ข้อเสนอทางออกให้กับเศรษฐกิจไทย: แกะรอยทางออกของ อ. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ขึ้นให้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Massive Economic Disruption Risks and Opportunities for IA ในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี 2563 ของสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเนื้อหาใจความสำคัญมีนัยสำคัญต่อการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เอาตัวรอดได้ในปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

          ในส่วนแรกเป็นผลกระทบของปัญหาโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจมหภาค ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ดร. ประสาน มองว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก เป็นโศกนาฏกรรมร่วม หรือ Tragedy of the Commons ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งไม่เพียงเป็นปัญหาในปัจจุบัน แต่ยังสร้างผลกระทบในระยะปานกลางและระยะยาว มีนัยครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสาธารณสุข

          สำหรับประเทศไทย ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด เศรษฐกิจไทยสำแดงอาการอ่อนแออยู่แล้ว จากความน่าสนใจในการลงทุนโดยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ลดลงเรื่อยๆ ประสิทธิภาพของภาครัฐอยู่ในระดับต่ำสะท้อนจากความล่าช้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ความสามารถในการเรียนรู้และปรับใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างจำกัดของแรงงานไทย รวมทั้ง ค่าเฉลี่ยของโครงสร้างประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ศักยภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนว่า แนวกันชนต่อ Shock ทางเศรษฐกิจไทยไม่แข็งแกร่งนัก มีเพียงการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด และกลายเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโต ราคาที่ดินในจังหวัดที่เป็น Destination ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง

          ปลายปีที่แล้วแบงก์ชาติยังคาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.8 และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 41.7 ล้านคน หลังจากนั้นไม่นานข่าวการระบาดของโควิดเริ่มปรากฏสู่สาธารณะ สังคมเริ่มรับรู้ความรุนแรงและความไวในการระบาด ตามด้วยการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับมหภาค ธุรกิจ จนถึงครัวเรือน

          ในระดับมหภาคผลกระทบที่เห็นชัดเจนคือ กำลังการผลิตของภาคบริการที่เคยรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 40 ล้านคนต้องหยุดชะงักงันอย่างฉับพลัน ส่งผลให้แรงงานเกินกว่า 1 ล้านคน โดยเฉพาะแรงงานที่ทำงานในเมืองหลักหรือพื้นที่อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนา อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงในทุกหมวดไม่เว้นแม้แต่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็น มูลค่าการส่งออกลดลง ประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของแบงก์ชาติยังคาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ 7.8 และมีโอกาสที่ตัวเลขจริงจะหดตัวมากกว่านี้ เนื่องจากประมาณการนี้ยังไม่รวมผลจากการทยอย Lockdown ในยุโรปที่เพิ่งประกาศเร็วๆ นี้

          ในภาคธุรกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักทั่วโลก ทำให้หลายธุรกิจจะต้องปิดตัวลง ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายตัวสะท้อนอาการที่น่าเป็นห่วงของภาคธุรกิจ โดยในครึ่งปีแรกของปีนี้ มูลค่ายอดขายรวมของบริษัทจดทะเบียนลดลงร้อยละ 13 และกำไรสุทธิลดลงเกือบร้อยละ 60 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และ ณ สิ้นไตรมาส 2 สัดส่วนหนี้สินต่อทุนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 1.37 เท่า เป็น 1.57 เท่า เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ถ้าบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ยังมีตัวเลขผลประกอบการเช่นนี้ ผลประกอบการของ SMEs คงแย่กว่านี้มาก

          ในระดับครัวเรือน ขณะที่หนี้ครัวเรือนต่อ GDP เร่งตัวขึ้นในไตรมาส 2 นี้ โดยอยู่ที่ร้อยละ 84 ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สินจนไม่เป็นอันทำงาน ขณะที่การหารายได้กลับฝืดเคือง ที่สำคัญ วิกฤตินี้กระทบต่อประชาชนคนรากหญ้ามากที่สุด กล่าวคือ ที่ผ่านมาคนตกงานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ไตรมาส 2 ปีนี้ ตัวเลขผู้ว่างงานสูงถึง 7.5 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติที่อยู่ระดับ 4 แสนคน และการลดจำนวนชั่วโมงจ้างงานซึ่งเป็นทางออกหนึ่งของนายจ้าง พบว่า พวก Underemployed ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานต่ำกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันเพิ่มขึ้นสูงถึง 5.4 ล้านคน จากค่าเฉลี่ยในช่วงปกติประมาณ 2.5 ล้านคน และอีกจำนวนไม่น้อยที่มีรายได้ลดลง ซึ่งมีนัยต่อมาตรฐานการครองชีพ รูปแบบการใช้ชีวิต และอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการที่ลดต่ำลงด้วย ที่น่ากังวลคือ Shock ในตลาดแรงงานครั้งนี้ จะทำให้ความเหลื่อมล้ำของรายได้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะต่อไป

          ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นทางออกให้กับเศรษฐกิจไทย ก็คือ

          1. Resolve – นโยบายสนับสนุนเฉพาะหน้าที่ค้างคาต้องดำเนินต่ออย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โครงการฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทต้องดำเนินการต่อให้ได้ตามเป้าประสงค์

          2. Resilience – นโยบายปรับโครงสร้างหนี้ การจัดการกับหนี้ NPL การเติมสภาพคล่องแบบเฉพาะจุด

          3. Return – คือ การปรับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจ โดยเน้นที่ Downsize (ลดขนาด), Flexible (การทำงานแบบยึดหยุ่น) และ Agile (การทำธุรกิจแบบยืดหยุ่น)

          4. Reimagination – หาอุตสาหกรรมที่เราเก่ง ขยายตลาด พัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้า, Digital Transformation, Flexible labor market (แรงงานทำงานหลายองค์กร)

          5. Reform – คือการปฏิรูปในเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือน, ปฏิรูปลดกฎหมาย, เปิดเผยข้อมูล และสร้างกระบวนการรับผิดชอบ, กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, สร้างหน่วยงานที่ชำนาญด้านความเหลื่อมล้ำ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

คณะวิจัย TDRI
13 พฤศจิกายน 2563