ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล
การพัฒนาการศึกษาไทยที่เคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ต้องเป็นหลักการพื้นฐานแรกในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ
เหตุการณ์ครูใช้ความรุนแรงกับเด็กนักเรียนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ายังมีเด็กจำนวนมากในรั้วโรงเรียนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทั้งที่การลงโทษทางร่างกายนักเรียนด้วยวิธีที่รุนแรงนั้นเป็นสิ่งที่กฎหมายห้ามมานานแล้ว แต่จากผลการสำรวจ ของทีดีอาร์ไอเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่ายังมีนักเรียนมากถึง 60% ที่ยังถูกลงโทษทางร่างกาย ด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ
ผู้อ่านอาจเคยมีประสบการณ์และอาจได้ยินข่าวครูใช้ความรุนแรงกับนักเรียนด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงกรณีพี่เลี้ยงเด็กโรงเรียนเอกชนชื่อดังผลักเด็กอนุบาลล้มลงกับพื้น คลุมด้วยถุงขยะ ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาการใช้ความรุนแรงและขัดกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 ทั้งนี้ยังไม่นับรวมกรณีครูล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนที่เกิดขึ้น บ่อยครั้ง โดยมีการปกป้องผู้กระทำผิดโดยกลุ่มเพื่อนครูด้วยกัน ทั้งที่การกระทำ ดังกล่าวนอกจากจะผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงแล้ว ยังเป็นความผิดทางอาญาด้วย
การใช้ความรุนแรงกับเด็กมีผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งด้านร่างกายไปจนถึงจิตใจ นำไปสู่โอกาสหลุดจากระบบการศึกษา และถึงแม้บางรายจะยังศึกษาอยู่ในระบบก็มีโอกาสที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำลง สิ่งที่น่ากลัวคือการส่งต่อความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่นไม่รู้จบ
การใช้ความรุนแรงกับเด็กยังมีผลในทางเศรษฐกิจ เพราะนำไปสู่ความสามารถในการสร้างรายได้ในอนาคตที่ลดลงตามไปด้วย การประเมินของยูนิเซฟพบว่าปัญหานี้อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 1.4% ถึง 2.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ผู้เขียนมีข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐและข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครองดังนี้
1. เร่งผลิตและกระตุ้นให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีใจเปิดกว้าง ตั้งแต่กระบวนการผลิตครูในคณะครุศาสตร์ที่ต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กอย่างถูกวิธียิ่งขึ้น ปลูกฝังเรื่องสิทธิเด็ก วิธีการดูแลชั้นเรียนโดยไม่ใช้ความรุนแรง
โดยเฉพาะเรื่อง การคัดเลือกพี่เลี้ยงเด็กในปัจจุบันที่ต้องการวุฒิการศึกษาขั้นต่ำเพียงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และไม่ได้บังคับให้ต้องผ่านการอบรมเฉพาะทางแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีการควบคุมคุณภาพอย่างจริงจัง เทียบกับประเทศฟินแลนด์และสวีเดน พี่เลี้ยงเด็กต้องผ่านการอบรมเฉพาะทางเกี่ยวกับ “การจัดกิจกรรมสำหรับเด็กเล็ก” และในสิงคโปร์ ภาครัฐยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการอบรมต่างๆ ด้วย
ทั้งหมดนี้ ทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชนจำเป็นต้องทำควบคู่กับการยกระดับการคัดคุณภาพครูและพี่เลี้ยงให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เช่น การประเมินเพื่อรับใบประกอบวิชาชีพครูโดยคุรุสภา การสอบบรรจุครูผู้ช่วย ระบบการจ้างงานพี่เลี้ยงและครูอัตราจ้างในโรงเรียน เป็นต้น
2. กระจายกลไกการตรวจสอบให้ท้องถิ่น ลำพังกลไกการตรวจสอบของรัฐส่วนกลางไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาของท้องถิ่นได้ทันท่วงที สาเหตุหนึ่ง คือ คุรุสภาเป็นผู้ติดตามตรวจสอบเรื่องใบประกอบวิชาชีพเพียงผู้เดียว ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพครูได้ทั่วถึง ประกอบกับกลไกการตรวจสอบภายในโรงเรียนขาดความจริงจัง เพราะมักตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยไม่มีบุคคลภายนอกเข้าร่วม ส่งผลให้เกิดการช่วยเหลือกัน ดังนั้น จึงควรกระจายอำนาจการตรวจสอบคุณภาพให้กับท้องถิ่น โดยให้มีตัวแทนที่ไม่ใช่บุคลากรภายในโรงเรียน เช่น อบจ.หรือองค์กรภาคสังคม เป็นหลัก
ล่าสุดได้มีความพยายามจากกระทรวงศึกษาธิการในการจัดตั้งศูนย์คุ้มครอง และช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ศคพ.) แต่ประเด็นความรุนแรงอื่นๆ ยังไม่ถูกพูดถึง ที่สำคัญคือ ควรเปิดช่องทางร้องเรียนสำหรับนักเรียนที่ถูกใช้ความรุนแรง หรือใช้วิธีสัมภาษณ์นักเรียนโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน และสอบถามจากผู้ปกครอง และคนในชุมชน เป็นต้น
3. ต้องเอาจริงเอาจังในกระบวนการติดตามและการลงโทษผู้กระทำผิด ประเทศไทยมีหน่วยงานภาครัฐอย่างน้อย 9 หน่วยงานที่มีทั้งแผนงานและเงินทุนสนับสนุนแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงกับเยาวชนในด้านต่างๆ เช่น ความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงภายในโรงเรียน แต่ยังมีเด็กอายุ 1-14 ปี ประมาณร้อยละ 73-77 ต้องเผชิญกับความรุนแรงในแต่ละเดือน หากกรณีที่เกิดขึ้นเป็นคดีอาญา จำเป็นต้องดำเนินคดีอย่างจริงจังกับผู้กระทำผิด แต่หลายกรณีที่ผ่านมาโรงเรียนมักเป็นฝ่ายตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายใน ทำให้เกิดการไกล่เกลี่ยกันเองและข่มขู่เด็ก ทางที่ดีควรต้องมีหน่วยงานเข้ามาสืบสวน เช่น ตำรวจ
หากพิสูจน์ได้แล้วว่ามีความผิดจริง ต้องลงโทษอย่างจริงจังและเหมาะสม แก่ความผิด มิใช่เพียงการย้ายโรงเรียน ย้ายสังกัด หรือปลดออกจากราชการเท่านั้น ที่ขาดไม่ได้คือ การเยียวยาแผลทางร่างกายและจิตใจโดยแพทย์ นักจิตวิทยาเด็ก ประกอบกับการคุ้มครองความปลอดภัยของเหยื่อ เพื่อป้องกันบางกรณีที่เพื่อนครูเข้ามาข่มขู่
4. คนที่สำคัญที่สุดและเป็นที่พึ่งของเด็ก คือ ผู้ปกครอง แม้ว่าการเลี้ยงลูกในสังคมไทยนั้นเริ่มเปลี่ยนจากการเลี้ยงแบบ “เผด็จการ” อาศัยอำนาจบังคับ มาเป็นแบบ “ชี้นำ” โน้มน้าวให้เด็กมีพฤติกรรมที่ถูกที่ควรแล้ว แต่ยังมีผู้ใหญ่อีกหลายคนที่เชื่อในสุภาษิตที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ซึ่งที่ผ่านมามีผลวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงกับเด็กนั้นส่งผลเสียมากกว่าผลดี
ถ้าหากเราคาดหวังให้เด็กคนหนึ่งโตขึ้นมาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ เป็นอนาคตของชาติ เราจำเป็นต้องปฏิบัติต่อเด็กด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชน เข้าใจวิธีการเรียนรู้ของเด็ก เชื่อในศักยภาพของเด็ก และหลีกเลี่ยง การลงโทษที่รุนแรง ทำร้ายร่างกายและจิตใจ ที่สำคัญคือต้องช่วยกันป้องกันไม่ได้มีเด็กคนใดถูกกระทำด้วยความรุนแรง
หากกลไกสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ทำงาน อย่างน้อยก็ยังมีผู้ปกครองเป็นที่พึ่งให้กับเด็ก
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2563