“ลอตเตอรี่” โอกาสหรืออุปสรรคต่อการออมของคนจน?

ภาคภูมิ จตุพิธพรจันทร์

ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี 2565 หนึ่งประเด็นพิจารณาที่มาพร้อมกับภาวะสังคมสูงวัยคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายหลังจากเกษียณแล้ว

การส่งเสริมให้ประชาชนเก็บออมเงินเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรส่งเสริมอย่างยิ่ง แต่อุปสรรคสำคัญหนึ่งคือประชาชนบางกลุ่มโดยเฉพาะคนจน มีรายจ่ายในแต่ละเดือนพอ ๆ กับรายได้ จึงไม่มีเงินเหลือให้เก็บออม หรือเก็บออมได้เพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2560 ชี้เห็นสิ่งที่น่ากังวลอีกหนึ่งประเด็นคือ ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมักจะแบ่งรายได้ในแต่ละเดือนไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นสัดส่วนที่มากกว่าครัวเรือนรายได้สูง[1] คนจนที่ต้องขยันทำงานเพื่อหาเงินมาประทังชีวิต กลับใช้เงินที่มีอยู่ไม่มากนักไปกับการซื้อลอตเตอรี่ แทนที่จะนำไปเก็บออมหรือใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์กว่า จึงเป็นที่น่าสนใจว่าทำไมคนจนจึงชอบเล่นลอตเตอรี่และจะช่วยเหลือให้คนกลุ่มนี้มีเงินออมเพิ่มขึ้นได้อย่างไร?

ปรากฏการณ์ที่ผู้มีรายได้น้อยชอบเล่นลอตเตอรี่นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด ในหลาย ๆ ประเทศพบเช่นเดียวกันว่าผู้มีรายได้น้อยมักจะชอบเล่นลอตเตอรี่มากกว่าผู้มีฐานะดี มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าลอตเตอรี่รัฐบาล นั้นมีลักษณะเป็นภาษีอัตราถดถอย หมายความว่าผู้มีรายได้น้อยจ่ายเงินให้กับรัฐบาลในสัดส่วนต่อรายได้ที่สูงกว่าผู้มีฐานะดีกว่า นักเศรษฐศาสตร์และนักจิตวิทยาจึงได้พยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมดังกล่าว เพื่อจะนำไปสู่นโยบายที่สามารถลดการซื้อลอตเตอรี่ของคนจนได้

Friedman และ Savege (1948) ได้เสนอว่าเหตุผลที่คนจนซื้อลอตเตอรี่มากกว่าคนรวย เพราะคนจนได้รับอรรถประโยชน์หรือความพึงพอใจจากการถูกลอตเตอรี่มากกว่าคนรวย เนื่องจากรายได้จากการถูกรางวัลนั้นทำให้ตนเองสามารถกลายเป็นชนชั้นกลางหรือคนรวยได้[2] ซึ่งผลการทดลองของ Haisley, Mosrafa และ Lowenstein (2008) ได้ยืนยันข้อคิดเห็นนี้ โดยข้อสรุปจากการทดลองพบว่าพฤติกรรมดังกล่าวเกิดจากความต้องการขยับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจเกิดจากความรู้สึกด้อยกว่า ซึ่งลอตเตอรี่นั้นถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยทำให้ความความต้องการนั้นเป็นจริงได้ เนื่องจากลอตเตอรี่เป็นหนึ่งในไม่กี่ ‘เกม’ ที่คนจนจะมีโอกาสชนะพอ ๆ กับคนที่มีฐานะดีกว่า[3] ซึ่งผลการทดลองนี้ใกล้เคียงกับผลจากการศึกษาของ Herring และ Bledsoe (1994) ที่ค้นพบว่ากลุ่มคนจนที่ซื้อลอตเตอรี่เป็นประจำมีทัศนคติว่าลอตเตอรี่เป็นหนทางเดียวในการหนีออกจากความยากจน [4]

อย่างไรก็ตามการซื้อลอตเตอรี่ไม่ได้เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล หรือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเสมอไป เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้รับจากการซื้อลอตเตอรี่นั้นไม่ได้มีเพียงเงินรางวัลอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความสนุกตื่นเต้นจากการได้ลุ้นว่าตนเองจะถูกรางวัลหรือไม่ และความสุขจากการได้รู้สึกว่าตนเองมีความหวังที่จะหลุดพ้นจากความยากจน หมายความว่าถึงแม้โอกาสหลุดพ้นความยากจนจะไม่มากในความเป็นจริง แต่ความสุขและความสนุกที่ได้ถือว่าเป็นสิ่งตอบแทนจากการจ่ายเงินซื้อลอตเตอรี่ คล้ายกับการที่คนยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อความบันเทิงรูปแบบอื่น ดังนั้นหากผู้บริโภคซื้อลอตเตอรี่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป ก็อาจทำให้ผู้บริโภคอยู่ในจุดที่ได้รับอรรถประโยชน์สูงสุดได้ แต่พฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงนั้นคือการเล่นลอตเตอรี่ในปริมาณและมูลค่ามากเกินไปจนส่งผลเสียร้ายแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่

เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคซื้อลอตเตอรี่มากเกินไปจนกระทบชีวิตความเป็นอยู่ ต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างน้อย 2 เรื่อง

1.มีข้อมูลหรือความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคมีการประเมินโอกาสที่จะถูกลอตเตอรี่มากเกินไปจากความจริง (overestimate) นำไปสู่พฤติกรรมซื้อมากเกินไป ข้อมูลความรู้ที่ควรมี เช่น หลักความน่าจะเป็น พร้อมความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการซื้อเลขเดิมซ้ำๆ กันในทุกงวดไม่ได้ทำให้โอกาสถูกรางวัลมีมากขึ้น เป็นต้น

2.มีทักษะในการควบคุมตนเอง หากผู้บริโภคขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง เมื่อถูกล่อด้วยสิ่งเร้าเช่นลอตเตอรี่ ก็มีแนวโน้มที่จะไม่คิดไตร่ตรองให้ดี ไม่ได้ นำความรู้ของตนมาใช้ในการตัดสินใจ และ ไม่ได้คำนึงทางเลือกอื่นอย่างครบถ้วน จึงพ่ายแพ้ต่อสิ่งล่อใจนั้นในที่สุด เกิดเป็นพฤติกรรมซื้อของโดยฉับพลัน (impulse buying)

การแก้ไขพฤติกรรมการซื้อลอตเตอรี่เกินควรสามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมความรอบรู้ทางการเงิน (financial literacy) ซึ่งครอบคลุมทั้งการเพิ่มความรู้ และการส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีทักษะในการควบคุมตนเอง ในด้านความรู้ องค์กรภาคประชาสังคม ชุมชน หรือสถาบันการศึกษา สามารถเข้าไปให้ข้อมูลให้ความรู้กับชาวบ้าน เกี่ยวกับผลตอบแทนของลอตเตอรี่ที่ถูกต้อง ผลเสียของการติดลอตเตอรี่ แก้ไขความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง โดยอาจจะเป็นในรูปแบบของการอบรม การเข้าไปพูดคุย การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ  

ส่วนในด้านทักษะการควบคุมตัวเองนั้น วิธีการที่ประสบผลสำเร็จอย่างมากคือการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า commitment device หรือก็คือการชักชวนให้กลุ่มเป้าหมายตั้งเป้าหมายขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน และอาจมีผลลัพธ์บางอย่างเกิดขึ้นหากทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่สามารถทำได้ตามที่ได้ตั้งใจไว้ เช่น จะไม่ซื้อลอตเตอรี่เกิน 160 บาทต่อเดือน หากไม่สามารถทำได้จะบริจาคเงินให้กับวัด 50 บาท หรือถ้าทำได้จะให้รางวัลบางอย่างกับตัวเอง commitment device จะสร้างความรับผิดชอบ (accountability) ขึ้นมา และทำให้เกิดการคิดไตร่ตรองก่อนตัดสินใจซื้อลอตเตอรี่ ทั้งนี้ครอบครัวหรือคนรอบข้างอาจเข้ามาช่วยเสริมเพื่อกำกับให้ผู้ซื้อมีความรับผิดชอบมากขึ้น เช่น ให้มีการรายงานผลกับครอบครัวหรือเพื่อนเป็นประจำว่าสามารถทำได้ตามเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม commitment device นั้นสามารถใช้ได้กับเฉพาะกลุ่มที่ตระหนักถึงปัญหาของตน และมีความต้องการแก้ไขปัญหา จึงจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย

สิ่งที่ควรทำคือส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายมีการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อที่จะได้ตระหนักรู้ว่าตนเองเสียเงินหรือได้เงินจากลอตเตอรี่มากกว่ากัน มีการซื้อลอตเตอรี่มากเกินไปหรือไม่ และอีกมาตรการคือการทำให้ผู้ซื้อลอตเตอรี่ตระหนักถึงทางเลือกอื่นที่น่าจะคุ้มค่ากว่าการซื้อลอตเตอรี่ เช่น การเขียนไว้ที่ใบสลากว่าเงินที่คุณกำลังจะจ่ายนั้นสามารถซื้อข้าวให้ลูกได้สองมื้อ เพื่อแก้ไขปัญหา cognitive bias ที่ผู้บริโภคมักไม่ได้คิดถึงทางเลือกอื่น ๆ ในขณะที่กำลังตัดสินใจซื้อลอตเตอรี่

นอกจากนี้ ดังที่กล่าวไปแล้วว่าคนจนซื้อลอตเตอรี่ส่วนหนึ่งเพราะความรู้สึกด้อยกว่า อยากรวยขึ้น แต่ไม่สามารถหาช่องทางอื่นในการยกระดับฐานะได้นอกจากการหวังพึ่งลอตเตอรี่ รัฐจึงควรส่งเสริมให้คนจนสามารถหารายได้เพิ่มมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาส อาทิ การส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การพัฒนาทักษะฝีมือ การช่วยจัดหางาน การส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการออมเงิน เพื่อให้คนเหล่านี้มีความรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถที่จะหลุดพ้นจากความยากจนได้โดยไม่ต้องพึ่งลอตเตอรี่ ซึ่งการลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสจะช่วยลดปัญหาการบริโภคลอตเตอรี่เกินควรในกลุ่มคนยากจนได้

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยซื้อลอตเตอรี่น้อยลง ซื้อแต่พอเหมาะพอควร แต่ก็ยังอาจมีคนจนจำนวนมากที่ยังชอบเล่นลอตเตอรี่อยู่ รัฐสามารถพลิกนำเอาความนิยมในลอตเตอรี่นี้มาใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้คนจนมีเงินออมเพียงพอสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ เปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นโอกาส ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวนั้นก็คือสลากออมทรัพย์ เงินที่นำไปซื้อสลากออมทรัพย์จะไม่สูญหายไปไหนไม่เหมือนกับลอตเตอรี่ และผู้ซื้อยังได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและเงินรางวัล โดยสลากออมทรัพย์ในประเทศไทยนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท คือสลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. และสลาก ธ.อ.ส. แต่จากการศึกษาของพรเพ็ญ วรสิทธา (2556) พบว่าสลากออมทรัพย์ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในหมู่ผู้มีรายได้น้อย และควรมีการปรับปรุงสลากออมทรัพย์ เช่น ลดจำนวนเงินขั้นต่ำในการซื้อ เพิ่มช่องทางจำหน่าย ให้สามารถเลือกเลขเองได้ เป็นต้น[5] ซึ่งรัฐควรนำข้อเสนอเหล่านี้ไปใช้ปรับปรุงสลากออมทรัพย์ทั้ง 3 ประเภท เพื่อจูงใจให้ผู้มีรายได้น้อยหันมาซื้อสลากออมทรัพย์แทนการซื้อลอตเตอรี่มากขึ้น

หมายเหตุ

บทความนี้เป็นหนึ่งในผลงานโครงการวิจัย มาตรการที่ได้ผลในการส่งเสริมการวางแผนทางการเงินของประชากรไทยสำหรับสังคมอายุยืน โดยการสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

[1] Data Analytics / EIC Data Infographic : คนจนเล่นหวย คนรวยเก็บออม | Economic Intelligence Center (EIC) (scbeic.com)

[2] The Utility Analysis of Choices Involving Risk on JSTOR

[3] https://doi.org/10.1002/bdm.588

[4] https://doi.org/10.1111/j.1541-0072.1994.tb01466.x

[5] https://dric.nrct.go.th/index.php?/Search/SearchDetail/268219

ภาคภูมิ จตุพิธพรจันทร์

นักวิจัย นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง มีความสนใจและเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนา เศรษฐกิจมหภาค

ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ