ดุลยภาพดุลยพินิจ: ดาบแรกของ โจ ไบเดน

 สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

ในที่สุด นายโจเซฟ อาร์ ไบเดน จูเนียร์ หรือ โจ ไบเดน ก็เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ 20 มกราคม 2564 หลังจากเหน็ดเหนื่อย ประสาทแทบจะกินเนื่องจากลูกเล่น ลูกรวน ลูกบ้าสารพัดของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ ซึ่งแม้แต่วันพิธีสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังไม่เข้าร่วมแถมจัดงานพิธีอำลาในวันเดียวกันที่ใช้ทั้งมารีนวัน (เฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดี) และแอร์ฟอร์ซวัน (เครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดี) แย่งซีนจนวินาทีสุดท้าย

โดยพลันที่เข้ารับตำแหน่งในวันแรก ไบเดนก็ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี และคำสั่งอื่นๆ รวม 17 ฉบับ ซึ่งนับเป็นดาบแรกในการทำหน้าที่และสาระในคำสั่งเหล่านี้ส่วนใหญ่เพื่อตามชำระ (ตามล้างตามเช็ด) หลายเรื่องที่ทรัมป์ทำเอาไว้และไม่เข้าตาไบเดน

คำสั่งประธานาธิบดี และคำสั่งอื่นๆ รวม 17 ฉบับของไบเดนนั้นเป็นเพียงการลงมือขั้นต้นที่สำคัญส่วนหนึ่งของนโยบายและแผนงานที่สมบูรณ์ ซึ่งผู้เขียนขอสรุปสั้นๆ โดยไม่เรียงลำดับสู่กันฟังดังต่อไปนี้

1.แต่งตั้งผู้ประสานงานการต่อสู้กับโควิด-19

เรื่องโควิด-19 เป็นเรื่องความเป็นความตายของอเมริกาที่ใครๆ ทราบดี ณ วันที่ ไบเดนเข้ารับตำแหน่ง อเมริกามีผู้ติดเชื้อโควิด 19 เกิน 24 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิตกว่า 4 แสนคน แต่อดีต ปธน.ทรัมป์ไม่ได้ทำการแก้ปัญหาอย่างจริงจังแถมยังไม่แยแสหน่วยความมั่นคงสุขภาพโลกและการต่อต้านทางชีววิทยาในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council: NSC) ซึ่งสามารถใช้เป็นศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เหมือนกับ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ของไทย ดังนั้นก้าวแรกของไบเดนในการต่อกรกับโควิด-19 คือ การแต่งตั้งนาย Jeffrey D.Zients เป็นผู้ประสานงานการบริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยรายงานตรงต่อประธานาธิบดีและฟื้นฟูการทำงานของหน่วยความมั่นคงสุขภาพโลกและการต่อต้านทางชีววิทยาใหม่ (ก่อนหน้านั้นได้แต่งตั้ง นายแพทย์ Anthony Stephen Fauci เป็นประธานที่ปรึกษาทางการแพทย์ของประธานาธิบดีแล้ว)

2.ออกกฎบังคับให้ทุกคนที่เข้ามาสถานที่รัฐบาลกลางให้สวมหน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างทางสังคม

แทนที่จะบังคับให้ประชาชนทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งอาจมีปัญหาทางกฎหมายไบเดนจึงบังคับเท่าที่บังคับได้คือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางและผู้ที่มาติดต่อสถานที่รัฐบาลกลางต้องสวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างทางสังคมตามคำแนะนำของ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มเติมจากการ “ขอร้อง” ให้คนอเมริกันสวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลา 100 วัน และคำสั่งของ CDC ที่ให้ประชาชนที่เดินทางโดยการขนส่งสาธารณะต้องสวมหน้ากากและรักษาระยะห่างทางสังคมทุกคน

3.กลับเข้าเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO)เนื่องจากทรัมป์ได้ถอนตัวอเมริกาจากการเป็นสมาชิกและเลิกจ่ายค่าบำรุงเมื่อปีที่แล้วโดยกล่าวหาว่า WHO ไร้ประสิทธิภาพและเข้าข้างจีนในกรณีโควิด-19 ครั้งนี้ไบเดนได้มอบให้นายแพทย์ Fauci ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐในบอร์ดบริหาร WHO โดยได้เริ่มเข้าร่วมประชุมทันทีตั้งแต่ 21 มกราคม เพื่อวางแผนรับมือกับโควิด 19 ในระดับโลกต่อไป

4.แก้ปัญหาคนต่างด้าวไบเดนให้ความสำคัญต่อปัญหาคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองค่อนข้างมาก ในบรรดาคำสั่งประธานาธิบดีชุดแรกนี้เป็นเรื่องคนต่างด้าวถึง 5 เรื่องคือ

  • ยกเลิกการห้ามคนมุสลิมเข้าประเทศ หรือ “Muslim ban” ซึ่งทรัมป์ทำไว้ตั้งแต่มกราคม 2560 ที่ห้ามคนมุสลิมจาก 7 ประเทศเข้าสหรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องราวถึงศาลสูงสุดที่ได้ตัดสินให้ผ่อนปรนในระดับหนึ่ง ในปี 2561 ไบเดนบอกว่าจะพิจารณาคัดเลือกผู้เข้าประเทศโดยการประสานงานกับประเทศต้นทาง
  • หยุดสร้างกำแพงชายแดนเม็กซิโก ไบเดนสั่งให้หยุดจ่ายงบประมาณการสร้างกำแพงดังกล่าวที่ทรัมป์สร้างค้างไว้ โดยไบเดนสั่งยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินชายแดนเม็กซิโกที่ทรัมป์ประกาศไว้ เมื่อกุมภาพันธ์ 2561 เพื่อโยกย้ายงบประมาณกระทรวงกลาโหมไปสร้างกำแพง และสั่งหยุดการก่อสร้างกำแพงทันที เพื่อทบทวนสัญญาก่อสร้างและนำงบประมาณไปใช้ด้านอื่น ทั้งนี้ งบประมาณการก่อสร้างเป็นจำนวน 4.5 แสนล้านบาท สำหรับกำแพงที่ยาวประมาณ 1,120 กม. เรื่องนี้กำลังอยู่ในศาลสูงสหรัฐ เพื่อตัดสินกรณีความผิดทรัมป์ผันเงินกระทรวงกลาโหมไปสร้างกำแพง
  • รื้อฟื้นโครงการ DACA (Deferred Action for Childhood Arrivals – การเลื่อนการส่งกลับผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายตั้งแต่เด็กออกไป) โดยโครงการนี้ (ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2555) จะคุ้มครอง หรืองดการเนรเทศผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายประมาณ 7 แสนคนที่เข้ามาอเมริกาตั้งแต่เด็ก แต่ทรัมป์ได้ยกเลิกตั้งแต่ปี 2560 จนเรื่องถึงศาลสูง ซึ่งตัดสินว่าให้คง DACA ไว้ เพราะทรัมป์ทำผิดขั้นตอนการยกเลิกกฎหมาย จนบัดนี้เรื่องยังคาราคาซังอยู่ ไบเดนจึงเรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมายที่ให้ DACA ได้รับสถานะผู้พำนักถาวร และได้รับสถานะพลเมืองสหรัฐต่อไป
  • ชะลอการเนรเทศคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไบเดนยกเลิกคำสั่งของทรัมป์ที่สั่งให้เนรเทศผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายประมาณ 11 ล้านคน โดยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิกำลังจัดลำดับผู้ที่ต้องถูกเนรเทศอยู่ (กรณีชะลอการเนรเทศนี้ถูกศาลระงับไว้เมื่อ 28 มกราคม) ไบเดนยังเสนอด้วยว่าจะให้กรีนการ์ดและสถานะพลเมืองแก่คนที่อยู่ในสหรัฐตั้งแต่ก่อน 1 มกราคม 2564 จำนวน 11 ล้านคนดังกล่าวแล้ว โดยส่วนใหญ่ต้องอยู่มาครบ 8 ปี จึงจะมีสิทธิ ยกเว้นคนที่อยู่ในโครงการ DACA และผู้ที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยจะรอเพียง 3 ปี
  • นับรวมคนต่างด้าวในสำมะโนประชากร ไบเดนเปลี่ยนแผนของทรัมป์ที่จะไม่นับคนต่างด้าวในสำมะโนประชากร 2563 ทั้งนี้ ตัวเลขจำนวนประชากรที่ได้จากสำมะโนฯ (ซึ่งสำรวจ 10 ปีครั้ง) มีความสำคัญคือ เป็นเกณฑ์กำหนดจำนวนผู้แทนและคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละมลรัฐ รวมทั้งงบประมาณที่จะได้รับจากรัฐบาลกลาง ดังนั้นการนับจำนวนคนต่างด้าวจึงมีผลทางการเมือง ทรัมป์ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่นิยมในกลุ่มคนต่างด้าวนัก จึงไม่ต้องการนับคนต่างด้าวในสำมะโนฯ

5.กลับเข้าร่วมข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปารีส (Paris Climate Accord) ข้อตกลงนี้คือ กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change :UNFCCC) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดกฎกติการะหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่มีถึง 195 ประเทศเข้าร่วมและอีก 189 ประเทศ นำแบบแผนนี้ไปใช้เพื่อลดมลพิษในประเทศ มีเพียงสหรัฐ โดยอดีต ปธน.ทรัมป์ เท่านั้นที่ได้ถอนตัวจากข้อตกลงนี้ แต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นนโยบายสำคัญของไบเดนที่ได้หาเสียงไว้

6.ยกเลิกท่อส่งน้ำมัน Keystone XL  (ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากท่อน้ำมัน Keystone เดิม) เพราะท่อน้ำมันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Keystone XL จะส่งน้ำมันวันละ 8.3 แสนบาร์เรลเป็นระยะทางเกือบ 2 พัน กม.จาก อัลเบอร์ต้า แคนาดา ไปเนบราสก้าเพื่อเชื่อมต่อกับท่อเดิมซึ่งส่งไปทางคูชิง โอคลาโฮมา ไปรัฐเท็กซัสแล้วไปลงเรือที่ท่าเรือปอร์ตอาเธอร์ อ่าวเม็กซิโก ซึ่งการได้น้ำมันจากแคนาดาจะลดการพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลาง และในราคาที่ถูกกว่า ท่อน้ำมันดังกล่าวถูกนักสิ่งแวดล้อม และคนอเมริกันพื้นเมืองพยายามต่อสู้คัดค้านมากว่าทศวรรษแล้ว โดยสมัยโอบามาได้สกัดโครงการไว้เมื่อปี 2558 แต่ทรัมป์กลับให้ดำเนินโครงการต่อโดยเหตุผลประการหนึ่งคือ โครงการนี้จะช่วยสร้างงานได้ เกือบ 3 หมื่นตำแหน่ง

นายกรัฐมนตรีของแคนาดา นายจัสติน ทรูโด ก็สนับสนุนโครงการนี้ และบอกว่ารู้สึกผิดหวัง แต่ก็ยอมรับการตัดสินใจของไบเดน ซึ่งได้ต่อสายตรงไปทำความเข้าใจกับทรูโด เมื่อ 22 มกราคมแล้ว

7.ยุบคณะกรรมการ 1776  ซึ่งเป็นคณะที่ปรึกษาที่ทรัมป์ตั้งขึ้นเมื่อกันยายน 2563 เพื่อแก้ต่างรายงานโครงการ 1619 ของนิวยอร์กไทมส์ที่ถลกประวัติระบบทาส และการเหยียดผิวในอเมริกาที่นำคนผิวดำจากแอฟริกามาเวอร์จิเนียในปี 1619 คณะกรรมการ 1776 (ปีที่สหรัฐประกาศเอกราช) ได้เขียน “รายงาน 1776” ที่เผยแพร่ในวันมาร์ติน ลูเธอร์คิง 18 มกราคม 2564 (หลังเหตุจลาจลปล้นรัฐสภาที่วอชิงตันดี.ซี. เมื่อ 6 มกราคม) โดยทำตามแนวคิดของทรัมป์ที่ต้องการซ่อนปัญหาการเหยียดผิว และบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นมาของระบบทาส และการเหยียดผิวในอเมริกา งานนี้นักประวัติศาสตร์ของอเมริกาหลายคนได้คัดค้าน และเรียกรายงาน 1776 ว่าเป็นประวัติศาสตร์ปลอม

8.ต่อต้านการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มเพศทางเลือก (LGBT) อย่างจริงจัง โดยบังคับใช้เข้มงวดมากขึ้นกับลักษณะ 7 ตามกฎหมายสิทธิพลเมืองสหรัฐที่ว่าด้วยโอกาสการจ้างงานที่เท่าเทียมกัน

9.ให้นโยบายการขจัดลัทธิเหยียดผิวในระบบราชการ โดยสั่งให้หน่วยงานรัฐบาลกลางทุกหน่วยศึกษาและรายงานความเท่าเทียมกันในตำแหน่งต่างๆ ภายใน 200 วัน

10.ยืดเวลาการชำระเงินกู้เพื่อการศึกษา11.ยืดเวลาการยึดทรัพย์และการไล่ที่รัฐบาลกลางค้ำประกันเงินกู้ออกไป

12.เพิ่มความเชื่อมั่นในรัฐบาล โดยให้บุคลากรที่ไบเดนแต่งตั้งทุกคนลงนามในคำปฏิญาณว่าจะดำรงรักษาไว้ ซึ่งความไว้วางใจต่อรัฐ และ

13.ยับยั้งระเบียบที่ออกใหม่โดยกะทันหันโดยทรัมป์ (Midnight regulations) เพื่อทบทวน

ชุดคำสั่งประธานาธิบดีในวันแรก แค่ดาบแรกครับ ยังเหลืออีกหลายยกหลายเพลงดาบที่รัฐบาลไบเดนต้องสู้ต่อ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องหนักๆ ที่ทยอยตามมา เช่น การแก้ปัญหาโควิด-19 การจัดหาและฉีดวัคซีน ภาวะวิกฤตของธุรกิจ การว่างงาน การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ การบรรเทาทุกข์และศึกงบกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ Build Back Better สงครามการค้า โครงการ “Buy American”  “Made in America” ปัญหาผิว และการต่างประเทศ ฯลฯ เรื่องต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่หนักอึ้ง

ก็ตามดูอยู่ขอบเวทีครับ

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2564