กระตุ้นเตือนปัญหาความยากจนเรื้อรัง

สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำว่า ในปี 2562 สัดส่วนคนยากจนลดลงจาก 9.85% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 6.24% ในปี 2562 หรือมีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคน

          เมื่อพิจารณาแนวโน้มของความยากจนในระหว่างปี 2541 จนถึงปัจจุบันจะพบว่า สัดส่วนและจำนวนคนจนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนคนยากจน 25.8 ล้านคนหรือคิดเป็นสัดส่วน 38.63% ในปี 2541 ลดลงเหลือ 11.6 ล้านคน หรือ 17.88% ในปี 2552 และลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน หรือ 6.24% ในปี 2562

          หากพิจารณาสถานการณ์ความยากจนในระยะ 5 ปีล่าสุด ระหว่างปี 2558 ถึงปี 2562 จะพบว่า สัดส่วนคนจนอยู่ในระดับต่ำ โดยมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดและมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นรวม 2 ครั้ง คือในปี 2559 และ 2561  โดยสัดส่วนคนยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2559 เกิดจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง ในขณะที่ปี 2561 การเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ เงินบาทแข็งค่า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง

          นั่นคือ ปัญหาความยากจนของไทย แม้ว่าในระยะยาวจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ในระยะสั้นจะมีการผูกโยงกับสถานการณ์วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของไทย

          เมื่อพิจารณาปัญหาโควิด-19 ซึ่งเป็นหนึ่งในวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด และมีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของไทยอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเศรษฐกิจะชะลอตัวลงในระดับ 7-8% รวมไปถึงสถานการณ์การฟื้นคืนของภาคท่องเที่ยว ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของเศรษฐกิจในภาพรวมและมีการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องไม่น้อยกว่า 4 ล้านตำแหน่ง ทำให้วิกฤติการณ์ในครั้งนี้จะทำให้ปัญหาความยากจนในประเทศไทยมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นไปจากเส้นแนวโน้มระยะยาว

          หากพิจารณาปัญหาความยากจนในเชิงพลวัต จะพบว่า กลุ่มประชากรที่สามารถหลุดพ้นความยากจนตามแนวโน้มระยะยาวที่ผ่านมา น่าจะเป็นกลุ่มคนจนที่มีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนพัฒนาตนเองได้ง่ายที่จะหลุดพ้นปัญหาความยากจนไปได้ก่อน ในขณะที่ครัวเรือนที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน จะเป็นครัวเรือนที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง หรืออยู่ในกับดักของความยากจน ซึ่งต้องมีนโยบายแก้ปัญหาความอยากจนอย่างตรงจุด

          กล่าวโดยสรุป ปัญหาโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อปัญหาความยากจนของไทยให้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเนื่องจากครัวเรือนที่ยังมีปัญหาความยากจนอยู่ มีแนวโน้มที่จะเป็นครัวเรือนที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง จึงเป็นกลุ่มเปราะบางที่ภาครัฐควรจะเข้ามาพิจารณาดูแลเยียวยา และเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้ครัวเรือนกลุ่มนี้มีศักยภาพในการหลุดออกจากความยากจนในระยะยาว

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)


คณะวิจัย TDRI
13 พฤศจิกายน 2563