได้เป็นผู้ริเริ่มให้บริการแทนรัฐ โดยภาครัฐเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้สนับสนุน
ดร. กรรณิการ์ ฉายภาพให้เห็นว่าปัจจุบันมีบริการหลายด้านของภาครัฐที่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนอินเตอร์เฟสใหม่โดยระดมความคิดริเริ่มและทรัพยากรของประชาชนและภาคเอกชนผ่าน 4 กรณีศึกษา โดยกรณีศึกษาที่หนึ่งเรียกว่า “ระบบดูแลผู้สูงอายุในชุมชน” ซึ่งแสดงอินเตอร์เฟสรูปแบบใหม่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จับมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และภาคประชาชน เช่น อสม. ในการจัดระบบดูแลผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียงในชุมชน โดยรัฐช่วยแก้กฎหมายและระเบียบต่างๆ เพื่อให้ อปท. สามารถใช้งบประมาณในการจ้างนักบริบาลชุมชนเพื่อดูแลผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียงในพื้นที่ได้
อย่างไรก็ดี อินเตอร์เฟสในลักษณะเช่นนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับศักยภาพของชุมชน รวมถึงการที่ อปท. มีภาคีด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็ง
กรณีที่สองเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาขยะพลาสติก โดยกรณีศึกษานี้แสดงถึงการที่ภาคเอกชนริเริ่ม “โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน” เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ความต้องการของครัวเรือนในการร่วมแยกขยะพลาสติกและนำมาทิ้งที่จุดรับพลาสติก (Drop-off point) ซึ่งกระจายอยู่บริเวณจุดต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอินเตอร์เฟสในลักษณะนี้ช่วยตอบโจทย์ปัญหาที่ภาคประชาชนเผชิญเกี่ยวกับการที่ไม่รู้ว่าคัดแยกขยะแล้วควรจัดการกับขยะที่คัดแยกอย่างไร โดยโครงการนี้สำเร็จได้เพราะอาศัยกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชน ภาคเอกชน บริษัทที่รวบรวมและขนส่งขยะรีไซเคิล รวมถึงโรงงานแปรรูปขยะรีไซเคิล บทบาทของภาครัฐที่สำคัญคือช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชนและภาคประชาชน
คุณธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส ได้นำเสนอกรณีศึกษาอีก 2 กรณี โดยกรณีที่สาม “การปรับปรุงคุณภาพด้านการศึกษาผ่านพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้โรงเรียนและภาคสังคมร่วมกับภาครัฐในการแก้โจทย์นโยบายการศึกษาแบบ “เสื้อเหมาโหล” โดยให้โรงเรียนมีอิสระในการทดลองนวัตกรรม ผ่านการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนและสาระวิชาที่ตนเองต้องการโดยไม่ผิดกฎหมาย และให้ภาคสังคมร่วมฝึกอบรมครูในพื้นที่ ในขณะที่กระทรวงศึกษาและองค์การบริหารส่วนจังหวัดรับบทบาทประสานภาคีในจังหวัดและช่วยหาช่องผ่อนคลายกฎระเบียบให้การทำงานของภาคีไม่ผิดกฎหมาย
กรณีสุดท้าย เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐผ่านโครงการ “ข้อตกลงคุณธรรม” (Integrity Pact หรือ IP) ที่เปิดโอกาสให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ส่งอาสาสมัครร่วมติดตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ ส่วนหน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการร่วมลงนามยินยอมเปิดเผยข้อมูลให้อาสาสมัครได้ตรวจสอบ โดยมีกรมบัญชีกลางเป็นผู้ประสานระหว่างทั้งสองฝ่ายและให้งบประมาณสนับสนุนการดำเนินงาน IP
กรณีศึกษาข้างต้นชี้ว่า การปรับอินเตอร์เฟสของระบบรัฐไทยให้ภาคสังคมมีส่วนร่วม “แฮก” บริการสาธารณะเป็นไปได้ แต่หากจะ “อัพเกรด” อินเตอร์เฟสใหม่ให้เห็นผล รัฐต้องปรับบทบาท 3 ข้อ ดังนี้ ข้อแรก รัฐต้อง “ปลดล็อก” กฎระเบียบเพื่อลดความเสี่ยงให้ภาคสังคมและบุคลากรรัฐกล้าร่วมมือทดลองแนวทางใหม่ ข้อสอง รัฐเล่นบทเป็นผู้อำนวยความสะดวก โดยสนับสนุนงบประมาณและสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อเอื้อให้ภาคสังคมได้ทดลองแนวทางใหม่และขยายผลให้บริการสาธารณะ ข้อสุดท้าย รัฐต้องระมัดระวังไม่ “hijack” โดยนำผลงานที่ภาคสังคมริเริ่มไปเป็นผลงานของตนเอง แต่ปรับมุมมองพิจารณาภาคสังคมเป็นภาคีให้ข้อมูลและความคิดริเริ่มใหม่ๆ