แนวทางการพยุงเศรษฐกิจระยะสั้นจากวิกฤติแพร่ระบาดของโควิด-19: บทเรียนจาก Cross Country Regression

ในเดือนเมษายนปีพ.ศ. 2564 นับว่าเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปีที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เริ่มแพร่ระบาดครั้งแรกที่นครอู่ฮั่น เมืองหลวงมณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน เมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ.2562 ซึ่งต่อมาเชื้อได้กระจายในระดับโลกและส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาวะสุขภาพของประชาชนมากกว่า 100 ประเทศ โดย ณ วันที่ 19 เมษายน 2564 มีจำนวนผู้ป่วยรวมทั้งหมดทั้งโลกเท่ากับประมาณ 140 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเท่ากับจำนวนประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 2 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด นอกจากปัญหาด้านสุขภาพแล้ว เศรษฐกิจโลกก็ได้รับผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน โดยในรายงาน World Economic Outlook ประจำเดือนเมษายน 2564 ของ International Monetary Fund (IMF) พบว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ได้หดตัวลงร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่วันสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ละประเทศทั่วโลกไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น แต่ละประเทศก็ได้ดำเนินมาตรการตอบโต้วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ประกอบไปด้วยทั้ง (ก) มาตรการการควบคุมโรคระบาดเช่น ล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่างทางสังคม (ข) มาตรการด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการตรวจค้นผู้ป่วยเชิงรุกและการเร่งการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชนและ (ค) มาตรการการประคับประคองเศรษฐกิจผ่านเครื่องมือทางนโยบายการคลังและการเงินเพื่อเยียวยารายได้ที่สูญเสียไปของประชาชนทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ เช่น การเลื่อนการชำระภาษี การอุดหนุนค้าจ้างแรงงาน การจัดตั้งกองทุนดอกเบี้ยต่ำ และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชน เนื่องด้วยแต่ละประเทศได้ดำเนินการมาตรการการตอบโต้ที่แตกต่างกันออกไปตามสถานการณ์และข้อจำกัด ผู้วิจัยจึงพยายามถอดบทเรียนเบื้องต้นจากการออกมาตรการต่างๆ ดังกล่าว ผ่านเครื่องมือทางสถิติอย่างง่ายว่ามาตรการเหล่านั้นมีผลต่อเศรษฐกิจระยะสั้นของแต่ละประเทศเองไปในทิศทางใดและมากน้อยเพียงใด

ความรุนแรงของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น

ผู้วิจัยได้ประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจด้วยใช้ฐานข้อมูลจากรายงาน World Economic Outlook (WEO) ของ IMF ประจำเดือนเมษายนปี ค.ศ.2020 และรายงานของเดือนเมษายนปี 2021 ที่ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศขึ้นมาก่อนการระบาดและหลังการระบาด ผู้วิจัยแบ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) ผลการเปลี่ยนแปลงของการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของรายงาน IMF ปี 2020 ที่ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตในปี 2020 และ 2021 ก่อนและหลังที่ปัญหาโควิด-19 จะปะทุขึ้น (2) ผลการเปลี่ยนแปลงของการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยใหม่ของรายงาน IMF ปี 2021 ที่ได้คำนวณอัตราการเติบโตจริงของปี 2020 และคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจปี 2021 ออกมาใหม่ การเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์นี้จึงคำนวณจากฐานการคาดการณ์ก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในรายงาน IMF ปี 2020 กับการคาดการณ์ในรายงานปี 2021 ในช่วงเวลาเดียวกัน และ (3) ผลการเปลี่ยนแปลงของการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยใหม่ของรายงาน IMF ปี 2021 ที่เปรียบเทียบระหว่างผลการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2021 และ 2022 และผลการคาดการณ์ของรายงานปี 2020 ที่คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2021-2022 ด้วยข้อมูลก่อนเกิดโควิด-19

รูปที่ 1: รูปแบบการเปลี่ยนแปลงของขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปี 2022

ที่มา: World Economic Outlook ของ IMF ฉบับประจำเดือนเมษายนปี 2020 และเมษายนปี 2021

ผู้วิจัยนำข้อมูลจาก WEF ของฉบับเดือนเมษายนปี 2020 และฉบับเมษายนปี 2021 มาคำนวณเพื่อหาผลของการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อสะท้อนผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยรูปที่ 1 คือการคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมแท้จริง (Real GDP) ของประเทศไทยจากฐานปี 2019 ที่เป็นตัวเลข GDP ที่เกิดขึ้นจริงซึ่งเท่ากับประมาณ 529 พันล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐ โดย IMF ได้คาดการณ์ GDP ในปีถัดๆ ไปได้แก่ ปี 2020, 2021 และ 2022 คือ 545, 564 และ 585 พันล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐ ตามลำดับ หรือมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละปีเท่ากับร้อยละ 3, 3.49 และ 3.65 ตามลำดับ เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ขึ้น IMF จึงได้เปลี่ยนการคาดการณ์ของแต่ละปีตั้งแต่ 2020 ถึง 2021 เป็นเท่ากับ 494 และ 524 พันล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐ ตามลำดับ หรือมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละปีเท่ากับร้อยละ -6.66 และ 6.07 ตามลำดับ ดังนั้น ผลการเปลี่ยนแปลงของการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยก่อนและหลังโควิด-19 ระบาดของ IMF ที่คาดการณ์ไว้เมื่อปี 2020 จึงเท่ากับผลเฉลี่ยของส่วนต่าง GDP เทียบปีต่อปีระหว่างปี 2020 และปี 2021 ซึ่งของประเทศไทยจะมีผลเฉลี่ยของส่วนต่างเท่ากับร้อยละ -8.24 นั่นคือ ภายใต้การคาดการณ์ของ IMF ประเทศไทยจะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเกิดจากเหตุการแพร่ระบาดของโควิด-19 เฉลี่ยของปี 2020 และ 2021 เท่ากับร้อยละ 8.24 ของ GDP ปี 2019

เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี IMF ได้คำนวณตัวเลขทางเศรษฐกิจใหม่ซึ่งพบว่าในปี 2020 ประเทศไทยมี GDP ที่เกิดขึ้นจริงเท่ากับ 497 พันล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐ และคาดการณ์ GDP ปี 2021 เท่ากับ 510 พันล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐ หรือหรือมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละปีเท่ากับร้อยละ -6.09 และ 2.56 ตามลำดับ จากข้อมูลดังกล่าว จึงทำให้ผลการเปลี่ยนแปลงของการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยใหม่ของรายงาน IMF ปี 2021 เท่ากับร้อยละ -9.24 ของปี GDP 2019 ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่า เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป 1 ปี ตั้งแต่ 2020 จนถึงปี 2021 ภายใต้ผลกระทบของโควิด-19 ระยะสั้น เศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหายมากกว่าที่ IMF เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปี 2020 ที่เสียหายเท่ากับร้อยละ 8.24 ของปี 2019

นอกจากนี้ WEF ฉบับปี 2021 ได้คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2022 เอาไว้เช่นเดียวกัน ผู้วิจัยจึงได้คำนวณผลการเปลี่ยนแปลงของการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยใหม่ของปี 2021 และปี 2022
เมื่อเทียบกับช่วงปีเดียวกันของการคาดการณ์ของ IMF ในปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วยวิธีการคำนวณนี้พบว่าประเทศไทยจะได้รับความเสียทางเศรษฐกิจระยะสั้นในปี 2021 และ 2022 โดยเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 8.76 ของปี 2020 ทั้งนี้ ผู้วิจัยจะคำนวณผลกระทบของโควิด-19 ระยะสั้นตามวิธีดังกล่าวนี้ของแต่ละประเทศซึ่งมีอยู่ในฐานข้อมูลทั้งหมดจำนวน 145 ประเทศ เพื่อนำมาวิเคราะห์ความสามารถในการดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศเพื่อพยุงเศรษฐกิจของตนเองให้ได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 น้อยที่สุด

ข้อมูลการดำเนินมาตรการเพื่อตอบโต้กับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

ผู้วิจัยได้จำแนกมาตรการตอบโต้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ออกเป็น 5 รูปแบบได้แก่ 1) มาตรการทางด้านนโยบายการคลัง 2) มาตรการทางด้านนโยบายการเงิน 3) มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด 3) มาตรการด้านสุขภาพ และ 4) มาตรการด้านการฉีดวัคซีน

สองมาตรการแรกคือกลุ่มมาตรการด้านเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านนโยบายการคลังและการเงิน ผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลของ IMF บนเว็ปไซต์ COVID-19 Policy Tracker[1] รวมถึงการหาข้อมูลจากสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อการตรวจสอบความถูกต้อง ข้อมูลการกระตุ้นทางเศรษฐกิจจะบันทึกอยู่ในหน่วยสัดส่วนของยอดรวมค่าใช้จ่ายต่อจีดีพีของแต่ละประเทศ โดยนโยบายการคลังที่ผู้มีวิจัยได้รวบรวมมาจะประกอบไปด้วย มาตรการผ่อนปรนทางภาษี การสนับสนุนทางการเงินให้แต่ละครัวเรือน มาตรการช่วยเหลือธุรกิจและผู้ประกอบการ และรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ส่วนนโยบายด้านการเงินประกอบไปด้วย มาตรการอัดฉีดเม็ดเงินของธนาคารลาง การจัดตั้งกองทุนและแหล่งกู้ยืมเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ และการค้ำประกันหนี้เอกชนโดยภาครัฐ

ส่วนสามมาตรการต่อมาเกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้วิจัยนำข้อมูลของแต่ละมาตรการดังกล่าวมาจาก Oxford COVID-19 Government Response Tracker[2] ซึ่งกลุ่มนักวิจัยที่จัดทำรายงาน Oxford นี้ได้สร้างดัชนีชี้วัดความเข้มข้นของการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและมาตรการด้านสุขภาพมาจากการรวบรวมข้อมูลจากสื่อออนไลน์โดยเฉพาะจากการประกาศของภาครัฐแต่ละประเทศโดยตรง โดยมาตรการด้านการควบคุมการแพร่ระบาดประกอบไปด้วย มาตรการการสั่งปิดสถานศึกษา การสั่งปิดสถานที่ทำงาน การสั่งงดการรวมตัวในที่สาธารณะ การสั่งงดจัดงานนิทรรศการ การสั่งปิดระบบการเดินทางสาธารณะ การกำหนดข้อบังคับการพักในที่อยู่อาศัย การกำหนดข้อบังคับการเดินทางข้ามเมือง และการระงับการเดินทางระหว่างประเทศ ส่วนมาตรการด้านสุขภาพประกอบไปด้วย ความสามารถในการแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 โดยภาครัฐ นโยบายการตรวจค้นเชื้อ นโยบายการติดตามผู้ติดเชื้อ การกำหนดข้อบังคับการสวมหน้ากาก และมาตรการการป้องกันและดูแลผู้สูงวัยหรือกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะ สำหรับมาตรการการฉีดวัดซีน ผู้วิจัยใช้สัดส่วนจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบตามจำนวนโดสที่กำหนดต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศซึ่งมาจากฐานข้อมูลของ Our World in Data[3] ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่เดือนธันวาคมปีพ.ศ. 2562 จนถึงวันที่ 15 เมษายน ปีพ.ศ. 2564

การเปรียบเทียบการคาดการณ์ความเสียหายทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคมปี 2019 และได้แพร่กระจายไปสู่ประเทศต่างๆ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศต้องหยุดชะงักลงไม่ว่าจะเกิดจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด หรือการเร่งนำทรัพยากรไปใช้ในทางการแพทย์อย่างมหาศาลจนทำให้เสียโอกาสในการผลิตสินค้าเศรษฐกิจอื่น แต่ถึงอย่างไรก็ตามแต่ละประเทศอาจได้รับความเสียหายไม่เท่ากัน ซึ่งอาจเป็นเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจในการพึ่งพารายได้ที่ไม่เหมือนกันระหว่างพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นหลักหรือการค้าขายระหว่างประเทศเป็นหลัก และปัญหาความรุนแรงของการแพร่ระบาดที่ไม่เท่ากัน

ผู้วิจัยใช้การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของ IMF มาคำนวณใหม่เพื่อใช้เป็นตัวแทนของค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อความรุนแรงของการแพร่ระบาดของวิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นความสามารถในการพยุงเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ผู้วิจัยจึงวิเคราะห์การเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของผลความเสียหายทางเศรษฐกิจสองช่วง ได้แก่ ผลเสียหายทางเศรษฐกิจช่วงปี 2020 ถึง 2021 ที่คาดการณ์ในปี 2020 และผลเสียหายทางเศรษฐกิจช่วงเวลาเดียวกันที่คาดการณ์ในปี 2021 ดังนั้น การเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของสองการคาดการณ์ดังกล่าว จึงสามารถพออนุมานได้ถึงผลลัพธ์ของความพยายามในการพยุงเศรษฐกิจระยะสั้นภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ

รูปที่ 2: การเปรียบเทียบลำดับการเปลี่ยนแปลงของความเสียหายทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

ที่มา: การคำนวณโดยผู้วิจัย

จากรูปที่ 2 แกนนอนคือการเรียงลำดับความเสียหายต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการคาดการณ์เมื่อปี 2019 และแกนตั้งคือการเรียงลำดับความเสียหายจากการคาดการณ์ในปี 2020 โดยทั้งสองแกนมีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นไทล์ตั้งแต่ 0.1 ถึง 1 โดย 0.1 คืออันดับของประเทศที่ได้รับความเสียทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด ในขณะที่ 1 หมายถึงอันดับของประเทศที่ได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุด ส่วนขนาดของจุดที่เป็นตัวแทนของแต่ละประเทศแทนด้วยอัตราการติดเชื้อที่เท่ากับสัดส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ โดยจุดขนาดใหญ่หมายถึงมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อมาก และสุดท้ายความแตกต่างของสีแทนสัดส่วนของขนาดการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านนโยบายการคลังต่อขนาดของจีดีพี โดยสีส้มจนถึงสีน้ำเงินแทนขนาดของการอัดฉีดที่ค่อนข้างมาก สวนทางกับสีแดงที่หมายถึงขนาดของการอัดฉีดที่ค่อนข้างน้อย

ข้อสังเกตจากภาพดังกล่าวประกอบไปด้วย
(ก) ประเทศส่วนใหญ่ที่มีอัตราการติดเชื้อต่ำมักจะมีความเสียหายทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะประเทศจีนและเวียดนามที่ได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อยมากจากทั้งการคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งในปี 2020 และ 2021 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และ
(ข) ประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อที่ค่อนข้างสูงสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มหลักได้แก่ กลุ่มที่อัดฉีดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าและกลุ่มที่อัดฉีดเศรษฐกิจน้อยกว่า โดยกลุ่มที่อัดฉีดน้อยกว่าจะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่าที่เคยได้คาดการณ์ไว้เมื่อปี 2020 ซึ่งสามารถสังเกตได้จากประเทศที่อยู่เหนือเส้น 45 องศาที่มีความหมายว่าประเทศนั้นมีอันดับความเสียหายสูงขึ้นจากการคาดการณ์เดิม ซึ่งสวนทางกับพวกกลุ่มที่อัดฉีดมาก เช่น เยอรมนี สวีเดน สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศสที่เคยถูกคาดว่าจะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ด้วยการดำเนินนโยบายการคลังดังที่เห็น จึงทำให้การคาดการณ์ความเสียหายใหม่ของประเทศกลุ่มนี้อยู่ในอันดับที่น้อยลงมามาก ส่วนสำหรับสถานการณ์ประเทศไทยก็เป็นที่น่าสังเกต ด้วยเหตุว่าไทยมีอัตราการติดเชื้อที่ต่ำแต่มีอันดับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ถึงแม้ว่าเวลาผ่านไป 1 ปี ไทยได้ดำเนินการอัดฉีดทางการคลังที่ค่อนข้างสูงและได้รับคาดการณ์ใหม่ว่าอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น แต่ก็ดีขึ้นมาเพียงเล็กน้อยและก็ยังอยู่ในอันดับเปอร์เซ็นไทล์ความเสียหายที่สูงกว่าร้อยละ 70 ของประเทศอื่นๆ

ผลลัพธ์ของการดำเนินมาตรการตอบโต้โควิด-19 ต่อการพยุงเศรษฐกิจระยะสั้น

สุดท้ายคือการประเมินผลลัพธ์ของมาตรการต่างๆ ในภาพรวมที่ประกอบไปด้วย มาตรการด้านการคลัง มาตรการด้านการเงิน มาตรการด้านการควบคุมการแพร่ระบาด และมาตรการด้านการฉีดวัคซีนที่มีต่อการลดทอนความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ความเสียหายทางเศรษฐกิจระยะสั้นที่จะนำมาใช้วิเคราะห์คือค่าความเสียหายของช่วงปี 2021 ถึง 2022 ที่คำนวณจากส่วนต่างระหว่างการคาดการณ์เศรษฐกิจก่อนเกิดโควิด-19 และการคาดการณ์เศรษฐกิจหลังเกิดโควิด-19 ตามรายงาน WEF 2021 โดยผู้วิจัยใช้วิธีประมาณการทางสถิติ Simple linear regression ด้วยฐานข้อมูล cross country จำนวน 145 ประเทศ มาเพื่อประเมินผลของมาตรการต่างๆ ต่อเศรษฐกิจ ซึ่งได้ผลการวิเคราะห์ทางสถิติตามตารางที่ 1

ตารางที่ 1: ผลวิเคราะห์ regression ของมาตรการต่างๆ ที่มีต่อการลดทอนความเสียหายทางเศรษฐกิจ

ตัวแปรCoefficientsStandard Errort StatP-value
ค่าคงที่-0.02880.0208-1.38340.1686
ดัชนีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด-0.00070.0003-2.53650.0123
สัดส่วนค่าใช้จ่ายมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังต่อ GDP0.07540.02343.17570.0018
อัตราการฉีดวัคซีน0.06630.05011.32290.1880
ดัชนีมาตรการด้านสุขภาพ-0.00040.0005-0.97170.3329

ที่มา: การวิเคราะห์โดยผู้วิจัย

จากผลการวิเคราะห์ จะเห็นได้ว่ามาตรการที่มีแนวโน้มที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญชัดเจนต่อเศรษฐกิจระยะสั้นคือมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวลงและผลรวมของมาตรการด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินการคลังที่ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นมาได้ ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนที่มีแนวโน้มการส่งผลโดยเฉลี่ยต่อเศรษฐกิจเป็นบวก ไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญหรือชัดเจนมากเท่ากับสองมาตรการแรก ส่วนมาตรการด้านสุขภาพส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจแต่มีนัยสำคัญน้อยที่สุด

โดยสรุปแล้ว มาตรการที่ส่งจะผลทำให้เศรษฐกิจระยะสั้นของแต่ละประเทศโดยส่วนใหญ่ชะลอตัวลงคือกลุ่มมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแพร่ระบาดที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง เช่น การสั่งปิดสถานการให้บริการ การสั่งระงับการเดินทางข้ามประเทศและการเดินทางภายในประเทศ  และมาตรการด้านสุขภาพก็มีแนวโน้มส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยด้วยเช่นกันแต่อาจไม่ได้เป็นเสมือนไปหมดทุกประเทศดังที่เห็นจากระดับนัยสำคัญที่ค่อนข้างต่ำกว่ามาตรการอื่นในผลวิเคราะห์ โดยผู้วิจัยให้ข้อสันนิษฐานช่องทางการส่งผลของมาตรการนี้ไว้สองช่องทางทั้งทางบวกและลบคือ การดำเนินนโยบายด้านสุขภาพที่ประกอบไปด้วย การตรวจค้นเชื้อและการกักตัวผู้ติดเชื้อในบริเวณกว้าง จะทำให้สูญเสียทรัพยากรในการผลิตทางเศรษฐกิจไป แต่ถึงอย่างไรก็ตามในระยะที่ยาวขึ้น การดำเนินนโยบายเน้นรักษาสุขภาพก็มีส่วนทำให้แรงงานสามารถกลับเข้าสู่ภาคการผลิตได้ ส่วนนโยบายที่สามารถพยุงเศรษฐกิจระยะสั้นได้อย่างชัดเจนคือนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินการคลังที่ประกอบไปด้วยทั้งการเยียวยารายได้และค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ และสุดท้าย มาตรการการฉีดวัคซีนก็มีแนวโน้มช่วยลดทอนความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ด้วยเช่นกัน แต่อาจไม่ได้มีผลชัดเจนเท่ากับการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินการคลัง ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากการฉีดวัคซีนจะส่งผลดีทางอ้อมต่อเศรษฐกิจในระยะยาวเสียมากกว่าผ่านการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและมาตรการด้านสุขภาพเมื่อเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ ส่วนในระยะสั้นอาจส่งผลผ่านการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและนักลงทุนให้กลับมาดำเนินเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง 


[1] สามารถเข้าถึงได้จาก https://www.imf.org/en/Topics/imf-and-covid19/Policy-Responses-to-COVID-19

[2] สามารถเข้าถึงได้จาก https://www.bsg.ox.ac.uk/research/research-projects/covid-19-government-response-tracker

[3] สามารถเข้าถึงได้จาก https://ourworldindata.org/coronavirus-source-data

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

คณะวิจัย TDRI
23 เมษายน 2564