tdri logo
tdri logo
29 มกราคม 2021
Read in Minutes

Views

วิเคราะห์มาตรการช่วยเหลือรอบใหม่

ข้อมูล ณ วันที่ 29 มกราคม 2564 พบว่าภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ 

1. มาตรการลดค่าครองชีพ โดยกระทรวงพลังงาน ปรับลดค่าไฟฟ้า เป็นเวลา 2 เดือนระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม 2564 วงเงินงบประมาณ 8,202 ล้านบาท และมีเงื่อนไขในการช่วยเหลือที่สำคัญ คือ กลุ่มที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 150 หน่วยจะได้รับการอุดหนุนให้ใช้ไฟฟ้าได้ฟรี กลุ่มที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 150 หน่วย จะได้ลดหย่อนเฉพาะส่วนเพิ่มจากรอบบบิลค่าไฟฟ้าของเดือนธันวาคม 2563 และสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กจะได้ค่าไฟฟรี 50 หน่วย 

2. เงินให้เปล่า ผ่านโครงการเราชนะ กำหนดให้กับผู้ที่ไม่ได้ทำงานประจำตามมาตรา 33 (หรือก็คือ เป้าหมายคือ คนที่ทำงานนอกระบบ) และเป็นผู้ที่ไม่ได้มีรายได้มากกว่า 3 แสนบาทต่อปี หรือมีเงินฝากในธนาคารมากกว่า 5 แสนบาท โดยให้เงินอุดหนุนผ่านแอฟกระเป๋าตังค์ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน 

3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในรอบนี้ แบ่งออกเป็น การขยายโครงการคนละครึ่ง ที่เป็นโครงการให้เงินอุดหนุนในลักษณะของร่วมจ่ายเพื่อกระตุ้นให้คนไปซื้อของในร้านค้าธุรกิจขนาดเล็ก และโครงการเราเที่ยวด้วยกันรอบใหม่ ที่เป็นโครงการให้เงินอุดหนุนในลักษณะของร่วมจ่ายเพื่อกระตุ้นให้คนไปท่องเที่ยว 

4. มาตรการสนับสนุนการจ้างงาน ในรอบนี้จะเน้นไปที่การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงานที่อยู่ในมาตรา 33 เหลือจ่ายเพียง 75 บาทต่อเดือน  

5. มาตรการด้านภาษี ภาครัฐขยายเวลาการยื่นแบบภาษีทำให้ผู้ที่ต้องเสียภาษีเพิ่มเติมสามารถจ่ายภาษีได้ช้าลง 

6. มาตรการด้านการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ให้ช่วยเหลือลูกค้าผ่านการยืดเวลาชำระหนี้ การลดดอกเบี้ย และการปรับโครงสร้างหนี้ 

คณะผู้วิจัยประเมินความช่วยเหลือผ่านมาตรการข้างต้นผ่านเลนส์ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า ภาครัฐได้เลือกใช้มาตรการครบทั้ง 6 มาตรการในการช่วยเหลือรอบนี้ และการออกแบบมาตรการมีการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบที่ผ่านมามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการลดค่าครองชีพ โดยกระทรวงพลังงาน วางกฏเกณฑ์ที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่น้อยลง และเข้าถึงกลุ่มคนที่อยู่ฐานรากมากยิ่งขึ้น และมาตรการด้านการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามปรับเปลี่ยนเกณฑ์ Softloan ให้เข้าถึง SMEs ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น 

สำหรับมาตรการที่ค่อนข้างดีแล้วในรอบที่ผ่านมา ก็มีการดำเนินการต่อเนื่อง ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน) ในขณะที่จุดอ่อนที่สำคัญจะอยู่ที่มาตรการสนับสนุนการจ้างงานและมาตรการด้านภาษีที่ยังช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก และยังเป็นจุดที่ภาครัฐยังไม่สามารถออกมาตรการได้ดีเพียงพอ 

สำหรับโครงการเราชนะ พบว่าเป็นโครงการที่เน้นช่วยเหลือกลุ่มคนที่อยู่นอกระบบที่ไม่มีฐานะ แต่กระนั้นก็เกิดคำถามว่าทำไมถึงไม่เข้ามาดูแลกลุ่มคนที่อยู่ในระบบตามมาตรา 33 ด้วยเช่นกัน โดยผลการประเมินในบทความที่ผ่านๆมา พบว่ากลุ่มแรงงานในระบบตามมาตรา 33 ก็ได้รับผลกระทบในรูปแบบของ การเลิกจ้าง การลดชั่วโมงการทำงาน การลดเวลาทำงานนอกเวลา การลดค่าจ้าง การให้ทำงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง และการคงตำแหน่งงานแต่ไม่ได้ให้ค่าจ้างและไม่ให้ค่าตอบแทนชั่วคราว นอกจากนี้ เฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ก็พบว่ากลุ่มคนที่ไม่สามารถลงทะเบียนผ่านแอฟพลิเคชั่นน่าจะมีจำนวนมาก (คณะผู้วิจัยใช้การประเมินอย่างหยาบพบว่ามีไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน) ซึ่งภาครัฐควรจะต้องหาวิธีการในการลงทะเบียนให้กับคนในกลุ่มนี้ ท้ายที่สุด เม็ดเงินที่ช่วยเหลือรอบนี้ จำนวน 3,500 บาทต่อเดือน หากเทียบกับแรงงานที่มีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน หรือ 7,800 บาทต่อเดือนจะพบว่า แรงงานจะต้องหาเพิ่มอีก 4,300 บาทต่อเดือน และการให้แค่ 2 เดือนอาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาด ที่ถูกประมาณการไว้ว่าการแพร่ระบาดในรอบนี้อาจจะมีความยาวนานไม่น้อยกว่า 3 เดือนอีกด้วย 

ข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดรอบใหม่ก็คือ ภาครัฐควรจะต้องวางมาตรการเพื่อเยียวยาให้กับแรงงานตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และควรจะหาแนวทางในการลงทะเบียนให้กับแรงงานนอกระบบที่เป็นคนที่ยากจน ได้รับผลกระทบแต่ไม่สามารถลงทะเบียนโครงการเราชนะผ่านแอฟพลิเคชั่นได้ ท้ายที่สุด กลุ่มแรงงานที่ตกงานอย่างเรื้อรัง และกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ที่ไม่มีงานทำ รวมทั้งแรงงานที่เป็นคนสูงอายุและคนพิการ ควรจะต้องมีมาตรการมาเยียวยารองรับให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน  

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะผู้วิจัย TDRI
29 มกราคม 2564

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด