โควิด-19 กับการจ้างงาน แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ

บทความโดย ดร. สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

เรื่องราวของผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานข้ามชาติยังคงเป็นเรื่องน่าติดตามเพราะโควิด-19 ยังคงเป็นหนังยาวไม่จบลงง่ายๆ แม้จะมีข่าวค่อนข้างดีว่ารัฐบาลไทยสั่งซื้อวัคซีนป้องกัน โควิดไปแล้วกับแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน เมื่อวันที่ 27 พ.ย. โดยการจองและจัดซื้อนี้จะทำให้ประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้ภายในปี 2564 จำนวน 25 ล้านโดส

ดร. สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

แต่จะครอบคลุมประชากรเพียงประมาณร้อยละ 20 และรัฐตั้งเป้าขยายให้ถึงร้อยละ 50 ของประชากรหรือมากกว่า เพราะฉะนั้นอย่าประมาท การ์ดอย่าตก

เมื่อเร็วๆ นี้ มีพรรคพวกเขียนบทความวิชาการเรื่องผลกระทบของ Covid-19 ที่มีผลต่อการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยไว้แล้วอย่างดีและให้ข้อมูลในหลายประเด็นที่น่าสนใจ (ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ และ นายสิรวิชญ์ รัตนประทีปทอง) บทความของผู้เขียนฉบับนี้แค่เพิ่มมุมมองเล็กน้อยเกี่ยวกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเฉพาะอุปทานแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติกลุ่มต่างๆ ในช่วงโควิด-19 โดยใช้ข้อมูลสถิติแรงงานต่างด้าวรายเดือนของสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จากมกราคม 2563 ถึงเดือนล่าสุดคือตุลาคม 2563

  1. แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ในบทความนี้เพื่อความสะดวกในการอธิบายได้จัดแบ่งเป็น 4 กลุ่มที่สำคัญ คือคนต่างด้าว พิสูจน์สัญชาติ (เดิม) (มาตรา 59-พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560) ได้แก่ แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชาที่หลบหนีเข้าเมืองได้รับการผ่อนผันให้ทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามมติ ครม.และได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและปรับสถานะการเข้าเมืองถูกกฎหมายแล้ว เรียกสั้นๆ ว่า “พิสูจน์สัญชาติ”
  2. คนต่างด้าวนำเข้าตาม MOU (มาตรา 59) คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศต้นทาง เรียกสั้นๆ ว่า “MOU”
  3. คนต่างด้าวตามมติ ครม. ในปี 2563 นี้มีแรงงาน 3 สัญชาติที่ได้รับการผ่อนผันโดยมติ ครม (ตามมาตรา 59  พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560) เรียกรวมกันสั้นว่า “มติ ครม.” ซึ่งมีอยู่ 3 กลุ่มตามวันที่ ครม.มีมติ คือ
    1. มติ ครม.วันที่ 16 ม.ค. และ 27 มี.ค. 2561 จำนวนคงเหลือ 995,054 คน 938,678 คน และ 816,562 คน ในเดือน ม.ค., ก.พ. และ มี.ค. 2563 ตามลำดับ กลุ่มนี้ในรายงานบางทีเรียกว่ากลุ่ม “พิสูจน์สัญชาติปรับปรุงทะเบียนประวัติ” ซึ่งแยกกับกลุ่มที่ 1 ข้างบน (“พิสูจน์สัญชาติเดิม”)
    2. มติ ครม.วันที่ 12 ก.ย. 2560, วันที่ 6 พ.ย. 2561 และ 29 ม.ค. 2562 (พ.ร.ก.การประมง 2558 มาตรา 83) จำนวนคงเหลือ 12,040 คน ในเดือน ม.ค., ก.พ. และ มี.ค. 2563
    3. มติ ครม. วันที่ 20 ส.ค. 2562 ขึ้นทะเบียนที่ศูนย์ขึ้นทะเบียนเบ็ดเสร็จ จำนวนคงเหลือ 1,266,011 คน ในเดือน เม.ย. 2563 จนถึง ต.ค.2563 กลุ่มนี้เป็นคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุด วันที่ 30 ก.ย. 2562, วันที่ 1 พ.ย. 2562, วันที่ 30 มี.ค. 2563, 31 มี.ค. 2563 และวันที่ 30 มิ.ย.2563 (ไม่รวมกลุ่มที่นำเข้าตามระบบ MOU) กลุ่มนี้อนุญาตให้ดำเนินการในลักษณะนำเข้าตาม MOU โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร และอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 2 ปี โดยให้ขออยู่ในราชอาณาจักรได้ ครั้งละไม่เกิน 1 ปี
    4. มติ ครม.วันที่ 4 ส.ค. 2563 คนต่างด้าวตามมาตรา 63/2 กลุ่มนี้นับว่าเป็นกลุ่มเกิดจากผลกระทบของโควิด-19 โดยตรงทำให้สถานะการเข้าเมืองมีการปรับเปลี่ยน ประกอบด้วย
  • 1) คนต่างด้าวแบบ บต.23 แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MOU ที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 50, 53, 55 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว อาทิ ออกจากนายจ้างรายเดิม แต่ยังหานายจ้างรายใหม่ไม่ได้ภายใน 30 วัน
  • 2) คนต่างด้าวแบบ บต.24 แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) ตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน ซึ่งเข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาลตามมาตรา 63/2 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งครบวาระการจ้างงาน และการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุด

4. แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับหรือตามฤดูกาล ได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 64

นอกจากนั้นยังมีคนต่างด้าวตามมาตรา 63/1 ประเภทชนกลุ่มน้อยซึ่งไม่ใช่แรงงาน 3 สัญชาติและในบทความนี้จะไม่กล่าวถึง

ในภาพประกอบแสดงแนวโน้มของแรงงาน 3 สัญชาติในช่วง โควิด-19 ระบาด ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 ไปจนถึง ต.ค. 2563 (ประเทศไทยพบผู้ป่วยเป็นรายแรกกุมภา 2563 ประกาศใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2563 ผ่านการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นหลัก)

จะเห็นได้ว่าแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติโดยรวมมีแนวโน้มลดลง จากประมาณ 2.79 ล้านคน ในเดือนมกราเหลือ2.19 ล้านคน ในเดือนสิงหา เป็นจำนวนประมาณ 5.93 แสนคน แต่กลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงกันยายนและตุลาคมเป็น 2.3 ล้านคน น่าจะเนื่องจากแรงงานในกลุ่มมติ ครม.ที่เพิ่มขึ้นดังจะกล่าวต่อไป

ในกลุ่ม “มติ ครม.”ซึ่งมีกลุ่มย่อยต่างๆ ตามกลุ่มที่ 3 (มติ ครม.) ดังกล่าวข้างต้น ใน 3 เดือนแรกเป็นตัวเลขของกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานตามมติ ครม. วันที่ 16 ม.ค.และ 27 มี.ค. 2561 และแรงงานประมงที่ได้รับผ่อนผันให้ทำงานตามมติ ครม. วันที่ 12 ก.ย. 2560, 6 พ.ย. 2561 และ 29 ม.ค. 2562 ทั้งหมดจำนวน 1 ล้านคน ในเดือน ม.ค. ลดลงเหลือ 8.3 แสนคน ในเดือน มี.ค.และกลับเพิ่มขึ้นในเดือน เม.ย. เป็น 1.27 ล้านคน ตามมติ ครม. 20 ส.ค.2562 จนกระทั่งเดือน ก.ย.และต.ค. มีแรงงานต่างด้าวเพิ่มอีก 7.7 หมื่นคนและ 1.7 แสนคน ตามลำดับตามมติ ครม. 4 ส.ค.2563 ที่แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว MOU ที่ถูกเลิกจ้างหรือออกจากนายจ้างเดิมในช่วงโควิด-19 และยังหานายจ้างใหม่ไม่ได้ แรงงานกลุ่มนี้เองที่ทำให้ยอดรวมของแรงงานต่างด้าวคงเหลือกลับสูงขึ้นในเดือน ก.ย.และต.ค.

แรงงานกลุ่ม “MOU” เพิ่มขึ้นจาก 1.01 ล้านคน ในเดือน ม.ค.เป็น 1.09 ล้านคน ในเดือน มี.ค. แต่เมื่อโควิด-19 ระบาดหนักขึ้นประกอบกับมาตรการปิดประเทศและสถานประกอบการอย่างกว้างขวางตามด้วยการเลิกจ้างทำให้จำนวนแรงงานกลุ่ม MOU ลดลงตามลำดับจนเหลือ 8.5 แสนคน ในเดือน ต.ค. คิดเป็นแรงงาน MOU ที่หายไปประมาณ 2.4 แสนคน (นับจากเดือนมี.ค.)

แรงงานในกลุ่ม “พิสูจน์สัญชาติ” ลดลงจากประมาณ 7 แสนคน ในเดือน ม.ค.เหลือเพียงพันกว่าคนในเดือน ต.ค. เข้าใจว่าเนื่องจากใบอนุญาตทำงานหมดอายุและรัฐบาลไม่มีนโยบายทำการพิสูจน์สัญชาติต่อไปโดยจะพยายามใช้การนำเข้าแบบ MOU เป็นหลัก

ส่วนแรงงานไป-กลับแนวชายแดนลดลงจาก 6 หมื่น ในเดือน ม.ค.เหลือ 2 หมื่นกว่าในเดือน พ.ค.และหมดไปหลังจากนั้น

เนื่องจากการปิดชายแดนอย่างเข้มงวดแต่ในเดือน ก.ย.และต.ค. มีการผ่อนผันตามมติ ครม. 4 ส.ค.สำหรับผู้ตกค้างให้อยู่ได้ชั่วคราวจำนวน 1.7 หมื่นคน และ 3 หมื่นคน ตามลำดับ

ในช่วงโควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา ประมาณ 9 เดือน ที่ยาวเหมือน 9 ปี อุปทานแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติมีการเปลี่ยนแปลงปรับตัวพอสมควรตามนโยบายและการบริหารของภาครัฐซึ่งคงลดความเดือดร้อนทั้งของแรงงานและภาคธุรกิจได้ ณ ระดับหนึ่ง ทั้งนี้เราไม่ได้พูดถึงการคุ้มครองทางสังคมและสิทธิของแรงงานซึ่งเป็นเรื่องไม่เล็กและรัฐควรสอดส่องต่อไปครับ ตัวเลขเยอะหน่อย แต่ดูกราฟเอาน่าจะช่วยได้

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในมติชน เมื่อ 11 ธันวาคม 2563


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ