ช่วงหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ประมาณ 6 เดือน (มิถุนายน 2563) จำนวนแรงงานต่างชาติ ประชากรแรงงานต่างชาติลดลงต่อเนื่อง โดยยอดรวมการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 545,591 คนคิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรแรงงานต่างชาติช่วงก่อนโควิดระบาด (ธ.ค. 2562) โดยภาวะการลดลงของประชากรกระจายตัวทั่วทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีจำนวนการจ้างงานแรงงานต่างชาติสูง (ตารางที่ 1 และรูปที่ 1)
ตารางที่ 1: จำนวนแรงงานต่างชาติในในราชอาณาจักรไทย ก่อน-หลังการระบาดของโควิด-19
รูปที่ 1: จำนวนแรงงานต่างชาติในในราชอาณาจักรไทย ก่อน-หลังการระบาดของโควิด-19 รายจังหวัด
การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวภายใต้ภาวการณ์แพร่ระบาด Covid-19 ตามมติ ครม. ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2563 ดำเนินการต่อทะเบียนให้กับแรงงาน 4 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่ม MoU ทำงานครบ 4 ปี จำนวน 84,022 คน
- กลุ่มตกขบวนยื่นเนมลิสต์ไม่ได้ จำนวน 475,085 คน
- กลุ่ม MoU ที่เปลี่ยนนายจ้างไม่ได้ กลุ่มที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง และต่อไม่ทันเวลา
- กลุ่มแรงงานชายแดน (Border pass) จำนวน 92,572 คน
โดยใบอนุญาตทำงานมีอายุครั้งละ 3 เดือน แต่สามารถขอต่อเนื่องได้ไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2565 มีขั้นตอนและระเบียบดังนี้
แรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ 1 – 3
- จะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตทำงาน กับกรมการจัดหางาน ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563
- การตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพ การขอตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (Visa)
- ทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) จะได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565
แรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ 4
- ยื่นขอรับใบอนุญาตทำงาน กับกรมการจัดหางาน ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563
- ตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพ
จากภาวะประชากรแรงงานต่างชาติที่ลดลงทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานประมงและแรงงานก่อสร้างซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่ำ มีความต้องการแรงงานต่างด้าว ใน 22 จังหวัดชายทะเลจำนวน 40,000-50,000 คนและแรงงานในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหายไปจากระบบ 100,000-200,000 คน 1
ในช่วงกรกฎาคม 2563 ที่ประชุมศบค. เห็นชอบแนวทางในการนำเข้าแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ “กัมพูชา ลาว และเมียนมา” เข้ามาทำงานตาม MOU ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยแรงงานต่างชาติต้องดำเนินตามมาตรการความปลอดภัยทางสาธารณสุข ให้ตรวจหาเชื้อ COVID-19 และกักตัว 14 วัน ก่อนออกใบอนุญาตทำงาน ซึ่งนายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 13,200-19,300 บาทต่อคน 2
จากมาตรการปลดล็อกการนำเข้าแรงงาน MOU นายจ้าง 82% ไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดของ สบค.และกระทรวงแรงงาน ที่สร้างภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้า เพิ่มสูงมากกว่าปกติจึงอยากให้รัฐช่วยแบ่งเบาภาระ ช่วยลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลง เช่น ค่าตรวจโรค ควรเป็นการตรวจโรคเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคโดยภาครัฐ รวมถึงให้พิจารณามาตรการกักตัวในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในช่วงที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 และมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาแบ่งการนำเข้าเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 กลุ่มคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานหรือมีสิทธิ์ในการทำงานเดิม
ระยะที่ 2 กลุ่มคนต่างด้าวที่ดำเนินตามขั้นตอนการนำเข้าตาม MOU จนเกือบสิ้นสุดกระบวนการแล้ว มีนายจ้างรับที่ชัดเจน
ระยะที่ 3 การนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามระบบ MOU ที่เป็นคนใหม่
ทั้งนี้หากรัฐไม่ช่วยเหลืออุดหนุนอะไร นายจ้างอาจจะต้องจ้างแรงงานต่างด้าวที่ตกค้างในไทยที่ไม่ได้กลับบ้านแทนและอาจจ้างแบบผิดกฎหมาย เพื่อลดต้นทุน
ข้อเสนอที่ให้รัฐแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการกักตัว
ควรปรับให้เหมาะสมตามความสะดวก โดยให้หาพื้นที่กักตัวของนายจ้างหรือ Organization Quarantine (OQ) โดยกำหนดข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้
- การกักตัวแยกจะทำที่ไหน ควรมีเกณฑ์อย่างไรบ้าง และใครเป็นผู้ดูแลอนุญาต
- สามารถรองรับจำนวนคนที่พอเหมาะต่อเวลาและสถานที่ เช่น ภายในปีนี้ เข้ามาหลายแสนคน จะเตรียม OQ กันอย่างไร เช่น ต้องเพิ่มเติม Local Quarantine (LQ) ที่ไหนจำนวนเท่าไร
- ปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับการกักตัวให้ต่ำลง จาก 1,500 ต่อคนต่อวันให้เหลือ 1,000 บาทต่อคนต่อวัน
- พิจารณาตามหลักการป้องกันเชิงสุขภาพควบคู่ด้วย เช่น สามารถให้กักตัวแบบ อยู่สองคน (เหมือนสามีภรรยา มี distancing) ถ้าทำได้ค่าใช้จ่ายต่อคนน่าจะไม่ถึง 1,000 บาท
ปัญหาแรงงานเถื่อนซึ่งคาดว่าเป็นที่มาของการระบาดโควิดระลอก 2 ในไทย
ปัญหาแรงงานเถื่อนหรือการนำเข้าผ่านชายแดนโดยไม่มีเอกสารเดินทาง หรือใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างชาติอย่างถูกต้อง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกที่แรงงานต่างชาติเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2,531 โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 สัญชาติ ประกอบด้วยเมียนมา กัมพูชา และลาว อีกทั้งมีธุรกิจจัดหานำเข้าแรงงานต่างชาติที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย อีกทั้งการตรวจสอบสถานประกอบการที่มีการจ้างงานแรงงานต่างชาติจำนวนมากของหน่วยงานรัฐเป็นไปในลักษณะหลับตาข้างหนึ่ง คืออาจเป็นไปในลักษณะสุ่มตรวจ หรือยืนยันเฉพาะจำนวนกับเอกสาร เหตุผลหนึ่งเพราะการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารเพื่อยืนยันตัวตนแรงงานจำนวนมากจำเป็นต้องใช้เวลาและบุคลากรในการตรวจสอบสูง
สาเหตุหลักของปัญหาแรงงานผิดกฎหมายคือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานแบบถูกกฎหมาย และมีเงื่อนไขซับซ้อนต้องดำเนินการต่ออายุเอกสารอย่างต่อเนื่อง ค่าใช้จ่ายสำหรับนายจ้างในการนำเข้าแรงงาน 3 สัญชาติประเภท MOU ประมาณ 11,000 บาทต่อคน ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการทำเอกสารกับระเทศต้นทาง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมถึงหากนำเข้าช่วงโควิดจะต้องจ่ายค่ากักตัวเพิ่มอีก 13,200-19,300 บาทต่อคน เพื่อทำตามมาตรการด้านสาธารณสุข ดังนั้นหากจ้างงานแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายก็จะลดต้นทุน อีกทั้งไม่มีภาระค่าใช้จ่ายสำหรับสวัสดิการ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และไม่ติดเงื่อนไขตามสัญญาจ้างใด ๆ
อีกสาเหตุหนึ่งคือการมีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันแรงงานต่างชาติที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายให้มาลงทะเบียนเป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 การผ่อนผันยังสร้างผลกระทบให้แรงงานต่างชาติที่ใบอนุญาตหมดอายุไปลงทะเบียนในกลุ่มพิสูจน์สัญชาติเพื่อรับการอนุญาตทำงานแทนการต่ออายุ
แนวทางแก้ไขปัญหา แรงงานต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย คือ 1. ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ต้องเอาผิดกับนายจ้างที่จ้างงานแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และลดความหละหลวมของพื้นที่ชายแดนที่ลักลอบนำเข้าแรงงานต่างชาติ 2. หยุดประกาศผ่อนผันจดทะเบียนแรงงานที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย 3. ให้สามารถนำเข้าแรงงานต่างชาติผ่านระบบ MOU เท่านั้น 4. ลดภาระต้นทุนการนำเข้าเพื่อลดแรงจูงใจในการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย
ปัญหาการแรงงานต่างด้าวถูกลอยแพจากนายจ้าง
จากการประกาศตรวจเชื้อแรงงานต่างชาติ สั่งกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมาย ช่วง ธันวาคม 2563 เกิดผลกระทบคือ แรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้าประเทศจำนวนมากถูกนายจ้างนำมาปล่อยตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อหลบเลี่ยงความผิดจากการตรวจเจอการจ้างแรงงานผิดกฎหมาย ภาครัฐจำเป็นต้องรับภาระในการดูแลรับผิดชอบสวัสดิภาพของแรงงานเหล่านี้
แนวทางแก้ไขหลังเกิดปัญหา
หากพบแรงงานต่างชาติลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมายที่ไม่มีนายจ้างในกรณีปกติจะทำการส่งกลับประเทศต้นทาง แต่แนวทางในสถานการณ์นายจ้างลอยแพแรงงานต่างชาติควรนำมาจดทะเบียนแล้วหาตำแหน่งงานรองรับเนื่องจากแรงงานเหล่านี้มีตำแหน่งงานรองรับ หากส่งกลับประเทศนายจ้างก็มีแนวโน้มที่จะนำเข้ามาใหม่สำหรับตำแหน่งงานนั้น ๆ แต่วิธีนี้ยังติดปัญหาด้านค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจหาโรค และการหาตำแหน่งงานรองรับ
แนวทางลดการจ้างงานแรงงานต่างชาติระยะยาว
สัดส่วนการจ้างงานแรงงานต่างชาติไม่ได้เป็นปัญหาหลัก อาจเป็นภาระด้านการกำกับดูแล การแย่งชิงสินค้าสาธารณะ และเงินไหลออกนอกประเทศ ปัญหาแท้จริงคือแรงงานทักษะต่ำทำให้อุตสาหกรรมในประเทศพึ่งพิงการเพิ่มผลิตภาพจากจำนวนแรงงาน ไม่มีแรงจูงใจในการผลิต และนำเทคโนโลยีมาใช้ ส่งผลให้ผลิตภาพโดยรวมข้องประเทศในระยะยาวเติบโตช้า
แนวทางการลด ลดการจ้างงานแรงงานทักษะต่ำ
ผลักดันอุตสาหกรรมที่สามารถนำเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานต่างชาติได้ เช่น ในอุตสาหกรรมการเกษตร รวมไปถึงแปรรูปอาหาร 2. นโยบายจ้างออกให้ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น เช่น ประมง-แพกุ้ง อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า อุตสาหกรรมเหล่านี้ยังอยู่ในไทยเนื่องจากต้นทุนคงที่ (fixed cost) ที่ลงทุนไปแล้ว สามารถย้ายฐานการผลิตไปประเทศต้นทางและใช้วิธีการขนส่งสินค้าแทนได้ 3. จำกัดประเภทและจำนวนการจ้างงานในแต่ละอุตสาหกรรมให้เหลือเฉพาะเท่าที่จำเป็นต้องใช้ทดแทนงานประเภทที่ ไม่สามารถทดแทนด้วยเทคโนโลยี และคนไทยไม่ทำ เช่น อุตสาหกรรมการบริการ อุตสาหกรรมก่อสร้าง และรับใช้ในบ้าน
1 แรงงานต่างด้าวขาดแคลนหนัก “ก่อสร้าง-ประมง” ต้องการ 1.2 ล้านคน (https://www.prachachat.net/economy/news-495666)
2 แรงงานต่างด้าว MOU เฮ! หลัง ศบค. อนุมัติให้เข้าประเทศ แต่ต้องกักตัว 14 วัน (https://www.komchadluek.net/news/regional/437877)
3 แบบสอบถามโครงการนายจ้างสีขาวฯ (GEFW) จากนายจ้างที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวและนำเข้า MOU 172 ราย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โดย คณะผู้วิจัย TDRI
29 มกราคม 2564