วิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ต่อกลุ่มคนไร้บ้าน

ความสำคัญของกลุ่มคนไร้บ้าน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ เป็นวงกว้าง กลุ่มคนไร้บ้านเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และพิษเศรษฐกิจ เนื่องจากคนไร้บ้านเหล่านี้ขาดโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล สิทธิในการรับเงินช่วยเหลือเยียวยา ไม่มีครอบครัว ญาติพี่น้องให้ปรึกษาหารือหรือคอยช่วยเหลือเจือจุน อีกทั้ง ยังขาดที่อยู่อาศัย คนไร้บ้านส่วนใหญ่จะร่อนเร่อยู่ตามลำพัง อาศัยตามพื้นที่ริมทางเท้า พื้นที่สาธารณะต่างๆ เป็นที่สำหรับหลับนอน และส่วนใหญ่มีรายได้ในลักษณะครั้งคราวจากการรับจ้างรายวัน หรือเก็บขยะรีไซเคิล เช่น ขวดน้ำ กระป๋องน้ำ กระดาษ ฯลฯ รวมถึงนำของเก่าไปขายเพื่อดำรงชีพ

ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีการจัดทำโครงการสำรวจแจงนับคนไร้บ้านทั้งประเทศ พ.ศ. 2562 โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สถาบันวิจัยสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย โดยใช้เครื่องมือและวิธีการสำรวจแบบ One Night Count (ONC) หรือ The Point-in-Time (PIT) ในการแจงนับประชากรคนไร้บ้านทั้งประเทศไทยในระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2562 “การแจงนับ” เป็นวิธีการสำรวจจำนวนคนไร้บ้านที่ลดความเสี่ยงในการนับซ้ำ (Double counting) ผลที่ได้จากการสำรวจแบบแจงนับครั้งนั้น พบว่าประเทศไทยมีจำนวนคนไร้บ้านรวมทั้งสิ้น 2,719 คน โดยคนไร้บ้านส่วนใหญ่กระจุกตัวในพื้นที่เมืองใหญ่ เช่น พื้นที่กรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 38) นครราชสีมา (ร้อยละ 5) เชียงใหม่ (ร้อยละ 4) สงขลา (ร้อยละ 4) ขอนแก่น (ร้อยละ 3) เป็นต้น ในขณะที่จำนวนคนไร้บ้านในจังหวัดอื่นๆ มีไม่มากนัก หากพิจารณาลักษณะทางเศรษฐกิจสังคมของคนไร้บ้านที่อยู่ภายใต้การสำรวจครั้งนั้น พบว่าเป็นเพศชายร้อยละ 86 และเพศหญิงร้อยละ 14 โดยคนไร้บ้านส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยแรงงานตอนปลาย (อายุ 40-59 ปี) และมีสัดส่วนผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ประมาณร้อยละ 18 และคนไร้บ้านส่วนใหญ่ (ร้อยละ 52) อาศัยอยู่คนเดียว

เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) พ.ศ. 2548 ในทุกเขตท้องที่ทั่วประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งเน้นให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงโรคโควิด-19 ไม่ให้ผู้คนออกมาสัญจรหรือรวมตัวกันมากๆ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการประกาศเคอร์ฟิวหรือการสั่งห้ามไม่ให้ออกจากเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 น. ถึง 4.00 น. โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 จนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2563 ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนไร้บ้านอย่างมาก เนื่องจากคนกลุ่มนี้ปกติอาศัยหลับนอนในพื้นที่สาธารณะ จึงไม่รู้จะไปใช้ชีวิตที่ไหนในช่วงเวลาที่มีการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว นอกจากจะได้รับความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าบุคคลทั่วไปแล้ว กลุ่มคนไร้บ้านยังเสี่ยงกระทำความผิดข้อหาฝ่าฝืนประกาศเคอร์ฟิวอีกด้วย

จากการวิเคราะห์ของคณะผู้วิจัย กลุ่มคนไร้บ้านสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มที่หนึ่งคือกลุ่มคนไร้บ้านดั้งเดิมหรือคนที่มีสถานะเป็นคนไร้บ้านตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกลุ่มที่สองคือกลุ่มคนที่ตกงานสถานประกอบการและร้านค้าปิดกิจการจำนวนมากเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นคนไร้บ้าน จากการคาดการณ์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พบว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลให้จำนวนประชากรคนไร้บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30

ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาและวิธีการศึกษา

การศึกษาในส่วนนี้เป็นการเก็บข้อมูลเชิงลึกในลักษณะของ Panel Data กับตัวแทนกลุ่มคนไร้บ้าน โดยแบ่งเวลาในการสัมภาษณ์คนไร้บ้านออกเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ และช่วงที่มีการคลายล็อกดาวน์จนถึงปัจจุบัน โดยคณะผู้วิจัยใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบตามความสะดวก (Convenient Sampling) โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นคนไร้บ้านในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และขอนแก่น ที่อาศัยอยู่ที่ศูนย์คนไร้บ้านหรือสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จังหวัดปทุมธานี สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน (บ้านโฮมแสนสุข) จังหวัดขอนแก่น โดยคณะผู้วิจัยทำจดหมายไปยังผู้อำนวยการศูนย์ฯ หรือสถานคุ้มครองฯ เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการสัมภาษณ์คนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ หรือสถานคุ้มครองฯ สำหรับแนวทางในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง คณะผู้วิจัยพยายามเลือกคนไร้บ้านที่มีความหลากหลายทั้งในแง่ของประเภทคนไร้บ้านและผลกระทบที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของ
โควิด-19

นอกจากการสัมภาษณ์กลุ่มคนไร้บ้านแล้ว คณะผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ผู้ดูแลศูนย์ฯ หรือสถานคุ้มครองฯ เพิ่มเติม เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อศูนย์ฯ การบริหารจัดการภายในศูนย์ฯ เพื่อรองรับคนไร้บ้าน มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงมาตรการที่ทางศูนย์ฯ ใช้ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

ประเด็นคำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์

คณะผู้วิจัยใช้วิธีการสัมภาษณ์คนไร้บ้านโดยใช้แบบสอบถาม (Structured Questionnaire) โดยประเด็นคำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักดังนี้ ส่วนที่ 1 เป็นคำถามทั่วไปเกี่ยวกับกลุ่มคนไร้บ้าน เช่น ระยะเวลาที่พักพิงที่ศูนย์ฯ หรือสถานคุ้มครองฯ สาเหตุที่มาพักพิงที่ศูนย์ฯ หรือสถานคุ้มครองฯ  ลักษณะการใช้บริการที่ศูนย์ฯ หรือสถานคุ้มครองฯ ส่วนที่ 2 เป็นคำถามเกี่ยวกับช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น แหล่งรายได้ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การช่วยเหลือที่ได้รับจากหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนที่ 3 เป็นคำถามเกี่ยวกับช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์/ปิดเมือง เช่น ผลกระทบที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ การป้องกันตัวเองจากโควิด-19 และการช่วยเหลือที่ได้รับจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ
ส่วนที่ 4 เป็นคำถามเกี่ยวกับช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันและมาตรการช่วยเหลือที่ได้รับจากภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ ตารางที่ 1 สรุปประเด็นคำถามในแบบสอบถามที่ใช้ประกอบการสัมภาษณ์คน
ไร้บ้าน

ตารางที่ 1: ประเด็นคำถามในแบบสอบถามที่ใช้ประกอบการสัมภาษณ์คนไร้บ้าน

ส่วนของแบบสอบถามประเด็นคำถาม
ส่วนที่ 1 คำถามทั่วไปเกี่ยวกับคนไร้บ้านระยะเวลาที่มาพักพิงที่ศูนย์ฯ หรือสถานคุ้มครองฯ สาเหตุที่มาพักพิงที่ศูนย์ฯ หรือสถานคุ้มครองฯ ลักษณะการใช้บริการที่ศูนย์ฯ หรือสถานคุ้มครองฯ
ส่วนที่ 2 คำถามเกี่ยวกับช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19แหล่งรายได้ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 การช่วยเหลือที่ได้รับจากหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ
ส่วนที่ 3 คำถามเกี่ยวกับช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์/ปิดเมืองผลกระทบที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ การป้องกันตัวเองจากโควิด-19 การช่วยเหลือที่ได้รับจากหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ
ส่วนที่ 4 คำถามเกี่ยวกับช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์จนถึงปัจจุบันความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ
โควิด-19 ในปัจจุบัน สถานการณ์การใช้ชีวิตในปัจจุบัน การช่วยเหลือที่ได้รับจากหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ

ผลการสัมภาษณ์

4.1 ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จังหวัดปทุมธานี

ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จังหวัดปทุมธานี

จากการสัมภาษณ์ผู้ดูแลศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จังหวัดปทุมธานี พบว่าในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ทางศูนย์ฯ มีการให้บริการที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีทั้งบริการที่อยู่อาศัยแบบชั่วคราวและบริการที่อยู่อาศัยแบบระยะยาว โดยคนไร้บ้านที่มาใช้บริการที่ศูนย์ฯ เสียเฉพาะค่าน้ำและค่าไฟฟ้า และสามารถอาศัยได้โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา นอกจากด้านที่พักอาศัยแล้ว ศูนย์ฯ ยังมีให้บริการด้านอื่นๆ เช่น การให้คำปรึกษาและข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของคนไร้บ้าน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ทางศูนย์ฯ ไม่มีบริการด้านอาหารสำหรับคนไร้บ้าน ดังนั้น คนไร้บ้านที่มาอาศัยที่ศูนย์ฯ จึงต้องออกไปหารายได้จากภายนอกเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตด้วยตนเอง สำหรับการใช้ชีวิตที่ศูนย์ฯ นั้น คนไร้บ้านสามารถเข้าออกได้ตลอดเวลา ไม่มีการกำหนดเวลาที่ตายตัวว่าต้องเข้าหรือออกศูนย์ฯ ตอนกี่โมง ซึ่งทำให้คนไร้บ้านมีอิสระมากขึ้น อย่างไรก็ดี ทางศูนย์ฯ มีการกำหนดให้คนไร้บ้านที่มาอาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ ต้องเข้าประชุมประจำเดือนเพื่อมอบหมายหน้าที่ในการทำความสะอาด ดูแลบริเวณรอบของศูนย์ฯ เลี้ยงไก่ เก็บไข่ และดูแลต้นไม้

ผลการสัมภาษณ์คนไร้บ้านในศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จังหวัดปทุมธานี

จากการสัมภาษณ์คนไร้บ้านจำนวน 6 คน ที่อาศัยอยู่ที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จังหวัดปทุมธานี พบว่ามีคนไร้บ้านจำนวน 4 ใน 6 คน (ร้อยละ 67) ที่มีสถานะเป็นคนไร้บ้านดั้งเดิมอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 (รูปที่ 1) โดยในจำนวนนี้ 3 คนอาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ อยู่แล้ว และ 1 คนอยู่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ สำหรับคนไร้บ้านอีก 2 คน (ร้อยละ 33) มีสถานะเป็นคนไร้บ้านในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยก่อนหน้านี้ คนไร้บ้าน 2 คนนี้อาศัยอยู่ในบ้านของตัวเอง (รูปที่ 1) ระยะเวลาที่กลุ่มตัวอย่างอาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ มีตั้งแต่ 5 เดือน ถึงมากกว่า 10 ปี สาเหตุที่กลุ่มตัวอย่างมาอาศัยที่ศูนย์ฯ มีความหลากหลาย ได้แก่

ปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัว

ปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว

มีคนในครอบครัวที่อาศัยอยู่ศูนย์ฯ อยู่แล้วชวนให้มาอยู่ด้วยกัน

คนไร้บ้านที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ ได้รับการเชิญชวนจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ที่ลงพื้นที่

ตกงานในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ขาดรายได้ เลยมาอยู่ที่ศูนย์ฯ

ถึงแม้ว่าทางศูนย์ฯ จะไม่มีอาหารไว้คอยบริการคนไร้บ้านในสถานการณ์ปกติ แต่ในช่วงที่มีการ
ล็อกดาวน์เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางศูนย์ฯ มีการให้บริการอาหารสำหรับคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในศูนย์ฯ เป็นกรณีพิเศษ ดังนั้น คนไร้บ้านทั้งหมด 6 คน ได้ใช้บริการที่อยู่อาศัยและอาหารของศูนย์ฯ โดยเฉพาะในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์

รูปที่ 1: สถานะและการอยู่อาศัยของคนไร้บ้าน

ที่มา: คณะผู้วิจัย

สำหรับเหตุการณ์ช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการสัมภาษณ์คนไร้บ้าน พบว่าคนไร้บ้านจำนวน 5 ใน 6 คน (ร้อยละ 83) มีแหล่งรายได้ในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในจำนวนนี้ มีคนไร้บ้านจำนวน 2 คน ที่มีแหล่งรายได้ประจำ คือ รายได้จากการขายอาหารและการเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และมีคนไร้บ้านจำนวน 2 คน ที่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปซึ่งไม่มีรายได้ประจำ เช่น รับล้างจาน เลี้ยงเป็ด และก่อสร้าง มีคนไร้บ้านจำนวน 1 คน ที่เคยมีรายได้จากการเก็บหอยไปขายแต่ปัจจุบันไม่มีรายได้แล้วเนื่องจากเป็นผู้สูงอายุ และมีคนไร้บ้านจำนวน 1 คน ซึ่งไม่ได้ทำงานแต่ได้รับการเลี้ยงดูจากสามี ในช่วงนี้ ไม่มีคนไร้บ้านของศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จังหวัดปทุมธานี ที่เข้าร่วมการสัมภาษณ์ที่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ แต่มีคนไร้บ้านจำนวน 3 คนที่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ ในลักษณะของการได้รับบริจาคอาหารและเสื้อผ้า

สำหรับเหตุการณ์ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์หรือปิดเมือง พบว่ามีคนไร้บ้านจำนวน 5 ใน 6 คน (ร้อยละ 83) ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีคนไร้บ้านจำนวน 4 คน ที่ขาดรายได้เนื่องจากถูกเลิกจ้างเพราะธุรกิจต้องปิดกิจการ และมีคนไร้บ้านจำนวน 1 คน ที่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องซื้อหน้ากากอนามัยซึ่งมีราคาที่สูงขึ้นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีคนไร้บ้านจำนวน 1 คนที่ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากเป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ มานานแล้วและไม่สามารถทำงานได้อยู่แล้ว สำหรับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ พบว่ามีคนไร้บ้านจำนวน 1 คน ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์โดยตรงเนื่องจากอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะและไม่มีที่ที่จะไป อย่างไรก็ดี คนไร้บ้านคนนี้ได้พบกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ที่ไปลงพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำและเชิญชวนให้ย้ายเข้ามาพักที่ศูนย์ฯ

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการสัมภาษณ์พบว่าคนไร้บ้านทุกคนที่ศูนย์ฯ ที่เข้าร่วมการสัมภาษณ์มีการป้องกันตัวเองจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมาตรการป้องกันพื้นฐานที่คนไร้บ้านใช้ในการป้องกันตนเอง ได้แก่ การใส่หน้ากากอนามัย การใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การงดเดินทางไปในสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก และการจำกัดการเข้า-ออกศูนย์ฯ โดยจะเดินทางออกไปนอกศูนย์ฯ เฉพาะเพื่อซื้อของจากร้านขายของที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเท่านั้น

สำหรับการได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ พบว่ามีคนไร้บ้านจำนวน 3 คน ใน 6 คน (ร้อยละ 50) ที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยมีคนไร้บ้านจำนวน 2 คน ที่ได้รับเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน และมีคนไร้บ้านจำนวน 1 คนที่มีบัตรคนจนและได้รับเงินเยียวยาจำนวน 500 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์พบว่ามีคนไร้บ้านจำนวน 3 คน (ร้อยละ 50) ที่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานของภาครัฐ เช่น การได้รับบริจาคอาหารแห้ง เป็นต้น ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ คนไร้บ้านทุกคนได้รับบริการอาหารเป็นกรณีพิเศษจากศูนย์ฯ

สำหรับช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีคนไร้บ้านจำนวน 3 คน จาก 6 คน (ร้อยละ 50) ซึ่งมองว่าสถานการณ์ได้กลับมาเป็นปกติแล้ว โดยสังเกตจากการที่มีนายจ้างที่ติดต่อมาที่ศูนย์ฯ เพื่อหาคนไร้บ้านไปทำงานด้วย โดยเฉพาะงานประเภทแรงงานก่อสร้าง และตัดต้นไม้ นอกจากนี้ คนไร้บ้านบางส่วนก็สามารถออกไปเก็บขยะมาขายหรือไปทำงานที่โรงงานได้แล้ว โดยทางศูนย์ฯ อนุญาตให้คนไร้บ้านสามารถเดินทางเข้า-ออกศูนย์ฯ ได้ตามอัธยาศัยเนื่องจากบางอาชีพเลิกงานในช่วงเวลาที่ต่างกัน อย่างไร
ก็ดี ในมุมมองของคนไร้บ้านอีก 3 คน จาก 6 คน (ร้อยละ 50) ยังมีความคิดเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่กลับมาเป็นปกติ เนื่องจากยังไม่สามารถกลับไปรับจ้างทำอาหารซึ่งเป็นอาชีพประจำได้ นอกจากนี้ เวลาออกไปในพื้นที่สาธารณะ ยังมีความจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย

อย่างไรก็ดี จากการสัมภาษณ์คนไร้บ้าน พบว่าคนไร้บ้านทุกคนไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐในช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ แต่มีคนไร้บ้านจำนวน 3 คนที่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ภาครัฐ โดยการช่วยเหลือส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการได้รับบริจาคอาหาร

4.2 สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

ข้อมูลเกี่ยวกับสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พบว่าทางสถานคุ้มครองฯ ให้บริการที่ค่อนข้างหลากหลายแก่คนไร้ที่พึ่ง โดยคนไร้ที่พึ่งในที่นี้ หมายถึง ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปซึ่งไม่มีบุคคลให้การช่วยเหลือ ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีอาชีพ และไม่มีรายได้ ซึ่งครอบคลุมไปถึงผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยที่สิ้นสุดการรักษาจากโรงพยาบาล และคนไร้บ้าน เนื่องจากสถานคุ้มครองฯ แห่งนี้เป็นสถานคุ้มครองขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของภาครัฐ โดยลักษณะการให้บริการในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่

ที่อยู่อาศัย

อาหาร

ค่ารักษาโรคและค่ายา

กิจกรรมนันทนาการและกิจกรรมบำบัดทางด้านจิตเวช

การฝึกอาชีพ และการจัดหางานทั้งภายในและภายนอกสำหรับคนไร้ที่พึ่ง

คำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนชีวิต

คำแนะนำด้านเอกสารที่จำเป็นสำหรับการใช้สิทธิของภาครัฐ

การประเมินความพร้อมของคนไร้ที่พึ่งก่อนที่จะพิจารณาให้ออกจากสถานคุ้มครองฯ

การติดตามสถานการณ์ของคนไร้ที่พึ่งภายหลังจากที่ออกจากสถานคุ้มครองฯ แล้ว

คนไร้ที่พึ่งที่มาอาศัยภายในสถานคุ้มครองฯ สามารถใช้บริการเหล่านี้ได้แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ดี บริการบางประเภทจำเป็นต้องถูกยกเลิกในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น กิจกรรมที่ทำร่วมกับคนนอกสถานคุ้มครองฯ กิจกรรมที่ต้องทำร่วมกับคนจำนวนมาก และการจัดหางาน
เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ สถานคุ้มครองฯ ได้กลับมาให้บริการทุกประเภทตามปกติ

จากสถิติคนไร้ที่พึ่งที่มาใช้บริการที่สถานคุ้มครองฯ พบว่าในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ณ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562) มีคนไร้ที่พึ่งที่มาใช้บริการจำนวน 477 คน ในช่วงระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ณ เดือน มีนาคม พ.ศ. 2563) มีคนไร้ที่พึ่งที่มาใช้บริการจำนวน 487 คน และในช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ (ณ เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2563) มีคนไร้ที่พึ่งที่มาใช้บริการจำนวน 481 คน โดยปกติ คนไร้ที่พึ่งจะมีการเข้าออกจากสถานคุ้มครองฯ อยู่ตลอดเวลา โดยตัวอย่างสาเหตุที่ทำให้คนไร้ที่พึ่งออกจากสถานคุ้มครองฯ ได้แก่ การได้รับการปล่อยตัวให้กับครอบครัวหรือชุมชน การถูกย้ายไปยังสถานคุ้มครองฯ แห่งอื่น หรือการเสียชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ถูกส่งมาจากโรงพยาบาล เป็นต้น เนื่องจากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีคนไร้ที่พึ่งถูกส่งตัวมายังสถานคุ้มครองฯ เป็นจำนวนมาก ดังนั้น สถานคุ้มครองฯ จึงมีการปล่อยตัวคนไร้ที่พึ่งที่มีความพร้อมเพิ่มขึ้น และมีการส่งตัวคนไร้ที่พึ่งบางส่วนไปที่งสถานคุ้มครองฯ แห่งอื่น เพื่อจำกัดคนไร้ที่พึ่งภายในสถานคุ้มครองฯ ให้ไม่เกิน 500 คน

          ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ทางสถานคุ้มครองฯ ได้ประสานงานกับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเพื่อดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจะทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ก่อนที่จะส่งตัวคนไร้ที่พึ่งไปที่สถานคุ้มครองฯ เมื่อคนไร้ที่พึ่งมาถึงสถานคุ้มครองฯ ทางสถานคุ้มครองฯ มีการจัดเตรียมอาคารเฉพาะเพื่อรับรองคนไร้ที่พึ่งที่เข้ามาใหม่ และมีการผลิตหน้ากากผ้าและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อเพื่อแจกให้กับคนไร้ที่พึ่งสวมใส่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ สถานคุ้มครองฯ ยังมีมาตรการอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในสถานคุ้มครองฯ เช่น การไม่อนุญาตให้คนภายนอกซึ่งรวมถึงครอบครัวของคนไร้ที่พึ่งและผู้มาบริจาคสิ่งของเข้ามาในสถานคุ้มครองฯ เป็นต้น อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวส่งผลทำให้คนไร้ที่พึ่งที่มีอาการทางจิตเวชมีความกระวนกระวาย เนื่องจากไม่ได้พบญาติและไม่สามารถออกนอกสถานคุ้มครองฯ ได้ ยกเว้นในกรณีที่คนไร้ที่พึ่งต้องเดินทางไปโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัด แต่เมื่อกลับมาถึงสถานคุ้มครองฯ คนไร้ที่พึ่งที่ออกไปข้างนอกจะต้องอาบน้ำเพื่อทำความสะอาดร่างกายทันที จากมาตรการของสถานคุ้มครองฯ ที่ไม่อนุญาตให้คนไร้ที่พึ่งออกไปทำงานนอกสถานที่ ส่งผลทำให้คนไร้ที่พึ่งบางส่วนขาดรายได้ ตัวอย่างเช่น การที่สถานคุ้มครองฯ ไม่อนุญาตให้นำขยะเข้ามาคัดแยกภายในสถานคุ้มครองฯ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนไร้ที่พึ่งบางส่วนที่มีรายได้จากการคัดแยกขยะสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ เป็นต้น

          สำหรับมาตรการอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในสถานคุ้มครองฯ ได้แก่ มาตรการเว้นระยะห่าง (Physical Distancing) โดยทางสถานคุ้มครองฯ กำหนดให้คนไร้ที่พึ่งรับประทานอาหารแบบกระจายตัวกันภายในหอพัก แทนที่จะรับประทานรวมกันที่โรงอาหาร มีการยกเลิกกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนไร้ที่พึ่ง อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ของสถานคุ้มครองฯ ดำเนินการตรวจวัดอุณหภูมิคนไร้ที่พึ่งที่อยู่ในสถานคุ้มครองฯ ทุกวัน และมีการสลับสับเปลี่ยนการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ที่อาศัยภายในสถานคุ้มครองฯ และเจ้าหน้าที่ที่อาศัยอยู่นอกสถานคุ้มครองฯ เพื่อลดความแออัดในการทำงาน

          ในช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ เจ้าหน้าที่ที่ให้สัมภาษณ์มองว่าสถานการณ์ภายในสถานคุ้มครองฯ กลับสู่ภาวะปกติ และสถานคุ้มครองฯ ได้กลับมาให้บริการต่างๆ ตามปกติ แต่ยังคงรักษามาตรการป้องกันบางส่วนไว้โดยผ่อนปรนความเข้มข้นของมาตรการลงมา เช่น อนุญาตให้คนไร้ที่พึ่งสามารถพบญาติได้ในบางกรณี และอนุญาตให้สามารถนำขยะเข้ามาคัดแยกขยะภายในสถานคุ้มครองฯ ได้ เป็นต้น

ผลการสัมภาษณ์คนไร้ที่พึ่งในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

สำหรับสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์คนไร้ที่พึ่งจำนวน 6 คน โดยสำหรับคำถามทั่วไป ผลจากการสัมภาษณ์พบว่าคนไร้ที่พึ่งจำนวน 5 คน จาก 6 คน มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง เลย ศรีสะเกษ และนครพนม แต่เดินทางเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ และมีคน
ไร้ที่พึ่งจำนวน 1 คน ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากพิจารณาสาเหตุที่คนไร้ที่พึ่งมาอาศัยอยู่ที่สถานคุ้มครองฯ ได้แก่

คนไร้ที่พึ่งถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาล เนื่องจากไม่มีญาติมารับกลับบ้าน หรือไม่ต้องการกลับไปอยู่ที่บ้าน

คนไร้ที่พึ่งสมัครใจขอมาอาศัยที่สถานคุ้มครองฯ

คนไร้ที่พึ่งถูกตำรวจจับในระหว่างที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ จึงถูกส่งให้มาอยู่ที่สถานคุ้มครองฯ

เจ้าหน้าที่ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งพบคนไร้ที่พึ่งที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะระหว่างลงสำรวจพื้นที่ จึงถูกส่งให้มาอยู่ที่สถานคุ้มครองฯ

สำหรับระยะเวลาที่กลุ่มตัวอย่างอาศัยอยู่ที่สถานคุ้มครองฯ มีตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 1 ปี โดยคนไร้ที่พึ่งจำนวน 1 คนอาศัยอยู่ในสถานคุ้มครองฯ ตั้งแต่ช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีคนไร้ที่พึ่งจำนวน 3 คนอาศัยอยู่ในสถานคุ้มครองฯ ตั้งแต่ช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีคนไร้ที่พึ่งจำนวน 2 คนอาศัยอยู่ในสถานคุ้มครองฯ ตั้งแต่ช่วงหลังยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ คนไร้ที่พึ่งทุกคนที่เข้าร่วมการสัมภาษณ์ใช้บริการที่พักอาศัยและอาหารซึ่งสถานคุ้มครองฯ จัดไว้ให้ คนไร้ที่พึ่งจำนวน 5 คนใช้บริการฝึกอาชีพ และมีคนไร้ที่พึ่งจำนวน 1 คนได้งานช่วยดูแลคนไร้ที่พึ่งที่เป็นผู้สูงอายุ โดยได้รับค่าจ้างเล็กน้อย

สำหรับช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการสัมภาษณ์พบว่าคนไร้ที่พึ่งทั้ง 6 คนเคยมีแหล่งรายได้จากการประกอบอาชีพในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ ช่างทำเฟอร์นิเจอร์ ช่างตัดผม ทำอาหาร พนักงานร้านอาหาร และรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้ มีคนไร้ที่พึ่งจำนวน 1 คนที่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐในลักษณะของเบี้ยคนพิการจำนวน 800 บาทต่อเดือน แต่ไม่มีคนไร้ที่พึ่งที่เข้าร่วมการสัมภาษณ์ที่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น

          ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์หรือปิดเมือง พบว่ามีคนไร้ที่พึ่งจำนวน 3 คน จาก 6 คน (ร้อยละ 50) ซึ่งไม่มีงานทำตั้งแต่ช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคนไร้ที่พึ่งเหล่านี้ไม่สามารถออกไปหางานหรือทำงานนอกสถานคุ้มครองฯ ได้ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนไร้ที่พึ่งทุกคนที่เข้าร่วมการสัมภาษณ์มีการป้องกันตัวเองจากโควิด-19 เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ งดไปในสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก อาบน้ำทันทีหลังจากที่กลับมาจากพบแพทย์ที่โรงพยาบาล และคนไร้ที่พึ่งทุกคนที่ให้สัมภาษณ์มีความเห็นว่าสถานคุ้มครองฯ ได้ดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในสถานคุ้มครองฯ อย่างเพียงพอ

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีคนไร้บ้าน 2 คน จาก 6 คน (ร้อยละ 33.33) ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น เบี้ยคนพิการจำนวน 800 บาทต่อเดือนซึ่งได้รับอย่างต่อเนื่อง เงินเยียวยาจำนวน 3,000 บาทที่จ่ายให้กับผู้ถือบัตรคนพิการในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 นอกจากนี้ มีคนไร้บ้านจำนวน 1 คน จาก 6 คน ที่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐในลักษณะของการได้รับบริจาคอาหาร

          สำหรับช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์จนถึงปัจจุบัน พบว่าคนไร้ที่พึ่งทุกคนที่เข้าร่วมการสัมภาษณ์มีความเห็นว่าสถานการณ์ภายในสถานคุ้มครองฯ กลับสู่ภาวะปกติ โดยให้เหตุผลว่าสถานคุ้มครองฯ ได้กลับมาให้บริการและจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมบำบัด กิจกรรมนันทนาการ ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ ได้ตามปกติ

4.3 ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน (บ้านโฮมแสนสุข) จังหวัดขอนแก่น

ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน (บ้านโฮมแสนสุข) จังหวัดขอนแก่น

ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน (บ้านโฮมแสนสุข) จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ที่ถนนเหล่านาดี ตำบลเหล่านาดี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ตั้งหลักให้คนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เพื่อให้คนไร้บ้านเหล่านี้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ อีกทั้งช่วยให้คนไร้บ้านเหล่านี้มีงานทำเพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับการดำรงชีพ โดยภายในศูนย์ฯ จะแบ่งห้องพักเป็นห้องๆ ซึ่งห้องพักภายในศูนย์ฯ สามารถรองรับคนไร้บ้านได้สูงสุด 60 คน

จากการสัมภาษณ์ผู้จัดการของศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน (บ้าน
โฮมแสนสุข) จังหวัดขอนแก่น พบว่าในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ทางศูนย์ฯ มีการให้บริการที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีทั้งบริการที่อยู่อาศัยแบบแบบชั่วคราวและที่อยู่อาศัยแบบระยะยาว โดยคนไร้บ้านที่มาใช้บริการที่ศูนย์ฯ จ่ายเฉพาะค่าน้ำและค่าไฟฟ้าร่วมกันและสามารถอาศัยได้โดยไม่มีกำหนด สำหรับการให้บริการด้านอื่นๆ  ทางศูนย์ฯ มีเจ้าหน้าที่ประสานงานทั้งหมด 5 คน ที่คอยให้คำปรึกษากับคนไร้บ้านและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิต อีกทั้งให้ความช่วยเหลือด้านเอกสารต่างๆ เพื่อให้คนไร้บ้านสามารถเข้าถึงสวัสดิการ อย่างไรก็ดี ทางศูนย์ฯ ไม่มีการแจกอาหารให้กับคนไร้บ้าน ดังนั้น คนไร้บ้านที่มาอาศัยที่ศูนย์ฯ จะต้องออกไปหารายได้จากภายนอกเพื่อใช้สำหรับดำรงชีพ ทั้งนี้ ในช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีคนไร้บ้านมาใช้บริการพักแรมที่ศูนย์ฯ แห่งนี้จำนวน 21 คน และในช่วงที่มีการล็อคดาวน์หรือปิดเมือง มีคนไร้บ้านที่มาใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 37 คน ทางเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคโควิด-19 และความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตร่วมกันแก่คนไร้บ้านภายในศูนย์ฯ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่มีการระดมของบริจาค ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และยารักษาโรค สำหรับให้บริการคนไร้บ้าน อีกทั้งมีการลงพื้นที่เพื่อเชิญชวนให้คนไร้บ้านที่เร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะมาพักในศูนย์ฯ

สำหรับความช่วยเหลือที่ได้รับนั้น หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือทางศูนย์ฯ โดยให้การสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น สนับสนุนด้านอาหารปรุงสุกและอาหารแห้ง รวมถึงสนับสนุนครัวกลาง ถึงแม้ว่าหลังจากที่มีการคลายมาตรการล็อคดาวน์ และจำนวนคนไร้บ้านที่มาอาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ ลดลงเหลือ 17 คนแล้ว แต่ทางศูนย์ฯ ยังต้องการให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านที่ไม่มีที่พักอาศัย เพราะทางศูนย์ฯ ได้รวบรวมข้อมูลคนไร้บ้านให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ จำนวน 40 คน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการตอบรับจากหน่วยงาน และการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวล่าช้ามาก ทางศูนย์ฯ จึงต้องการให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือคนไร้บ้านได้อย่างทันท่วงที

ผลการสัมภาษณ์คนไร้บ้านที่ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน (บ้านโฮมแสนสุข) จังหวัดขอนแก่น

ในส่วนของการสัมภาษณ์คนไร้บ้านที่ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน จังหวัดขอนแก่นนั้น ทางคณะผู้วิจัยสัมภาษณ์คนไร้บ้านจำนวน 6 คน โดยในจำนวนนี้ พบว่ามีคนไร้บ้าน 4 คน จาก 6 คน (ร้อยละ 66.67) อาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ มาก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีคนไร้บ้านอีก 2 คน จาก 6 คน (ร้อยละ 33.33) เข้ามาอาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสาเหตุที่กลุ่มตัวอย่างมาอาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ ส่วนใหญ่ ประกอบด้วย ปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัว การขาดความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการเวนคืนที่ดิน รวมถึงการตกงานในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงจำเป็นต้องมาอาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ

คนไร้บ้านที่เข้าร่วมการสัมภาษณ์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ มาตั้งแต่เริ่มเปิดศูนย์ฯ โดยมีคนไร้บ้านที่อยู่ที่ศูนย์ฯ เป็นระยะเวลา 2 ปี จำนวน 3 คน (ร้อยละ 50) มีคนไร้บ้านจำนวน 1 คน (ร้อยละ 16.67) อาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ เป็นระยะเวลา 1 ปี และมีคนไร้บ้านอีก 2 คน (ร้อยละ 33.33) อาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ น้อยกว่า 1 ปี

จากการสัมภาษณ์ พบว่าคนไร้บ้านที่เป็นกลุ่มตัวอย่างทุกคนมีแหล่งรายได้ในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีรายได้จากการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ขับรถส่งของ ขายเสื้อผ้ามือสอง รขายอาหาร และจากการเก็บของเก่าขาย มีคนไร้บ้านเพียง 1 คน จาก 6 คน (ร้อยละ 16.67) ที่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ โดยได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่คนไร้บ้านอีก 5 คน ที่ให้สัมภาษณ์ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ดี คนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ได้รับการช่วยเหลือจากผู้ใจบุญและภาคเอกชนอื่นๆ ในรูปแบบของสิ่งของบริจาค ทั้งเครื่องใช้ เสื้อผ้า อาหารแห้งและยา รวมถึงเงินสด

ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์/ปิดเมือง พบว่าคนไร้บ้านทุกคนที่เข้าร่วมการสัมภาษณ์ (ร้อยละ 100) ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคนไร้บ้านเหล่านี้ขาดรายได้ เนื่องจากไม่สามารถออกไปขายของหรือเก็บของเก่าขายได้ รวมถึงถูกเลิกจ้างเพราะธุรกิจที่เคยทำงานด้วยปิดกิจการ ในจำนวนนี้ มีคนไร้บ้านจำนวน 1 คน ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยก่อนหน้านี้เคยมีรายได้จากการขายอาหารและรับจ้างทั่วไป ซึ่งเพียงพอสำหรับเลี้ยงตนเอง แต่พอมีการล็อคดาวน์ ทำให้คนไร้บ้านรายนี้ไม่สามารถขายอาหารได้ ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับจ่ายค่าเช่าบ้าน จึงต้องย้ายออก และเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนที่จังหวัดหนองคาย แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเนื่องจากในช่วงนั้นทุกคนกลัวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องไปพึ่งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดหนองคาย และถูกส่งตัวมาที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น จากนั้นขอย้ายออกมาอยู่ที่ศูนย์แห่งนี้เพราะต้องการหารายได้ด้วยตนเอง

จากการสัมภาษณ์พบว่าคนไร้บ้านที่เป็นกลุ่มตัวอย่างทุกคนมีการป้องกันตัวเองจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการสวมใส่หน้ากากอนามัย การใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ล้างมือบ่อยๆ งดเดินทางไปในสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก

สำหรับการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ พบว่ามีคนไร้บ้านจำนวน 4 คน ใน 6 คน (ร้อยละ 66.67) ที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยมีคนไร้บ้านจำนวน 2 คน ที่ได้รับเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน และมีคนไร้บ้านจำนวน 2 คนที่ได้รับเงินเยียวยาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 จำนวน 3,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีคนไร้บ้านจำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 33.33 ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ เนื่องจากคนไร้บ้านเหล่านี้ไม่มีบัญชีธนาคารและมีเอกสารไม่ครบถ้วนสำหรับลงทะเบียนเพื่อได้รับความช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาสนับสนุนครัวกลางสำหรับ
คนไร้บ้าน และหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยงานของภาครัฐให้การช่วยเหลือในรูปแบบของการบริจาคของ ได้แก่ เสื้อผ้า อาหารแห้ง ยารักษาโรค เป็นต้น

สำหรับช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์จนถึงปัจจุบัน คนไร้บ้านที่เข้าร่วมการสัมภาษณ์มองว่าสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เนื่องจากคนไร้บ้านสามารถเริ่มกลับไปทำงานได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขายของ การเก็บของเก่าขาย รวมถึงสามารถไปรับจ้างตามร้านอาหารต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่น

อย่างไรก็ดี จากการสัมภาษณ์คนไร้บ้าน พบว่าหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ คนไร้บ้านทุกคนที่ให้สัมภาษณ์ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว แต่คนไร้บ้านทุกคนยังต้องการความช่วยเหลือในหลายด้าน ได้แก่ การได้รับบริจาคอาหารอย่างน้อยวันละ 1 มื้อ การบริจาคสิ่งของไหมพรมและลูกปัดเพื่อนำไปทำพวงกุญแจ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในศูนย์ฯ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI
15 ธันวาคม 2563