tdri logo
tdri logo
16 ตุลาคม 2020
Read in Minutes

Views

ทำไมต้องเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวจากจีนแบบไม่กักตัว

ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร

ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงในการควบคุมการแพร่ระบาดของโวรัสโควิด-19 แต่ความสำเร็จนี้ก็ตามมาด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงมหาศาล ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจีดีพีของไทยปีนี้จะลดลงไม่ต่ำกว่า 7.8 % ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักคาดว่าจีดีพีอาจลดลงถึง 8-10% นับเป็นอัตราการติดลบที่รุนแรงที่สุดในอาเซียน หรืออยู่ในกลุ่ม 12 ประเทศ จาก 42 ประเทศที่มีอัตราเติบโตติดลบมากที่สุดตามรายงานของนิตยสาร The Economist

ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุด คือ คนจำนวนหลายล้านคนทั้งในเมืองและชนบทที่ตกงาน หรือต้องหยุดทำงาน กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก อัตราการฆ่าตัวตายใน 6 เดือนแรกของปีนี้พุ่งสูงขึ้นผิดปกติถึง 22 % ธุรกิจจำนวนนับแสนแห่งคงต้องปิดกิจการในไม่ช้า แม้รัฐบาลจะแจกเงินให้คนทั่วประเทศแล้ว 30.5 ล้านคนๆละ 15,000 บาท เงินประทังชีพกำลังหมดไปอย่างรวดเร็ว แต่กว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวจนประชาชนมีงานและมีรายได้ต่อหัวเท่ากับปี 2562 คงต้องกินเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่เคยเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่และเคยทำรายได้ให้ประเทศถึงร้อยละ 18 ของจีดีพี น่าจะฟื้นตัวช้าที่สุด

คนที่เดือดร้อนเหล่านี้มีจำนวนเท่าไร คือใคร ทำอะไร และเดือดร้อนอย่างไร

สถิติการสำรวจแรงงานของทางราชการ พบว่าจำนวนผู้ว่างงานรวมทั้งผู้ที่หยุดทำงานชั่วคราวหรือลดชั่วโมงทำงานลงเหลือต่ำกว่าสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง ในเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 มีจำนวน 5.464 ล้านคน (เพิ่มขึ้น3.3 ล้านคนจากปี 2562)  และมีผู้ถอนตัวออกจากตลาดแรงงานอีก 0.413 ล้านคน (เพราะสิ้นหวังที่จะหางานทำ) แต่ตัวเลขผู้ว่างงาน 0.745 ล้านคน และผู้ที่หยุดทำงานชั่วคราวและลดชั่วโมงทำงานน่าจะต่ำกว่าข้อเท็จจริงมากพอควร[1] สำนักงานสถิติฯพอทราบสาเหตุและกำลังดำเนินการแก้ไขแล้ว

ดังนั้น เราจึงต้องอนุมานจำนวนแรงงานที่ถูกผลกระทบของโควิด-19 รวมทั้งผู้ที่อาจจะถูกผลกระทบใน 2 ปีข้างหน้า จากจำนวนแรงงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมที่ถูกผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19

รายงานภาวะเศรษฐกิจของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปรากฏว่าอุตสาหกรรมที่มีรายได้ลดลงมากที่สุดในไตรมาส 2 ปี 2563 (เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2562) คือ โรงแรมและที่พัก บันเทิง ขนส่งและโลจิสติกส์ บริการสนับสนุน ภาคบริการ การค้าปลีก/ค้าส่ง รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

การวิเคราะห์ฐานะการเงินของบริษัท 473,324 แห่งในอุตสาหกรรม 60 สาขาโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาพบว่าอุตสาหกรรมไทยเกือบครึ่งหนึ่ง (26 สาขาจาก 60 สาขา) ที่ถูกผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 จะไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดิมก่อนเกินโควิด-19 ภายในปี 2565 อุตสาหกรรมกลุ่มนี้มีผลผลิตสูงถึงร้อยละ 46 ของผลผลิตรวมของทุกอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น โรงแรม ร้านอาหาร กิจการบันเทิง การขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางเรือ บริการด้านธุรกิจ รถยนต์และการซ่อมแซม อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ส่วนอีก 24 สาขาที่มีผลผลิตรวม 48% ถูกผลกระทบระดับปานกลาง เช่น อิเล็กทรอนิกส์  เครื่องใช้ไฟฟ้า การก่อสร้างที่อยู่อาศัย เป็นต้น ในแง่จำนวนบริษัท การวิเคราะห์พบว่า ก) 30% ของบริษัททั้งหมด (รวม 473,324 แห่ง) อาจประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง (คือมีรายได้ไม่พอชำระหนี้) หรือมีฐานะการเงินที่แย่ลงในปี 2564  ธุรกิจที่จะถูกผลกระทบอย่างหนักจากผลของโควิด-19 ได้แก่ กลุ่มบันเทิงและสันทนาการ กลุ่มโรงแรม กลุ่มร้านอาหารและกลุ่มประมง ส่วนอีก 132,980 บริษัท (28% ของทั้งหมด) จะมีความเปราะบางและมีความเสี่ยงมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มถ่านหิน กลุ่มสันทนาการ กลุ่มสิ่งทอ และ กลุ่มเครื่องหนัง ข) บริษัทส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง เป็นบริษัทขนาดเล็กถึง 95% (136,152 แห่ง)

อุตสาหกรรมที่ถูกผลกระทบอย่างรุนแรงจำนวน 26 สาขา เคยจ้างแรงงานเป็นจำนวน 14 ล้านคน[2] ในไตรมาสสองของปี 2563 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีการศึกษาต่ำ คือเป็นผู้มีการศึกษาแค่ชั้นประถม 4 ล้านคน มัธยมต้น 2.3 ล้านคน มัธยมปลาย 2.9 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่อยู่ในครัวเรือนเกษตรไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านคน (โดยไม่รวมเกษตรกรที่ทำงานนอกภาคเกษตรอีกหลายล้านคน) แต่ถ้าวิเคราะห์จำนวนผู้มีโอกาสตกงานในบริษัททั้งหมดในทุกอุตสาหกรรมที่ถูกผลกระทบของโควิด ธนาคารฯประมาณการว่าอาจจะมีแรงงานจำนวน 11.8 ล้านคน[3]ที่เสี่ยงตกงาน หรือถูกลดเงินเดือน แรงงานกลุ่มที่จะมีปัญหาการเงินชักหน้าไม่ถึงหลังส่วนใหญ่จะเป็นลูกจ้างและผู้ประกอบอาชีพอิสระ (sef-employed)

ผลการสำรวจแรงงานล่าสุด (กค.-กย. 2563) แบบไม่เป็นทางการพบว่ามีแรงงานถึง 19.96 ล้านคน[4] (หรือ 52.6% ของผู้มีงานทำ 37.93 ล้านคน) ที่ถูกผลกระทบในการประกอบอาชีพจากโควิด- 19 ในภาคบริการมีผู้มีงานทำที่ถูกผลกระทบจากโควิดมากที่สุดถึง 70.2 %  ส่วนภาคการผลิตมีผู้มีงานทำถูกผลกระทบ 65.3 % และภาคเกษตรมีผู้ถูกกระทบ 23.9 %

คนที่ตกงานหรือรายได้ลดลงปรับตัวอย่างไร

ข้อมูลเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานว่ากลุ่มแรงงานที่กำลังประสบความเดือดร้อนมากที่สุด เป็นผู้ที่มีการศึกษาไม่สูง เป็นคนชั้นกลางระดับล่างที่มีรายได้แค่พอเพียงกับรายจ่าย วิกฤติโควิดกำลังทำให้คนเหล่านี้อยู่ในฐานะเปราะบาง ชักหน้าไม่ถึงหลังและลำบากมากขึ้น นอกจากการปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆในบ้านแล้ว คนจำนวนมากได้ขายทองที่เคยสะสมไว้ เพราะโชคดีที่ราคาทองพุ่งทะยานอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ขณะนี้เงินที่ได้จากการขายทอง เงินออม และเงินที่รัฐให้ความช่วยเหลือ กำลังหมดไป รายได้ก็ไม่มี ทางออกคือ ขายทรัพย์สิน หรือกู้เงินมาใช้จ่าย ทว่าปัญหาคือครัวเรือนไทยมีหนี้สินคงค้างอยู่ก่อนแล้วเป็นจำนวนมาก การศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าก่อนวิกฤติโควิด-19 คนไทยเกือบหนึ่งในสามมีหนี้ และมูลหนี้คงค้างสูงถึง 128,384 บาท/คน ผลการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่าหลังเกิดโควิด-19 ผู้กู้ 2.1 ล้านคน (หรือ 9.1% ของผู้กู้ที่อยู่ในระบบเครดิตบูโร) จะมีปัญหาการชำระหนี้หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือใดๆ ผู้กู้เหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด ผลที่ตามมา คือ ในไม่ช้าครัวเรือนจำนวนมากจะสูญเสียหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ความยากจนจะพุ่งสูงขึ้น เด็กและเยาวชนจำนวนมากอาจจะต้องออกจากโรงเรียน ยิ่งกว่านั้นหากครัวเรือนที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เป็นครัวเรือนเกษตรที่สูญเสียที่ดินทำกินไป ไทยจะเริ่มสูญเสียความมั่นคงด้านอาหาร กลายเป็นวิกฤติการณ์ใหญ่ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

เราจะหลีกเลี่ยงวิกฤติดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อเราเปิดเมืองให้นักท่องเที่ยวจากประเทศที่ปลอดภัยจากโควิด-19มากที่สุด เข้ามาท่องเที่ยว แม้รัฐบาลจะพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวในหมู่คนไทยด้วยทุกวิถีทาง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยยังต่ำมากเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (เกือบ 40 ล้านคนในปี 2562) และรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยก็เพียง 1.1 ล้านๆบาทเทียบกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน  2 ล้านๆบาท

แต่ทำไมรัฐบาลและคนไทยส่วนหนึ่งยังไม่ต้องการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ ส่วนหนึ่งเกิดจากความกลัวว่านักท่องเที่ยวเหล่านั้น จะเป็นผู้นำเชื้อไวรัสมาแพร่ในไทย ความกลัวนี้เกิดจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การให้ข่าวและความเห็นของบุคคลบางคนในลักษณะที่สร้างความน่ากลัวเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสระลอกที่ 2-3 รวมทั้งการให้ข่าวของศบค.เองที่ตอกย้ำเรื่องการติดเชื้อไว้รัสของคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ (แม้จะไม่มีเจตนาในการสร้างความกลัวก็ตาม)

เหตุผลสำคัญที่คนไทยจำนวนมาก ไม่ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ น่าจะเกิดจากความไม่ไว้วางใจรัฐ กรณีทหารอียิปต์ และทูตจากประเทศๆหนึ่งไม่ถูกกักตัว นอกจากจะสร้างความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนแล้ว ยังทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มไม่ไว้วางใจ “เจ้าหน้าที่รัฐ”

เหตุผลอีกประการหนึ่งน่าจะเป็นประเด็นทางการเมือง คนที่มีฐานะและคนชั้นกลางในเมืองที่ไม่ตกงานกับข้าราชการส่วนใหญ่คงไม่เข้าใจความเดือดร้อนของคนที่ตกงาน ส่วนหนึ่งเพราะรัฐขาดข้อมูลจำนวนผู้ว่างงานดังกล่าวแล้ว[5] อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะคนตกงาน/คนเดือดร้อนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่าง/คนจนจากชนบทที่ไม่มีเสียงทางการเมือง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่นโยบายของรัฐจะตอบสนองต่อความต้องการของข้าราชการและคนเมืองที่ไม่เดือดร้อนเป็นหลัก แม้กระทั่งกรณีมาตรการ Special visa ของจังหวัดภูเก็ตที่มีการเตรียมตัวอย่างรอบคอบ ผู้ที่จะเดินทางเข้าประแทศต้องถูกตรวจโควิดและกักตัว 14 วัน ฯลฯ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่อาจทานกระแสความกลัวและการเมืองของฝ่ายที่ไม่ถูกผลกระทบของโควิด มาตรการ special visa จึงถูกคนกลุ่มนี้ไฮแจ๊คไปต่อหน้าต่อตา

ทางออกคืออะไร

ทางออกที่สำคัญที่สุด คือ นโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว/จากประเทศที่มีความปลอดภัยจากโควิดมากที่สุด โดยเฉพาะจีน โดยไม่ต้องกักตัว (ยกเว้นการกักตัวสั้นๆระหว่างรอผลตรวจ) เพราะรัฐบาลจีนสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้ผลที่สุด ทำให้เวลานี้คนจีนสามารถเดินทางไปเที่ยวมณฑลต่างๆได้อย่างเสรีตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน

จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนน่าจะมากพอที่จะช่วยชีวิตของธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องในไทยได้เป็นจำนวนมาก และอาจช่วยได้มากกว่านโยบายไทยเที่ยวไทย แต่ไม่ต้องใช้เงินภาษีมาจ้างให้คนเที่ยว เมื่อธุรกิจมีลูกค้า รัฐบาลก็ไม่ต้องเสียเงินกับมาตรการพักชำระหนี้ มาตรการ refinance หรือแม้กระทั่งมาตรการช่วยเพิ่มทุนให้ธุรกิจ ยิ่งกว่านั้นผลสำคัญ คือ เกิดการจ้างงานจำนวนนับล้านคนในภาคท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแรงงานที่มีการศึกษาไม่สูงซึ่งมีปัญหาการปรับตัวมากที่สุด ฉะนั้นในด้านเศรษฐกิจ นโยบายนี้จึงเป็นนโยบายแบบ “ได้กับได้” (win-win)

แต่ขณะเดียวกัน เราจะต้องมีมาตรการด้านสาธารณสุขและการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มข้น ฉับไว และมีความพร้อมที่จะดำเนินการในเชิงรุก เพื่อป้องกันมิให้ความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัส เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แน่นอนไม่มีประเทศใดสามารถลดความเสี่ยงให้เป็นศูนย์ได้ แต่รัฐบาลกับภาคประชาสังคมสามารถร่วมกันกำหนดระดับความเสี่ยงจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากจีน ว่าเราจะยอมรับความเสี่ยงได้เท่าไร จึงจะสามารถรักษาสมดุลระหว่างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสังคมกับผลกระทบด้านสาธารณสุข และสุขภาพของคนไทย หลังจากตกลงกันได้ เราต้องกำหนดมาตรการป้องกันการระบาดอย่างเข้มข้นอย่างน้อย 4 มาตรการดังนี้

มาตรการแรก คือ การตรวจเชื้อไวรัสนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวดทั้งก่อนเข้าประเทศ และวันที่เดินทางมาถึงประเทศไทยและตรวจซ้ำหลังเข้ามาอยู่เกิน 5-6 วัน รวมทั้งมีประวัติการเดินทางในช่วง 1 เดือนโดยละเอียด รายละเอียดเป็นเรื่องที่คณะทำงานต้องร่วมกันจัดทำในภายหลัง ประเด็นสำคัญของมาตรการที่ใช้คัดกรองนักท่องเที่ยว คือการควบคุมความเสี่ยงจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะนำเชื้อไวรัสมาแพร่ในหมู่คนไทย สิ่งที่ต้องตกลงกันให้ได้ก่อนคือ ระดับความเสี่ยงที่สังคมยอมรับได้ คือ เท่าไร เช่น 5% หรือ 3% แต่คงไม่ใช่ 0% (เช่นกักตัวนาน 21 วัน) และรัฐต้องใช้มาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวอย่างไร จึงจะลดความเสี่ยงสู่ระดับที่ยอมรับได้

มาตรการที่สอง คือ รัฐต้องลงทุนในเทคโนโลยีและระบบการติดตามตัวนักท่องเที่ยวตลอดเวลา (แบบตามเวลาจริง) รวมทั้งกรณีที่เกิดการระบาดขึ้น รัฐต้องมีระบบติดตามผู้ที่ติดต่อหรือสัมผัสกับนักท่องเที่ยวที่มีผลตรวจเป็นบวก (tracing) ที่รวดเร็วและครอบคลุม คณะทำงานจะต้องศึกษารายละเอียดของการลงทุน ในระบบดังกล่าว การฝึกอบรมบุคคลากรและการร่วมมือกับธุรกิจการท่องเที่ยว

มาตรการที่สาม คือ การลงทุนเพิ่มเติมในระบบสาธารณะสุข โดยเฉพาะจำนวนเตียงคนป่วย ห้องไอซียู โรงพยาบาล ศูนย์บริการตรวจวัดเชื้อโควิด-19 ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าหากเกิดการระบาดที่ไม่คาดหมายไว้ ไทยจะมีอุปกรณ์และเครื่องมือเพียงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายได้ ข้อสังเกตคือที่ผ่านมาฝ่ายสาธารณสุขใช้เงินค่อนข้างน้อยมากแต่มีประสิทธิผลสูง รัฐบาลจัดสรรงบเงินกู้ให้ 45,000 ล้านบาท แต่ใช้ไปแค่ 1,677.3 ล้านบาท ดังนั้นรัฐสามารถนำเงินที่เหลือบางส่วนมาลงทุนเพิ่มศักยภาพการป้องกันและการรับมือกับการระบาดรอบใหม่ เพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้แรงงานจำนวนนับล้านๆคนและธุรกิจได้

แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายในการตรวจเชื้อไวรัสรวมทั้งค่ารักษาพยาบาล (ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อ) ย่อมต้องเป็นค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว

มาตรการสำคัญประการที่สี่ คือ การสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องมาตรการป้องกันความเสี่ยง การขอความร่วมมือด้านต่างๆจากประชาชน รวมทั้งควรจัดกระบวนการรับฟังสาธาณะ เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมเสนอแนะ และให้ข้อคิดเห็น

ก่อนที่จะนำเสนอนโยบายนี้ รัฐควรจัดให้มีการศึกษาความคุ้มค่าและประเมินความเสี่ยงของข้อเสนอชุดนี้ รวมทั้งการเสนอนโยบายทางเลือกที่สามารถช่วยแรงงานจำนวนหลายล้านคนและธุรกิจทั้งเล็กใหญ่นับแสนกิจการ โดยทีมศึกษาต้องประกอบไปด้วยนักระบาดวิทยา แพทย์ พยาบาล นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการทั้งเล็ก/ใหญ่ ตลอดจนแรงงานในภาคบริการ เป็นต้น

นอกจากนั้น รัฐบาลควรมีนโยบายเร่งด่วนที่ช่วยสร้างงานหรือสร้างทักษะให้ผู้ว่างงานและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดที่มีการศึกษาต่ำ ได้แก่ (1) การผ่อนผันให้ผู้ค้ารายย่อยสามารถขายของขายอาหารบนทางเท้าในกทม. และเมืองใหญ่ๆ ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา กทม. ยกเลิกเขตผ่อนผันให้ค้าขายถึง 512 จุดจาก 683 จุดในพื้นที่ 50 เขต แต่ขณะนี้มีคนตกงานที่เคยมีอาชีพทำอาหารจำนวนมาก ข้อมูลจากผู้กู้เงินสินเชื่อฉุกเฉินตามมาตรการโควิดของ ธกส. จำนวน 2 ล้านคน ปรากฏว่าผู้กู้จำนวน 8.5 แสนคน เคยมีอาชีพประกอบอาหาร ส่วนการสำรวจแรงงานพบว่ามีผู้ประกอบอาชีพอาหารมากกว่า 2.5 ล้านคน การผ่อนผันให้คนเหล่านี้ค้าขายบนทางเท้าจะสามารถบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มนี้ได้ดีที่สุด โดยแทบไม่ต้องใช้งบประมาณจากเงินกู้ กทม.และเทศบาลเมืองใหญ่ๆเพียงแต่ลงทุนเรื่องระบบสุขาภิบาล ดูแลควบคุมเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ความปลอดภัยบนถนน ฯลฯ

(2) รัฐบาลควรเร่งจัดทำโครงการ/แผนงานการจ้างแรงงงานและการฝึกอบรมอาชีพ โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ที่ยังเหลืออยู่ 3.217 แสนล้านบาทจากเงินกู้สำหรับแผนงานการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ดังนี้ (ก) โครงการจ้างงานผู้ที่ตกงานจากธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนอุตสาหกรรมที่ถูกผลกระทบอย่างหนัก (เช่นรถยนต์ อสังหาริมทรัพย์) การจ้างงานดังกล่าวจำเป็นต้องคำนึงถึงทักษะและภูมิลำเนาของคนตกงาน นอกจากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือซ่อมแซมอาคาร/ถนนหนทาง และระบบสาธารณูปโภค(เพราะมีแรงงานก่อสร้างและช่างตกงานจำนวนมาก[6])แล้ว รัฐควรอุดหนุนให้ภาคเอกชน หรือบริษัทต่างๆเสนอโครงการจ้างแรงงานที่ตกงานและมีการศึกษาต่ำ รวมทั้งการให้กระทรวงแรงงานและบริษัทจัดหางานเอกชนจัดบริการจัดหางานให้คนตกงานมีโอกาสพบปะหางานกับนายจ้างโดยตรงในจังหวัดต่างๆที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 (ข) โครงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะและอาชีพสำหรับแรงงานที่มีการศึกษาต่ำกว่าอุดมศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่เคยทำงานในภาคท่องเที่ยว/ภาคบริการ และอุตสาหกรรมที่ถูกผลกระทบรุนแรง เช่น รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ แต่การฝึกอบรมอาชีพต้องเน้นหลักสูตรและการวัดผลตามสมรรถนะ หรือความสามารถในการประยุกต์ใช้ทักษะความรู้ (competency based curriculum) และมีเป้าหมายให้ผู้เข้าอบรมมีงานทำหลังจบการอบรม โดยการสนับสนุนสถาบันการศึกษาร่วมพัฒนาหลักสูตรกับภาคเอกชน

ประเด็นสุดท้าย คือ แนวทางการบริหารจัดการนโยบายฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรฐกิจที่จะใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทส่วนที่เหลือ และเงินงบประมาณในอนาคต ควรเป็นอย่างไร จึงจะสัมฤทธิ์ผล นอกจากการกำหนดเป้าหมายการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ควรกำหนดเป้าหมายการลดจำนวนผู้ว่างงาน ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาทักษะของแรงงานที่เคยทำงานในสาขาเศรษฐกิจที่ถูกผลกระทบหนักให้สามารถหันไปประกอบอาชีพอื่นที่ตลาดต้องการได้

นโยบายฟื้นฟูฯ ควรประกอบด้วยแนวทางการบริหารจัดการอย่างน้อย 3 แนวทาง คือ ก) การกระจายอำนาจตัดสินใจคัดเลือกโครงการและดำเนินงานไปยังจังหวัดต่างๆ โดยให้คณะกรรมการระดับจังหวัดที่รัฐบาลเพิ่งแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้เพราะคนในพื้นที่จะมีความรู้เรื่องศักยภาพ ความต้องการของธุรกิจ ข้อมูลและข้อจำกัดต่างๆ ดีกว่ากรรมการไม่กี่คนในส่วนกลาง การบริหารจัดการในระดับจังหวัดจะต้องไม่ใช่การแยกส่วนให้หน่วยราชการแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ แต่จะต้องจัดทำในรูปบูรณาการร่วมมือกันระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ส่วนคณะกรรมการระดับประเทศควรมีบทบาทด้านการกำหนดเป้าหมาย แนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการและจัดสรรงบประมาณ จังหวัดที่เดือดร้อนที่สุดโดยเฉพาะจังหวัดพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญควรได้รับการจัดสรรงบประมาณมากกว่า รวมทั้งการวางแผนและนโยบายโดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลเกี่ยวกับผู้ว่างงานและผู้ที่ถูกผลกระทบจากโควิดที่หน่วยงานรัฐได้จากการจดทะเบียนในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะฐานข้อมูลเราไม่ทิ้งกัน และบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย

การดำเนินการตามแนวทางนี้หมายความว่าสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องส่งคืนโครงการกว่า 40,000 โครงการที่หน่วยราชการในพื้นที่ต่างคนต่างเสนอ เพื่อให้มีการทบทวนเป็นโครงการที่มีการบูรณาการร่วมมือกันทุกฝ่าย ซึ่งจะทำให้จำนวนโครงการของแต่ละจังหวัดลดน้อยลงเหลือจังหวัดละไม่เกิน 10-20 โครงการ/แผนงาน วิธีนี้จะทำให้การบริหารจัดการโครงการมีต้นทุนต่ำลง และสามารถก่อผลสัมฤทธิ์อย่างมีนัยสำคัญ การติดตามและประเมินผลก็จะง่ายและรวดเร็วขึ้น

ข) แนวทางที่สอง คือ การจัดตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขึ้นในสำนักงานสภาพัฒนาการฯ โดยให้องค์ประกอบของคณะกรรมการเป็นผู้บริหารมืออาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิคล้ายกับคณะกรรมการด้านศรษฐกิจมหภาคและงบประมาณจาก 4 หน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในการดูแลเสถียรภาพเศรฐกิจไทยตลอดเวลากว่า 60 ปี (ได้แก่ สภาพัฒนาการฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรฐกิจการคลัง และสำนักงบประมาณ) แต่กรรมการฟื้นฟูฯ ชุดนี้จะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่อาวุโสทั้งจาก 4 หน่วยงานและหน่วยงานราชการที่ดูแลภาคเศรษฐแท้จริง (เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ แรงงาน) ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน รวมทั้งนักวิชาการจำนวนหนึ่ง

เหตุผลที่ต้องมีคณะกรรมการฟื้นฟูฯ มืออาชีพที่เป็นสถาบันค่อนข้างถาวร เพราะงานฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นงานที่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี และต้องการผู้รับผิดชอบที่มีความรู้และประสบการณ์ทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คำแนะนำแก่รัฐบาล โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณ การกู้เงิน การเก็บภาษีเพื่อชำระหนี้ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม การพัฒนาทักษะความรู้ของแรงงานไทย ตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือกับบริษัทและรัฐบาลต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายการทำงานก็เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงเป็นธรรมและยั่งยืน

ค) การบริหารจัดการประการสุดท้าย คือ การฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจควรเน้นการการสร้างงานและพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างทักษะแรงงานตามความต้องการของตลาด ไม่ใช่ความต้องการของหน่วยราชการ รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ เพื่อกระจายความเจริญจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและกรุงเทพฯ โดยมีหลักการที่คล้ายกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐต้องเป็นการลงทุนที่เกื้อหนุนการลงทุนของภาคเอกชน (crowding-in investment) เพราะเงินที่ใช้ในนโยบายฟื้นฟู และปรับโครงสร้างฯ ครั้งนี้เป็นเงินกู้ ยิ่งกว่านั้น รัฐควรสร้างกติกาและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อชักจูงใจให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ลงทุนในโครงการต่างๆ ร่วมกับรัฐ วิธีนี้จะทำให้รัฐไม่ต้องกู้เงินจำนวนมากเพื่อลงทุนในอนาคต เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้มากขึ้นตามศักยภาพที่แฝงอยู่ในจังหวัดต่างๆของประเทศ แต่ไม่มีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลาง


[1] จำนวนผู้ว่างงานในระบบประกันสังคม (ที่มีแรงงานทั้งหมด 11 ล้านคน) สูงถึง 1.4 ล้านคนในเดือนสิงหาคม 2563 (ประกอบด้วยผู้รับประโยชน์กรณีว่างงาน (มาตรา 38) 0.42 ล้านคน  ผู้รับเงินชดเชยในระบบทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย (ม. 79/1) 0.92 ล้านคน และผู้รับเงินเยียวยากรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยและจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน 59,776 คน) นอกจากนั้น ยังมีแรงงานที่ได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างกรณีหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน (ม.75) อีก 0.79 ล้านคน แต่การสำรวจแรงงานที่ครอบคลุมแรงงานทั้งในระบบประกันสังคมและนอกระบบทั่วประเทศจำนวน 37 ล้านคน กลับพบผู้ว่างงาน เพียง 0.745 ล้านคน และแรงงานที่หยุดทำงานชั่วคราวหรือลดชั่วโมงทำงาน 4.719 ล้านคน

[2] ถ้ารวมอุตสาหกรรมที่ถูกผลกระทบปานกลางอีก 14 ประเภท จำนวนแรงงานจะเพิ่มเป็น 18.4 ล้านคน โดยมีคนที่ประกอบอาชีพด้านบริการ 7.8 ล้านคน ช่าง 3.57 ล้านคน ก่อสร้างและขนส่ง 1.7 ล้านคน ทำอาหาร/ขายอาหารและหาบเร่ 0.78 ล้านคน

[3] ธนาคารฯประมาณการว่าอาจมีผู้ว่างงานหรือถูกลดเงินเดือนในภาคเกษตรอีก 4 ล้านคน ซึ่งน่าจะไม่ถูกต้อง

[4] ประกอบด้วยผู้ที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน (work from home) 21% ลดวันและชั่วโมงทำงาน 17.7% ลดค่าจ้าง 7.4% ออกจากงาน 1% และอื่นๆ 9.6%

[5] อันที่จริงรัฐมีข้อมูลคนลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน 28 ล้านคน ข้อมูลชุดนี้น่าจะให้ภาพอาชีพและปัญหาการว่างงาน/รายได้ลดลงจากผลกระทบของโควิด-19 ได้ แต่กระทรวงการคลังกลับไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว รวมทั้งไม่ยินยอมให้สำนักงานสถิติแห่งชาติเข้าถึงข้อมูล

[6] อุตสาหกรรมที่ถูกผลกระทบของโควิดอย่างหนักและปานกลาง 40 อุตสาหกรรม มีแรงงานที่ประกอบอาชีพก่อสร้างและขนส่ง 1.72 ล้านคน

นักวิจัย

ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร
นักวิชาการเกียรติคุณ

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด