ข้อเสนอทางออกให้กับเศรษฐกิจไทย: แนวคิดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ ลอตเตอรี่ใบเสร็จ

ด้วยเศรษฐกิจของไทยมีธุรกิจที่อยู่นอกระบบภาษีเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวคิดที่จะดึงธุรกิจร้านค้าต่างๆเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น ด้วยแนวความคิดวิธีการต่างๆ ตั้งแต่การออกกฎหมายบังคับ จนกระทั่งการสร้างแรงจูงใจทั้งจากผู้ซื้อและผู้ขาย โดยในกรอบวิถีชีวิตของคนไทย ในกรณีนี้ จึงได้ศึกษารูปแบบ ปัญหา และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จากการสร้างแรงจูงใจโดยวิธีลอตเตอรี่ใบเสร็จ (Lottery receipt)

กรณีศึกษาจากต่างประเทศ

          ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งมีการดำเนินการหลายประเทศ มีรูปแบบการดำเนินการที่แตกต่างกันไป ทั้งในรูปแบบจำนวนสิทธิที่ได้รับต่อใบเสร็จ จนกระทั่งถึงรูปแบบความถี่ในการออกรางวัล ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายของประชาชนที่แตกต่างกันไป โดยสามารถจำแนกรูปแบบต่างๆ ที่แต่ละประเทศได้ดำเนินการ ดังนี้

รูปแบบสิทธิ

  • สิทธิเท่ากันทุกใบเสร็จ – ไต้หวัน, โรมาเนีย, จอร์เจีย (ยุติแล้ว)
  • สิทธิเท่ากันทุกใบเสร็จแต่มีขั้นต่ำ – สโลวาเกีย (ขั้นต่ำ 1 ยูโร)
  • สิทธิลุ้นตามมูลค่าใบเสร็จเป็นช่วง – โปรตุเกส (1 สิทธิ ทุก 10 ยูโร) (ปัจจุบันกำลังปรับปรุงวิธีการใหม่)
  • รางวัลตามมูลค่าใบเสร็จ – มอลตา

ความถี่การจับรางวัล

  • ทุกวัน – จอร์เจีย (รางวัล 4-40 ยูโร)
  • ทุกสัปดาห์ – โปรตุเกส
  • ทุกสองสัปดาห์ – สโลวาเกีย (รางวัล 100-10,000 ยูโร)
  • ทุกเดือน – โรมาเนีย, มอลตา (รางวัล 100 เท่า แต่ไม่เกิน 233 ยูโร)
  • ทุก 2 เดือน – ไต้หวัน

          ในด้านการบริหารต้นทุนของรัฐ โดยเฉพาะรางวัล พบว่า รัฐกำหนดรางวัลให้ไม่มาก ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือนการบริโภค (Distortion) กล่าวคือ เพื่อไม่ให้รางวัลเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น แทนที่จะเป็นการซื้อของอุปโภคบริโภคตามปกติ โดยรัฐตั้งงบประมาณไว้เพียงไม่เกิน 50,000 ยูโรต่อเดือน แต่รัฐยังต้องทำการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม

          สำหรับพฤติกรรมผู้บริโภค มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่า ผู้บริโภคเข้าร้านใหญ่มากขึ้น มีการใช้จ่ายแยกใบเสร็จมากขึ้น (Split) (โรมาเนีย, สโลวาเกีย) ขณะที่หลายประเทศคนเข้าร่วมน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งจากรางวัลไม่จูงใจ รวมถึงความลำบากในการส่งใบเสร็จเพื่อชิงรางวัล หรือต้องกรอกข้อมูลผ่านมือถือ (โรมาเนีย) โดยจำนวนคนที่ลดน้อยลงกลับพบว่า มีบางรายปรับพฤติกรรมมาชิงรางวัลเป็นอาชีพ คือ รวบรวมใบเสร็จจากคนอื่นส่งด้วย เช่น ในประเทศสโลวาเกีย มีประชากร 5 แสนคนที่เคยลงทะเบียน แต่ปัจจุบัน คนส่งประมาณ 8 หมื่นคน มีใบเสร็จ 3 ล้านใบทุก 2 สัปดาห์ และมีคนถูก 13 งวด ใน 1 ปี

          ปัญหาอื่นที่พบ เช่น ขยะใบเสร็จ โดยประเทศไต้หวันมีจำนวนใบเสร็จส่งชิงรางวัล 11,500 ล้านใบต่อปี ประเทศสโลวาเกีย 3 ล้านใบต่อ 2 สัปดาห์ และประเทศมอลตา 1.5 ตันต่อเดือน ทั้งนี้ ยังไม่รวมสำเนาใบเสร็จที่ต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน

          ประโยชน์สำคัญที่เกิดขึ้น พบว่า ร้านค้าเล็กใช้เครื่องบันทึกเงินสดที่ลงทะเบียนกับหน่วยงานรัฐเพิ่มมากขึ้น แต่ผลต่อการจัดเก็บภาษีไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะร้านค้าเล็กมีมูลค่าการนำส่งเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก ขณะที่รายใหญ่อยู่ในระบบภาษีอยู่แล้ว

รูปที่ 1: VAT/GDP

ที่มา: European Statistics

ลอตเตอรี่ใบเสร็จ: แนวโน้มประเทศไทย

          สำหรับประเทศไทย ที่มุ่งหวังให้ร้านค้าย่อยเข้าสู่ระบบภาษีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะมีเงื่อนไขบางประการสำหรับร้านค้าในการเข้าสู่ระบบ คือ    

  • ร้านที่จะจด VAT ต้องมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือ 1.5 แสนบาทต่อเดือน
  • ร้านต้องทำบัญชี VAT ซื้อ และ VAT ขาย ทุกเดือนตามกฎหมาย (อาจต้องจ้างคนทำบัญชีเพิ่มเติม) ซึ่งร้านสามารถขอเครดิต VAT ซื้อคืนได้ (แต่หากร้านที่ต้นทุนไม่มี VAT เช่น สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ จะไม่ได้ประโยชน์เรื่องเครดิตภาษี) และต้องนำส่ง VAT ขายที่ได้จากลูกค้า ซึ่งหากไม่บวกเพิ่มไปในราคาสินค้า ผู้ขายต้องแบกรับภาระภาษีตรงนี้เอง
  • ทั้งนี้ ร้านค้าขนาดเล็กโดยทั่วไป หากลูกค้าขอใบเสร็จ ก็จะบวก VAT เพิ่มไปจากราคาป้าย แต่ถ้าไม่ขอใบเสร็จจะไม่บวก VAT (ตัวอย่างในอดีต เช่น ร้านคอมพิวเตอร์ที่พันธุ์ทิพย์ หรือปัจจุบันร้านค้าใน shopee)

          ทางเลือกในการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม

          กรณีที่ 1: ไม่จด VAT และต้นทุนสินค้าไม่มี VAT     -> กำไร 100

          กรณีที่ 2: ไม่จด VAT และต้นทุนสินค้ามี VAT        -> กำไร 93

          กรณีที่ 3: จด VAT, ต้นทุนไม่มี VAT, ผลักภาระ VAT ให้ลูกค้าได้      -> กำไร 100

          กรณีที่ 4: จด VAT, ต้นทุนไม่มี VAT, ผลักภาระ VAT ให้ลูกค้าไม่ได้    -> กำไร 86.92

          กรณีที่ 5: จด VAT, ต้นทุนมี VAT, ผลักภาระ VAT ให้ลูกค้าได้         -> กำไร 100

          กรณีที่ 6: จด VAT, ต้นทุนมี VAT, ผลักภาระ VAT ให้ลูกค้าไม่ได้      -> กำไร 86.92

          ที่มา: ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ใส่ใจบัญชีและภาษี

          ในด้านพฤติกรรมผู้ซื้อ จะมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการเปลี่ยนไปของตามเงื่อนไขของร้านค้าเช่นกัน โดย

  • จะไปซื้อกับร้านใหญ่มากกว่าหากต้องใช้ใบเสร็จ เพราะเป็นระบบ และมีฐานข้อมูลร่วมกันในหลายสาขา สามารถเชื่อมโยงข้อมูลผู้ซื้อได้สะดวก
  • อาจไม่ขอใบเสร็จ หากต้องรับภาระภาษีเอง 7% (ยกเว้นซื้อในนามบริษัทที่ต้องขอใบเสร็จอยู่แล้ว และบริษัทยังขอเครดิต VAT ซื้อคืนได้)

          สำหรับส่วนต่างรายได้รัฐ กรณีที่ร้านขนาดเล็กเข้าระบบ VAT และไม่เข้าระบบ VAT จะอยู่ที่ Value added จากผู้ค้าปลีกรายสุดท้ายที่ไม่ได้คิด VAT เท่านั้น จากตัวอย่าง

  • ร้านส่งขาย 107 บาท โดยนำส่ง VAT 7 บาท
  • ร้านปลีกที่จด VAT ต้องนำส่ง VAT ให้รัฐ 14 บาท แต่ได้เครดิตจากที่ซื้อมาจากร้านส่งแล้ว 7 บาท ทำให้เหลือนำส่ง 7 บาท โดยเป็นกำไร 100 บาท (รัฐมีรายได้ 7+7=14 บาท)
  • ถ้าร้านปลีกไม่จด VAT แล้วขายราคาตลาดที่รวม VAT จะได้กำไร 214-107=107 บาท แต่โดยมากจะลดราคาเหลือที่ไม่รวม VAT ให้ผู้บริโภค
  • ส่วนรัฐ รายได้จะหายไป 7 บาท ไม่ใช่ 14 บาท

กรณีศึกษา: ปัญหาสลากรางวัลเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว

  • กฎหมายระบุวัตถุประสงค์การออกสลากกินแบ่ง เพื่อหาเงินรายได้เข้ารัฐ
  • สิ่งที่เกิด ศาลถือเป็นสลากกินรวบ เนื่องจากรัฐมีโอกาสขาดทุน (ตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค. 2546 – 16 ก.ย. 2549 มีรายได้รวมเป็นเงิน 123,340 ล้านบาท แต่ปรากฏว่ามีผลขาดทุนรวม 7 งวด เป็นเงินรวม 1,668 ล้านบาท)
  • รายได้ไม่ถูกนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน (ไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการจัดสรรรายได้ที่ได้มา)
  • ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเรื่องการให้อนุญาตและกรอบความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
  •  

ลอตเตอรี่ใบเสร็จ: ประเด็นที่ต้องพิจารณาหากจะทำ

รูปแบบ: 1) 1 ใบเสร็จ 1 สิทธิ อาจมีปัญหาการ split ใบเสร็จ และ
2) จำนวนสิทธิตามมูลค่า แต่จะทำให้คนรวยและร้านค้าขนาดใหญ่ได้เปรียบ

ความถี่: 1-2 เดือนต่อครั้ง ตามการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผู้จดทะเบียนต้องยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
กฎหมาย: ศึกษาอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของกรมสรรพากร

ข้อคำนึงถึง:

  • รายได้ที่รัฐต้องจัดเก็บ ยังไม่เป็นไปตามเป้า การเพิ่มภารกิจส่วนนี้ ไม่ช่วยให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
  • ร้านใหญ่ได้เปรียบเพราะอยู่ในระบบอยู่แล้ว ส่วนร้านเล็กต้องลงทุนเพิ่ม และมีต้นทุนในการทำบัญชีเพิ่ม
  • ส่วนที่ไม่ต้องจ่าย VAT 7% ของร้านเล็กที่จะไม่เก็บกับผู้ซื้อ ทำให้รัฐต้องสร้างแรงจูงใจหรือรางวัลที่มากกว่า
  • ในกรณีที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค วิธีการนี้เหมาะสมหรือไม่ กระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือไม่ เหมือนการบังคับเล่นสลากหรือไม่ (มูลค่าสลากเท่ากับ 7% ของมูลค่าสินค้าของคนที่ซื้อของร้านเล็ก และฟรีสำหรับบคนซื้อของร้านใหญ่)

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะผู้วิจัย TDRI
8 มกราคม 2564