tdri logo
tdri logo
26 มีนาคม 2021
Read in Minutes

Views

ทำไมเราต้องเป็นห่วงการระบาดใหญ่ในช่วงสงกรานต์ มากกว่าช่วงหยุดยาวหลายครั้งที่ผ่านมา ?

ดร.วิโรจน์  ณ ระนอง

ในช่วงกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 (ปีที่ผ่านมา) หลังจากพบว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นจากไม่กี่คนเป็น 177 คน รัฐบาลได้ประกาศปิดกิจกรรมต่างๆ ที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงในวันที่ 17 มีนาคม 2563 ทำให้มีประชาชนจำนวนมากเดินทางออกต่างจังหวัดในช่วงก่อนวันที่ 22 มีนาคม และไปมีผลทำให้เกิดการระบาดในต่างจังหวัด

โดยในแต่ละวันในช่วงปลายเดือนมีนาคม พบผู้ติดเชื้อใหม่ในต่างจังหวัดจำนวนมากพอ ๆ กับที่พบในกรุงเทพมหานคร  ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรวมเพิ่มขึ้นถึงสิบเท่าตัวในชั่วระยะเวลาเพียงครึ่งเดือน คือเพิ่มจากจาก 177 คนเมื่อ 17 มีนาคม เป็น  1,771 คน เมื่อ 1 เมษายน  ซึ่งนำไปสู่การปิดเมือง/ล๊อคดาวน์ของหลายจังหวัดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม และขยายไปเป็นการปิดเมืองทั่วประเทศในเดือนเมษายน รวมทั้งการยกเลิกกิจกรรมสงกรานต์ทั้งหมด

ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้ช่วยให้การระบาดเริ่มชะลอตัว คือเพิ่ม 400 คน จาก 2,551 คนเมื่อ 12 เมษายน เป็น 2,954 คนเมื่อ 30 เมษายน (เพิ่ม 400 คน ในช่วง 18 วันหลังของเดือนเมษายน)  และหลังจากประเทศไทยค่อย ๆ ออกจากการปิดเมืองเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม การระบาดก็ค่อย ๆ ชะลอลงในช่วงเดือนพฤษภาคม จนจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ภายในประเทศลดลงเหลือ 0 เมื่อ 26  พฤษภาคม และเป็น 0 ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 100 วัน ถือว่าเป็นการจบลงของการระบาดระลอกแรกของไทย ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรวมประมาณ 3,000 คน โดยเป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศรวม 2,444 คน

รูปที่ 1 ยอดรวมผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ของไทย ระหว่าง 22 มกราคม – 25 พฤษภาคม 2563

หมายเหตุ: ระหว่าง 26  พฤษภาคม ถึงต้นเดือนกันยายน 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศที่ตรวจพบมีจำนวนคงที่ที่ 2,444 คน ที่เหลือเป็นการตรวจพบจากสถานกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

หลังจากนั้นรัฐบาลได้พยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาหลายมาตรการ รวมทั้งการกำหนดวันหยุดยาว เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งมีมาตรการป้องกันการติดเชื้อด้วย และก็ผ่านไปด้วยดีในช่วงกลางปีถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต ม็อบหลายสิบครั้ง  แต่ก็แทบจะไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศจากกิจกรรมเหล่านั้นเลย

หลังจากนั้นประเทศไทยมาพบการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งน่าจะมีจุดเริ่มมาจากผู้ติดเชื้อทั้งคนไทยและกลุ่มแรงงานข้ามชาติและครอบครัวที่น่าจะมีจุดเริ่มจากการติดเชื้อจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วมาแพร่เชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจากการอยู่ร่วมกันอย่างแออัด ไม่ว่าจะเป็นบ่อนหรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติ  

แต่การที่การระบาดหลักเกิดขึ้นในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานที่แข็งแรง และไม่ค่อยได้เข้าไปรับรักษาพยาบาลในกรณีที่อาการไม่หนัก ก็ทำให้เมื่อเริ่มตรวจพบการระบาดที่ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร ก็น่าจะมีการติดเชื้อมานานแล้ว (การตรวจใหญ่ในวันต่อมาพบผู้ติดเชื้อถึงร้อยละ 43) และมีการแพร่ระบาดไปสู่คนไทยจำนวนมาก  ซึ่งหลุดรอดออกไปกระจายเชื้อตามวง (cluster) การระบาดใหม่ต่างๆ ที่กระจายออกไปในหลายจังหวัด และยังตรวจพบเรื่อย ๆ มาจนถึงทุกวันนี้ 

การระบาดระลอกนี้มีความรุนแรงกว่าในระลอกแรกอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นในจังหวัดสมุทรสาคร (17195 คน ณ 24 มี.ค.) หรือคนไทยในจังหวัดอื่นๆ (มากกว่า 7000 คน ณ 25 มี.ค.) ซึ่งเป็นจำนวนเกือบสามเท่าของผู้ติดเชื้อในประเทศในระลอกแรก  และเนื่องจากการติดตามคนไทยนอกจังหวัดสมุทรสาครในช่วงแรกไม่สามารถทำได้อย่างครบถ้วนมากเท่าในระลอกแรก ทำให้น่าจะมียังผู้ติดเชื้อคนไทยเองกระจายอยู่จำนวนมากในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง

สถานการณ์ปัจจุบัน—ที่น่าจะมีผู้ติดเชื้อที่หลงเหลืออยู่จำนวนมาก–ทำให้การเดินทางกลับต่างจังหวัดที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างขนานใหญ่ในช่วงหยุดยาวสงกรานต์นี้  รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว มีโอกาสที่จะเพิ่มการระบาดในต่างจังหวัดที่น่าจะรุนแรงกว่าในปีที่ผ่านมาก

ซึ่งทาง ศบค. เองก็ได้ออกมาตรการมาบางประการ เช่น ขอความร่วมมือ “งดสาดน้ำ ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม และจัดคอนเสิร์ต” นอกจากนี้ยังมีมติลดเวลาการกักตัวเหลือ 10 วันจาก 14 วัน และแบ่งโซนจังหวัดเป็นกลุ่มสีต่างๆ  และการกำหนดมาตรการในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในช่วงสงกรานต์  แต่มาตรการเหล่านี้ไม่น่าเพียงพอที่จะป้องกันการระบาดได้มากนัก เมื่อพิจารณาความเสี่ยงที่สำคัญในช่วงต่างๆ 

  • ในช่วงการเดินทาง ซึ่งปัจจุบันไม่ชัดเจนว่าในพาหนะที่เป็นที่นิยมต่างๆ โดยเฉพาะรถทัวร์ รถโดยสาร และรถตู้ รวมทั้งรถโดยสารในตัวจังหวัด ยังคงใช้มาตรการเว้นระยะห่างมากน้อยแค่ไหน  แต่ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า ในช่วงวันหยุดยาวนี้ น่าจะมีความต้องการเดินทางเป็นจำนวนมาก  และมีโอกาสมากที่ถ้ารัฐไม่เน้นเรื่องนี้อย่างชัดเจน (นอกจากการกล่าวถึงการปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T[1]) ก็อาจมีการละเลยมาตรการด้านความปลอดภัยที่อาจจะสำคัญกว่านั้นอีก เช่น การบังคับให้ทุกคนสวมหน้ากากตลอดเวลา (และทั้งผู้โดยสารและรถต่างก็ควรเตรียมหน้ากากสำรองไว้สำหรับกรณีที่จำเป็น เพื่อให้สามารถบังคับเรื่องนี้ได้จริงด้วย ซึ่งอาจจะต้องเผื่อมากกว่าปกติเพราะมีโอกาสที่หน้ากากอาจจะเปียกน้ำมากกว่าปกติด้วย)
  • การแบ่งโซนจังหวัดเป็นกลุ่มสีต่างๆ แม้ว่าจะมีประโยชน์บ้างในการมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในกรณีที่จังหวัดปลายทางมีความเสี่ยงสูง แต่คงจะไม่ได้ช่วยอะไรมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปัญหาความเสี่ยงของการระบาดในต่างจังหวัดน่าจะเกิดจากคนในจังหวัดเสี่ยงต้นทางเดินทางกลับเข้าจังหวัดเหล่านั้นมากกว่า มาตรการนี้จึงมีผลจำกัด (และดูเหมือนหลังจากการประชุม ศบค. ในวันที่ 19 มีนาคม 64 รัฐบาลก็ไม่ได้เน้นย้ำมาตรการนี้มากนัก (นอกจากบอกให้ระวังการย้ายไปทำกิจกรรมข้ามโซน)
  • มาตรการหลักๆ ที่รัฐบาลประกาศ ออกมาในลักษณะของ “แนวทาง” “ข้อห่วงใย”  และยังมีการแถลงหรือให้สัมภาษณ์ด้วยว่ามาตรการทั้งหมดเป็นการ “ขอความร่วมมือ” และจะไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืน  ซึ่งแม้ว่าแนวคิดเรื่องการอะลุ้มอล่วยคงสอดคล้องกับบรรยากาศเทศกาล แต่ก็อาจส่งสัญญาณให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐไม่ได้เข้มงวดหรือเป็นห่วงกับการระบาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้มากนัก

เป็นที่เข้าใจได้ว่ารัฐบาลคงหวังใช้ช่วงหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในทำนองเดียวกันกับที่รัฐบาลได้เคยออกมาตรการกำหนดวันหยุดยาวหลายครั้งที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ 

อย่างไรก็ตาม วันหยุดยาวในเทศช่วงสงกรานต์ครั้งนี้มีความเสี่ยงมากกว่าวันหยุดยาวในครั้งก่อนๆ มาก  ทั้งจากธรรมชาติของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์เอง และจากสถานการณ์ในปัจจุบันซึ่งน่าจะมีผู้ติดเชื้อ—โดยเฉพาะกลุ่มที่หนุ่มสาวที่แข็งแรงและไม่มีอาการชัดเจน–แฝงตัวอยู่ในประชากรในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง ที่จะเดินทางกลับต่างจังหวัดเป็นจำนวนมากกว่าเมื่อกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 หลายเท่าตัว 

ซึ่งแม้ว่าประชาชนไทยควรได้รับโอกาสที่จะผ่อนคลายบ้างหลังจากที่ไม่ได้รับโอกาสในช่วงสงกรานต์ในปีก่อน  แต่รัฐบาลควรจะต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังประชาชนว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ความเสี่ยงที่สูงขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงที่คนหนุ่มสาวอาจนำเชื้อไประบาดและเพิ่มความเสี่ยงกับญาติผู้ใหญ่มากขึ้น  และต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการที่สำคัญ เช่น การใช้หน้ากาก ไม่ใช่ส่งสัญญาณที่เหมือนอนุญาตให้ผ่อนคลายหรือ “ปล่อยการ์ดตกได้” เสียเอง


[1] D ย่อมาจาก Distancing คือการเว้นระยะห่างกับคนอื่น M ย่อมาจาก Mask Wearing คือการสวมหน้ากาก H ย่อมาจาก Hand Washing คือการหมั่นล้างมือบ่อย ๆ T ย่อมาจาก Testing คือตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย T ย่อมาจาก Thai Cha na คือการสแกนแอปไทยชนะทุกครั้งที่เดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “COVID-19 Policy Watch” ซึ่งเป็นโครงการย่อยใน “โครงการประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในมิติสังคมและเศรษฐกิจ” ที่ TDRI ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

นักวิจัย

ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด