ติดตามมาตรการการเงินและการคลังที่สำคัญเพื่อรับมือกับวิกฤติโควิด-19 งบประมาณที่เหลือสำหรับการรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน (22 ธันวาคม 2563) พบว่าประเทศไทยกำลังพบกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาการลักลอบเข้ามาในประเทศ โดยในช่วงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 – 7 ธันวาคม 2563 พบกลุ่ม Cluster ใหม่ คือ กลุ่ม 1G1 Hotel  มีผู้ติดเชื้อรวม 26 ราย ส่วนมากอยู่ในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ เป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับคนไทยที่ลักลอบไปทำงานที่โรงแรม 1G1 Hotel ที่ประเทศเมียนม่า[1] วันที่ 17 ธันวาคม 2563 พบกลุ่ม Cluster ตลาดกุ้งสมุทรสาคร และมีการแพร่กระจายกลายเป็น Cluster ตลาดปลา สมุทรสาคร วันที่ 20 ธันวาคม 2563 เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดระลอกใหม่อย่างแท้จริง โดยมีผู้ติดเชื้อ ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2563 รวม 788ราย

            ผลการประเมินอัตราการระบาด พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์ R ที่สะท้อนระดับการระบาดจะอยู่ที่ R=5 หรือก็คือ มีความเป็นไปได้ว่าการแพร่เชื้อจะเกิดขึ้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 รุ่น และถ้าอัตราการแพร่เชื้อต่อรุ่นอยู่ที่ประมาณ 5.3 วันจะพบว่าการแพร่ระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วไม่ต่ำกว่า 21 วัน

            ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดมีความน่ากังวลใจ เนื่องจากหากเทียบอัตราการแพร่ระบาดในเมืองที่สำคัญของพม่า (ยะไข่) และเวียดนาม (ดานัง) จะพบว่าอัตราการระบาดของไทยอยู่สูงกว่า 2 กรณีศึกษาดังกล่าวมาก และทั้งสองกรณีศึกษาต่างก็พัฒนากลายเป็นการระบาดในวงกว้างทั่วประเทศ

รูปที่1: แสดงการเปรียบเทียบสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของไทย กับ 2 กรณีศึกษาที่สำคัญ

ที่มา: รวบรวมโดยคณะผู้วิจัย

            จากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่เหมือนว่าจะมีความรุนแรงในระดับสูง ทำให้ภาครัฐไทยต้องกลับมาพิจารณาถึงงบประมาณในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกครั้ง

            บทความนี้ เขียนขึ้นเพื่อติดตามมาตรการการเงินและการคลังที่สำคัญเพื่อรับมือกับวิกฤติโควิด-19 งบประมาณที่เหลือสำหรับการรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยเน้นการพิจารณาผลการดำเนินงานของมาตรการต่างๆ ตาม พรก. 3 ฉบับ คิดเป็นงบประมาณรวม 1.9 ล้านล้านบาท ร่วมกับมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในการช่วยเหลือลูกกหนี้ ซึ่งผลการดำเนินงานตาม พรก. ทั้ง 3 ฉบับ รวมไปถึงช่วยลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ดังนี้

            1. มาตรการทางการเงินที่เกี่ยวข้อง มีอยู่ 3 มาตรการ ได้แก่

            1.1 มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินผ่านการปรับโครงสร้างหนี้

            – ลูกหนี้เข้าร่วมโครงการ 11.97 ล้านบัญชี รวมยอดหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 6.65 ล้านบาท[2]

            1.2 พ.ร.ก. Soft Loan ช่วยเหลือ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท

            – สินเชื่ออนุมัติแล้วรวม 73,500 ราย ยอดสินเชื่อรวม 122,363 ล้านบาทจาก 500,000 ล้านบาท

            1.3 พ.ร.ก. BSF ดูแลตลาดตราสารหนี้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท

            – ยังไม่พบข้อมูลการใช้สินเชื่อผ่านกองทุนนี้

            2. มาตรการทางการคลังที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูภายใต้กรอบ พรก. ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งพบว่า

            2.1 แผนงานช่วยเหลือเยียวยาชดเชยให้กับภาคประชาชนเกษตรกรและผู้ประกอบการ มีการใช้ไปแล้ว 2.9 แสนล้าน

            2.2 แผนงานทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดมีการอนุมัติอนุมัติเพื่อซื้อวัคซีน 26 ล้านโดส เป็นเงิน 6 พันล้านบาท

            2.3 แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ มีการใช้ในโครงการคนละครึ่ง ประมาณ 2.2 หมื่นล้าน และมีการอนุมัติรอการเบิกอีก 7 หมื่นล้านบาท

            นั่นคือ ภาครัฐยังมีเม็ดเงินที่จะสามารถนำมาใช้ในการดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในรอบนี้ แบ่งเป็น สินเชื่อ soft loan 3.78 แสนล้าน และงบเยียวยาและฟื้นฟู ประมาณ 6.07 แสนล้านบาท

รูปที่ 2: มาตรการทางการคลังและมาตรการทางการเงิน

ที่มา: รวบรวมข้อมูลโดยคณะผู้วิจัยจาก http://thaime.nesdc.go.th/


[1] https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000123536

[2] หนี้บางส่วนได้รับการชำระแล้ว ทำให้ยอดรวมของโครงการมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะผู้วิจัย TDRI
15 ธันวาคม 2563