ผลกระทบของโควิด-19 ต่อการจ้างงานคนพิการและทางออกเชิงนโยบาย

พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 กำหนดให้ตามมาตรา 33 รัฐและสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไปต้องจ้างคนพิการในอัตราส่วน 1:100 เข้าทำงานในสถานประกอบการ หมายความว่า หากมีลูกจ้าง 100 คน ต้องจ้างคนพิการเข้าทำงาน 1 คน ถ้าไม่สามารถจ้างคนพิการเข้าสถานประกอบการได้จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามค่าแรงขั้นต่ำของประเทศตามมาตรา 34 หรือจะจ้างงานคนพิการตามมาตรา 35 ที่เป็นทางเลือกการสนับสนุน ส่งเสริมอาชีพ คนพิการได้ 7 รูปแบบ (การให้สัมปทาน การจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ การจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ การฝึกงาน การจัดให้มีอุปกรณ์ หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวก การจัดให้มีล่ามภาษามือ และการให้ความช่วยเหลืออื่นใด) ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่สถานประกอบการไม่สามารถจ้างคนพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการตามมาตรา 33 ได้ รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการและข้อจำกัดของคนพิการที่ต้องการประกอบอาชีพอิสระหรือต้องการทำงานที่ใกล้บ้านมากกว่า

จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สถานประกอบการหลายแห่งต้องปรับลดจำนวนพนักงานลงหรือยิ่งไปกว่านั้นคือต้องปิดตัวอย่างถาวร จึงทำให้อัตราส่วนการจ้างงานคนพิการลดลงตามไปด้วย ผู้วิจัยได้ประสานกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมที่ดูแลการจ้างงานตามมาตรา 35 กว่า 3,000 คน ให้ทำการสำรวจผลกระทบต่อการจ้างงานพบว่าตำแหน่งงานจะหายไปราวร้อยละ 15-20 ซึ่งภาครัฐควรจะต้องเข้ามาดูแลแรงงานกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน เนื่องจาก คนพิการเป็นกลุ่มประชากรที่เปราะบางมาก คนพิการที่เคยมีงานทำแล้วกลับมาตกงานจะได้รับผลกระทบในระดับสูง เช่น นอกเหนือจากเรื่องของเงินเดือนแล้ว เมื่อได้ทำงานคนพิการเหล่านี้มีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นที่พึ่งพึงให้กับครอบครัวจากที่เคยเป็นผู้รับมาโดยตลอด รู้สึกมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี เป็นต้น นอกจากนี้ การที่คนพิการส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย มีข้อจำกัดทางกายภาพ มีความลำบากในการเดินทางไปทำงาน ประกอบกับสถานประกอบการไม่มีความพร้อมในการรับคนพิการเข้าทำงาน ทำให้ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนพิการจะกลับเข้าสู่การทำงานอีกครั้งเมื่อเทียบกันคนทั่วไป

เมื่อพิจารณาสถิติการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการประจำปี 2563 (ในตารางที่ 1) พบว่า ยังคงมีช่องว่างของการจ้างงานคนพิการทั้งในด้านที่สถานประกอบการยังไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ครบถ้วน ต้องมีการจ้างงานคนพิการเพิ่มอีก 18,922 ราย และในด้านที่สถานประกอบการจำนวนหนึ่งยังเลือกที่จ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 แทนการจ้างงานตามมาตรา 33 หรือ 35 จำนวนมากถึง 13,293 ราย การส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เนื่องจากการใช้จ่ายเงินของกองทุนฯ ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลักประการ ได้แก่ 1) การให้บริการกู้ยิมเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2) การสนับสนุนโครงการเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชวิตคนพิการ และ 3) การส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เทียบเท่ากับการจ้างงานคนพิการที่เกิดขึ้นจริง

ตารางที่ 1 : การจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการประจำปี 2563

 รายร้อยละ
ต้องจ้างคนพิการ86,731100
จ้างตาม มาตรา 3340,48846.68
จ้างตาม มาตรา 3413,29315.33
จ้างตาม มาตรา 3514,02816.17
รวม67,80978.18
ต้องจ้างเพิ่ม18,92221.82

ที่มา : กระทรวงแรงงาน, สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ, ข้อมูล ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2563

ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 คนพิการได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับแรงงานและอีกทั้งข้อจำกัดทางด้านร่างกายทำให้อยู่ในสถานะเปราะบางกว่าคนทั่วไป เช่น ข่าวลุงเป็นใบ้ พิษโควิด-19 โรงงานขาดทุนถูกเลิกจ้าง มีเงินติดตัว 5 บาท เผยอยากกลับบ้าน[1] หรือ คนพิการ แม่-ลูก ตกงานช่วงโควิด ไร้เงิน ถูกทิ้ง กลับบ้านไม่ได้[2] เป็นต้น โดยภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือคนพิการในระยะสั้น ได้แก่ การเพิ่มเบี้ยคนพิการจากคนละ 800 บาทเป็น 1,000 บาทต่อเดือน ให้เงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง 3,000 บาท แต่หากภาครัฐต้องการที่จะช่วยเหลือคนพิการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทางออกหนึ่งคือ การจูงใจให้บริษัทที่จ่ายเงินตามมาตรา 34 ให้เลือกที่จะจ้างงานตามมาตรา 35 เพราะจะทำให้คนพิการมีรายได้ สามารถเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการจ้างงานอย่างมีคุณค่าและสมศักดิ์ศรี ช่วยให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง


[1] https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_4439359
[2] https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_4084633

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เขียนโดย คณะวิจัย TDRI
14 ธันวาคม 2563