ภูมิจิต ศรีอุดมขจร
เทียนสว่าง ธรรมวณิช
โควิด-19 กลับมาระบาดครั้งใหม่กำลังเป็นโจทย์ท้าทายทีมเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้หลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกู้เงินจำนวนมหาศาล แต่อีกหนทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ คือการปรับปรุงกฎหมายที่ สร้างภาระกับประชาชนในการประกอบธุรกิจ
การปรับปรุงกฎหมายสามารถทำได้ในระยะสั้น-กลาง เพื่อเร่งต่อลมหายใจให้ ผู้ประกอบอาชีพและธุรกิจต่างๆ ตามที่ผู้เขียนได้เสนอในบทความก่อนหน้า ในบทความนี้เป็นข้อเสนอการปรับปรุงกฎหมายให้ถูกเป้าในระยะยาว นั่นคือการปรับปรุงกฎหมายเพื่อช่วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มานาน
ธุรกิจสปา อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 ซึ่งมีข้อกำหนดและขั้นตอนที่สร้างภาระให้กับทั้งเจ้าของธุรกิจและพนักงานนวดสปา
ภาระของเจ้าของธุรกิจสปา คือการขอใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการ เพื่อสุขภาพ จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่ต้องยื่นเอกสารจำนวนมากกว่า สิบรายการ แม้ว่าจะยื่นผ่านระบบออนไลน์ได้แต่ต้องส่งสำเนาเอกสารให้ สบส.ด้วย และในกรณีขอแจ้งเปลี่ยนรายการในใบอนุญาตจะต้องส่งเอกสารใหม่ทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีปัญหาการพิจารณาให้ใบอนุญาตที่ใช้เวลานาน เพราะต้องมีการ ตรวจสถานที่ แม้ในทางปฏิบัติ สบส.ผ่อนผัน ให้เปิดธุรกิจได้ก่อน แต่ต้องแก้ไขหากตรวจสถานที่แล้วไม่ถูกระเบียบ เพื่อลดภาระด้านเอกสารและระยะเวลา รวมทั้งปรับกฎระเบียบ ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติจริง ควรมีการแก้ไขโดยให้ส่วนราชการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกัน เช่น ข้อมูลบัตรประชาชนจากกรมการปกครอง ข้อมูลนิติบุคคลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นต้น และปรับรูปแบบการอนุญาตเป็นแบบตรวจสอบภายหลัง (post-audit) ให้สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติจริง จะช่วยลดระยะเวลาพิจารณาลดลงได้จากเดิม 30 วัน เป็นการตรวจเฉพาะเอกสารในระยะเวลาไม่เกิน 3-5 วันทำการเท่านั้น
พนักงานนวดสปา ติดปัญหาความซ้ำซ้อน และล่าช้าของขั้นตอน เพราะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดำเนินการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพกับ สบส. เพื่อคัดกรองประวัติป้องกันปัญหาแอบแฝงค้าประเวณี และต้องผ่านการอบรมจากสถาบันที่ สบส.รับรอง โดยต้องนำสำเนาวุฒิบัตรการอบรมมาประกอบการขอขึ้นทะเบียน ทั้งที่สถาบันฝึกอบรมต้องส่งข้อมูลจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาให้ สบส.ด้วยอยู่แล้ว ในขั้นตอนนี้ควรเชื่อมโยงฐานข้อมูลกันให้สมบูรณ์ โดยควรให้สถาบันฝึกอบรมส่งข้อมูลรายชื่อผู้ผ่านการฝึกอบรมให้ สบส.ด้วย
หลังผ่านการคัดกรองประวัติและรับรองเอกสารแล้ว สบส.จะออกใบรับรองเป็นพนักงานนวดให้แก่ผู้ขอขึ้นทะเบียนภายใน 60 วัน เพื่อลดภาระด้านเวลาและการเดินทางให้ประชาชน ควรเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนด้วยการจัดส่งทางไปรษณีย์และคิดค่าใช้จ่ายตามจริง
เกสต์เฮ้าส์ ประเทศไทยมีที่พักแรมขนาดเล็กให้บริการนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถขออนุญาตให้ถูกกฎหมาย เนื่องจากปัญหาสำคัญ 2 ประการคือ
(1) ด้านการประกอบธุรกิจ พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 กำหนดประเภทโรงแรมโดยพิจารณาจากขนาดห้องพักและผูกโยงกับร้านอาหารและสถานบริการในโรงแรมด้วย แต่เกสต์เฮ้าส์มีเฉพาะบริการห้องพักเท่านั้น ซึ่งแก้ไขได้โดยยกเลิกการผูกโยงในลักษณะนี้ นอกจากนี้การอนุญาตต้องผ่านระบบคณะกรรมการทำให้ใช้เวลาพิจารณานานมาก กรรมการบางส่วนมาจากหน่วยงานที่ไม่ทราบชัดเจนว่ามีบทบาทต่อกิจการโรงแรมอย่างไร อาจแก้ไขโดยยกเลิกระบบคณะกรรมการ
(2) ด้านอาคารสถานที่ มีกฎหมายสองฉบับซ้ำซ้อนกันคือ พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2558 ซึ่งมีปัญหาไม่เอื้อกับโรงแรมขนาดเล็กและการนำอาคารเก่ามาดัดแปลงเป็นที่พักนักท่องเที่ยว โดยต่อมาได้มีกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2559 ขึ้น เป็นการปลดล็อกครั้งใหญ่ของปัญหาเกสต์เฮ้าส์
แต่กฎกระทรวงฯ ฉบับนี้จะสิ้นสุดลงในปี 2564 การแก้ไขอาจทำโดยให้กฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ได้ต่อไปหลังปี 2564 และให้ท้องถิ่นกำหนดเป็นเขตผ่อนผันแทน และยกเลิกการควบคุมอาคารภายใต้ พ.ร.บ. โรงแรมฯ โดยให้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุม อาคารฯ ซึ่งประกาศใช้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้วเท่านั้น
คราฟต์เบียร์ มีจุดขายที่เป็นเสน่ห์ แตกต่างไปจากเบียร์กระแสหลัก คือการเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตที่แตกต่างไปตามพื้นที่ ในต่างประเทศมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ชอบสรรหาดื่มเบียร์ที่ผลิตจากวัตถุดิบท้องถิ่น ซึ่งหาดื่มไม่ได้ในตลาดทั่วไปและมักจะผลิตโดยผู้ผลิตรายเล็ก แต่ในประเทศไทยภายใต้กฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 มีเงื่อนไขที่ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์เติบโตได้ยาก เช่นต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ถ้าเป็นโรงงานเบียร์ขนาดเล็กผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brew pub) ต้องมีกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี เป็นต้น
เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ของไทย ไม่สามารถผลิตเบียร์ภายในประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ต้องจ้างผลิตในต่างประเทศแล้วนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เสียภาษีนำเข้า ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น ลดความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งเป็นการขัดขวางการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นและความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย จึงควรยกเลิกเงื่อนไขทั้งหมดที่เป็นการกีดกันผู้ผลิตรายเล็ก
ในบทความทั้งสามตอนที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่าการปรับปรุงกฎหมายนอกจากจะเป็นหนึ่งในธนูสามดอกเพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะทำให้มาตรการที่รัฐได้ลงทุนไปมากแล้วเกิดผลเต็มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย (demand side) หรือการลดดอกเบี้ย หรือมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ (supply side) หากแต่ต้นทุนในการประกอบธุรกิจยังสูง ยังมีกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรม ลงทุนไป ก็ไม่คุ้ม อยู่เฉยๆ ดีกว่า ภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่ รัฐบาลแก้ไขได้ด้วยการปรับปรุงกฎหมายครั้งใหญ่
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุกิจ เมื่อ 31 ธันวาคม 2563
ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ
- คิดยกกำลังสอง: รางวัลโนเบลวิทย์ 2024 ดรามาใหญ่…เอไอได้รางวัล
- การประมวลผลงานส่งเสริม MSME ตามนโยบายรัฐ และสิทธิประโยชน์
- โครงการประเมินและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ให้กับสภาองค์กรของผู้บริโภค
- การวิเคราะห์โครงสร้างห่วงโซ่คุณค่าของหมากไทย และแนวทางส่งเสริมการสร้างมูลค่าและความยั่งยืน
- ช่วยภาคการผลิต…ไม่ติดปัญหาท่วม-แล้ง : อุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว