1. ความสำคัญของธุรกิจท่องเที่ยวในแง่ของผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ-สังคมจากโควิด-19
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2562 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยและการท่องเที่ยวโลกอย่างมาก ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศหยุดชะงัก รวมถึงส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยจากข้อมูลล่าสุดของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยสะสมระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2563 มีจำนวน 6.7 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 39.9 ล้านคน หรือหดตัวประมาณร้อยละ 83.2 นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเป็นอย่างมาก โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2563 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 332,013 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 1,911,808 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 82.6) (กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) (รูปที่ 1)
รูปที่ 1 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ที่มา กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
หากพิจารณาผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจในประเทศไทย จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่าธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงสายการบิน ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีการเปิดรับกับความเสี่ยง (Exposure) สูง (ตารางที่ 1) เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงโดยตรง
ตารางที่ 1: การจำแนกธุรกิจตามระดับการเปิดรับความเสี่ยง (Exposure) ต่อผลกระทบจากโควิด-19
ธุรกิจที่มีระดับการเปิดรับ ความเสี่ยงต่ำ | ธุรกิจที่มีระดับการเปิดรับ ความเสี่ยงปานกลาง | ธุรกิจที่มีระดับการเปิดรับ ความเสี่ยงสูง |
ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าปลีก | ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจขนส่งทางเรือ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจรถไฟฟ้า ธุรกิจรถบรรทุก ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ | ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจเหล็ก ธุรกิจน้ำมัน |
ที่มา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์
ดังนั้น การศึกษาผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อธุรกิจท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้เป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงผลกระทบจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น มาตรการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) เพื่อ4 เดือนควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด มาตรการปิดพื้นที่อุทยานแห่งชาติและวนอุทยานทุกแห่ง ตามประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงวันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้น ซึ่งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติยกเลิกการเดินทางและการจองห้องพัก หน่วยงานต่าง ๆ ยกเลิกการจัดประชุมและสัมมนาที่โรงแรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจโรงแรมเป็นอย่างมาก
หากพิจารณาอัตราการเข้าพักแรมในปี 2563 เทียบกับอัตราการเข้าพักแรมในช่วงเดียวกันของปี 2562 พบว่าอัตราการเข้าพักแรมหดตัวอย่างมาก โดยเฉพาะเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 ซึ่งมีอัตราเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 2.26 ร้อยละ 3.83 และร้อยละ 13.43 ตามลำดับ (รูปที่ 2) หากพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่าถึงแม้อัตราการเข้าพักแรมจะลดลงในทุกภูมิภาคในปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 แต่อัตราการเข้าพักแรมในภาคใต้ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น รองลงมาคือ ภาคกลาง (รวมจังหวัดกรุงเทพมหานคร) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ตามลำดับ (รูปที่ 3)
รูปที่ 2: อัตราการเข้าพักของสถานที่พักแรมทั่วประเทศ
ที่มา กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
รูปที่ 3: อัตราการเข้าพักของสถานที่พักแรมจำแนกรายภูมิภาค
ที่มา กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวโดยตรง อาทิ มาตรการห้ามเดินทางเข้าออกประเทศ มาตรการห้ามเดินทางเข้าออกบางพื้นที่/บางจังหวัด รวมถึงมาตรการสั่งปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 มาตรการดังกล่าวส่งผลให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางและการจองห้องพักต่าง ๆ กับโรงแรม ทำให้โรงแรมขาดรายได้ โดยผู้ประกอบการโรงแรมที่มีสภาพคล่องต่ำบางรายอาจแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินไม่ไหว ต้องตัดสินใจยุติการดำเนินธุรกิจ
2. วิธีการศึกษาและข้อมูลที่ใช้ในการศึกษา
เพื่อให้ทราบรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการของภาครัฐที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การศึกษาในส่วนนี้จึงให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลเชิงลึกในลักษณะของ Panel Data กับตัวแทนผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และร้านขายของฝาก/ของที่ระลึก โดยแบ่งช่วงเวลาในการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการออกเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่
ช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงที่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ และช่วงที่มีการเปิดเมืองหรือคลายล็อกดาวน์แต่ยังไม่มีเปิดประเทศเต็มที่ (ก่อนการแพร่ระบาดรอบใหม่) โดยคณะผู้วิจัยใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยเลือกธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และร้านขายของฝาก/ของที่ระลึกที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้แหล่งท่องเที่ยวประเภทอุทยานแห่งชาติ 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติเกาะสิมิลัน และอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด โดยคณะผู้วิจัยเน้นสัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาก เนื่องจากมีสภาพคล่องและมีเงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างน้อย
สำหรับวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล คณะผู้วิจัยใช้วิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยใช้แบบสอบถาม (Structured Interview) ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน – เดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 โดยประเด็นคำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักดังนี้ ส่วนที่ 1 เป็นคำถามทั่วไปเกี่ยวกับสถานประกอบการ เช่น ประเภทของแหล่งประกอบการ สถานที่ตั้ง เป็นต้น ส่วนที่ 2 เป็นคำถามเกี่ยวกับช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2563) ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงาน จำนวนนักท่องเที่ยว/รายได้จากการท่องเที่ยว ลักษณะการให้บริการ เป็นต้น ส่วนที่ 3 เป็นคำถามเกี่ยวกับช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์/ปิดเมือง (เดือนมีนาคม-มิถุนายน 2563) ซึ่งประกอบด้วย ผลกระทบต่อกิจการ ผลกระทบต่อการจ้างงาน การดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเข้าถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐ เป็นต้น และส่วนที่ 4 เป็นคำถามเกี่ยวกับช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งประกอบด้วย จำนวนนักท่องเที่ยว การเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” รวมถึงข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
สำหรับขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการสัมภาษณ์ภายใต้รายงานขั้นต้น คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์ผู้ประกอบการรวมทั้งสิ้น 15 แห่ง ประกอบด้วย ธุรกิจที่พักจำนวน 5 ตัวอย่าง ธุรกิจร้านอาหารจำนวน 5 ตัวอย่าง และธุรกิจร้านขายของฝาก/ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 ตัวอย่าง ดังนั้น สำหรับแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่ง คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยวจำนวน 3 ตัวอย่าง โดยการสัมภาษณ์เป็นลักษณะของการเก็บข้อมูลจากคน ๆ เดิมในหลายช่วงเวลา ทั้งช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงระหว่างที่มีมาตรการล็อกดาวน์/ปิดเมือง และช่วงหลังจากที่มีการคลายมาตรการล็อกดาวน์
3. ผลการสัมภาษณ์เชิงลึก
สำหรับผลการสัมภาษณ์เชิงลึก คณะผู้วิจัยนำเสนอโดยแยกตามแหล่งท่องเที่ยว โดยเริ่มจากผลการสัมภาษณ์ธุรกิจท่องเที่ยวบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติเกาะสิมิลัน และอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด โดยมีรายละเอียดผลการสัมภาษณ์ดังนี้
3.1 ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
สำหรับตัวแทนธุรกิจที่พัก คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจโฮมสเตย์ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชประกาศปิดการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานทุกแห่งเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 ส่งผลให้โฮมสเตย์แห่งนี้ต้องปิดกิจการเป็นการชั่วคราวช่วงที่มีการปิดอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ระหว่างที่มีการปิดกิจการเป็นการชั่วคราว เจ้าของกิจการโฮมสเตย์ได้รับเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยใช้สิทธิเกษตรกร เนื่องจากเจ้าของธุรกิจโฮมสเตย์เปิดบริการสวนผลไม้ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและสามารถเก็บผลไม้ได้ หากพิจารณาโครงสร้างรายได้ของธุรกิจโฮมสเตย์ โดยเปรียบเทียบ 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วง Low Season ในปี 2562 ช่วง High Season (พฤศจิกายน 2562 ถึง มกราคม 2563) และช่วงที่มีการล็อกดาวน์และปิดอุทยานฯ (รูปที่ 2) พบว่าในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ของธุรกิจโฮมสเตย์ในช่วง High Season สูงกว่าช่วง Low Season 1 เท่าตัว (ร้อยละ 100) เนื่องจากช่วง High Season เป็นช่วงที่จังหวัดเชียงใหม่มีอากาศที่หนาวเย็น และนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมายังอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เพื่อสัมผัสอากาศหนาวและธรรมชาติบนดอย ซึ่งสอดคล้องกับสถิติปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้าชมอุทยานแห่งชาติดอยอินทนน์ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปีถึงช่วงต้นปี (รูปที่ 4)
รูปที่ 4: โครงสร้างรายได้ของธุรกิจโฮมสเตย์บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
ที่มา: จากการสัมภาษณ์โดยคณะผู้วิจัย
รูปที่ 5: จำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
ที่มา: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สำหรับช่วงที่มีการปิดอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าพักในโฮมสเตย์ดังกล่าวเลย ส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการเหลือ 0 หลังจากที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เปิดให้บริการอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ธุรกิจโฮมสเตย์ก็เริ่มเปิดให้บริการ แต่จากการสัมภาษณ์พบว่านักท่องเที่ยวที่ไปพักที่
โฮมสเตย์ยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย และส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการ
โฮมสเตย์ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ ธุรกิจโฮมสเตย์ที่ให้สัมภาษณ์ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”
สำหรับตัวแทนธุรกิจร้านอาหารที่ตั้งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์นั้น คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์เจ้าของร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่อุทยานฯ โดยร้านกาแฟแห่งนี้จำหน่ายกาแฟสด รวมถึงเมล็ดกาแฟและผลิตภัณฑ์พื้นเมืองอื่นๆ ด้วย เช่น เสื้อผ้าชนเผ่า เป็นต้น รูปที่ 6 แสดงโครงสร้างรายได้ของเจ้าของร้านกาแฟที่ให้สัมภาษณ์
รูปที่ 6: โครงสร้างรายได้ของธุรกิจร้านกาแฟบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
ที่มา: จากการสัมภาษณ์โดยคณะผู้วิจัย
จากรูปที่ 6 พบว่าในปี 2562 รายได้ของร้านกาแฟในช่วง High Season จะสูงกว่าในช่วง Low Season ประมาณร้อยละ 67 แต่ในช่วงที่มีการประกาศปิดอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ในปี 2563 ตามประกาศของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร้านกาแฟแห่งนี้ต้องปิดให้บริการด้วย เนื่องจากร้านตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่อุทยานฯ ส่งผลให้ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์และปิดอุทยานฯ ผู้ประกอบการรายนี้ไม่มีรายได้จากการขายกาแฟและของฝากอื่น ๆ เข้ามาเลย อย่างไรก็ดี จากการสัมภาษณ์พบว่านอกจากธุรกิจร้านกาแฟแล้ว เจ้าของยังมีงานประจำด้วย ดังนั้น จึงยังพอมีรายได้จากแหล่งอื่นเข้ามาเพื่อสามารถใช้ดำรงชีพได้ นอกจากรายได้จากงานประจำแล้ว ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์และปิดอุทยานฯ เจ้าของร้านกาแฟมีการหารายได้เสริมโดยการปลูกผักอีกด้วย อย่างไรก็ดี ในเมื่ออุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เปิดให้บริการอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 รายได้จากธุรกิจร้านกาแฟยังคงค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และผู้ประกอบการรายนี้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ของภาครัฐ
สำหรับตัวแทนธุรกิจขายของฝาก คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์เจ้าของร้านขายเมล็ดกาแฟที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โดยร้านขายของฝากแห่งนี้จำหน่ายเมล็ดกาแฟให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในอุทยานฯ และขายส่งเมล็ดกาแฟให้กับร้านกาแฟทั่วประเทศ ในช่วงที่มีการปิดอุทยานฯ รายได้ของร้านขายของฝากแห่งนี้ลดลงเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เลย นอกจากนี้
ยอดจำหน่ายเมล็ดกาแฟจากการขายส่งก็ลดลงด้วย เนื่องจากร้านกาแฟในพื้นที่อื่นๆ มีลูกค้าน้อยลง จึงสั่งเมล็ดกาแฟน้อยลง รูปที่ 7 แสดงโครงสร้างรายได้ของร้านขายของฝากแห่งนี้
รูปที่ 7: โครงสร้างรายได้ของธุรกิจร้านขายของฝากบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
ที่มา: จากการสัมภาษณ์โดยคณะผู้วิจัย
จากรูปที่ 7 พบว่าในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ของร้านขายของฝากแห่งนี้ในช่วง High Season อยู่ที่ประมาณ 100,000 บาท/เดือน ซึ่งสูงกว่ารายได้ในช่วง Low Season ประมาณร้อยละ 186 อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีการปิดอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์และช่วงที่มีการล็อกดาวน์ รายได้ของร้านขายของฝากแห่งนี้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท/เดือน โดยรายได้ดังกล่าวมาจากการขายส่งเมล็ดกาแฟไปยังร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อื่นทั่วประเทศไทย แต่รายได้จากการจำหน่ายกาแฟสดหน้าร้านไม่มีเลย เนื่องจากร้านปิดให้บริการตามการปิดทำการของอุทยานฯ ถึงแม้ว่ารายได้ของผู้ประกอบการรายนี้ลดลงอย่างมากในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ แต่ก็ไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน มีการเสริมสภาพคล่องโดยการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นอกจากนี้ ร้านขายของฝากแห่งนี้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”
ในภาพรวม สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์และปิดอุทยานแห่งชาติส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่ในบริเวณอุทยานฯ ได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเลย ส่งผลให้ช่วงนั้นผู้ประกอบการไม่มีรายได้เข้ามาเลย ยกเว้นผู้ประกอบการที่มีการปรับตัวโดยทำกิจกรรมอื่นเสริม เช่น
การปลูกผักหรือได้รับรายได้จากงานประจำ อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จะเปิดทำการและเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในอุทยานฯ ยังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีอื่น ๆ อีกทั้งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว
ชาวไทย ส่งผลให้รายได้ของเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยวบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ยังค่อนข้างน้อย และผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ของภาครัฐ
3.2 ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
สำหรับตัวแทนธุรกิจที่พัก คณะผู้วิจัยได้สัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าของธุรกิจที่ให้บริการบ้านพักขนาดเล็ก (Guest House) จำนวน 5 หลัง โดยส่วนใหญ่ให้บริการนักท่องเที่ยวในช่วง High Season (ช่วงปลายปีและต้นปี) ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศเย็นสบาย รูปที่ 8 แสดงโครงสร้างรายได้ของธุรกิจบ้านพักแห่งนี้
รูปที่ 8: โครงสร้างรายได้ของธุรกิจบ้านพักบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ที่มา: จากการสัมภาษณ์โดยคณะผู้วิจัย
จากรูปที่ 8 พบว่าธุรกิจบ้านพักแห่งนี้มีรายได้เฉพาะช่วง High Season โดยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท/เดือน ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ สถานประกอบการแห่งนี้ต้องปิดให้บริการชั่วคราวจึงไม่มีรายได้จากธุรกิจบ้านพักเข้ามาเลย แต่เจ้าของยังมีรายได้จากแหล่งอื่นมาใช้สำหรับดำรงชีพในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ดี เมื่อมีการคลายล็อกดาวน์ ก็มีการเปิดให้บริการบ้านพักอีกครั้ง แต่เปิดให้บริการบ้านพักเพียง 3 หลัง จากบ้านพักทั้งหมด 5 หลัง เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการในช่วงหลังล็อกดาวน์ลดลงมากกว่าร้อยละ 60 นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการที่ต้องให้บริการแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากากอนามัย รวมถึงการที่ต้องทำความสะอาดบริเวณบ้านพักถี่มากขึ้น
สำหรับธุรกิจร้านอาหารบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าของร้านอาหารเก่าแก่ในย่านนั้น ซึ่งมีโต๊ะให้บริการจำนวน 17 โต๊ะ โดยปกติ ร้านอาหารแห่งนี้จะมีลูกค้าใช้บริการเป็นจำนวนมากในช่วงวันหยุด แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) เป็นลูกค้าชาวไทย รูปที่ 9 แสดงโครงสร้างรายได้ของธุรกิจร้านอาหารแห่งนี้ จากรูปที่ 9 พบว่าในช่วงปี 2562 ร้านอาหารแห่งนี้มีรายได้ในช่วง High Season ประมาณ 20,000 บาท/เดือน ซึ่งสูงกว่ารายได้ในช่วง Low Season ประมาณ 1 เท่า อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ร้านอาหารแห่งนี้ไม่มีรายได้เข้ามาเลย เจ้าของกิจการต้องเอาเงินออมออกมาใช้ควบคู่กับเงินจำนวน 5,000 บาท ที่ได้รับจากภาครัฐเป็นเวลา 3 เดือน
รูปที่ 9: โครงสร้างรายได้ของธุรกิจร้านอาหารบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ที่มา: จากการสัมภาษณ์โดยคณะผู้วิจัย
ถึงแม้ว่าร้านอาหารแห่งนี้จะเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” แต่เจ้าของร้านให้ข้อมูลว่าจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการก็ยังน้อยกว่าแต่ก่อนมาก โดยสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากข้อจำกัดและหลักเกณฑ์ในการใช้สิทธิภายใต้โครงการฯ ที่มีความยุ่งยากและไม่สะดวกสำหรับลูกค้า โดยลูกค้าต้องรอถึงเวลา 17.00 น. จึงจะสามารถใช้สิทธิภายใต้โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ได้
สำหรับธุรกิจร้านขายของฝากบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์เชิงลึกร้านขายขนมซึ่งขายส่งขนมให้กับร้านขายของฝากทั่วประเทศ รูปที่ 10 แสดงโครงสร้างรายได้ของธุรกิจร้านขายของฝากแห่งนี้ จากรูปที่ 10 พบว่าในช่วง High Season ร้านขายของฝากแห่งนี้มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 5 ล้านบาท/เดือน ในขณะที่ในช่วง Low Season มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 2 ล้านบาท/เดือน อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ร้านขายของฝากแห่งนี้ไม่มีรายได้จากการขายส่งขนมเข้ามาเลย เนื่องจากลูกค้าที่ซื้อขนมจากร้านขายของฝากแห่งนี้ปิดกิจการชั่วคราวเพราะติดเรื่องล็อกดาวน์เช่นเดียวกัน ดังนั้น ขนมที่ถูกส่งไปขายจึงหมดอายุและถูกส่งคืนกลับมายังที่ร้านทั้งหมด ทำให้ทางร้านประสบปัญหาขาดทุน ต้องกู้เงินฉุกเฉินจากทางธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดี ทางร้านได้รับรายได้จากแหล่งอื่น (การขายทุเรียน) มาชดเชยการขาดทุนบางส่วนจากการขายขนม ทำให้ขาดทุนน้อยลง ถึงแม้ว่าทางร้านจะเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” แต่ทางร้านมีความเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์น้อยมาก เนื่องจากมีลูกค้ามาใช้สิทธิน้อยมาก
รูปที่ 10: โครงสร้างรายได้ของธุรกิจร้านขายของฝากบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ที่มา: จากการสัมภาษณ์โดยคณะผู้วิจัย
ในภาพรวม สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์และปิดอุทยานแห่งชาติส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่ในบริเวณอุทยานฯ ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งธุรกิจบ้านพัก ร้านอาหาร รวมถึงร้านขายของฝาก เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเลย ส่งผลให้ช่วงนั้นผู้ประกอบการไม่มีรายได้เข้ามาเลย อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางรายมีรายได้เสริมจากแหล่งอื่น เช่น การขายผลไม้ในฤดูกาล อาทิ ทุเรียน รายได้จากงานประจำ เป็นต้น ถึงแม้ว่าปัจจุบันอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จะเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวแล้ว แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในอุทยานฯ ยังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีอื่น ๆ อีกทั้งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่งผลให้รายได้ของเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยวบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ยังค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ให้สัมภาษณ์มีความคิดเห็นว่าโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” มีประโยชน์ค่อนข้างน้อยเพราะเงื่อนไขในการใช้สิทธิภายใต้โครงการไม่สะดวกสำหรับลูกค้าและมีลูกค้าที่มาใช้สิทธิน้อย
3.3 ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่เป็นหมู่เกาะตั้งอยู่ในจังหวัดพังงา โดยไม่มีที่พักตั้งอยู่ภายในเขตอุทยานฯ ดังนั้น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่จะท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์จะใช้บริการนำเที่ยวในลักษณะการเดินทางโดยเรือเพื่อนำนักท่องเที่ยวไปยังจุดต่าง ๆ ในอุทยานฯ ท่าเรือที่ตั้งอยู่ใกล้เขตอุทยานฯ มากที่สุดคือท่าเรือคุระบุรี ตั้งอยู่ในอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ด้วยเหตุนี้ ตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์จึงมีธุรกิจที่ตั้งอยู่ในอำเภอคุระบุรี
สำหรับตัวแทนธุรกิจที่พัก คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจรีสอร์ทขนาดเล็กที่ตั้งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ในอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เนื่องจากกรมอุทยานฯ ประกาศปิดการท่องเที่ยวในอุทยานฯ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 จนถึง 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ส่งผลให้รีสอร์ทแห่งนี้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากและต้องปิดกิจการชั่วคราว เจ้าของกิจการไม่สามารถได้รับเงินเยียวยาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เนื่องจากเป็นข้าราชการเกษียณอายุที่ได้รับเงินบำนาญอยู่แล้ว หากพิจารณาโครงสร้างรายได้ของธุรกิจรีสอร์ทนี้ โดยเปรียบเทียบ 3 ช่วงเวลาได้แก่ ช่วง Low Season ในปี 2562 ช่วง High Season (พฤศจิกายน 2562 ถึง มกราคม 2563) และช่วงที่มีมาตรการ
ล็อกดาวน์และปิดอุทยานฯ (รูปที่ 11) พบว่าในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ของธุรกิจ
รีสอร์ทแห่งนี้ในช่วง High Season สูงกว่าในช่วง Low Season มากกว่า 2.5 เท่าตัว (ร้อยละ 250) เนื่องจากช่วง High Season เป็นช่วงเทศกาลหยุดยาวในช่วงปีใหม่ซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
รูปที่ 11: โครงสร้างรายได้ของธุรกิจที่พักบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
ที่มา: จากการสัมภาษณ์โดยคณะผู้วิจัย
สำหรับช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 75 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่มาใช้บริการของรีสอร์ทแห่งนี้ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ นอกจากนี้ การปิดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ส่งผลให้รีสอร์ทไม่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยมาใช้บริการ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือผู้ประกอบการมีรายได้ลดลงเหลือ 0 จนกระทั่งอุทยานฯ เปิดอีกครั้งในวันที่ 15 ตุลาคม 2563
แต่ผู้ประกอบการมีการคาดการณ์ว่ารายได้จะยังต่ำอยู่หลังจากที่เปิดอุทยานฯ เนื่องจากยอดการจองที่พักสำหรับช่วง High Season ของปี 2563 ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไม่ได้เข้าร่วมโคงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”
สำหรับตัวแทนธุรกิจร้านอาหารในบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์เจ้าของร้านอาหารขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นร้านรถเข็นที่มีการตั้งโต๊ะแบบชั่วคราวจำนวน 5 โต๊ะ โดยร้านอาหารตั้งอยู่ที่ท่าเรือคุระบุรี อำเภอคุระบุรี ซึ่งเป็นท่าเรือที่นักท่องเที่ยวต้องมาแวะเพื่อเดินทางต่อไปยังพื้นที่เขตอุทยานฯ รูปที่ 12 แสดงโครงสร้างรายได้ของร้านอาหารแห่งนี้
รูปที่ 12: โครงสร้างรายได้ของธุรกิจร้านอาหารบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
ที่มา: จากการสัมภาษณ์โดยคณะผู้วิจัย
จากรูปที่ 12 พบว่าในปี 2562 รายได้ของร้านอาหารในช่วง High Season จะสูงกว่าในช่วง Low Season ประมาณร้อยละ 54 แต่ในช่วงที่มีการดำเนินทั้งมาตรการล็อกดาวน์ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน 2563 และมีประกาศปิดอุทยานฯ ระหว่างเดือนมีนาคม – ตุลาคม 2563 ร้านอาหารแห่งนี้ปิดกิจการชั่วคราวประมาณ 20 วัน และเปิดกิจการใหม่อีกครั้งโดยจำหน่ายเฉพาะอาหารบรรจุกล่องสำหรับนำกลับไปรับประทานที่บ้าน ไม่มีการเปิดให้รับประทานอาหารที่ร้าน พบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ร้านอาหารแห่งนี้มีรายได้ลดลงประมาณร้อยละ 50 จากรายได้ของช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า เนื่องจากยังมีทั้งมาตรการล็อกดาวน์และมีประกาศปิดอุทยานฯ สำหรับช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ถึงแม้ว่าร้านอาหารแห่งนี้จะไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน แต่มีการปรับลดค่าจ้างพนักงานจากวันละ 300 บาทเป็นวันละ 200 บาท นอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้การช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นเงินเยียวยาเกษตรกรจากธ.ก.ส. มูลค่า 15,000 บาท
หลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ร้านอาหารเริ่มเปิดให้ลูกค้ารับประทานอาหารที่ร้าน แต่รายได้ก็ยังค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงและลูกจ้างของเรือประมง ยังไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการ ผู้ประกอบการได้เข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”
สำหรับตัวแทนธุรกิจขายของฝาก คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจขายของฝากและนำเที่ยวที่ตั้งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติหมู่กาะสุรินทร์ ในอำเภอคุระบุริ จังหวัดพังงา โดยรายได้หลักของธุรกิจนี้คือการให้บริการนำเที่ยว โดยให้บริการเรือโดยสารไปยังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ นอกจากนี้ ยังมีรายได้เสริมจากการขายของฝาก เช่น น้ำพริก และปลาเค็ม ผู้ที่มาใช้บริการนำเที่ยวส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย
หากพิจารณารายได้จากการขายของฝากและบริการนำเที่ยว พบว่าขึ้นอยู่กับการเปิด/ปิดของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ โดยอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ปิดให้บริการระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม – 15 ตุลาคมของทุกปีเนื่องจากเป็นฤดูมรสุม ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ประกอบการจะลดจำนวนพนักงานจาก 32 คน เหลือ 8 คน พร้อมทั้งงดให้บริการนำเที่ยวชั่วคราว รูปที่ 13 แสดงโครงสร้างรายได้ของธุรกิจขายของฝากและนำเที่ยว
รูปที่ 13: โครงสร้างรายได้ของธุรกิจขายของฝากและนำเที่ยวบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
ที่มา: จากการสัมภาษณ์โดยคณะผู้วิจัย
จากรูปที่ 13 พบว่าในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วง Low Season รายได้ของธุรกิจขายของฝากและนำเที่ยวมีรายได้เป็น 0 เนื่องจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ปิด แต่ธุรกิจขายของฝากและนำเที่ยวมีรายได้ประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือนในช่วง High Season ส่วนในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการได้ปิดกิจการชั่วคราวส่งผลให้รายได้เป็น 0 เช่นกัน ผู้ประกอบการมีการปรับตัวโดยหารายได้เสริมจากการเปิดร้านขายของชำ และได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล 5,000 บาทต่อเดือนเป็นระยะ 3 เดือน ในช่วงเดือนกันยายน 2563 ก่อนที่อุทยานฯ จะเปิดให้บริการ ผู้ประกอบการมีการลดราคาค่าบริการ
นำเที่ยว มีการออกบูธเพื่อประชาสัมพันธ์ รวมถึงเปิดรับจองบริการนำเที่ยวล้วงหน้า อย่างไรก็ดี ยอดการจองบริการนำเที่ยวยังค่อนข้างน้อย ผู้ประกอบการจะจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นตามยอดการจอง ผู้ประกอบการไม่ได้เข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ด้วยเหตุผลที่ว่าอุทยานฯ จะเปิดในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และเหลือเวลาอีกไม่นานก็จะสิ้นสุดระยะเวลาของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งเดิมกำหนดไว้วันที่ 30 ตุลาคม 2563 แต่ต่อมา รัฐบาลประกาศให้ขยายวันสิ้นสุดโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เป็นวันที่ 31 มกราคม 2564
ในภาพรวม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์ และการปิดอุทยานแห่งชาติส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเลย ผู้ประกอบการจึงไม่มีรายได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่พัก ธุรกิจขาย
ของฝาก และธุรกิจนำเที่ยวได้รับกระทบมากเป็นพิเศษเพราะธุรกิจปรับตัวเพื่อหารายได้ผ่านช่องทางอื่นค่อนข้างยาก นอกจากนี้ ยอดการจองที่พักและบริการนำเที่ยวก็น้อยมาก ซึ่งต่างจากผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งถึงแม้จะได้รับผลกระทบ (รายได้ลดลง) แต่ก็ยังสามารถขายอาหารในลักษณะนำกลับไปรับประทานที่บ้านได้ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เนื่องจากมองว่าหากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” สิ้นสุดในวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ตามกำหนดการเดิม ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์จากโครงการฯ น้อยมาก เพราะมีเวลาเพียง 15 วัน ระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2563 (ซึ่งเป็นวันที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์เปิดทำการ) และวันที่ 30 ตุลาคม 2563 (วันสิ้นสุดโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ตามที่กำหนดไว้เดิม)
3.4 ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพังงา และไม่มีที่พักไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวภายในพื้นที่อุทยานฯ ดังนั้น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ต้องการเดินทางมาเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันจะใช้บริการนำเที่ยวทางเรือ โดยท่าเรือหลักสำหรับการเดินทางไปอุทยานฯ อยู่ในพื้นที่เขาหลัก จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมด้วยระยะทางที่ไม่ไกลจากจังหวัดภูเก็ต ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงสัมภาษณ์ตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวที่อยู่บริเวณเขาหลัก
สำหรับตัวแทนธุรกิจที่พัก คณะผู้วิจัยได้สัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจบังกะโลขนาดเล็กในพื้นที่เขาหลัก อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กรมอุทยานฯ ประกาศปิดอุทยานฯ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 จนถึง 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 นอกจากนี้ รัฐบาลมีการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจที่พักแห่งนี้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากและต้องปิดกิจการชั่วคราว ถึงแม้ว่าเจ้าของกิจการจะได้รับเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่ก็จำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานประจำที่มีอยู่ทั้งหมด 3 คน หากพิจารณาโครงสร้างรายได้ของธุรกิจบังกะโลแห่งนี้ โดยเปรียบเทียบระหว่าง 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วง Low Season ในปี 2562 ช่วง High Season (พฤศจิกายน 2562 ถึง มกราคม 2563) และช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์และปิดอุทยานฯ ในปี 2563 พบว่าในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ของธุรกิจบังกะโลมีรายได้ในช่วง High Season สูงกว่าของในช่วง Low Season ประมาณ 10 เท่าตัว เนื่องจากช่วง High Season เป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมเดินทางมาเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
รูปที่ 14: โครงสร้างรายได้ของธุรกิจที่พักบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
ที่มา: จากการสัมภาษณ์โดยคณะผู้วิจัย
สำหรับช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจที่พักแห่งนี้มีรายได้เป็น 0 จากการที่ปิดให้บริการชั่วคราว ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ประกอบการมีการหารายได้เสริมโดยการทำสวนมังคุด แต่รายได้ก็ไม่เพียงพอ สำหรับช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ธุรกิจที่พักแห่งนี้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่ไม่ได้เข้าร่วมโคงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” มีนักท่องเที่ยวชาวไทยมาใช้บริการน้อยมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เคยมาใช้บริการส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 98) การที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยตามปกติได้ส่งผลให้ธุรกิจที่พักแห่งนี้ยังคงขาดรายได้ในช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์
สำหรับตัวแทนธุรกิจร้านอาหารบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์เจ้าของร้านอาหารทะเล ซึ่งสามารถรองรับลูกค้าได้สูงสุดประมาณ 80 – 100 คน/วัน โดยร้านอาหารทะเลดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่เขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวังพังงา รูปที่ 15 แสดงโครงสร้างรายได้ของร้านอาหารแห่งนี้ จากรูปที่ 15 พบว่าร้านอาหารมีรายได้ในช่วง High Season และ Low Season ในระดับที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากร้านอาหารแห่งนี้เปิดกิจการมาเป็นเวลา 26 ปีและเป็นที่นิยมของคนในพื้นที่อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ระหว่างเดือนมีนาคม – ตุลาคม 2563 ร้านอาหารแห่งนี้จำเป็นต้องปิดให้บริการรับประทานอาหารภายในร้าน มีเพียงการให้บริการส่งอาหารภายในพื้นที่เขาหลักเท่านั้น อีกทั้งร้านอาหารต้องลดราคาอาหารลงมาครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้รายได้ของร้านอาหารแห่งนี้ลดลงประมาณร้อยละ 90 เจ้าของร้านอาหารแห่งนี้ไม่มีการเลิกจ้างพนักงานประจำ แต่ต้องลดค่าจ้างลงจาก 300 บาทต่อวันเหลือ 200 บาท
ต่อวัน
ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ เจ้าของร้านอาหารแห่งนี้ได้รับเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่เงินเยียวยาดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น เจ้าของร้านอาหารต้องนำเงินเก็บสำรองมาใช้ พร้อมกับกู้เงินเพิ่มเติมจำนวน 3 แสนบาท มาหมุนเพื่อชำระค่าใช้จ่าย ในช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ร้านอาหารแห่งนี้ได้กลับมาเปิดให้บริการตามปกติ และเริ่มมีรายได้เข้ามา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75 ของรายได้ในช่วงสถานการณ์ปกติ เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมเดินทางมาเที่ยวที่พื้นที่เขาหลัก เพราะมีระยะทางไม่ไกลมากจากจังหวัดภูเก็ต และมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวทั้งค่าที่พักและค่าอาหารต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดภูเก็ต ประกอบกับการที่ร้านอาหารทะเลดังกล่าวเข้าร่วม “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน”
รูปที่ 15: โครงสร้างรายได้ของธุรกิจร้านอาหารบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
ที่มา: จากการสัมภาษณ์โดยคณะผู้วิจัย
สำหรับตัวแทนธุรกิจขายของฝากบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจขายของฝากขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา รูปที่ 16 แสดงโครงสร้างรายได้ของธุรกิจขายของฝากที่ให้สัมภาษณ์ จากรูปที่ 16 พบว่ารายได้ในช่วง High Season สูงกว่ารายได้ในช่วง Low Season ประมาณร้อยละ 50 โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย (ร้อยละ 80) นอกจากรายได้จากการขายของฝากแล้ว ยังมีรายได้จากการให้บริการส่งของฝากทั่วประเทศโดยคิดค่าขนส่ง ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการได้เปิดธุรกิจตามปกติแต่นักท่องเที่ยวที่ลดลงส่งผลให้รายได้ลดลงประมาณร้อยละ 70 จากช่วงปกติ ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการจะมีการขายของฝากพร้อมบริการส่งของ แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนรายได้จากการขายของฝากที่หน้าร้านได้ ในช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ เริ่มมีลูกค้ากลับมาอุดหนุนจนส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่ากับรายได้ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยนักท่องเที่ยวทั้งหมดเป็นชาวไทย ในมุมมองของผู้ประกอบการ การเข้าร่วม “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวมาซื้อของฝากที่ร้านของตน
รูปที่ 16: โครงสร้างรายได้ของธุรกิจร้านขายของฝากบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
ที่มา: จากการสัมภาษณ์โดยคณะผู้วิจัย
ในภาพรวม สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวที่อยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์ และการปิดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่พักและร้านอาหารเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเลย สำหรับธุรกิจขายของฝาก ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากสามารถปรับตัวให้ปรับเปลี่ยนช่องทางขายของฝาก นอกจากนี้ การที่ธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจขายของฝากเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ช่วยให้สามารถดึงดูดลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยได้ ทำให้มีรายได้บางส่วนเข้ามาหลังจากที่มีการคลายล็อกดาวน์
3.5 ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด
อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ดตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดระยอง เกาะเสม็ดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยบนเกาะเสม็ดมีทั้งธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร ร้านขาย
ของฝาก และบริการนำเที่ยวของเอกชนจำนวนมาก สำหรับการศึกษานี้ คณะผู้วิจัยเลือกสัมภาษณ์ตัวแทนของธุรกิจท่องเที่ยวในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ดจะครอบคลุมพื้นที่เกาะเสม็ด และพื้นที่บนฝั่งในอำเภอเมือง จังหวัดระยอง
สำหรับตัวแทนธุรกิจที่พัก คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจบ้านพักขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บนเกาะเสม็ด ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการบริหารจัดการกันเองภายในครอบครัว หากพิจารณาโครงสร้างรายได้ของธุรกิจโดยเปรียบเทียบระหว่าง 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วง Low Season ในปี 2562 ช่วง High Season (พฤศจิกายน 2562 ถึง มกราคม 2563) และช่วงที่มีการล็อกดาวน์และปิดอุทยานฯ ในปี 2563 (รูปที่ 17) พบว่าในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ของธุรกิจที่พักในช่วง High Season สูงกว่าช่วง Low Season ประมาณ 2.3 เท่าตัว (ร้อยละ 133) สำหรับช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ธุรกิจที่พักแห่งนี้ไม่ได้ปิดกิจการชั่วคราว แต่กำหนดให้นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการที่พักรายงานตัวใน “ไทยชนะ” และสวมใส่หน้ากากอนามัยขณะที่เข้าพัก ถึงแม้ว่าธุรกิจที่พักแห่งนี้จะไม่ได้ปิดให้บริการที่พัก แต่ปรากฏว่าไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเลย ส่งผลให้ธุรกิจไม่มีรายได้เข้ามาเลยในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ดี เจ้าของกิจการได้รับเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่เงินเยียวยาดังกล่าวก็ไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไม่สามารถกู้เงินมาหมุนนธุรกิจได้เนื่อจากติดปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิที่ดิน ทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่องและเดือดร้อนเป็นอย่างมาก สำหรับช่วงที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการไม่ได้เข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” นักท่องเที่ยวยังไม่มาใช้บริการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจที่พักขนาดใหญ่มีแคมเปญลดราคาที่พัก ทำให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะไปใช้บริการที่พักขนาดใหญ่แทน ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังคงไม่มีรายได้
รูปที่ 17: โครงสร้างรายได้ของธุรกิจที่พักบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด
ที่มา: จากการสัมภาษณ์โดยคณะผู้วิจัย
สำหรับตัวแทนธุรกิจร้านอาหารที่อยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-เกาะเสม็ด คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์เจ้าของร้านอาหารทะเลซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่ตั้งอยู่บนเกาะเสม็ด สามารถรองรับลูกค้าได้จำนวน 60 คน โดยร้านอาหารแห่งนี้ให้บริการทั้งรับประทานอาหารที่ร้าน บริการส่งอาหารถึงบ้าน และขายส่งอาหารทะเลให้กับร้านอาหารทะเลอื่น ๆ รูปที่ 18 แสดงโครงสร้างรายได้ของร้านอาหารทะเลแห่งนี้ จากรูปที่ 18 พบว่าร้านอาหารแห่งนี้มีรายได้ในช่วง High Season สูงกว่าช่วง Low Season ประมาณ 2.1 เท่า (ร้อยละ 110) โดยในช่วง High Season ลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในสัดส่วนเท่า ๆ กัน เนื่องจากเกาะเสม็ดเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และวันหยุดยาว สำหรับช่วง Low Season จำนวนลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยลดลงเหลือเพียงสัดส่วนร้อยละ 20 และในขณะที่ ร้อยละ 80 ของลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน ในช่วงที่มีมาตรการ
ล็อกดาวน์ ร้านอาหารแห่งนี้จำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว ผู้ประกอบการได้รับเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับตัวโดยการเน้นให้บริการส่งอาหารและลดราคาอาหาร ในช่วงหลังจากที่ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่รายได้โดยรวมก็ยังน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ามาก เนื่องจากส่วนใหญ่ลูกค้ามาใช้บริการ เฉพาะในช่วงวันหยุดยาว ในมุมของผู้ประกอบการ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาใช้สิทธิมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีขั้นตอนการใช้สิทธิที่ยุ่งยาก
รูปที่ 18: โครงสร้างรายได้ของธุรกิจร้านอาหารบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด
ที่มา: จากการสัมภาษณ์โดยคณะผู้วิจัย
สำหรับตัวแทนธุรกิจร้านขายของฝากบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-เกาะเสม็ด คณะผู้วิจัยสัมภาษณ์เจ้าของร้านขายอาหารทะเลตากแห้ง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 95) เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย หากพิจารณาโครงสร้างรายได้ของธุรกิจขายของฝากแห่งนี้ รายได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และช่วงวันหยุดยาวเป็นหลัก ในช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง High Season ธุรกิจขายของฝากนี้มีรายได้ในวันธรรมดา 5,000 บาทต่อวัน รายได้จากวันหยุดเสาร์อาทิตย์ 10,000 บาทต่อวัน และรายได้จากช่วงวันหยุดยาว 100,000 บาทต่อวัน สำหรับช่วง Low Season ธุรกิจขายของฝากนี้มีรายได้ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อวัน ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ร้านขายของฝากนี้ยังคงเปิดกิจการแต่ปรับเปลี่ยนช่องทางการขายเป็นการขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก อย่างไรก็ดี รายได้ของธุรกิจแห่งนี้ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 70 ในช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ธุรกิจร้านขายของฝากแห่งนี้เริ่มมีลูกค้ามาอุดหนุนมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ผู้ประกอบการได้เข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ
ในภาพรวม สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-เกาะเสม็ด พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ
อย่างมาก เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่มีรายได้ สำหรับช่วงหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ธุรกิจที่พักยังไม่มีรายได้ แต่ธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจร้านขายของฝากมีรายได้กลับมาบางส่วน
3.6 ข้อคิดเห็นของตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวต่อมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ
การศึกษาในส่วนนี้เป็นการรวบรวมข้อคิดเห็นของตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวที่มีต่อมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” รวมถึงมาตรการด้านอื่น ๆ เช่น มาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน สำหรับข้อคิดเห็นต่อมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” นั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าขั้นตอนในการลงทะเบียนสำหรับผู้ประกอบการและขั้นตอนการใช้สิทธิสำหรับนักท่องเที่ยวค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน ส่งผลให้ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวบางส่วนไม่ได้เข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ได้รับเงินจากโครงการฯ ล่าช้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่มีเงินสดมาหมุนเวียน อีกทั้ง ผู้ประกอบการมองว่าประโยชน์จากโครงการฯ ค่อนข้างน้อย เพราะมีนักท่องเที่ยวที่มาใช้สิทธิน้อย สำหรับข้อคิดเห็นต่อมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวบางรายได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่เงินเยียวยาดังกล่าวค่อนข้างน้อย ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเช่า ค่าจ้างพนักงาน ฯลฯ จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องนำเงินออมออกมาใช้หรือกู้เงินเพื่อนำมาหมุนเวียนในธุรกิจ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ให้สัมภาษณ์ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
4. ข้อเสนอแนะจากการศึกษา
ภาครัฐควรปรับขั้นตอนการลงทะเบียนและการใช้สิทธิของมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ง่ายขึ้นและสะดวกสบายกับทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มโอกาสที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีขนาดเล็กเข้าถึงโครงการช่วยเหลือของรัฐมากขึ้น
การโอนเงินให้ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวภายใต้โครงการช่วยเหลือของรัฐควรมีความรวดเร็ว เพื่อสามารถให้ผู้ประกอบการนำเงินไปหมุนเวียนในธุรกิจได้
มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวควรครอบคลุมธุรกิจประเภทอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น ธุรกิจนำเที่ยว บริการเรือเฟอรี่เพื่อเดินทางไปยังเกาะต่าง ๆ เป็นต้น
ภาครัฐควรมีความชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาของโครงการและควรประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวทราบอย่างทั่วถึง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวว่าควรที่จะเข้าร่วมโครงการหรือไม่
เนื่องจากปัจจุบัน (ขณะที่ดำเนินการสัมภาษณ์) ยังถือว่าเป็นช่วง Low Season สำหรับแหล่งท่องเที่ยวหลายประเภท เช่น เกาะต่าง ๆ ในฝั่งทะเลอันดามัน ดังนั้น จึงไม่สามารถทราบแน่ชัดว่าสถานการณ์ในอนาคตจะดีขึ้นกว่าในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด
วันหยุดยาวอาจยังคงสั้นเกินไปสำหรับการเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องเดินทางไกล เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เป็นต้น ดังนั้น ธุรกิจท่องเที่ยวที่อยู่บริเวณแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ไกลจึงยังไม่ค่อยได้รับประโยชน์จากมาตรการวันหยุดยาวหรือมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เท่าที่ควร
รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โดย คณะผู้วิจัย TDRI
14 กุมภาพันธ์ 2564