ทีดีอาร์ไอ จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “โรงเรียน Sandbox ป.2/7: การศึกษาที่เปลี่ยนไปในพื้นที่นวัตกรรม” นำเสนอผลลัพธ์ หลัง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ประกาศใช้ ครบ 2 ปี เห็นผลด้านบวก นักเรียนมีความสุขขึ้น ครูสนใจการสอนรูปแบบใหม่และมีแนวโน้มพัฒนาตนเอง ผู้อำนวยการโรงเรียนเห็นความสำคัญของการมีครูที่มีทักษะหลากหลาย แต่ยังติดอุปสรรคกฎระเบียบงบฯ บุคลากร เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหนุนช่วย ด้านตัวแทนภาคการศึกษาจากทั้งโรงเรียนในพื้นที่ และผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมกิจกรรมเสวนา แลกเปลี่ยนบทเรียนจากการทำงานตลอดระยะเวลา 2 ปี
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. นาย พงศ์ทัศ วนิชานันท์ และ นางสาว ภูษิมา ภิญโญสินวัฒน์ นักวิจัยนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ นำเสนอผลงานวิจัยโครงการวิจัยเพื่อประเมินผลและถอดบทเรียนการพัฒนาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในงานเสวนาออนไลน์ “โรงเรียน Sandbox ป.2/7: การศึกษาที่เปลี่ยนไปในพื้นที่นวัตกรรม” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกสว.) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนนำร่องบางส่วน ภายใต้ พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ใน จ.ศรีสะเกษ และ จ.ระยอง
พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีเป้าหมายมุ่งปฏิรูปการศึกษาโดยการกระจายอำนาจ เพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพการบริหารให้กับโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมทั้งสร้างกลไกการทำงานร่วมกันระหว่าง รัฐ ท้องถิ่น เอกชน และ ภาคประชาสังคม
โรงเรียนนำร่องในโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนจากภาคีภาคประชาสังคมและเอกชนเพื่อนำนวัตกรรมการศึกษามาใช้ ทั้งนวัตกรรมที่เน้นพัฒนาเฉพาะวิชา เช่น การจัดการเรียนการสอนแบบเปิดและการศึกษาชั้นเรียน (Open Approach / Lesson Study) และ นวัตกรรมที่เน้นการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach)
นายพงศ์ทัศ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามโรงเรียนนำร่องจำนวน 12 โรงเรียน สำรวจการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของนักเรียน 180 คน และวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของนักเรียนกว่า 40,000 คน พบว่า ผลสัมฤทธิ์วิชาการของนักเรียนในพื้นที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนใน 1 ปีการศึกษา แต่นักเรียนส่วนใหญ่รู้สึกมีความสุขเมื่อมาโรงเรียน สนุกกับการเรียนยิ่งขึ้น
ส่วนผลลัพธ์ของคุณครู พบว่า คุณครูในโรงเรียนนำร่องเห็นความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ รู้ว่าต้องพัฒนาตนเองในด้านใด ในขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการโรงเรียนเริ่มเห็นความสำคัญของการได้ครูที่มีทักษะและเทคนิคการสอนที่หลากหลายมากขึ้น ผลการเปลี่ยนแปลงนี้ปรากฎชัดเจนในโรงเรียนที่เน้นการพัฒนาทั้งระบบมากกว่าการพัฒนาเฉพาะรายวิชาเรียน
ด้าน นางสาว ภูษิมา ภิญโญสินวัฒน์ กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายว่า เริ่มมีการผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนรู้ เช่น อนุญาตให้โรงเรียนเลือกสื่อและหนังสือเรียนนอกรายการของกระทรวงศึกษาธิการได้หากเป็นสื่อที่สอดคล้องกับนวัตกรรมที่โรงเรียนใช้ โรงเรียนสามารถเลือกรับและปฏิเสธโครงการได้ แต่ปัจจุบันกฎระเบียบใหม่บางกฎยังติดอุปสรรคจากการไม่ถูกใช้งานจริงอย่างเต็มที่ และ มีกฎระเบียบอีกหลายด้านที่ยังไม่ถูกคลี่คลาย เช่น การจัดสรรงบประมาณ และการคัดเลือกครู
สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีส่วนช่วยให้พื้นที่นวัตกรรมบรรลุเป้าหมายและขยายศักยภาพได้ โดยนักวิจัยเสนอว่าควรให้การสนับสนุนและดำเนินการ ดังนี้
1) เร่งเพิ่มอิสระในการทำงานด้านต่างๆ ให้กับโรงเรียน เช่น การบริหารจัดการบุคลากรและการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอและคล่องตัว 2) ระดมทรัพยากรและองค์ความรู้จากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยพัฒนาทักษะของผู้บริหารและครูในการจัดการเรียนรู้และประเมินผู้เรียนแบบใหม่ๆ 3) สร้างวิธีการทำงานแบบใหม่ระหว่าง พ่อแม่ โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาคมในจังหวัด เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาของพื้นที่ตนเองและใช้อำนาจที่ได้รับจาก พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพ
โดยสรุป นักวิจัยวิเคราะห์ว่า พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามกำหนด มีอายุเพียง 7 ปีในการดำเนินงาน แต่จากสัญญาณเชิงบวกใน 2 ปีแรก ทำให้เห็นว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถเป็นความหวังในการปฏิรูปการศึกษา ให้บทเรียนที่สามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ และปรับกฎเกณฑ์ในระดับประเทศให้ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนได้ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาชน จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ 5 ปีข้างหน้าเป็น 5 ปีที่มีความหมายต่อการพัฒนาการศึกษาไทยไปสู่อนาคต
นอกจากการนำเสนอผลการวิจัยโดยนักวิจัยทีดีอาร์ไอแล้ว ช่วงที่สองของงาน มีเวทีเสวนา “บทเรียนและก้าวต่อไปในพื้นที่นวัตกรรม” ซึ่งมีตัวแทนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และบทเรียนที่ได้จากการขับเคลื่อนงานในพื้นที่นวัตกรรม ได้แก่ คุณลำดวน บุญเยี่ยม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอีหนา จ.ศรีสะเกษ คุณธงชัย มั่นคง ตัวแทนคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม ระยอง คุณสมพงษ์ หลีเคราะห์ ตัวแทนคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม สตูล ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ และหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เข้าร่วมถอดบทเรียน ความสำเร็จที่มาพร้อมกับอุปสรรค พร้อมให้ข้อเสนอแนะ เพื่อร่วมกันเดินหน้าผลักดันให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพร้อมก้าวสู่ปีที่ 3 ต่อไป
สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.edusandbox.com/
*งานเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการวิจัยเพื่อประเมินผลและถอดบทเรียนการพัฒนาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกสว.)