สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
งานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2563 แฮกระบบราชการ เปลี่ยนระบบปฏิบัติการประเทศ: จากบทเรียนการรับมือวิกฤติโควิด-19 สู่ความพร้อมรับมือความท้าทายในโลกใหม่ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 ตุลาคม – 7 ตุลาคม 63 ในรูปแบบ Virtual Conference ระดมนักวิชาการ นักวิจัยและเครือข่าย ร่วมแก้โจทย์ปฏิรูประบบราชการไทยที่เปรียบเสมือนระบบปฏิบัติการประเทศ แนะแนวทางเพิ่มขีดความสามารถของรัฐที่รวมถึงรัฐบาล ระบบราชการ ระบบนิติบัญญัติและตุลาการ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความอยู่รอดและโอกาสในการพัฒนาของแต่ละประเทศ
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดประเด็นการนำเสนอ ด้วยการถอดบทเรียนการรับมือโควิด-19 ของประเทศไทยที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดีกว่าหลายประเทศ จนไม่มีการระบาดของโรคในประเทศมาเป็นเวลานาน และยังไม่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเหมือนหลายประเทศ ทั้งที่เกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เพราะรัฐไทยมีขีดความสามารถสูงในด้านสาธารณสุข และการบริหารเศรษฐกิจมหภาค และยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากประชาชน
อย่างไรก็ตาม รัฐไทยยังมีขีดความสามารถในระดับค่อนข้างต่ำในอีกหลายด้านมาก ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน การพัฒนาทักษะของคนผ่านระบบการศึกษาและระบบการฝึกอบรมแรงงาน การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมด้วยการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การป้องกันการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง
เมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลก โดยภาพรวมแล้ว รัฐไทยในปัจจุบันมีขีดความสามารถในระดับปานกลาง แต่ขีดความสามารถดังกล่าวกำลังถดถอยลงอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ยังมีบุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมากในภาครัฐ หากปล่อยไว้เช่นนี้ต่อไป ประเทศไทยจะไม่สามารถแก้ไขปัญหายากๆ ที่ต้องเผชิญในปัจจุบันและในอนาคต เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจให้ประเทศพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” การลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ยากจน และการรับมือกับสังคมสูงอายุ เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่ต้องกล่าวถึงการรับมือกับความท้าทายที่ยากขึ้นไปอีก เช่น การปฏิวัติทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะมีผลต่อความอยู่รอดของคนไทย
ถ้าเปรียบเทียบระบบรัฐไทยเป็นระบบคอมพิวเตอร์แล้ว จะพบว่า ระบบราชการซึ่งเป็นเสมือนระบบปฏิบัติการ (OS) ของภาครัฐเป็นระบบที่ตอบสนองช้า มีหน่วยความจำน้อย ชุดคำสั่งหรือกฎหมายล้าสมัย หรือมีข้อผิดพลาดมาก ทำให้ให้เกิดต้นทุนสูงต่อสังคม ข้อมูลที่ใช้ก็มีความไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องและทันสมัยพอ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างภาระแก่ประชาชนที่มารับบริการ เนื่องจากการเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง และการเชื่อมต่อกับภาคส่วนอื่นในสังคมมีปัญหามาก จนเกิดเหตุระบบล่มอยู่บ่อยครั้ง
การปฏิรูปรัฐไทยให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
โดยในส่วนของการปฏิรูปภาครัฐ ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนใน 4 ด้านคือ การปฏิรูประบบราชการให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ การปฏิรูประบบกฎหมายให้เกิดกฎกติกาที่มีความเหมาะสมเป็นธรรม มีต้นทุนต่ำและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ การพัฒนาระบบข้อมูล ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถให้บริการประชาชนและกำหนดนโยบายได้อย่างชาญฉลาด และการปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งจะทำให้รัฐเข้าใจประชาชนและสามารถให้ความช่วยเหลือดีขึ้น ตลอดจนสามารถนำเอาพลังของสังคมมาช่วยพัฒนาภาครัฐ
ทั้งนี้การปฏิรูปดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีความตื่นตัวในการเรียกร้องและกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาครัฐ โดยต้องเริ่มจากการสร้างกติกาการเมืองคือ รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดรัฐบาลประชาธิปไตยที่ตอบสนองต่อประชาชนและมีขีดความสามารถสูง โดยควรยึดต้นแบบจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ 2540 ซึ่งช่วยให้เกิดรัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งของกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาล โดยการเพิ่มบทบาทในการตรวจสอบของรัฐสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอกฎหมายและตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งถดถอยไปอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พร้อมกับการลดบทบาทขององค์กรอิสระและตุลาการ ให้เหลืออำนาจในการตรวจสอบรัฐบาลได้เฉพาะในกรณีที่มีการละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรง และการเปิดพื้นที่ให้สื่อและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบรัฐบาล
รับชมการนำเสนอ