รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
จากข้อมูลตลาดแรงงานคนไทยล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือนพฤศจิกายน 2563 สะท้อนภาพของผลกระทบการระบาดของ โควิด-19 ที่มีต่อตลาดแรงงานบรรเทาลงอย่างเห็นได้ชัดจากการเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่าจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 6.425 ล้านคน เป็น 7.219 ล้านคนเพิ่มขึ้น 0.794 คิดเป็นผลกระทบจากปีปกติ (2562) ประมาณร้อยละ 12.4 ซึ่งอาจจะทำให้หลายฝ่ายสบายใจขึ้น ผลกระทบของการระบาด โควิด-19 ต่อตลาดแรงงานที่คลายตัวลงมามากพอสมควร
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูองค์ประกอบในรายละเอียดพบว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2563 จำนวนว่างงานเพิ่มเป็น 783,800 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 72.1 YoY จำนวนที่ว่างงานเปิดเผย (Open unemployment) เป็นแรงงานใหม่เพียงร้อยละ 35.7 แต่ที่ว่างงานเกือบร้อยละ 65 มาจากการว่างงานของแรงงานเก่า เหตุผลถ้าเทียบตัวเลข %YoY พบว่า ลำดับแรกถูกให้ออกจากงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 646.1 YoY รองลงมาคือ เกิดจากการถูกเลิกจ้างจากสาเหตุหยุดหรือปิดกิจการร้อยละ 223.5 YoY นอกจากนั้นเป็นเรื่องของการหมดสัญญาร้อยละ 14.2 ที่จริงแล้วสถานการณ์ที่แรงงานลาออกเองนั้นเป็นสาเหตุเดียวที่มีผลกระทบลดลงร้อยละ 4.2 YoY นั่นก็หมายความว่าแรงงานที่ทำงานอยู่แล้วอยากจะรักษางานให้นานที่สุดไม่อยากลาออกเหมือนแต่ก่อน
ผลกระทบ โควิด-19 ทำให้แรงงานทำงาน 0 ชั่วโมงด้วยเหตุลใดก็ตามเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.4 YoY ผลกระทบทำให้ต้องทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลทำให้ขาดรายได้เป็นจำนวนมากที่สุดประมาณ 5.96 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 YoY และผลกระทบสุดท้ายที่เป็นผลจากการทำงานต่ำกว่าระดับ (ตามเวลา) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 YoY แต่ถ้านับปัจจัยที่โควิด-19 ทำให้คนทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงลดน้อยลงเพราะสถานประกอบการดำเนินกิจการได้ไม่เต็มที่หรือการผลิตผลิตได้ไม่เต็มที่เพราะนักท่องเที่ยวลดลงหรือส่งออกได้ลดลงทำให้สถานประกอบการลดการทำงานมากกว่าหนึ่งกะ หรือลดงานล่วงเวลา ทำให้รายได้แรงงานลดลงเกี่ยวข้องกับแรงงานอีก 6.06 ล้านคนรวมแล้วจึงมีแรงงานในเดือน พฤศจิกายน 2563 ได้รับผลกระทบโดยโควิด-19 ถึงประมาณ 13.28 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 34.7 ของกำลังแรงงาน
อย่างไรก็ตาม สถิติที่นำเสนอผลกระทบของ โควิด-19 ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ล้าสมัยไปทันทีเมื่อพบว่าหลังวันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา เกิดระบาดโควิด-19 จากตลาดกลางกุ้งซึ่งคาดว่า แม่ค้ารายใหญ่ที่ทำงานใกล้ชิดกับแรงงานจะติดเชื้อ โควิด-19 มาจากแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ลักลอบเข้ามาทำงานในช่วงที่ที่เมียนมาร์มีการระบาดอย่างรุนแรงรอบ 2 มามากกว่าหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่นานก็ได้พบคนไทยที่ลักลอบกลับบ้านตามช่องทางธรรมชาติติดเชื้อมาจากสถานบันเทิงใกล้กับแม่สายหลายสิบคน
เป็นเหตุที่พอจะเชื่อได้ว่าเริ่มจากแรงงานต่างด้าวที่ทำงานตลาดกลางกุ้งมหาชัยเป็น super spreaders ซึ่งมีผลกระทบไม่เพียงแต่กลุ่มแรงงานต่างด้าวในธุรกิจต่อเนื่องจากประมงในจังหวัด 3 สมุทร (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ) เท่านั้น แต่เนื่องจากประชาชน พ่อค้า แม่ขาย ต้องมาซื้อกุ้งปลา สัตว์ทะเล ไปจำหน่ายในหลายจังหวัดกระจายทั่วประเทศ อย่างน้อย คือ กลุ่มจังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง ทำให้การแพร่กระจายของผู้ป่วย โควิด-19 เพิ่มขึ้นและกระจายไปมากกว่า 50 จังหวัด ซึ่งขณะนี้ยังคุมไม่ได้ จำนวนยังเพิ่มขึ้นเรื่อยเป็นตัวเลข 3 หลัก
เมื่อย้อนกลับมาดูแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา และลาว) ซึ่งมีผู้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ พบว่า ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ที่มีการระบาด โควิด-19 หนักที่สุด
พบว่า จำนวนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติลดลงเพียง 56,143 คน หรือร้อยละ 2.35 เท่านั้น ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจผู้เขียนอย่างมาก เนื่องจากแรงงานในกลุ่มนำเข้าตาม MOU ปกติลดลงไปถึง 242,328 คน หรือร้อยละ 23 ผู้เขียนเชื่อว่าแรงงานเหล่านี้ได้รับการผ่อนผันจากทางรัฐบาลโดยใช้มาตรา 63/2 คือประเภทคนต่างด้าว บต.23 ที่เคยมาทำงานตาม MOU และการอนุญาตสิ้นสุดลงจึงต้องออกจากนายจ้างรายเดิมและหานายจ้างรายใหม่ไม่ให้เกิน 30 วัน เพื่อให้อยู่ในประเทศไทยต่อไปได้ จึงได้รับการผ่อนผันตามข้อ 2 เมื่อ 4 สิงหาคม 2563 จึงทำให้ยอดรวมของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
หลังจากข้อสงสัยเรื่องแรงงานต่างด้าวจำนวนรวมไปแล้ว อีกประเด็นคือ ประเทศไทยไม่มีแรงงานต่างด้าวแบบไปกลับหรือตามฤดูกาลอีกต่อไป จึงเกิดปัญหาไม่มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วยเก็บผลไม้และ/หรือทำการเก็บเกี่ยวผลิตผลการเกษตร เช่น เกี่ยวข้าว ถอนมัน เก็บข้าวโพด เก็บผลไม้ เป็นต้น ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในกิจกรรมที่กล่าวมาตามฤดูกาล ที่ปกติกระจายอยู่ในแหล่งผลิตในแต่ละภาคและตามแนวชายแดน
จากสถานการณ์การระบาดจากกลุ่ม (Cluster) ของแรงงานต่างด้าวในกลุ่ม 3 จังหวัดสมุทรที่กล่าวมา หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมโรคกำลังยังอยู่ในช่วงรับมือกับการระบาด ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาการติดเชื้อเพิ่มเติมจากกลุ่มธุรกิจสีเทา คือ บ่อนการพนัน บ่อนชนไก่ (ทั้งรายย่อย รายใหญ่) นักพนันเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กระจายทั้งภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จนต้อง Lock down ในกลุ่มจังหวัดเหล่านี้ ขณะที่บ่อนชนไก่และค่ายซ้อมไก่ชนจังหวัดอ่างทองก็กลายมาเป็นกลุ่ม Cluster ใหม่กระจายการระบาดไปยังภาคกลางตอนบนและกระจายไปสู่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปอีกหลายจังหวัด ในที่สุดประธาน ศบค. ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องประกาศบังคับใช้มาตราการการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดสูงสุดกับ 5 จังหวัดต่อเนื่องกัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง และตราด โดยการจำกัดการเข้าออกต้องแสดงเอกสารรับรองเหตุผลความจำเป็นและต้องใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ควบคู่กับแอปพลิเคชันเดิมคือ “ไทยชนะ” โดยการติดเชื้อใหม่ยังพุ่งสูงขึ้นอยู่ทุกวัน
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 วันที่ 11 มกราคม 2564
เมื่อย้อนดูเรื่องการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติจากประเทศเพื่อนบ้านจากสถิติที่เสนอในตารางข้างต้นถึงจำนวนที่ตรวจแล้วพบว่า ติดเชื้อในวันที่ 11 มกราคม จากผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสม 10,547 ราย เป็นคนไทยติดเชื้อในประเทศ 8,181 คน หรือร้อยละ 77.6 กลุ่มติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุก 2,366 คน
โดยภาพรวมจำนวนผู้ป่วยยืนยันรักษา 10,547 คนนี้ได้กระจายไปกระจุกตัวอยู่บางภาคของประเทศ คือ กรุงเทพฯ และนนทบุรี 3,023 คน ภาคกลาง 6,309 คน ภาคใต้ 780 คน ภาคเหนือ 281คน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ154 คน การะบาดรอบใหม่นี้จากภาพข้างบนเป็นกลุ่มหลัก 6 กลุ่มคือ จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร ระยอง ชลบุรี นนทบุรีและอ่างทองและกระจายไปยังจังหวัดอื่นๆมากกว่า 50 จังหวัด
ก่อนเดือนธันวาคม 2563 การกระจายของการจ้างงานคนต่างด้าวกระจายไปเกือบทุกจังหวัด แต่การกระจุกตัวรุนแรงอยู่เพียงกรุงเทพมหานคร จังหวัด 3 สมุทรและจังหวัดชลบุรี เท่าที่ผ่านมาการแก้ปัญหาการระบาดรอบเดิมมีมาตรการหยุดการเคลื่อนย้าย (Lock down) อย่างมีเงื่อนไขนี้ ทำให้ไม่เกิดการแพร่กระจายและพยายามค้นหาคนที่ยังติดเชื้อให้ได้โดยเร็วที่สุด ทำให้สามารถควบคุมโรคระบาดโควิด-19 นี้อยู่ในวงจำกัดและกลับมาสู่ภาวะไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 3 เดือนและถ้าไม่มี Super spreader กลุ่มใหม่มาเพิ่มเติมประเทศไทยก็จะกลับสู่ความปกติใหม่ New Normal แต่ผู้เขียนเห็นว่าการระบาดรอบใหม่ไม่เกินความคาดหมายของหลายคน
ในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ได้เคยให้สัญญาณกับรัฐบาลเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาแรงงานบางส่วนที่กลับมาจากประเทศเพื่อนบ้านและถ้าดูแลไม่ดีแรงงานที่กลับเข้ามานี้จะทำให้เกิดการระบาดรอบสอง
ซึ่งข้อเสนอเดิม[1] มีรายละเอียดดังนี้
1.หาพื้นที่กักตัวนายจ้างหรือ Organizational Quarantine (OQ) บริเวณชายแดนก่อนนำเข้ามาในส่วนในของประเทศ โดยให้แรงจูงใจลดค่าดูแลจากประมาณ 1,600 บาท เหลือประมาณ 1,000 บาทต่อคนต่อวัน โดยให้สามีและภรรยาอยู่ด้วยกันได้
2. ให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ เรื่องแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าไทยตามช่องทางธรรมชาติ โดยไม่ได้ผ่านการตรวจโรคโควิด-19
สำหรับข้อเสนอแรกดูเหมือนจะมีการตั้ง Local Quarantine (LQ) ในบริเวณชายแดนภาคใต้แต่สำหรับค่าดูแลในส่วนนั้นยังไม่มีข้อมูลว่าทางราชการได้มีการนำข้อเสนอแนะไปพิจารณาหรือไม่ แต่ในส่วนข้อ 2 นั้นชัดเจนว่า ผลพวงจากการผ่อนคลายความเข้มงวดปล่อยให้มีการลักลอบของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 นั้น ก่อให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรง (Super spreader)ในเขตที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่อย่างหนาแน่นคือ จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากก่อนหน้านั้นเคยมีการระบาดของโควิด-19 กับกลุ่มคนไทยที่กระจุกตัวอยู่ในแหล่งบันเทิงต่างๆ จนเกิดเป็นการระบาดอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นมา จนมีการ Lock down ทั้งประเทศและค่อยๆ ผ่อนคลายมาตราการเข้มงวดโดย ศบค. มาเรื่อย ๆ จนดูเหมือนไม่มีปัญหาในการควบคุม แต่การระบาดของผู้ป่วยรอบใหม่เกิดจากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมาร์) จนมาถึงบริเวณชายแดนไทยประมาณเดือนตุลาคม 2563 และมีกลุ่มคนหลบหนีเข้าสู่ประเทศไทยตามช่องทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นพนักงานหญิงจากแหล่ง Entertainment (แหล่งบันเทิง) เรียกว่า “สาวเอ็นท์” จนมีการสืบสวนโรคและควบคุมได้ในเวลาอันสั้น แต่หลังจากนั้นก็เกิดการระบาดที่มีผู้ติดเชื้อทั้งคนไทยและคนงานจากเมียนมาร์เป็นส่วนใหญ่จนลุกลามมาจนถึงทุกวันนี้
สรุปคือ แนวทางปฏิบัติมิได้เป็นไปในทิศทางที่คาดหวังไว้ กล่าวคือ ถ้าดูแลชายแดนอย่างจริงจังกว่านี้ มีความเข้มงวดจริงจังโดยไม่ลดการ์ดคงไม่เกิดปัญหานี้และถ้าเราป้องกันการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเข้มงวดกับนายจ้างและนายหน้า “เถื่อน” ผู้นำพาแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาและถ้าไม่มีพวก “ผีพนัน”ก็จะไม่เกิด Super spreader อีกรอบ เป็นปัญหาให้เกิดความสูญเสียทางด้านทรัพยากรเกี่ยวการควบคุมการระบาดและเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลหลายแสนล้านบาทแล้วใครจะรับผิดชอบ
ปัญหาเรื่องการระบาด โควิด-19 รอบนี้เกิดขึ้นทั้งส่วนของบางกลุ่ม “ที่ทำธุรกิจสีเทา” หรือธุรกิจใต้ดินที่อาศัยนายหน้าเถื่อน (คนต่างด้าว) ผีพนัน (คนไทย) ซึ่งไม่ใช้ช่องทางทำสัมมาอาชีพตามปกติ กอรปกับความเห็นแก่ได้ของเจ้าพนักงานและผู้บังคับใช้กฎหมายที่สมประโยชน์ร่วมด้วย ทำให้เกิดช่องโหว่การระบาดอย่างรุนแรงในรอบที่ 2
เรื่องของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่เกิดในสภาวะ “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง” คือ มีนายจ้างบางคนยอมเสี่ยงใช้คนผิดกฎหมายมาทำงานเพื่อแลกกับค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการนำเข้าตามปกติ (ซึ่งมีต้นทุนไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นบาทต่อคนต่อการเข้ามาทำงาน 2 ปี) คือจ่ายเพียงประมาณ 6,000-10,000 บาทต่อคน และไม่ต้องจ่ายค่าตรวจโรค ค่า Work permits ค่าประกันสังคม ขณะที่แรงงานต่างด้าวเองไม่ต้องจ่ายเงินค่านายหน้าหลายหมื่นบาทดังได้กล่าวมาแล้ว
ธุรกิจสีเทาสนับสนุนแรงงานผิดกฎหมายนี้เกิดจากตัวกลาง 2 ฝ่ายคือ นายหน้าเถื่อนและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลกฎหมายในทุกระดับ “ถ้าเป็นภาวะไม่เกิดโรคระบาดโควิด-19 คงไม่มีปัญหาอะไร ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ปิดเงียบแต่คราวนี้ความมา “แดง” ตรงที่คนต่างด้าวผิดกฎหมายที่ลักลอบนำพาเข้ามาอยู่ปนเปกับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องอย่างแออัด ขาดสุขอนามัยในชุมชนต่างด้าว” นำเอาไวรัสโควิด-19 เข้ามาด้วย ซึ่งคาดว่าเป็นเชื้อไวรัส โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วทั้งในหมู่คนต่างด้าวและคนไทยที่เกี่ยวข้องกับคนงานต่างด้าวที่ติดเชื้อดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวที่ยังอยู่ในไทย แต่ไม่ได้จดทะเบียนและได้รับการผ่อนผันให้อยู่ถึงเดือนมกราคม 2564 คนกลุ่มนี้จะไม่มีนายจ้าง เรื่องนี้ทางรัฐบาลได้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 “ผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติอยู่ในราชอาณาจักรได้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส” ระลอกใหม่ โดยใช้ ม.17 ของ พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ให้คนต่างด้าวรวมถึงผู้ติดตาม ซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวอยู่ในไทยได้ตามสิทธิของบิดาหรือมารดา โดยเริ่มนับตั้งแต่ 15 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
ความห่วงใยกลุ่มแรงงานต่างด้าวอยู่อย่างผิดกฎหมายจะได้รับการขึ้นทะเบียนประวัติจึงไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป แต่จะเป็นประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนรอบใหม่ มีการตรวจคัดกรองโควิด-19 และโรคต้องห้ามตามวิธีการกระทรวงสาธารณสุข (ประกันสุขภาพ 2 ปี) ต้องทำให้เสร็จภายใน 16 เมษายน 2564 และต้องขออนุญาตทำงานต่อกรมการจัดหางานภายใน 13 กันยายน 2564 ซึ่งค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมอนุญาตทำงาน ค่าตรวจคัดกรองโควิด-19 ค่าตรวจโรคต้องห้าม ค่าประกันสุขภาพ ค่าจัดทำปรับปรุงทะเบียนประวัติ และออกบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000 ถึง 10,000 บาท ซึ่งคนงานเหล่านี้ยังไม่ได้ทำงานและไม่มีเงินสำรองจ่าย จะเกิดปัญหาเรื่อง การจดทะเบียนครั้งนี้
ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การระบาดรอบ 2 มีการปิดกิจการในช่วงที่มีการควบคุมโรคที่เกิดระบาดในรอบนี้ คงต้องใช้เวลาอย่างน้อยเป็นเดือนจนกว่าแรงงานต่างด้าวจะมีนายจ้างและทำงานได้เต็มที่มากขึ้น (เมื่อสถานการณ์ระบาดของไวรัสบรรเทาลง)
มีความชัดเจนว่า ช่วงนี้นอกจากแก้ปัญหาคนต่างด้าวติดโรคโควิด-19 แล้วกลับเข้าทำงาน กรณีที่นายจ้างมีปัญหาต้องชะลอจ้างงานหรือหยุดการจ้างงาน ทำให้แรงงาน“ต้องมีการเปลี่ยนนายจ้าง/อาชีพ/พื้นที่” ซึ่งกติกาปัจจุบันแรงงานต่างด้าวสามารถมองหางานทำตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขณะที่แรงงานที่ได้รับจดทะเบียนเป็นกรณีพิเศษ น่าจะมีจำนวนนับแสนคน ซึ่งขณะนี้แรงงานกลุ่มนี้กำลังเดือดร้อนเรื่องปัจจัยสี่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนหลังจากพวกเขาได้รับการผ่อนผันให้ได้รับการจดทะเบียนตามมติ ครม.เมื่อ วันที่ 29 ธันวาคม 2563
ข้อเสนอแนะครั้งนี้ คือ
- ลดหย่อนหรือไม่เก็บค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนใหม่จากแรงงานต่างด้าวที่ปลอดจากโควิด-19 แล้วและเพิ่งได้สิทธิ์ให้ลงทะเบียนให้ทำงานได้ ซึ่งจาการประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนใหม่ข้างต้นประมานคนละ 10,000 บาท
- จะทำอย่างไรให้พวกเขาสามารถได้งานมีนายจ้างโดยเร็ว เพื่อให้นายจ้างช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ก่อนแล้วหักเงินเดือนภายหลัง กรมการจัดหางานน่าจะช่วย Matching แรงงานกับนายจ้างให้ได้ เช่นผ่านระบบไทยมีงานทำ และการประชาสัมพันธ์ให้เข้มข้นตั้งแต่บัดนี้
- เพื่อความอยู่รอดในช่วงเปลี่ยนผ่านที่นายจ้างยังต้องการใช้แรงงานต่างด้าวและแรงงานต่างด้าวต้องการนายจ้าง แรงงานต่างด้าวต้องกินต้องใช้ทุกวัน (พวกเขาไม่ได้รับการเยียวยาหรือลดภาระใดๆเหมือนคนไทย) ต้องช่วยกันให้ความช่วยเหลือปัจจัยสี่ ค่ากินอยู่ชั่วคราว ค่าที่พักพิง จนกว่าจะได้รับการจดทะเบียนครบถ้วนสมบูรณ์
เจ้าของสถานประกอบการ นายจ้าง ภาคประชาสังคม NGOs และผู้ต้องการช่วยเหลือทั่วไปสามารถช่วยเหลือกลุ่มแรงงานที่อยู่ในไทยอยู่แล้วได้ เพราะหากพวกเขาต้องกลับประเทศด้วยเหตุปัจจัยที่กล่าวมา สถานประกอบการจะต้องใช้จ่ายอย่างน้อย 3-4 หมื่นบาทต่อแรงงาน 1 คนเพื่อที่จะนำเข้าแรงงานใหม่ตาม MOU ดังนั้นในช่วงหนึ่งเดือนนี้จึงเป็นโอกาสทองของนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวโดยแท้
บทความเขียนเมื่อ 11 มกราคม 2564 ปรับปรุงเมื่อ 15 มกราคม 2564
[1] ผลกระทบของ Covid-19 ที่มีผลต่อการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย