tdri logo
tdri logo
9 พฤศจิกายน 2020
Read in Minutes

Views

สื่อสาธารณะกับบทบาทหน้าที่และความท้าทาย (ใหม่) ในยุคดิจิทัลที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้

ดร. บุญวรา สุมะโน
อาชวิน อัศวพิสิฐกุล

สื่อสาธารณะ เป็นสื่อที่ปราศจากอิทธิพลจากกลุ่มทุนเอกชนหรือรัฐบาล เนื่องจากไม่ต้องของบประมาณรัฐบาลหรือพึ่งทุนเอกชน ทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ผ่านการนำเสนอความรู้และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม สื่อสาธารณะบางรายอย่าง BBC ของอังกฤษ และ KBS ของเกาหลีใต้ มีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมจากประชาชนผู้มีเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ หรือที่เรียกว่า ‘License Fee’ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถเก็บได้ในระดับที่สูงมาก เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนประชากร และการเพิ่มขึ้นของจำนวนเครื่องรับโทรทัศน์ในยุคที่โทรทัศน์กลายเป็นของจำเป็นที่ทุกบ้านจะต้องมี สื่อดังอย่างบีบีซี ต่างมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท [1]

รายได้ดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สื่อสาธารณะหลายแห่งสามารถคงความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือในการดำเนินงาน ว่าจะไม่นำเสนอข่าวหรือข้อมูลภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลหรือกลุ่มทุนเอกชน สื่อสาธารณะบางแห่งได้รับการยอมรับว่ามีความน่าเชื่อถืออย่างมาก อย่างเช่น บีบีซี (BBC) ที่อยู่เคียงคู่สังคมอังกฤษมา 99 ปี เป็นต้นแบบขององค์กรสื่อในหลายประเทศ และถือเป็นหนึ่งในสื่อที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก

ทว่า ในปัจจุบัน สื่อสาธารณะกำลังเผชิญกับความท้าทายสำคัญ 2 ประการ คือ ความไม่แน่นอนของรายได้ และการเกิดขึ้นของสื่อใหม่

ประการแรก ความไม่แน่นอนของรายได้ เป็นที่ทราบกันดีว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรเริ่มชะลอตัวลงในหลายประเทศ อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น [2] และจำนวนครัวเรือนที่มีโทรทัศน์เริ่มอยู่ในระดับอิ่มตัวแล้ว บวกกับการที่ผู้คนไม่ได้ให้ความนิยมกับโทรทัศน์มากเท่าเดิม แต่หันมารับชมข่าวสารและความบันเทิงผ่านอุปกรณ์ที่พกพาได้สะดวกอย่างสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เนต ทำให้รายได้จากการเก็บ license fee เริ่มมีแนวโน้มลดลง เช่น ในปี ค.ศ.2001 BBC เคยมีสัดส่วนรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมอยู่ที่ร้อยละ 87 จากรายได้ทั้งหมด ในขณะที่ปัจจุบันสัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือร้อยละ 75 และมีแนวโน้มจะลดลงอีก [3]

สื่อสาธารณะที่พึ่งพารายได้จากการเก็บ license fee จึงกำลังเผชิญกับความท้าทาย ทั้งการที่ประชาชนไม่อยากจ่ายค่าธรรมเนียมเท่าเดิม อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ที่เปลี่ยนไป หรือการที่รัฐบาลบางประเทศมองว่าระบบการเก็บค่าธรรมเนียมเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว ตัวองค์กรควรมีวิธีการจัดเก็บรายได้แบบใหม่ เช่น การให้บริการผ่านระบบสมัครสมาชิกเหมือน Netflix ที่ให้บริการสตรีมมิ่งผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยคิดค่าบริการเป็นรายเดือน เป็นต้น [4]

ความท้าทายอีกประการหนึ่ง คือ เริ่มมีนักจัดรายการอิสระ ผู้สื่อข่าว และองค์กรเอกชนต่างๆ ทำช่องรายการของตนเองผ่านการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ Facebook และ YouTube ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้สามารถทำให้ผู้คนรู้สึกมีส่วนร่วมกับรายการได้มากกว่าการรับชมทางโทรทัศน์ทั่วไป โดยผู้ที่เลือกรับชมผ่านทางออนไลน์นั้นสามารถคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นส่วนตัว แชร์เผยแพร่ หรือกดติดตามเพื่อรับทราบข่าวสารของทางรายการ อีกทั้งยังสามารถรับชมรายการได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งรายการสดและย้อนหลัง         

ถึงแม้ช่องทางการสื่อสารจะมีเพิ่มมากขึ้น สะดวก และรวดเร็ว แต่ข่าวหรือกระแสที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์จำนวนมากมักขาดการตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้และอาจถูกบิดเบือนได้ง่าย ส่วนนึงเกิดจากการแย่งชิงความเร็วในการนำเสนอ หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น การโฆษณา หรือสร้างกระแสบางอย่าง ซึ่งอาจไม่ได้ตอบสนองผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน หรือนำไปสู่การแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อที่ทำให้คุณภาพบริการดีขึ้น ปัญหาสำคัญ คือ สื่อใหม่บนโลกออนไลน์เหล่านี้อาจไม่ได้ดำเนินการตามจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อ หรือต้องแสดงความรับผิดรับชอบ (accountability) ต่อข่าวและข้อมูลที่นำเสนอต่อสังคม

เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น อาทิ ปัญหาการแพร่ระบาดของข่าวปลอม (Fake News) และการบิดเบือนข้อมูล (Disinformation) ที่พบเห็นได้เยอะมากในปัจจุบัน ข่าวเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเป็นวงกว้าง โดยข่าวปลอมที่ถูกส่งต่อหรือแชร์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์อาจส่งผลด้านลบต่อการลงทุน ตลาดหุ้น การท่องเที่ยว และอาจทำให้เกิดความสับสน เข้าใจผิด หรือตื่นตระหนก [5] และในหลายกรณีเราจะเห็นว่าแหล่งต้นตอของข่าวปลอมไม่ได้ออกมายอมรับและตามแก้ไขข้อมูลข่าวปลอมเหล่านี้

ถ้าหากสื่อสาธารณะหายไปเนื่องจากขาดรายได้ดำเนินการ และสื่อใหม่บนโลกออนไลน์ไม่สามารถสร้างความรับผิดรับชอบต่อสังคมได้ ประชาชนอาจขาดแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ หรือมุมมองที่แตกต่างจากสื่อของรัฐ รวมไปถึงรายการที่สื่อเอกชนไม่ผลิตหรือนำเสนอเนื่องจากไม่อยู่ในกระแสนิยมที่จะสร้างรายได้

อย่างไรก็ตาม คำถามคือ ถ้าพฤติกรรมและความต้องการของประชาชนผู้เสพข่าวคือการรับรู้ข่าวสารได้อย่างทันท่วงทีและประสบการณ์การรับชมที่ไม่น่าเบื่อ ทว่า ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาเบื้องต้นจากโซเชียลมีเดียนั้นยังไม่สามารถเชื่อถือได้ 100% และอาจสุ่มเสี่ยงในการสนับสนุนการแพร่ระบาดของข่าวปลอมหากนำเผยแพร่ต่อ สื่อสาธารณะควรจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทตนเองอย่างไรต่อไป เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และเพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดต่อไปได้

[1] Statista (2020) Licence fee income of the BBC in the United Kingdom

[2] Population Reference Bureau (2019) Countries with the Oldest Populations in the World

[3] BBC (2020) Group Annual Report and Accounts 2018/19

[4] The Standard (2020) BBC ไหวไหม? สื่อ 100 ปีจะรอดหรือร่วงในทศวรรษหน้า เมื่อต้องเผชิญวิกฤตหนักหนาที่สุดในประวัติศาสตร์

[5] Cheq (2019) The Economic Cost of Bad Actors on the Internet: Fake News

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด