ศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ กับการตั้งผู้พิพากษาศาลสูง

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

 จากผลเบื้องต้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา ค่ำวันเสาร์ 7 พฤศจิกายน นายโจ ไบเดนและทีมแน่ใจว่าชนะขาดแน่ด้วยคะแนน popular vote กว่า 75 ล้าน และ electoral vote เกิน 270 ที่ต้องการจึงประกาศชัยชนะและจุดพลุฉลองกันที่รัฐเดลาแวร์

ที่จริงต้องรออีกหลายขั้นตอน ที่สำคัญคือ 8 ธันวาคม รัฐต่างๆ ต้องเคลียร์ผลการลงคะแนนให้เรียบร้อย 14 ธันวาคม คณะผู้เลือกตั้งจะลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดี แล้วจะส่งผลไปให้รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ในฐานะประธานวุฒิสภานำคะแนนไปนับในที่ประชุมร่วมของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรและรับรองผล 6 มกราคม ซึ่งผู้สมัครที่ได้คะแนน electoral vote มากกว่า คือ 270 ขึ้นไปจึงจะมีฐานะเป็น “ว่าที่ประธานาธิบดี” เป็นทางการ และ 20 มกราคม พิธีปฏิญาณตัวรับตำแหน่งประธานาธิบดี

ระหว่างนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ยังไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง กล่าวหาว่าการเลือกตั้งมีทุจริต บัตรผี บัตรที่เข้ามาหลังวันเลือกตั้ง ไม่ยอมเตรียมถ่ายโอนอำนาจ ไม่ยอมออกจากทำเนียบขาวและจะฟ้องศาลสูง ซ้ำยังปลด รมต.กลาโหมและเจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาว และของเพนตากอนอีกหลายคน อาจรวมผู้อำนวยการ FBI และ CIA ฐานที่ขัดใจ ล่าสุดอัยการสูงสุดก็สั่งให้อัยการทั่วประเทศตรวจสอบการปลอมบัตรเลือกตั้ง

ทนายความของประธานาธิบดียืนยันว่ามีหลักฐานการโกงเลือกตั้งในหลายรัฐและเตรียมฟ้องอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การฟ้องศาลกลางว่าเจ้าหน้าที่รัฐเพนซิลเวเนียปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและไม่ให้รับรองคะแนนนายไบเดน และจะต่อด้วยการฟ้องที่รัฐมิชิแกน หรือจอร์เจีย ขณะที่นางเอมิลี่ เมอร์ฟี่ ซึ่งทรัมป์ตั้งเป็นหัวหน้า GSA (สำนักงานสนับสนุนการบริหารทั่วไป) ผู้มีหน้าที่เตรียมการถ่ายโอนอำนาจก็ยังไม่รับรองนาย ไบเดน อีกทั้งวุฒิสมาชิกรีพับลิกันก็ออกมา หนุนทรัมป์กันหน้าตาเฉย

จึงน่าสังเกตว่าก่อนเลือกตั้งไม่กี่วันประธานาธิบดีทรัมป์รีบตั้งผู้พิพากษาศาลสูงคนใหม่คือนางเอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม (Conservative) เป็นผู้พิพากษาศาลสูงแทน นางรูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก ผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยม (Liberal) ที่เสียชีวิตเมื่อ 18 กันยายนนี้

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์หมายเอาศาลสูงเป็นที่พึ่งสุดท้ายถ้าเขาแพ้เลือกตั้งเพราะเขาย้ำแล้วย้ำอีกว่าผลการเลือกตั้งอาจจบที่ศาลสูง

ศาลสูงมีบทบาทสำคัญมากต่อการเมืองอเมริกาเพราะ คำวินิจฉัยของศาลสูงถือเป็นที่สิ้นสุดเหนือศาลรัฐบาลกลางและศาลมลรัฐ ทำหน้าที่ทั้งศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และ กกต. (ตัดสินการเลือกตั้งของรัฐบาลกลางที่มีปัญหา) เป็นผู้ตีความและตัดสินกฎหมายของรัฐบาลกลางรวมทั้งรัฐธรรมนูญ และยังเป็นผู้ตัดสินการออกหรือล้มเลิกกฎหมายสำคัญๆ เช่น Obamacare ที่สำคัญคือเป็นผู้ตัดสินผลการเลือกตั้งครั้งนี้ถ้ามีการฟ้องว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต หรือผิดปกติ

ศาลสูงประกอบด้วย ประธานศาล 1 คน และคณะผู้พิพากษาอีก 8 คน โดยประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อและวุฒิสภามีมติรับรอง เมื่อได้รับตำแหน่งแล้ว ผู้พิพากษาในศาลสูงจะดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต หรือลาออก หรือถูกถอดถอน เมื่อมีผู้พิพากษาพ้นตำแหน่งก็จะมีการแต่งตั้งผู้พิพากษาขึ้นมาแทน

ก่อนนางกินสเบิร์กเสียชีวิต คณะผู้พิพากษามีสัดส่วนฝ่ายอนุรักษนิยม ต่อฝ่ายเสรีนิยม 5 ต่อ 4 โดยฝ่ายอนุรักษนิยมประกอบด้วย นายจอห์น โรเบิร์ตส์ ซึ่งเป็นประธานศาล นายแคเรนซ์ โธมัส นายแซมมวล อาลิโต และนายนีล กอร์ซัช และนายเบรท คาวานอ ขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมมีนางกินสเบิร์ก นางเอลีนา คาแกน นางโซเนีย โซโตมายอร์และนายสตีเฟน เบรเยอร์ แต่แม้นายโรเบิร์ตเป็นอนุรักษนิยมก็ค่อนข้างเป็นกลางเนื่องจากเป็นประธานศาลจึงโหวตให้กับฝ่ายเสรีนิยมหลายครั้ง

นางบาร์เรตต์ ได้เป็นผู้พิพากษาแทนนาง กินสเบิร์กตั้งแต่ 27 ตุลาคม 2563 โดยประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อ วุฒิสภามีมติยืนยัน และเข้าพิธีปฏิญาณตนรับตำแหน่งแล้ว นาง บาร์เรตต์นับเป็นผู้พิพากษาศาลสูงคนที่สามที่ประธานาธิบดีทรัมป์ตั้งต่อจากนายกอร์ซัช ในปี 2560 และนายคาวานอในปี 2561

เนื่องจากนางบาร์เรตต์มีแนวคิดอนุรักษนิยม ศาลสูงจึงมีฝ่ายอนุรักษนิยมมากขึ้นโดยมีสัดส่วนต่อฝ่ายเสรีนิยม 6 ต่อ 3 เสียง เพิ่มความได้เปรียบให้กับประธานาธิบดีทรัมป์และพรรครีพับลิกัน หากมีคดีที่ศาลสูงต้องเป็นผู้ตัดสิน

การรีบตั้งนางบาร์เรตต์ถูกฝ่ายเดโมแครตประท้วงเพราะเมื่อสมัยประธานาธิบดีโอบามา มีผู้พิพากษาศาลสูงเสียชีวิตเมื่อกุมภาพันธ์ 2559 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีถึง 9 เดือน และนาย โอบามาตั้งคนขึ้นแทน แต่วุฒิสมาชิกมิทช์ แมคคอนเนล หัวหน้าวุฒิสมาชิกรีพับลิกันไม่ยอมเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อรับรองโดยอ้างว่าไม่ควรตั้งผู้พิพากษาศาลสูงในปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่คราวนี้กลับรีบประชุมวุฒิสภารับรองโดยไม่รั้งรอ

การเปลี่ยนสัดส่วนผู้พิพากษาอนุรักษนิยมต่อเสรีนิยมจาก 5-4 เป็น 6-3 มีความหมายต่อพรรคการเมืองและนโยบาย เพราะในการตัดสินคดี คณะผู้พิพากษาจะแบ่งแนวคิดเป็นอนุรักษนิยมและเสรีนิยม

ผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษนิยมยึดรัฐธรรมนูญเคร่งครัดโดยถือว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เช่น     เสรีภาพในการเลือกศาสนาและการแสดง ความเห็น การมีอาวุธปืน ฯลฯ จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลามิได้ และฝ่ายนี้จะไม่ยอมรับสิทธิเสรีภาพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน เช่น สิทธิความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการทำแท้ง รวมทั้งสิทธิเสรีภาพของกลุ่มเพศทางเลือก (LGBTQ: Lesbian, Gay, Bisexual, Transsexual, Queer) สิทธิในการเลือกตั้งและการห้าม (คนบางคน) เลือกตั้ง สิทธิในการรักษาพยาบาล หรือสิทธิใดๆ ที่ไม่มีการกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ โทษประหาร การห้ามสำมะโนประชากร (ในพื้นที่ที่มีคนต่างด้าวจำนวนมาก) การไม่ให้สัญชาติอเมริกัน (แก่คนต่างด้าวที่กำเนิดในอเมริกา) การให้ความสำคัญของความมั่นคงของประเทศมากกว่าสิทธิของประชาชน

แนวอนุรักษนิยมดังกล่าวสอดคล้องกับแนวนโยบายอนุรักษนิยมของพรรครีพับลิกันที่เรียกตัวเองว่า GOP คือ Grand Old Party หรือพรรคเก่าแก่ที่ยิ่งใหญ่ นโยบายหลักๆ ของพรรคคือลดภาษี การให้ประชาชนมีอาวุธปืน จำกัดการย้ายถิ่นเข้าเมือง หนุนโทษประหาร ไม่ให้ความสำคัญต่อโควิด 19 คะแนนเสียงสนับสนุนพรรคส่วนใหญ่มาจากภาคชนบท

ผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยมมีหลักคิดตรงข้ามกับฝ่ายอนุรักษนิยม โดยเฉพาะการตีความ     รัฐธรรมนูญซึ่งจะปรับให้เข้ากับสถานการณ์ โลกในปัจจุบัน การยอมรับเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้ความสำคัญต่อประชาชนมากกว่าภาครัฐ ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมกันของสตรี และของชนกลุ่มน้อย ให้ความสำคัญต่อจำเลย คัดค้านโทษประหาร ยอมรับสิทธิของ LGBTQ การทำแท้ง การลดค่าเล่าเรียน เป็นต้น

แนวทางของฝ่ายเสรีนิยมดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายเสรีนิยมของพรรคเดโมแครตซึ่งคะแนนเสียงสนับสนุนพรรคส่วนใหญ่มาจากคนในเมืองและชานเมือง สตรี นักศึกษา คนรุ่นใหม่ กลุ่มเพศทางเลือก คนกลุ่มน้อยด้านศาสนาและชาติพันธุ์

การตั้งนางบาร์เรตต์แทนนางกินสเบิร์กทำให้สัดส่วนคณะผู้พิพากษาเพิ่มสัดส่วนอนุรักษนิยม ต่อเสรีนิยม เป็น 6 ต่อ 3 และอาจมีผลต่อการ ต่อสู้และนโยบายของพรรคการเมืองในหลายเรื่อง เช่น

การทำแท้ง เมื่อสมัยนางกินสเบิร์กยังมีชีวิตอยู่ เธอสนับสนุนเรื่องสิทธิในการคุมกำเนิดและเคยโหวตยับยั้งกฎหมายของรัฐเท็กซัสและลุยเซียนาที่ห้ามการทำแท้ง ในขณะที่นางบาร์เรตต์เป็นคาทอลิกที่เคร่งและต่อต้านการทำแท้ง สมัยเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่รัฐอินเดียนาเคยให้ความเห็นต่อต้านกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งแล้ว 2 ครั้ง

การรักษาพยาบาล กฎหมาย ACA (การประกันสุขภาพถ้วนหน้าโอบามาร์แคร์) เคยถูกประธานาธิบดีทรัมป์ผลักดันให้ศาลสูงตัดสินยกเลิกแต่ฝ่ายเสรีนิยมยกฟ้อง แต่นางบาร์เรตต์เคยติงประธานศาลที่ยอมให้กำหนดโทษผู้ที่ไม่ทำประกันสุขภาพ (ตามACA) เหมือนกับการเสียภาษี โดยเห็นว่าศาลสูงไม่มีหน้าที่อำนาจกำหนดภาษี คราวนี้นายไบเดนอาจมีปัญหาการดำเนินนโยบายประกันสุขภาพที่เขาเสนอ

การมีอาวุธปืน ศาลสูงเคยห้ามมีปืนไว้ในบ้านเพื่อป้องกันตัวตั้งแต่ปี 2551 และ 2553 แต่นาง บาร์เรตต์ให้ความเห็นค้านว่าประชาชนมีสิทธิมีปืนตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 2 แม้แต่ผู้กระทำผิดกฎหมายก็ห้ามเขามีปืนไม่ได้ รัฐจะห้ามประชาชนมีปืนได้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าผู้นั้นเป็นอันตรายขณะมีปืน นางบาร์เรตต์บอกว่าครอบครัวเธอก็มีปืน

สิทธิของ LGBTQ ศาลสูงเคยตัดสินว่า LGBTQ ย่อมได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานของรัฐบาลกลางที่ห้ามเลือกปฏิบัติด้านเพศ แต่นางบาร์เร็ตต์เคยไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน แต่เธอก็จะไม่นำมาใช้ในการพิจารณาคดี

ผลการเลือกตั้งต่อศาลสูง ผลการเลือกตั้งอาจทำให้โครงสร้างของศาลสูงเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าพรรคเดโมแครตชนะก็อาจจะเอาคืนโดยวิธี court packing คือตั้งผู้พิพากษาเพิ่มโดยเอาฝ่ายเสรีนิยมเข้าไปให้ได้มากกว่าฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ก็ต้องชมนายไบเดนว่าไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม นางบาร์เร็ตต์ได้กล่าวออกตัวอย่างน่านับถือหลังพิธีปฏิญาณตนว่า “ผู้พิพากษาประกาศความเป็นอิสระจากสภาคองเกรสและประธานาธิบดีและจากความเชื่อส่วนตัวที่อาจมีผลต่อการตัดสินคดี”

มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า ศาลสูงไม่ได้จะเล่นด้วยกับประธานาธิบดีทรัมป์ง่ายๆ ดูจากกรณีที่พรรค รีพับลิกันฟ้องร้องต่อศาลที่รัฐวิสคอนซิลให้ชี้ขาดให้บัตรเลือกตั้งที่มาหลังวันนับคะแนนเป็นบัตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลมีโอกาสที่จะชี้ขาด เรื่องนี้มาแล้วแต่ก็ไม่รับฟ้องและไม่เข้าไปแทรกแซงมลรัฐ

ตอนนี้แม้แต่ฝ่ายนายไบเดนเองก็อาจต้องพึ่งศาลขับไล่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากทำเนียบขาว

ครับ ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ชี้ชะตาคือผู้พิพากษาศาลสูง

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ มติชน เมื่อ 13 พฤศจิกายน 2563