วิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานนอกระบบ

ผลการสำรวจแรงงงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2562 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 37.47 ล้านคน โดยผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานหรือที่เรียกว่า “แรงงานนอกระบบ” มีจำนวน 20.43 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 54.50 และที่เหลือเป็นแรงงานในระบบ ร้อยละ 45.50  ซึ่งแรงงานนอกระบบเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง (ร้อยละ 55.0 และร้อยละ 45.0 ตามลำดับ)  โดยอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดประมาณ 7.1 ล้านคน รองลงมา คือ ภาคเหนือ และน้อยที่สุดอยู่ในภาคตะวันออก แต่หากพิจารณาเป็นรายจังหวัดจะพบว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครมากที่สุดจำนวนประมาณ 1.3 ล้านคน  

แรงงานนอกระบบทำงานอยู่ในสาขาเกษตรกรรมมากที่สุดถึงร้อยละ 56.3 รองลงมาเป็นสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนร้อยละ 16.1 ที่พักแรมและบริการด้านอาหารร้อยละ 8.8 สาขาการผลิตร้อยละ 6.0 ที่เหลือเป็นอุตสาหกรรมอื่น ๆ (รูปที่ 1)  

รูปที่ 1: ร้อยละของแรงงานนอกระบบ จำแนกตามอุตสาหกรรม ปี 2562 

ที่มา : การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2562 , สำนักงานสถิติแห่งชาติ 

แรงงานส่วนใหญ่ของประเทศเป็นแรงงานนอกระบบที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่มีสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งในด้านสุขภาพและความมั่นคงในชีวิต เพราะแรงงานนอกระบบมีสภาพการจ้างที่ไม่แน่นอน มีสภาพแวดล้อมการทำงานไม่เอื้ออำนวยต่อการติดต่อกับหน่วยงานราชการหรือนายจ้าง ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาการมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ปัญหาสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย และปัญหาสุขภาพ  

ทั้งนี้การที่แรงงานนอกระบบไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เนื่องจากแรงงานนอกระบบไม่มีสภาพเป็นลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน เพราะไม่มีสัญญาการจ้างงานตามกฎหมาย ส่งผลให้แรงงานนอกระบบขาดความมั่นคงในการทำงาน ไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านการจ้างงาน ขาดโอกาสในการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะฝีมือ ขาดความปลอดภัยในการทำงาน ขาดความมั่นคงด้านรายได้ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบในการประกอบอาชีพ และขาดโอกาสในการรวมกลุ่มจัดตั้งผู้แทนหรือสหภาพเพื่อสิทธิในการต่อรอง  

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อแรงงานมากถึง 9.7 ล้านคน (TDRI-EIS, 23 เม.ย. 63)  และเกิดการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมากโดยเฉพาะแรงงานในเขตเมือง ซึ่งไม่กระทบกับแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรมากนัก  แรงงานหลายกลุ่มปรับตัวโดยเดินทางกลับภูมิลำเนาและเปลี่ยนอาชีพกลายเป็นแรงงานนอกระบบ ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่ขึ้นในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  แรงงานบางกลุ่มหางานใหม่ในเมืองแต่จะมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างน้อยลง กลุ่มที่เปลี่ยนอาชีพใหม่ยังไม่มีหลักประกันความมั่นคงและอาจกลับไปว่างงานอีกจนกลายเป็นแรงงานนอกระบบถาวรในที่สุด เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานไร้ฝีมือ การ re-skill หรือ up-skill จึงทำได้ยาก ส่วนกลุ่มที่ไม่ถูกเลิกจ้างก็อาจถูกลดชั่วโมงการทำงาน ส่งผลให้ต้องประกอบอาชีพเสริมเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม แต่กลับมีหลักประกันความมั่นคงที่ลดลง

ผลการศึกษาของ ILO สมาชิกของสหประชาชาติชี้ว่าแรงงานนอกระบบ คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทย และคาดว่าจำนวนผู้ใช้แรงงานที่มีฐานะยากจนจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 11 รวมทั้งการศึกษาผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด -19 ต่อตลาดแรงงานไทยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า แรงงานอิสระ หรือผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและมีการลดชั่วโมงการทำงานมากที่สุด  โดยข้อมูลจากการสำรวจการมีงานทำของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อาชีพช่างทำผม คนรับจ้างทั่วไป ผู้ขับรถโดยสารและรถราง ผู้จำหน่ายสินค้าตามแผงลอยและตลาด ผู้จำหน่ายอาหารตามถนน ผู้ขับรถยนต์ รถแท็กซี่ รถตู้ และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์  ล้วนมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของชั่วโมงการทำงานที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบถึงรายได้ที่ลดลงและไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย รวมทั้งวิถีชีวิตของแรงงานนอกระบบที่เปลี่ยนแปลงไป (รูปที่ 2) 

รูปที่ 2: อัตราการเปลี่ยนแปลงชั่วโมงการทำงานระหว่างปี 2562-2563 

ที่มา: คำนวณจากสถิติการสำรวจการมีงานทำของประชากรรายไตรมาส, สำนักงานสถิติแห่งชาติ 

นอกจากจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลงแล้วจำนวนผู้มีงานทำที่ประกอบอาชีพผู้ขับรถยนต์ รถแท็กซี่ และรถตู้ ผู้จำหน่ายสินค้าตามแผงลอยและตลาด และคนงานรับจ้างทั่วไป มีจำนวนลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด – 19 (ตารางที่ 2)  

ตารางที่ 2: เปรียบเทียบจำนวนผู้มีงานทำในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ระหว่างปี 2562-2563 

ที่มา :  คำนวณจากสถิติการสำรวจการมีงานทำของประชากรรายไตรมาส, สำนักงานสถิติแห่งชาติ 

กรุงเทพมหานครเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญทำให้มีจำนวนแรงงานนอกระบบมากที่สุดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ โดยกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากกลุ่มหนึ่งคือแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ  ผู้ขับรถแท็กซี่ และผู้ค้าขาย หาบเร่แผงลอย  โดยกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะในกรุงเทพมหานคร   มีจำนวนผู้ขับขี่ถึง 84,547 ราย จากจำนวนวิน 5,575 วิน  (กลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก ณ 31 ธันวาคม 2562)

รายได้ของแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มาจากการรับ-ส่งทั้งผู้โดยสาร เอกสารและสิ่งของ  มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 948 บาทต่อวัน สำหรับดูแลคนในครอบครัว 3-4 คน รวมถึงผ่อนชำระหนี้สินทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ  เนื่องจากมีโอกาสการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐค่อนข้างน้อย เช่น กองทุนประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติ  ซึ่งในสถานการณ์ปกติรายได้ของแรงงานผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะก็ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนอยู่แล้ว เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สถานประกอบกิจการหลายแห่งต้องปิดการดำเนินกิจการชั่วคราวเพื่อชะลอการแพร่ระบาด หรือบางแห่งปิดการดำเนินกิจการถาวร ผนวกกับมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) ทำให้ผู้ใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะลดลง และ/หรือไม่มีการใช้บริการ ส่งผลกระทบต่อรายได้และการดำเนินชีวิตประจำวันของแรงงานผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ในเขตเมืองกลุ่มรถแท็กซี่ และผู้ค้าขาย หาบเร่แผงลอย ต่างก็ได้รับผลกระทบในลักษณะเช่นเดียวกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ โดยกลุ่มผู้ขับรถแท๊กซี่ในกรุงเทพมหานครมีจำนวน 77,984 คัน ผู้ขับรถแท๊กซี่ต้องขับรถ 12 ชั่วโมงต่อวันเพื่อให้มีรายได้ 400 บาทต่อวัน หรือขับรถ 15 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้มีรายได้ 700-800 บาทต่อวัน ผลกระทบดังกล่าวทำให้ผู้ขับรถแท๊กซี่ขาดรายได้มาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันและดูแลครอบครัว รวมถึงส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม (มาตรา 39 มาตรา 40) ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา  และเสียสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคม 

แม้ว่ากระทรวงการคลังได้ออกมาตรการดูแลและเยียวยาลูกจ้างและกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อชดเชยรายได้รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน  แต่ยังพบว่ามีแรงงานผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ผู้ขับแท็กซี่ และอาชีพอิสระอื่น ๆ ยังตกค้างอีกหลายรายที่ไม่ผ่านการคัดกรองผู้ได้รับเงินเยียวยา นอกจากการเยียวยาโดยกระทรวงการคลังแล้ว กระทรวงแรงงานซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลแรงงานโดยตรงก็ได้มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบโดยจัดทำโครงการจ้างงานเร่งด่วน ค่าตอบแทน 300 บาทต่อวัน จำนวน 7,740 ตำแหน่ง  การฝึกการประกอบอาชีพอิสระของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป้าหมาย 7,800 คน แต่มาตรการดังกล่าวก็ยังไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนมากได้เช่นกัน  ทำให้เห็นว่ากลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ  ผู้ขับรถแท็กซี่ และผู้ค้าขาย หาบเร่แผงลอย เป็นกลุ่มแรงงานฐานรากที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 มากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ  เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ไม่มีทุนทางเศรษฐกิจและไม่มีหลักประกันทางสังคม  

ผลการศึกษาจากการเก็บข้อมูลเชิงลึกในลักษณะของ Panel Data ใน 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด -19 ช่วงแพร่ระบาดและมีมาตรการล็อกดาวน์ และช่วงหลังคลายมาตรการล็อกดาวน์จนถึงก่อนการแพร่ระบาดรอบสอง โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบตามสะดวก (Convenient Sampling) จากกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์สาธารณะ  แท็กซี่ แม่ค้า หาบเร่/แผงลอย จำนวน 30 ราย  พบว่า ลักษณะการประกอบอาชีพ และที่อยู่อาศัยทั้งผู้ขับขี่จักรยานยนต์สาธารณะ แท็กซี่  และหาบเร่แผงลอย  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเดียวเป็นอาชีพหลัก มีเพียง 3 ราย ที่มีอาชีพอื่นเสริม เช่น รับส่งเอกสาร ขายของออนไลน์ นายหน้าขายที่ดิน  ลักษณะที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นบ้านเช่าหรือห้องเช่า (ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัด) อยู่อาศัยประมาณ 2-3 คน เนื่องจากส่งลูกไปอยู่กับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หากเป็นบ้านตนเองจะอาศัยอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ ประมาณ 10 คน และมากสุดถึง 19 คน และด้านหลักประกันทางสังคม พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันทางสังคม แต่บางรายที่เป็นแท็กซี่ และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะจะมีประกันสังคมมาตรา 39 บ้าง เนื่องจากเคยทำงานเป็นลูกจ้างในบริษัทมาก่อน ส่วนมาตรา 40 มีเพียง 1 ราย และมี 2 รายที่มีประกันชีวิต แต่หากเป็นอาชีพแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันสังคมใดเลย และส่วนใหญ่ไม่รู้จักประกันสังคม มาตรา 40 และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) รวมทั้งไม่มีความสนใจที่จะสมัครเข้ากองทุนดังกล่าว ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าแรงงานส่วนใหญ่ที่มีอายุมาก  และอาศัยอยู่คนเดียวมีถึง 5-6 ราย  ซึ่งไม่มีสวัสดิการสังคมใด ๆ เลยนอกจากบัตรทอง และเบี้ยยังชีพคนชรา 

ภาพรวมผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ พบว่า ทุกกลุ่มอาชีพได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นอาชีพที่หาเช้ากินค่ำ ใช้จ่ายวันต่อวัน ผลที่เกิดขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้รายได้ลดลงมากกว่าร้อยละ 70   บางรายไม่มีรายได้ (รายได้เป็นศูนย์) เนื่องจากไม่สามารถออกมาทำงานได้ (ใช้เงินที่ได้จากการเยียวยาแทน) และบางรายหยุดทำงานบางวันบ้าง ,1-3 เดือนบ้าง บางรายหยุดทำงานถึง 6 เดือน แต่หลังจากคลายล็อกดาวน์รายได้ก็ยังไม่สามารถกลับมาเท่าเดิม โดยหากดูที่ชั่วโมงการทำงานจะเห็นได้ว่าจำนวนชั่วโมงการทำงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งทุกอาชีพทำงานเกือบทุกวันไม่มีวันหยุดนอกจากเจ็บป่วยหรือมีกิจธุระจำเป็น และมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ซึ่งในช่วงล๊อคดาวน์ยิ่งทำให้ชั่วโมงการทำงานลดไปอย่างเห็นได้ชัด เช่น  ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ ส่วนใหญ่จากเดิมขับรถเฉลี่ย 12-15 ชั่วโมงต่อวันลดเหลือ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และบางรายหยุดขับรถและเปลี่ยนอาชีพ  เช่น กลับไปขายของที่ต่างจังหวัด  ขายของออนไลน์ รับจ้างทาสี ขนของ เป็นต้น  อาชีพขับขี่จักรยานยนต์สาธารณะ ส่วนใหญ่ทำงานประมาณ 12-16 ชั่วโมง ลดเหลือประมาณ 6-10 ชั่วโม  อาชีพหาบเร่/แผงลอย ทำงานประมาณ 8 -10 ชั่วโมง ลดเหลือประมาณ 5 ชั่วโมง  ส่งผลให้รายได้ลดลงไปมากกว่าร้อย 70 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด -19  

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดจนภาครัฐต้องประกาศล๊อกดาวน์ ไม่ด้ทำให้ภาระรายจ่ายของผู้ประกอบอาชีพส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นมากนัก บางรายมีรายจ่ายเท่าเดิมในขณะที่รายได้ลดลง  แต่บางครอบครัวที่มีบุตรหลานจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นค่าขนม  ค่าน้ำค่าไฟ  นอกจากนี้เกือบทุกรายไม่มีเงินออม  มีเพียง 3 ราย เท่านั้นที่มีเงินออม ซึ่งได้นำมาใช้จ่ายจนหมดในช่วงล็อกดาวน์  ส่งผลให้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้ลดลงอย่างมาก ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย บางรายต้องเอารถไปจำนำ กู้เงินนอกระบบ  กู้ธนาคารออมสิน กู้เงินติดล้อ และกรณีรุนแรงที่สุด คือ ถูกยึดรถเพราะผ่อนชำระไม่ไหว ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าเงินกู้นอกระบบ เป็นแหล่งเงินทุนที่แรงงานนอกระบบเลือกใช้ช่วงที่ได้รับผลกระทบ ทั้งที่มีดอกเบี้ยที่สูง แต่สามารถเข้าถึงง่ายและกู้ได้รวดเร็วกว่าการขอสินเชื่อหรือการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาล ส่วนผลกระทบด้านสังคม เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด ก็มีบ้างแต่ไม่มากนัก  ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว ไม่มีการใช้สารเสพติดในครอบครัว แต่มีการดื่มสุราบ้าง 

แม้ว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่จะได้รับการเยียวยาจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐเป็นเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท (3 เดือน) จากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” มาตรการผ่อนชำระหนี้  รวมถึงบางรายได้รับการลดหย่อนการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงมาตราการ อาทิ การลงทะเบียนยากพอสมควร รอรหัสนาน  ส่วนใหญ่ไม่ได้ลงทะเบียนเอง โดยจะให้ลูก/หลาน หรือคนรู้จักที่ถนัดการใช้เทคโนโลยีช่วยลงทะเบียนให้ลงทะเบียนในรอบแรกไม่ได้ ระบบแจ้งว่า“ไม่มีสิทธิ์”  และเป็น “เกษตรกร” นักศึกษา” บางคนเลิกขับรถแท็กซี่ไปแล้ว แต่สามารถลงทะเบียนได้ และมาตรการผ่อนชำระของรัฐต้องต้องทำเรื่องใหม่ต้องยื่นเอกสารใหม่ต้องคิดดอกเบี้ยใหม่ซึ่งมีความยุ่งยาก 

อย่างไรก็ตามการกลับมาดำเนินชีวิตหรือประกอบอาชีพรวมถึงความสามารถในการปรับตัว พบว่า  การปรับตัวในการประกอบอาชีพเพื่อไปสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ (New normal)  6 เดือนหลัง lock down เน้นการรักษาความสะอาดมากขึ้น เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การใช้เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์  และการเว้นระยะห่างตามคำแนะนำของภาครัฐ เมื่อต้องพบปะบุคคลภายนอก ด้านการประกอบอาชีพคาดว่าจะสามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม แต่รายได้อาจยังไม่กลับไปเท่าเดิมเหมือนก่อนการแพร่ระบาดของโควิด -19  บางรายมีการปรับตัวโดยเปลี่ยนไปทำอาชีพค้าขายที่ต่างจังหวัด และหาอาชีพเสริม อาทิ การขายออนไลน์ การสมัครให้บริการเพิ่มเติมผ่านแอพพลิเคชั่น (แกร็บ) การรับจ้างยกของ ทาสีบ้าน  แต่พบว่ายังมีส่วนน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าตนเองอายุมากแล้ว และไม่รู้จะเปลี่ยนไปทำอาชีพใด ส่วนการมองภาพการปรับตัวรอดจากผลกระทบของโควิด – 19  ในอนาคต (1-2 ปี)  ทุกรายยังคงเน้นการรักษาความสะอาดมากขึ้น  เน้นการใส่หน้ากากอนามัย (mask) เมื่อออกไปข้างนอก ในแหล่งชุมชนหรือการทำงาน  และการพกเจลแอลกอฮอล์ หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวไว้ทำความสะอาดอยู่เสมอ แต่ด้านการประกอบอาชีพส่วนใหญ่ยังไม่คิดที่จะเปลี่ยนอาชีพ หรือหาอาชีพเสริมอื่นรองรับ เนื่องจากคิดว่าอายุมาก  ขาดเงินลงทุน และไม่มีทักษะอาชีพอย่างอื่น  ทั้งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเดิมมามากกว่า 10 ปี  บางรายก็มีความพยายามที่จะเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานมากขึ้น แต่ก็ยังมีหลายรายที่ยังไม่มีแนวทางการปรับตัวที่ชัดเจน  เพียงแต่คิดว่าอาจกลับภูมิลำเนาเดิม 

มุมมองของแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบในกลุ่มผู้ขับรถแท๊กซี่ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และกล่มแม่ค้า หาบเล่ แผงลอย ต่อมาตราการเยียวยาหรือนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือ ส่วนใหญ่มองว่ายังมีปัญหาและอุปสรรค กล่าวคือ  

1) มาตรการเยียวยายังไม่ทั่วถึง มาตรการหรือนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือเยียวยายังไม่ตรงจุด ความช่วยเหลือของภาครัฐล่าช้า ทำให้แรงงานนอกระบบเองต้องไปกู้เงินนอกระบบ 

2) ขาดระบบการคัดกรองผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ดี การลงทะเบียนรับความช่วยเหลือจากมาตราเยียวยายังมีการตรวจสอบข้อมูลที่ไม่รัดกุม เช่น ครัวเรือนนี้อยู่กันกี่คน ยากจนจริงและเดือดร้อนจริงหรือไม่ จะได้ไม่เหมือนกรณีบัตรคนจนที่มีคนที่ได้แต่ไม่จนจริง 

3) มาตรการเยียวยาไม่ได้เป็นการช่วยเหลืออย่างถาวร  ซึ่งจำนวนเงินที่ได้รับยังไม่เพียงพอเท่ากับรายได้จากการประกอบอาชีพ  นอกกจากการลงทะเบียนค่อนข้างมีปัญหาสำหรับคนสูงอายุ เนื่องจากต้องลงทะเบียนผ่าน Smart phone  ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะไม่มีความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยี ทำให้บางคนไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาได้ 

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 

1) ควรมีการขยายมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม เช่น โครงการ ”เราไม่ทิ้งกัน” โดยการเยียวยาควรเป็นการจ่ายเป็นตัวเงินมากกว่า เพราะสามารถนำไปใช้จ่าย หรือบรรเทาความเดือดร้อนได้ทันที 

2) มาตรการเยียวยาควรเป็นแบบถ้วนหน้า เนื่องจากประชากรทุกกลุ่มได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน  โดยการช่วยเหลือสามารถยึดจากหมายเลขบัตรประชาชน สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม หรืออย่างน้อยอาจจัดลำดับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงให้ได้รับการเยียวยาก่อน 

3) ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ และเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงหรือการขอสินเชื่อธนาคารให้ง่ายขึ้น รวมทั้งเน้นดอกเบี้ยต่ำและระยะเวลาผ่อนระยะยาว เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพและสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการประกอบอาชีพ  

4) เน้นการส่งเสริมให้เกิดอาชีพเพื่อความยั่งยืนในอนาคต เช่น การสร้างงานในต่างจังหวัดหรือให้การสนับสนุนการพึ่งตนเองของประชาชน 

5) ลดต้นทุนในการประกอบอาชีพและเพิ่มสวัสดิการให้ผู้ขับแท็กซี่ เช่น ค่าก๊าซ NGV ควรมีบัตรส่วนลดเหมือนเดิม 

6) การกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการเปิดประเทศให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ เช่น นักท่องเที่ยวคุณภาพสูง เน้นการท่องเที่ยวแบบควบคุม เฉพาะกลุ่มที่ยอมรับเงื่อนไขจากรัฐ 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะผู้วิจัย TDRI
29 มกราคม 2564