โรงเรียน Sandbox ผลลัพธ์ความร่วมมือคนในพื้นที่ รัฐ เอกชน สู่ ร.ร. ดีใกล้บ้าน

วันที่ 19 มี.ค. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “โรงเรียน Sandbox ป.2/7: การศึกษาที่เปลี่ยนไปในพื้นที่นวัตกรรม” นำเสนอผลลัพธ์และบทเรียน หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาแล้ว 2 ปี

ตั้งเป้าหมายปลดล็อคอุปสรรคของโรงเรียน ผอ. ครู และนักเรียน ภายใน 7 ปี ส่งเสริมให้เกิดโรงเรียนดีใกล้บ้าน โดยชุมชนคนในพื้นที่มีส่วนร่วม อีกทั้งภายในงานเสวนา มีตัวแทนภาคการศึกษา จากโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) จ.สตูล จ.ระยอง จ.ศรีสะเกษ และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแบ่งปันบทเรียนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในจังหวัดพื้นที่นำร่อง  

วางเป้าหมายไปสู่ โรงเรียนดีใกล้บ้านที่ใครๆก็เข้าถึง

ประเทศไทยมีโรงเรียนจำนวนมากที่สอนแบบ Passive Learning คือ จัดการเรียนการสอนในรูปแบบคล้ายกันไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่หรือมีบริบทแตกต่างกัน โดยกำหนดเป้าหมายให้ผู้เรียนสามารถทำข้อสอบได้เป็นหลัก

วิธีการและเป้าหมายดังกล่าวส่งผลให้นักเรียนไม่สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการแก้ปัญหาชีวิตในประจำวัน ไม่สามารถค้นพบความต้องการและความถนัดของตนเอง ไปจนถึงอาชีพในอนาคต

ประกอบกับสถานศึกษาคุณภาพดียังมีน้อย และกระจุกตัวในบางพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองหลักและกรุงเทพฯ นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างเด็กให้มีความพร้อมในอนาคต พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากจึงต้องการให้มี โรงเรียนดีใกล้บ้าน” ที่ใครๆก็เข้าถึงได้

โรงเรียนดีใกล้บ้านคือ โรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning มีความเหมาะสมกับบริบทความต้องการของพื้นที่ ผู้อำนวยการโรงเรียนให้ความสำคัญกับการสนับสนุนโรงเรียนทั้งทรัพยากร แหล่งเรียนรู้ สื่อการเรียนการสอน ส่งผลให้เกิดผู้เรียนที่มีคุณภาพ รู้จักตนเอง มีความรู้และทักษะที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างประโยชน์ให้กับทั้งตนเองและสังคม

สาเหตุที่โรงเรียนดีใกล้บ้าน มีน้อยและเกิดขึ้นได้ยาก คือ  1) กฎระเบียบของกระทรวงศึกษาฯ เข้มงวด แก้ไขลำบาก 2) ความรับผิดรับชอบต่อผู้เรียน มุ่งตรงไปที่หน่วยงานต้นสังกัดอย่างกระทรวงศึกษาฯ 3) การดำเนินนโยบายการศึกษาขาดความชัดเจน ไม่ต่อเนื่อง และ 4) การเรียนการสอนแบบ Active Learning ไม่สามารถขยายผลไปทั่วประเทศได้

กลไกสู่โรงเรียนดีใกล้บ้าน เป็นไปได้ ด้วย พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562

การเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนจำนวนมากที่สอนแบบ Passive Learning ไปสู่โรงเรียนดีใกล้บ้าน  สอนแบบ Active Learning จำเป็นต้องมีกลไกสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่

  • โรงเรียน และ พื้นที่ มีอิสระในการบริหารจัดการ พร้อมมีความรับผิดรับชอบต่อผู้เรียน
  • คนในพื้นที่มีส่วนร่วม
  • ห้องเรียนแบบ Active Learning ขยายผลได้ หนุนให้เกิดนวัตกรรมในโรงเรียน

แต่กลไกดังกล่าว ยังไม่เพียงพอให้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้หากขาด 2 เงื่อนไขสำคัญคือ

  • ระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา ผลลัพธ์ที่ปรากฎชัดเจนมักใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี และใช้เวลา 5 ปีเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
  • นโยบายมีความชัดเจนและความต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์การเมือง

พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 จึงถูกบัญญัติขึ้นเพื่อนำไปสู่การสร้าง 3 กลไกและ 2 เงื่อนไขโดยมีการกำหนดและให้การรับรอง  1) การกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการบริหารทั้งระดับโรงเรียนและพื้นที่ 2) การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐบาลส่วนกลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน และ ประชาสังคม ในการกำหนดทิศทาง การเรียนการสอนให้กับผู้เรียนในบริบทของตนเอง 3) การประเมินผลเพื่อสร้างบทเรียนสู่การขยายผล ผ่านการลงมือทำภายในพื้นที่และโรงเรียนเฉพาะกลุ่ม

ติดตามผลลัพธ์ความเปลี่ยนแปลง ผ่านการศึกษาวิจัย  

ผลการศึกษา “โครงการวิจัยเพื่อประเมินผลและถอดบทเรียนการพัฒนาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” โดย ทีดีอาร์ไอ พบว่า พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมฯ ที่มีอายุ 7 ปี นับจากวันประกาศใช้ เมื่อ พ.ศ. 2562 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงใน 2 มิติ 1) มิตินโยบาย พบว่า เริ่มมีการผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนรู้ เช่น อนุญาตให้โรงเรียนเลือกสื่อและหนังสือเรียนนอกรายการของกระทรวงศึกษาฯ ได้ หากเป็นสื่อที่สอดคล้องกับนวัตกรรมที่โรงเรียนใช้ โรงเรียนสามารถเลือกรับและปฏิเสธโครงการได้

อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบใหม่บางข้อยังไม่ถูกใช้งานจริงอย่างเต็มที่ และ มีกฎระเบียบอีกหลายด้านที่ยังไม่ถูกคลี่คลาย เช่น การจัดสรรงบประมาณ และการคัดเลือกครู

2) มิติการขยายผลนวัตกรรมการสอนที่ดี โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมได้รับการพัฒนาบุคลากรในหลากหลาย ผ่านการสนับสนุนจากภาคีภาคประชาสังคมและเอกชน เช่น การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) และ การเรียนการสอนแบบเปิด (Open Approach) เป็นต้น ซึ่งมีรูปแบบการพัฒนาที่ต่างกันทั้งเน้นการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) และเน้นเฉพาะวิชา (Subject-based)

พงศ์ทัศ วนิชานันท์ และ ภูษิมา ภิญโญสินวัฒน์ นักวิจัยนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ ลงพื้นที่ศึกษาเชิงลึก ติดตามโรงเรียนนำร่องจำนวน 12 โรงเรียน สำรวจการเปลี่ยนแปลงเจตคติของนักเรียน 180 คน และการเปลี่ยนแปลงในระดับโรงเรียน รวมทั้งเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในโรงเรียนนำร่องและโรงเรียนปกติจำนวน 40,000 คน

ผลสำรวจ พบสัญญาณบวก เนื่องจากมีนักเรียนเกือบ 50% ที่มีความสุขมากขึ้นเมื่อมาโรงเรียน เด็กนักเรียนกลุ่มเรียนอ่อน 13 จาก 19 คน มีความเข้าใจในการเรียนมากขึ้น ครู และ ผอ. มีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อการพัฒนานวัตกรรมการสอน โรงเรียนมีความต้องการได้ครูที่มีความสอดคล้องกับการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น ด้านครูเริ่มมีความต้องการพัฒนาวิชาชีพในทักษะที่ตนเองขาด โดยเฉพาะทักษะการวิเคราะห์เด็กรายบุคคล

ผลการเปลี่ยนแปลงนี้สังเกตพบได้ชัดเจนในโรงเรียนที่เน้นการพัฒนาทั้งระบบมากกว่าการพัฒนาเฉพาะวิชา อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลา 2 ปี การประเมินนวัตกรรมการสอน พบว่า ยังดึงดูดนักเรียนได้เพียงบางกลุ่ม อีกทั้งด้านผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการของนักเรียนในพื้นที่ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

บทเรียนที่ได้

การพัฒนาพื้นที่นวัตกรรม มีความท้าทายและซับซ้อนเนื่องจาก 1) กฎหมายมีความซับซ้อน มีเงื่อนไขสัมพันธ์กัน ทำให้โรงเรียนปฏิบัติตามได้ยากและขาดความมั่นใจในการปฏิบัติ 2) การปรับใช้นวัตกรรมในโรงเรียนให้ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้รายละเอียด การปรับแผนการสอนตามความแตกต่างของบริบทหน้างาน รวมถึงการสนับสนุนจาก ผอ. ในหลายด้าน 3) การทำงานร่วมกันภายในพื้นที่นวัตกรรม มีความท้าทายด้านการสร้างความเข้าใจในนวัตกรรมการสอน รูปแบบความร่วมมือ และการสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ

ประสบการณ์จริงจากคนในพื้นที่

ตัวแทนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่นวัตกรรม แบ่งปันประสบการณ์ จากการขับเคลื่อนงานในพื้นที่นวัตกรรมพร้อมให้ข้อเสนอแนะ พร้อมส่งสัญญาณผลักดันให้พื้นที่นวัตกรรมเดินหน้าต่อ

ลำดวน บุญเยี่ยม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอีหนา จ.ศรีสะเกษ กล่าวถึงความท้าทายเมื่อครูและผู้บริหารในโรงเรียนนำร่อง ว่าต้องทำงานตอบโจทย์ทั้งหน่วยงานต้นสังกัด และการจัดการสอนแบบใหม่ด้วย ทำให้มีภาระงานเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกกันว่า โรงเรียน 2 ซิม

จึงเสนอว่าควรมีนโยบายที่สร้างขวัญกำลังใจให้ครูและผู้บริหาร ปรับเกณฑ์การเลื่อนขั้นวิทยฐานะสำหรับครูในโรงเรียนนำร่องที่สอดคล้องกับการทำงานของโรงเรียน เพื่อให้ดึงดูดโรงเรียนที่มีวิสัยทัศน์ต้องการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้มาทำงานร่วมกันในพื้นที่นวัตกรรม รวมถึงการสร้างความมั่นใจจากภาคนโยบายว่า นโยบายนี้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

คุณธงชัย มั่นคง ตัวแทนคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม จ.ระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองต้องการเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่ใช้ตำราเป็นตัวตั้ง ไปสู่การเรียนจากชีวิตและบริบทของคนในจังหวัดซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งพื้นที่ชายฝั่ง พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เกษตรกรรม

การตั้งเป้าหมายนี้กระตุ้นให้คนในจังหวัดลุกขึ้นมาระดมความคิด ร่วมลงมือทำ และสร้างสมรรถนะของนักเรียนที่เกิดขึ้นจากการเรียนรูปแบบใหม่

ที่ผ่านมาพบอุปสรรคจากการที่โรงเรียนยังต้องแปลงเอกสารผลการเรียนรูปแบบสมรรถนะกลับไปเป็นแบบรายวิชาเช่นเดียวกับโรงเรียนอื่นๆ อีกทั้งมีบางโรงเรียนเกิดความกังวลว่านักเรียนจะสามารถไปศึกษาต่อในโรงเรียนอื่นได้หรือไม่

ภาคนโยบายควรเร่งสร้างมาตรฐานของการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษา รับรองผลสมรรถนะของนักเรียนที่ยึดโยงกับมาตรฐานชาติ พร้อมด้วยแนวทางการประเมินที่หลากหลายตามแนวคิดของโรงเรียน เชื่อมโยงผลการประเมินกับการประเมินครูเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ทุกหน่วยงานมุ่งสร้างสมรรถนะให้นักเรียนได้เทียบเท่าหรือมากกว่าแบบเดิม

คุณสมพงษ์ หลีเคราะห์ ตัวแทนคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม จ.สตูล มองว่าโรงเรียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา และการจะพัฒนาผู้เรียนให้พร้อมรอบด้านทั้งทัศนคติ ทักษะ และ ความรู้นั้น โรงเรียน ครอบครัว ชุมชน ต้องร่วมกันทำให้ทุกสถานที่ ทุกเวลาสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ นำมาสู่นวัตกรรมโครงงานฐานวิจัย (Research-based Learning) โดยตั้งโจทย์การเรียนรู้จากความต้องการของพ่อแม่และชุมชน มุ่งสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น การทำอาหาร ทำบัญชีรายรับรายจ่าย ไปจนถึงบริหารธุรกิจ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะภาคประชาชนได้เป็นเจ้าของในการผลักดันพื้นที่อย่างแท้จริง ครู ผอ. ผู้ปกครอง และคนในชุมชน ต่างมีบทบาทรับผิดชอบสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น สุดท้ายคุณสมพงษ์มองว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนนั้นต้องมาจากคนในพื้นที่ มากกว่าหวังพึ่งบุคลากรจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว

ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) หน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการดำเนินงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่นวัตกรรมฯ โดยได้มีการตั้งคณะทำงานร่างแนวทางการรับรองการเทียบโอนผลการเรียน

ทาง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการผ่อนคลายให้การสอบโอเน็ตเป็นไปตามความสมัครใจของผู้เรียน ทาง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) ก็กำลังปรับหลักเกณฑ์การโยกย้ายใหม่ให้ไม่ใช้ผลโอเน็ตในการพิจารณาแล้ว ประกอบกับเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีนโยบายให้นำโอเน็ตออกจากเกณฑ์การประเมินต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านยุทธศาสตร์ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เห็นว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นโอกาสในการปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ เพราะเกิดความร่วมมือของบุคคลในภาคนโยบายที่ให้อิสระในบางประเด็นอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น และเริ่มดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบในประเด็นที่ท้าทาย อย่าง การประเมิน การบริหารบุคลากร และ การบริหารงบประมาณ

ส่วนการเติบโตของผู้เรียนนั้นยังต้องอาศัยเวลา ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแม้จะเป็นเวลาที่สั้นแต่การเปลี่ยนแปลงในเชิงทัศนคตินั้นเป็นสัญญาณแห่งความหวัง และเชื่อว่าการปฏิรูปครั้งนี้เริ่มมาถูกทางแล้ว ขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจและใช้โอกาสนี้ลงมือทำอย่างเต็มที่

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานอนุกรรมการด้านยุทธศาสตร์ พื้นที่นวัตกรรม เห็นว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นโอกาสในการปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ เพราะเกิดความร่วมมือของบุคคลในภาคนโยบายที่ให้อิสระในบางประเด็นอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น และเริ่มดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบในประเด็นที่ท้าทาย อย่าง การประเมิน การบริหารบุคลากร และ การบริหารงบประมาณ

ส่วนการเติบโตของผู้เรียนนั้นยังต้องอาศัยเวลา ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแม้จะเป็นเวลาที่สั้นแต่การเปลี่ยนแปลงในเชิงทัศนคตินั้นเป็นสัญญาณแห่งความหวัง และเชื่อว่าการปฏิรูปครั้งนี้เริ่มมาถูกทางแล้ว ขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจและใช้โอกาสนี้ลงมือทำอย่างเต็มที่

 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

งานเสวนามีข้อสรุปเสนอแนะ 3 ประเด็น

  • ภาครัฐทั้ง ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษานิเทศก์ ผอ.เขต รวมถึงหน่วยงานสังกัดต่าง ๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้จัดการศึกษาหลักและกำกับการทำงาน มาเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการนำภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางในพื้นที่ เอื้อให้เกิดอิสระในการทำงาน
  • มุ่งพัฒนาโรงเรียน ผ่านการพัฒนาครูให้มีทักษะการวิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคล สร้างห้องเรียนที่ดึงดูดผู้เรียนทุกกลุ่ม รวมถึง การพัฒนาผอ.ให้มีทักษะด้าน มนุษยสัมพันธ์ เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีขึ้น
  • เร่งปลดล็อกกฎหมาย เพิ่มอิสระในการทำงาน กำหนดเป้าหมาย ระยะเวลา ให้มีความชัดเจน รวมถึงสื่อสารสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติตามกฎหมายที่ให้อิสระแล้ว เช่น การปฏิเสธโครงการ จัดซื้อสื่อหนังสือเรียน รวมถึงการลดทอนตัวชี้วัดลงให้เหลือแต่ตัวชี้วัดที่ตรงความต้องการ

พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีอายุเพียง 7 ปีในการดำเนินงาน แต่การทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และงบประมาณจากทุกภาคส่วน นำมาสู่สัญญาณการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกใน 2 ปีแรก แม้จะเป็นสัญญาณเล็ก ๆ แต่ความพยายามของทุกพื้นที่ได้จุดประกายความหวังในการปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ ทุกปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่บทเรียนเพื่อแก้ไขและนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆเกิดเป็น โรงเรียนดีใกล้บ้านได้อย่างแท้จริง

 

งานเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการวิจัยเพื่อประเมินผลและถอดบทเรียนการพัฒนาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกสว.) 

สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.edusandbox.com/

ภาพบรรยากาศงานเสวนา