สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องออก พรก.เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท และส่วนอีก 9 แสนล้านบาท มาจาก พรก.ให้อำนาจ ธปท.ออก soft loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท และ พรก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยในส่วนการกู้เงินตาม พรก. 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นภาระต่อหนี้สาธารณะโดยตรง จำแนกได้เป็น
- แผนงานหรือโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาด 45,000 ล้านบาท
- แผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย 555,000 ล้านบาท
- แผนงานหรือโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท
ในการชำระคืนหนี้ของรัฐบาล ตามสถิติงบประมาณแผ่นดินในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเฉลี่ย 3.6 แสนล้านบาทต่อปี และชำระคืนต้นเงินกู้เฉลี่ย 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยแนวโน้ม 3 ปีล่าสุด มีการตั้งงบชำระคืนต้นเงินกู้ปีละ 8-9 หมื่นล้านบาท

ที่มา: งบประมาณโดยสังเขป
ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล อายุ 1 ปี 3 ปี 5 ปี และ 10 ปี อยู่ที่ร้อยละ 0.45 ร้อยละ 0.67 ร้อยละ 1.07 และร้อยละ 1.88 ตามลำดับ ซึ่งหากคิดเฉลี่ยต้นทุนอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ร้อยละ 1 ของเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จะมีต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มอยู่ที่ปีละ 1 หมื่นล้านบาท
ดังนั้น หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติจนกระทั่งรัฐบาลมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ได้ คาดว่ารัฐบาลจะสามารถตั้งงบประมาณเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้สูงสุดภายใต้กรอบเดิม คือ
- ชำระคืนต้นเงินกู้สำหรับการกู้ชดเชยการขาดดุลเดิม 3.5 หมื่นล้านบาท
- ชำระคืนต้นเงินกู้สำหรับ พรก.โควิด-19 3.5 หมื่นล้านบาท และ
- รายจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเติม 1 หมื่นล้านบาท
รวม 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้ไม่เบียดบังรายจ่ายงบประมาณส่วนอื่นมากเกินไป และภายใต้สมมติฐานนี้ รัฐบาลจะสามารถชำระคืนต้นเงินกู้ พรก.โควิด-19 ได้ในช่วงเวลา 29 ปี
ด้วยสถานะปัจจุบัน ณ เดือนเมษายน 2564 วงเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้อนุมัติ ของ พรก.โควิด-19 เท่ากับ 240,208 ล้านบาท เป็น
- แผนงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข 19,174 ล้านบาท
- แผนงานเพื่อการช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชย 4,147 ล้านบาท
- แผนงานเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 216,887 ล้านบาท
ภายใต้สถานการณ์วิกฤตืทางเศรษฐกิจและสังคมทีเกิดขึ้นในปัจจุบัน รัฐบาลจำเป็นต้องมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ขับเคลื่อนได้อย่างเร่งด่วน จึงมีแนวโน้มที่จะโอนเปลี่ยนแปลงจากแผนการฟื้นฟูและพัฒนา ซึ่งเป็นรายจ่ายระยะยาว มาเป็นแผนช่วยเหลือและเยียวยา ซึ่งเป็นรายจ่ายระยะสั้นและลงสู่เศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ดังเช่นที่เคยโอนเปลี่ยนแปลงมาสู่โครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท โดยเน้นที่การช่วยเหลือและเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นคนหมู่มากในทางเศรษฐกิจ และถือเป็นคนส่วนน้อยที่เป็นผู้เสียภาษี ดังนั้น ผลได้ต่อรายได้จัดเก็บของรัฐบาลจึงมีไม่มากนัก ส่งผลให้โอกาสที่ฐานะเศรษฐกิจและการคลังจะเข้าสู่ภาวะปกติจึงอาจไม่เกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้

ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
คณะวิจัย TDRI
23 เมษายน 2564