tdri logo
tdri logo
16 พฤศจิกายน 2020
Read in Minutes

Views

การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐกับประเด็นนโยบาย

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากำลังเข้มข้นเพราะอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ใครจะอยู่ ใครจะไป ระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ กับนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดี มีผู้ลุ้นพอสมควรเพราะอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งขนาดที่ประธานาธิบดีติดโควิด-19 หุ้นก็ร่วงทั่วโลก

เรื่องที่น่าสนใจคือประเด็นนโยบายเศรษฐกิจและสังคมที่ผู้คนสนใจและพรรคการ เมืองทั้งสองฝ่ายเอามาใช้หาเสียง เพราะการเมืองในอเมริกาถือนโยบายเป็นเรื่องสำคัญและรัฐทำตามนั้นไม่พูดพล่อยๆ ลอยๆ

แน่นอน ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาจะกระทบกระเทือนเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศทั่วโลกในระดับหนึ่ง อย่างน้อยที่สุด สงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกาก็ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ กระเทือนไป นอกจากนั้นนโยบายต่างประเทศของอเมริกาก็เป็นที่จับตามองอยู่แล้ว

ประเด็นนโยบายที่สำคัญๆ มีอะไร เราคงจะจับสาระสำคัญไม่ได้จากการโต้วาที หรือประชันวิสัยทัศน์ระหว่างนายทรัมป์กับนายไบเดนครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 29 กันยายน เพราะท่านที่ติดตามดูคงทราบดีว่าเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ที่เส็งเคร็งที่สุด หาสาระอะไรไม่ได้ เนื่องจากฝ่ายหนึ่งใช้แทคติคเป็นเด็กเกเรอันธพาลข้างถนนคอยแย่งพูดตลอดเวลา สถานีโทรทัศน์ซีบีเอส นับได้ว่านายไบเดนถูกขัดจังหวะถึง 73 ครั้ง ส่วนการโต้วาทีครั้งที่สองในวันที่ 15 ตุลาคมนั้น เป็นอย่างไรผู้เขียนไม่ทราบ เพราะต้องส่งต้นฉบับก่อนนั้น

นโยบายที่ประชาชนคนอเมริกันให้ความสนใจ ได้มาจากการสำรวจผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอเมริกาโดย PEW Research Center ที่ได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม- 2 สิงหาคม 2563 ซึ่งสรุปได้ดังต่อไปนี้

อันดับแรก คือประเด็นนโยบายเศรษฐกิจ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณร้อยละ 80 บอกว่าการตัดสินใจลงคะแนนให้ใครอยู่ที่นโยบายเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจอเมริกาปัจจุบันอยู่ในภาวะตกต่ำ ซึ่งเหมือนกับผลสำรวจก่อนการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในเดือนมิถุนายน 2559 ที่ประเด็นนโยบายเศรษฐกิจมา อันดับแรก

อันดับสอง ที่ร้อยละ 68 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นตรงกันคือประเด็นนโยบายการรักษาพยาบาล อันดับสาม ที่ร้อยละ 64 ให้ความสำคัญต่อประเด็นการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูง หรือศาลฎีกา (Supreme court) (ศาลสูงสหรัฐมีบทบาทสำคัญมากเพราะทำหน้าที่ทั้งศาลปกครองและ กกต. สามารถตัดสินผลการเลือกตั้งของประเทศถ้าเกิดปัญหา และยังเป็นผู้ตัดสินการออกกฎหมายสำคัญๆ ของสหรัฐ รวมทั้งชะตาของกฎหมาย ACA (Affordable Care Act) ซึ่งนายทรัมป์พยายามยกเลิก) ทั้งนี้ ผู้พิพากษาศาลสูงจะดำรงตำแหน่งจนกว่าจะเสียชีวิต และอันดับสี่ คือโรคระบาดโควิด-19 ที่ ร้อยละ 62 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญ และอันดับห้า เป็นปัญหาอาชญากรรมความรุนแรง ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งร้อยละ 59 ลงความเห็น

ที่จริงทั้งสี่ประเด็นแรกมีความเชื่อมโยงกันโดยในตอนแรกๆ ประเด็นที่นายทรัมป์กับนายไบเดนต่อสู้กันเป็นเรื่องนโยบายการค้าและการที่ชนชั้นกลางมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายกำลังรณรงค์เรื่องภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เป็นผลกระทบจากโรคระบาดระดับโลกโควิด-19 โดยมีเรื่องแทรกซ้อนจากการเสียชีวิตของนางรูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก ผู้พิพากษาศาลสูงเมื่อวันที่ 18 กันยายนนี้ ซึ่งถ้าไม่มีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน ผลการเลือกตั้งก็จะเป็นตัวกำหนดว่าใคร (นายทรัมป์หรือนาย ไบเดน) จะเป็นผู้แต่งตั้ง แต่นายทรัมป์ชิงประกาศแต่งตั้งนางเอมี โคนี แบร์เรตต์ นั่งตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงที่ว่างลงเมื่อ วันที่ 26 กันยายน (รอวุฒิสภาลงมติเห็นชอบ 12 ตุลาคม 2563) เพื่อเพิ่มสัดส่วนของ ผู้พิพากษาฝ่ายรีพับลิกันและคุมเชิงหากมีปัญหาการเลือกตั้ง ฝ่ายเดโมแครตก็กำลังหาทางแก้เกมอยู่ หากชนะเลือกตั้งอาจใช้ court packing คือเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาเอาฝ่ายตน เข้ามา

เศรษฐกิจของสหรัฐต้นปี 2563 เมื่อกุมภาพันธ์ค่อนข้างดี แต่ตั้งแต่กลางมีนาคมก็ตกสะเก็ด โดยโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อเกือบ 8 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 2 แสนคน และมาตรการรักษาระยะห่างและการปิดกิจการของธุรกิจทั้งใหญ่และเล็กทั้งประเทศ ทำให้มีการเลิกจ้างและว่างงานอย่างมหาศาล ในเมษายน 2563 อัตราการว่างงานเคยพุ่งสูงสุดถึงร้อยละ 15 เทียบกับร้อยละ 3.6 ในเมษายนปีที่แล้ว และจำนวนผู้ว่างงานพุ่งขึ้นสูงถึง 23 ล้านคน เทียบกับ 5.9 ล้านคนในเมษายนปีที่แล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงติดตามมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบตัว K คือกราฟฉีกเป็น 2 เส้น เส้นหนึ่งพุ่งขึ้น อีกเส้นหนึ่งพุ่งลง แปลว่าคนกลุ่มคนรวยยิ่งรวยขึ้น แต่กลุ่มคนจนยิ่งจนลง เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น ดังนั้น ประเด็นวิกฤตเศรษฐกิจและโควิด-19 จะเป็นประเด็นร้อนในการเลือกตั้ง

ประเด็นนโยบายลำดับที่สองคือ ด้านการรักษาพยาบาล ที่พรรครีพับลิกันกับพรรค เดโมแครตมีความเห็นและนโยบายต่างกันและเคยถกกันมาหลายครั้งรวมถึงครั้งล่าสุดในการเลือกตั้งกลางสมัยในปี 2561 โดยพรรคเดโมแครตต้องการเก็บระบบโอบามาแคร์ตามกฎหมาย ACA แต่พรรครีพับลิกัน ต้องการคว่ำ ACA และพยายามผลักดันระบบประกันสุขภาพภายใต้ร่างกฎหมาย American Health Care Act (AHCA) เพื่อล้มล้าง ACA และปรับโครงสร้างการประกันสุขภาพใหม่ที่ไม่บังคับให้ทุกคนต้องทำประกันสุขภาพ ลดการจ่ายเงิน Medicaid ช่วยสนับสนุนการเงินของบริษัทประกัน ฯลฯ

เท่าที่จำได้ ACA บังคับให้คนอเมริกันทุกคนประกันสุขภาพโดยรัฐให้เงินอุดหนุนเพื่อให้ค่าประกันพอรับได้ รวมทั้งการลดค่าประกันสุขภาพโดยดึงเอาคนวัยหนุ่มสาวและคนที่สุขภาพดีเข้าระบบเข้าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายด้วยการกำหนดให้มลรัฐต่างๆ ต้องดูแลให้มีการประกันสุขภาพสำหรับเด็กที่ไม่ได้ร่วมประกันสุขภาพกับครอบครัว และบังคับให้นายจ้างที่มีลูกจ้างเต็มเวลา มากกว่า 50 คน ต้องทำประกันสุขภาพให้ลูกจ้าง ถ้าไม่ปฏิบัติตามต้องถูกปรับภาษีหากรัฐเป็นผู้ทำประกันให้เอง (อ่านเพิ่มได้จากเรื่อง “จากโอบามาแคร์สู่ทรัมป์(ไม่)แคร์?” ในมติชน 14 เมษายน 2560 และ 26 พฤษภาคม 2560 บนเว็บไซต์ )

ปัจจุบันสหรัฐเป็นประเทศที่ไม่มีการประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างไทย ในปี 2562 สหรัฐมีประชากร 330 ล้านคน มี 114 ล้านคน หรือร้อยละ 34.5 ที่ไม่ได้รับการประกันสุขภาพจากนายจ้างหรือรัฐบาล ประกอบด้วย ประกันสุขภาพอื่นๆ 84 ล้านคน และไม่มี ประกันใดๆ 30 ล้านคน มีส่วนที่รัฐดูแล 71 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 21.5 ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) 59 ล้านคนในโครงการ Medicare และทหาร 12 ล้านคน และที่นายจ้างทำประกันให้ 159 ล้านคน (ร้อยละ 48) (ในภาพประกอบ ACA แลกเปลี่ยน หรือ ACA exchange หมายถึงตลาดประกันสุขภาพออนไลน์ที่รัฐจัดขึ้นตามกรอบ ACA เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเปรียบเทียบแผนประกันสุขภาพต่างๆ เพื่อเลือกอันที่เหมาะกับสถานะของตน ส่วนการประกันสุขภาพแบบกลุ่ม หมายถึงการประกันสุขภาพให้โดยนายจ้างหรือสมาคม ส่วนที่ไม่เข้ากลุ่มหมายถึงผู้ที่ซื้อประกันฯจะเป็นเฉพาะตัวหรือครอบครัวก็ได้ โดยทั่วไปการประกันแบบกลุ่มย่อมดีกว่าการไม่รวมกลุ่ม เพราะอย่างหลังต้องออกค่าประกันเองและอัตราค่าประกันสูงกว่า)

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ นายไบเดนต้องการขยายระบบ ACA ต่อไปและยกเว้นภาษีเพื่อช่วยไม่ให้ครอบครัวคนอเมริกันต้องจ่ายเงินเกินร้อยละ 8.5 ของรายได้เพื่อการประกันสุขภาพ ในขณะที่นายทรัมป์พยายามโจมตีระบบดังกล่าว และกล่าวหาว่านายไบเดนกำลังนำอเมริกาเข้าระบบสังคมนิยม

สำหรับอันดับสี่คือ นโยบายโควิด-19 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งร้อยละ 62 เห็นว่าสำคัญ เพราะมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก และกระทบเศรษฐกิจของอเมริกาอย่างมหาศาล มีคนว่างงานจำนวนมากดังได้กล่าวไปแล้ว มิหนำซ้ำตอนนี้นายทรัมป์ซึ่งทำเป็นเล่นกับโควิด-19 ก็โดนเข้ากับตนเองจนต้องเข้าโรงพยาบาลแล้ว

อันดับที่ห้า นโยบายอาวุธปืน ที่คนอเมริกาให้ความสำคัญต่อนโยบายด้านนี้เพราะในอเมริกาการครอบครองอาวุธปืน และการฆาตกรรมด้วยปืนมีอัตราสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ โดยจำนวนปืนที่ครอบครองโดยพลเรือนมีถึง 393 ล้านกระบอก เทียบกับจำนวนประชากรพลเรือนประมาณ 320 ล้านคน เฉลี่ย 1.2 กระบอกต่อคน คือจำนวนปืนมากกว่าประชากร และมีการสังหารหมู่เกิดขึ้นบ่อยในอเมริกา เช่นในปี 2555 มีการกราดยิงนักเรียนตาย 20 ศพที่ นิวทาวน์ คอนเนคทิคัต ปี 2560 มีการกราดยิงผู้ชมการแสดงดนตรี ตาย 58 ศพที่ลาสเวกัส ในปี 2561 มีการกราดยิงคนตายไป 17 ศพที่โรงเรียนมัธยมในปาร์คแลนด์ ฟลอริดา และในปี 2562 มีการกราดยิงที่ศูนย์การค้าที่เอลปาโซ เท็กซัส มีคนตาย 22 ศพ

นโยบายอีก 7 ประเด็นที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสนใจ คือ การต่างประเทศ (ร้อยละ 57 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) อาวุธปืน (ร้อยละ 55) ความไม่เท่าเทียมกันด้านเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ (ร้อยละ 52) การย้ายถิ่นเข้าเมือง (ร้อยละ 52) ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ (ร้อยละ 49) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ร้อยละ 42) และการทำแท้งและคุมกำเนิด (ร้อยละ 40)

ทั้งนี้ผู้สนับสนุนผู้เลือกตั้งแต่ละฝ่ายเห็นต่างกันในแง่ความสำคัญของนโยบายต่างๆ เช่นเรื่องโควิด-19 ผู้สนับสนุนนายทรัมป์เพียงร้อยละ 39 เห็นความสำคัญเมื่อเทียบกับผู้สนับสนุน นายไบเดนร้อยละ 82 โดยรวมนโยบายที่ กลุ่มผู้สนับสนุนนายทรัมป์เห็นว่าสำคัญคือ เศรษฐกิจและอาชญากรรม ขณะที่กลุ่ม ผู้สนับสนุนนายไบเดนให้ความสำคัญด้านการรักษาพยาบาลและโควิด-19

การประชันวิสัยทัศน์ของผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่สอง วันที่ 15 ตุลาคมนี้ ที่ไมอามี ทางคณะกรรมการจัดงานจะจัดให้โต้วาทีแบบโต้จำลอง (virtual debate) นายทรัมป์เดี๋ยวไม่ร่วม เดี๋ยวร่วม ตกลงไม่รู้เอาไง ส่วนครั้งที่สามจะเป็นวันที่ 22 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยเบลมอนต์ แนชวิลล์

ก็หวังว่าการโต้วาทีครั้งต่อไปจะถกนโยบายกันอย่างมีสาระและสง่างามสมกับเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรกใน คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ ในมติชน เมื่อ 15 ตุลาคม 2563

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด