ทางออกให้กับเศรษฐกิจไทยช่วงวิกฤตโควิด ผ่าน 3 มุมมอง

คณะผู้วิจัยได้สรุป 3 แนวคิดที่เป็นทางออกให้กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งมาจากนักเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย (หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร)[1]

  • ประเด็นสำคัญที่เราควรต้องคิดกัน คือ ท่ามกลางข้อจำกัดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เราจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศอย่างไร เราจะเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อแข่งขัน และใช้ประโยชน์จากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ได้อย่างไร และเราทุกคนจะเพิ่มมูลค่าเพิ่มและผลิตภาพของธุรกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดและความท้าทายต่อเศรษฐกิจและธุรกิจได้อย่างไร
  • รัฐเองก็มีบทบาทในการสนับสนุนภาคเอกชนให้สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่ ทั้งการปฏิรูปการศึกษาให้แรงงานมีความพร้อมในการเข้าสู่แรงงาน และมีทักษะที่เป็นที่ต้องการของภาคเอกชน ปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันให้น้อยที่สุด ปฏิรูปภาครัฐให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดขนาดและหน้าที่ที่ไม่จำเป็น เพิ่มคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน ลดความไม่แน่นอนด้านนโยบาย สร้างแรงจูงใจในการลงทุนของภาคเอกชน สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต และยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

2. ดร. คณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก[2]
อีอีซีจะเน้นการลงทุนใน 4 ด้านสำคัญ คือ

1. ด้านการศึกษา ที่มุ่งเน้นสร้างคนตามความต้องการของตลาดแรงงาน
2. ด้านการสาธารณสุข เพื่อรองรับเมืองใหม่และชุมชนที่พัฒนาในพื้นที่อีอีซี
3. ด้านพัฒนาการท่องเที่ยวและชุมชน
4. ด้านเกษตรทิศทางใหม่ “ตลาดนำการเกษตร” คือ เน้นตามความต้องการของตลาดทั้งตลาดสด และตลาดแปรรูป ซึ่งจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้สนับสนุน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสมตลอดทั้งปี

3. ดร. เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว (ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)[3]

ข้อเสนอทางออก คือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาวะ ซึ่งครอบคลุมทั้งร่างกาย จิตใจ และไม่ใช่จำกัดแค่คนแก่ แต่ยังรวมถึงคนทุกวัยด้วย ซึ่งเรามีจุดแข็งที่เราเป็นเมืองเกษตรที่มีอาหารดี สิ่งแวดล้อมดี เราสามารถฟื้นฟูธรรมชาติให้ดีได้ และเรายังมีจิตใจที่รักการบริการ ซึ่งเฉพาะคนแก่ในอาเซียนในอีก 10-15 ปีข้างหน้า จะมีถึง 65 ล้านคน เท่ากับประชากรไทย ถ้าเราจับได้สัก 5 ล้านคน จะมีเงินมหาศาลเข้าประเทศเลย และคนกลุ่มนี้จะเข้ามาอยู่ยาว ที่ผ่านมาเราเน้นการท่องเที่ยวซึ่งเข้ามาเร็วออกไปเร็ว ซึ่งเทรนด์นี้จะเปลี่ยนไป นิยามนักท่องเที่ยวใหม่ หมายถึง คนที่เข้ามาอยู่ยาว เพื่อพักผ่อนทางกายทางใจ เหมือนกับอินเดียที่ใช้โยคะเป็นจุดขาย


[1] ข้อมูลในส่วนนี้มาจากสรุปการบรรยายในงานสัมมนา “การเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน: Energy Transition and COVID-19” จัดโดย บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563

[2] https://thaipublica.org/2020/11/eec-adjust-budget-strategy-65/

[3] https://www.eef.or.th/interview-kiatananthaa/

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI 
2 เมษายน 2564