ประเมินสถานการณ์ระบาดรอบใหม่ เดือนพฤศจิกายน 2563

การระบาดรอบใหม่ในประเทศไทย เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยเป็นการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่จังหวัดสมุทรสาคร การประเมินสถานการณ์ระบาดรอบใหม่มีความจำเป็นเพื่อที่จะฉายภาพสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้น และมีนัยสำคัญต่อการกำหนดนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสม

            การระบาดรอบนี้มีความแตกต่างจากรอบแรกอยู่อย่างน้อย 3 ประการ ก็คือ 

            1. สถานการณ์การระบาดครั้งแรกเกิดขึ้นโดยมีจุดสูงที่สุดอยู่ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 188 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม2563) ในขณะที่รอบปัจจุบัน ข้อมูลการวิเคราะห์ล่าสุด (วันที่ 7 มกราคม 2564) พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันสูงที่สุด คือ วันที่ 4 มกราคม 2564 โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 745 คน ทำให้การระบาดรอบใหม่มีความรุนแรงที่สูงกว่ารอบแรก

รูปที่ 1: จำนวนการพบผู้ป่วยใหม่

ที่มา: JHU CSSE Covid-19 Data

            2. สถานการณ์การระบาดรอบแรกสิ้นสุดลงภายในระยะเวลา 1 เดือนครึ่ง ในขณะที่การระบาดครั้งใหม่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงโดยเร็ว เพราะว่าการติดเชื้อถูกคนพบในกลุ่มแรงงานต่างด้าว และพฤติกรรมการย้ายถิ่นทำงานทำให้ความสามารถในการตรวจสอบทำได้โดยยาก กระนั้น แบบจำลองของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าการระบาดในกรณีที่ดีที่สุด สามารถที่จะสิ้นสุดลงได้ภายในเวลา 3 เดือน (หรือ สิ้นสุดในช่วงกลางเดือนเมษายน) แต่กระนั้นก็ยังคงมีความเป็นไปได้ว่าการแพร่ระบาดอาจจะกระจายในวงกว้างแบบในต่างประเทศ หรือคงตัวโดยมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่หลักร้อยคนต่อวัน

            3. การระบาดในรอบนี้ มาตรการภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงจากในรอบแรก โดยในรอบแรกภาครัฐเลือกที่จะล็อคดาวน์ประเทศ หรือ ใช้มาตรการควบคุมการระบาดแบบทั้งประเทศ แต่ในรอบนี้ ภาครัฐมีการแบ่งมาตรการควบคุมตามสถานการณ์ในระดับจังหวัด โดยได้กำหนดเป็นสี 4 สี คือ สีเขียว (เฝ้าระวัง) สีเหลือง (พื้นที่เฝ้าระวังสูง) สีส้ม (พื้นที่ควบคุม) และสีแดง (พื้นที่ควบคุมสูงสุด) โดยในกลุ่มพื้นที่สีแดงยังมีการจัดกลุ่มจังหวัดพิเศษที่มีมาตรการควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรีและตราด โดยมาตรการควบคุมที่สำคัญจะเกิดขึ้นกับจังหวัดสีแดง โดยจังหวัดที่ควบคุมสูงสุดจะเน้นการตรวจอุณหภูมิ สังเกตอาการ และสั่งปิดพื้นที่เสี่ยงที่ระบาด และถ้าเป็นจังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจะเพิ่มมาตรการการขออนุญาตเดินทางออกนอกพื้นที่เข้ามาด้วย

รูปที่ 2: แบบจำลองการระบาดของมหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

รูปที่ 3: พื้นที่ที่ประกาศใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ

ที่มา: https://www.gcc.go.th/?p=17015

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะผู้วิจัย TDRI
22 ธันวาคม 2563