วิเคราะห์มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย

มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยริเริ่มให้มีการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดชำระหนี้ในวงกว้าง โดยใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้ลดลงสอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19  

มาตรการนี้ถูกบังคับใช้ระหว่าง 14 กุมภาพันธ์ 2564 ถึง 14 เมษายน 2564 โดยมีรูปแบบการดำเนินงานที่สำคัญที่ดีขึ้น คือ การอนุญาตให้การไกล่เกลี่ยเกิดขึ้นก่อนการฟ้องได้ และสามารถดำเนินการทาง Online ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว เป็นการลดต้นทุนในการดำเนินการ รวมทั้งการกำหนดให้มีคนกลางเข้าไปช่วยดูข้อเสนอในชั้นตอนการไกล่เกลี่ย ทำให้มีข้อเสนอที่ลูกหนี้สามารถทำได้ 

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับในฝั่งของธนาคารพาณิชย์ คือ การลดสัดส่วนหนี้ที่จะสงสัยจะสูญ ทำให้ธนาคารและระบบการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนในฝั่งของผู้กู้ จะได้รับภาระหนี้ที่ลดลง ตัวอย่างเช่น หนี้บัตรเครดิต จะถูกเปลี่ยนมาเป็นสินเชื่อผ่อนรายเดือน จากการจ่าย 5,000 บาทต่อเดือนอาจจะเหลือเพียง 3,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาที่เคยกำหนดที่ 84 งวดจะลดเหลือเพียง 40 งวด และอัตราดอกเบี้ยที่ถูกเรียกเก็บจะลดลงจาก ร้อยละ 16 เหลือเพียงร้อยละ 12 เป็นต้น โดยผลของการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ยังทำให้ลูกหนี้ยังคงได้รับพิจารณาเป็นลูกค้าปกติ สามารถดำเนินธุรกิจทางการเงินในรูปแบบอื่นๆ ได้ตามปกติ ซึ่งจะต่างจากกรณีที่ลูกหนี้ที่เป็นลูกหนี้สงสัยจะสูญที่จะติดสถานการณ์เครดิตบูโรทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้โดยสะดวก 

อย่างไรก็ดี คณะผู้วิจัยประเมินรูปแบบการกำหนดเงื่อนไขมาตรการข้างต้นแล้ว พบว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเป็นหลัก โดยที่ภาระหนี้ที่ลดลงจะเป็นภาระของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่ต้องดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น จะเลือกปรับโครงสร้างหนี้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น และมีทัศนคติที่ไม่กล้าที่จะเข้าไปช่วยลูกหนี้ที่ไม่แน่ชัดว่าเป็นลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้จริงๆ หรือเป็นลูกหนี้ที่ยังพอชำระหนี้ได้แต่อยากจะเข้าโครงการเพื่อปรับโครงสร้างลดหนี้ ดังนั้น การจัดสรรตามกลไกการตลาดในลักษณะนี้จะช่วยเหลือประเทศในการลดความเสี่ยงได้ในระดับที่จำกัด และอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินในกรณีที่เกิดการล้มลงของธุรกิจจำนวนมากได้ แต่ในกรณีที่จำนวนธุรกิจที่มีปัญหาอยู่ในสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก นโยบายในลักษณะนี้จะช่วยประคองให้เศรษฐกิจสามารถไปต่อได้ และตลาดการเงินจะมีระเบียบวินัยที่สูงกว่า เพราะภาครัฐไม่ได้เข้ามาแทรกแซงกลไกตลาด 

บทเรียนที่สำคัญ ก็คือ มาตรการการไกล่เกลี่ยหนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นเมื่อประเทศเกิดวิกฤติการณ์ ซึ่งต้องอาศัยการชั่งน้ำหนักระหว่างการเข้าไปแทรกแซงและจัดการกับมูลหนี้ที่อยู่ระดับสูง ซึ่งจะเป็นภาระทั้งงบประมาณและการส่งสัญญาณการอุ้มภาคธุรกิจจนทำให้ธุรกิจขาดระเบียบวินัย หรือจะเข้าไปแทรกแซงในระดับที่จำกัด แต่การจัดการกับมูลหนี้จะทำได้อย่างจำกัดเช่นเดียวกัน แต่การดำเนินการจะไม่เกิดภาระทางงบประมาณ และเป็นการส่งสัญญาณให้ตลาดมีระเบียบวินัย ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าในกรณีหลังนั้น ความเสี่ยงเชิงระบบที่จะเกิดวิกฤติหนี้สงสัยจะสูญของประเทศจะอยู่สูงกว่า และมีแนวโน้มว่าธุรกิจอาจจะไม่สามารถอยู่รอดได้สูงกว่ากรณีที่รัฐเข้าไปช่วยอุ้ม 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

คณะวิจัย TDRI
14 กุมภาพันธ์ 2564