tdri logo
tdri logo
7 มกราคม 2021
Read in Minutes

Views

วิเคราะห์มาตรการทางเลือกในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่

การออกแบบนโยบายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ ควรจะต้องพิจารณาใน 2 ระดับ โดยในระดับแรก จะต้องพิจารณาก่อนว่าภาครัฐควรที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือหรือไม่? โดยหากผลการพิจารณาพบว่าภาครัฐไม่ควรเข้าไปช่วยเหลือ จะทำให้ได้ข้อสรุปว่าภาครัฐไม่ควรจะต้องเข้าไปแทรกแซงทันที แต่หากผลการพิจารณาว่าควรจะเข้าไปช่วยเหลือแล้ว ในระดับที่สองจะเป็นการพิจารณาเครื่องมือที่เหมาะสมในการช่วยเหลือต่อไป 

ในระดับแรก หากพิจารณาสถานการณ์การระบาด พบว่า ข้อมูล ณ วันที่ 7 มกราคม 2564 พบว่าสถานการณ์การระบาดมีความรุนแรงมากกว่ารอบแรก อีกทั้งระยะเวลายังเกิดขึ้นยาวนานกว่ารอบแรก แต่มาตรการควบคุมการระบาดจากภาครัฐจะมีน้อยลง และเน้นเฉพาะจุดที่มีการระบาด ซึ่งแตกต่างจากรอบแรกที่เป็นมาตรการแบบกระจายใช้ควบคุมทั่วประเทศ ดังนั้น กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบสูงในรอบนี้จะเป็นกลุ่มคน/ธุรกิจในพื้นที่ที่เกิดมาตรการควบคุมของภาครัฐ หรือก็คือ เกิดการระบาด ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะมีกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถฟื้นคืนจากวิกฤติการณ์ในรอบเดิมจะพบกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้นจากการระบาดครั้งใหม่รอบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มครัวเรือนยากจน กลุ่มคนที่ตกงานและยังหางานไม่ได้ กลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการ กลุ่มคนที่มีปัญหาหนี้ครัวเรือน กลุ่ม SMEs และกลุ่มธุรกิจในภาคท่องเที่ยว และอาจจะมีกลุ่มคนที่พอประคองตัวได้ในรอบที่แล้วอาจจะไม่รอดในรอบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่ใช้เงินออมของตัวเองไปในการดูแลตัวเองในรอบแรกจะไม่มีเงินออมเพียงพอสำหรับวิกฤติการณ์ในรอบนี้  

จากการวิเคราะห์ดังกล่าว ทำให้ได้ข้อสรุปในระดับแรกว่ารัฐควรจะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาครัฐที่ควบคุมการระบาด (เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่เสียสละยอมปิดธุรกิจ ไม่ออกไปทำงานเพื่อช่วยประเทศไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค) ในขณะที่อีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบซ้ำซ้อน กลายเป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่ภาครัฐควรที่จะเข้ามาดูแลใม่ให้กลายเป็นกลุ่มเปราะบางเรื้อรัง ไม่สามารถหลุดพ้นออกมาจากวิกฤติได้ 

ในระดับที่สอง คือ การตอบคำถามที่ว่า ภาครัฐควรที่ใช้มาตรการช่วยเหลือในรูปแบบไหน? ในการตอบคำถามนี้ คณะผู้วิจัยได้สังเคราะห์ประเมินนโยบายที่ภาครัฐได้ใช้เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในรอบแรก ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 มาตรการ ได้แก่ 

1. มาตรการลดค่าครองชีพ เช่น ลดค่าไฟ ค่ามัดจำมิเตอร์ การแทรกแซงราคาสินค้าไม่ให้สูงจนเกินไป 

2. เงินให้เปล่า เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน เงินอุดหนุนเกษตรกร เงินอุดหนุนคนสูงอายุ/คนพิการ 

3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการเที่ยวด้วยกัน โครงการคนล่ะครึ่ง โครงการช็อปดีมีคืน 

4. มาตรการสนับสนุนการจ้างงาน เช่น การอุดหนุนค่าจ้างเด็กจบใหม่ร้อยละ 50) 

5. มาตรการด้านภาษี เช่น การชะลอเวลายื่นภาษี การลดค่าธรรมเนียมต่างๆ 

6. มาตรการด้านการเงิน เช่น การให้สินเชื่อ การยืดเวลาชำระหนี้ การลดดอกเบี้ย และการปรับโครงสร้างหนี้ 

จากบทเรียนการประยุกต์ใช้มาตรการทั้ง 6 กลุ่มข้างต้น พบบทเรียนที่สำคัญ ดังนี้  

1. มาตรการลดค่าครองชีพ มักจะเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะว่าแต่ละคนมีการบริโภคสินค้าที่แตกตางกัน เช่น การลดค่าไฟ จะทำให้คนที่มีรายจ่ายค่าไฟต่อเดือนได้เปรียบ เป็นต้น 

2. เงินให้เปล่า เป็นมาตรการที่มีความเหมาะสมสำหรับการช่วยเหลือกลุ่มแบบพุ่งเป้า 

3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะไม่ได้ผลในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพราะว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การให้แรงจูงใจเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นมาตรการที่ให้แรงจูงใจที่ขัดแย้งกัน 

4. มาตรการสนับสนุนการจ้างงาน เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือได้เฉพาะธุรกิจในระบบ ทำให้กลุ่มที่อยู่นอกระบบจะช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงได้ยาก เพราะว่าไม่มีฐานข้อมูลที่ชัดเจน 

5. มาตรการด้านภาษี เป็นมาตรการที่ใช้ได้ผลเฉพาะธุรกิจที่ต้องยื่นภาษี และถ้าปัญหาโควิด-19 ทำให้ธุรกิจขาดทุนก็จะไม่สามารถได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเช่นกัน 

6. มาตรการด้านการเงิน เป็นมาตรการที่ดีและมีความเหมาะสม แต่การประยุกต์ใช้จะมีความยากลำบาก เนื่องจากการระบุผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือจะยาก และมักจะมีธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบอยากจะเข้ามาได้รับผลประโยชน์ด้วย (Lemon’s problem) และถ้าภาครัฐวางมาตรการแบบไม่ได้มีงบประมาณเข้ามาสนับสนุน ก็มักจะได้ผลที่จำกัดเพราะว่าต้นทุนดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายที่ผู้กู้ได้รับประโยชน์จะถูกแบกรับโดยธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด และทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากจะเข้ามาช่วยเหลือเพราะการทำธุรกิจต้องตอบโจทย์การหากำไรให้กับผู้ถือหุ้นุ 

มาตรการที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์การระบาดในรอบนี้ คือ การวางมาตรการช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยวางมาตรการเฉพาะจุด สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และมาตรการแบบกว้างที่ให้กับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบซ้ำซ้อน โดยในกลุ่มแรกควรจะออกมาตรการอุดหนุนการจ้างงาน การแจกเงินสำหรับแรงงานนอกระบบ และมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเฉพาะพื้นที่ ในขณะที่กลุ่มที่สอง ควรจะอาศัยฐานข้อมูลที่ภาครัฐมีอยู่แล้วเพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม เช่น ฐานข้อมูลครัวเรือนเด็กยากจน ของกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา ฐานข้อมูลคนสูงอายุ/คนพิการ ฐานข้อมูลแรงงานที่ตกงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ภาครัฐควรจะสร้างระบบลงทะเบียนผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณาการให้ความช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงและมีสาเหตุที่ตนเองตกสำรวจอยู่นอกกลุ่มเปราะบางที่รัฐกำหนดช่วยเหลือ 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI 
7 มกราคม 2564

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด