tdri logo
tdri logo
20 พฤษภาคม 2021
Read in Minutes

Views

การแพร่ระบาดระลอก 3 สถานการณ์ ผลกระทบและทางออกเชิงนโยบาย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 ได้กลับมาแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางอีกครั้งเป็นระลอกที่สาม ซึ่งเริ่มมีสถิติการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดในผับเขตทองหล่อ[1] และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่การแพร่ระบาดระลอกที่สอง ซึ่งเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ในช่วงระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2564 ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้มีตัวเลขที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ[2]

เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในระลอกที่ 3 เทียบกับระลอกที่ 1 และ 2 จะพบว่าการแพร่ระบาดในรอบที่ 3 จะมีความรุนแรงที่มากกว่าอย่างมาก โดยในรอบที่ 1 นั้น เกิดขึ้นในระหว่างช่วงวันที่ 18 มีนาคม 2563 และลดลงอย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 12 เมษายน 2563 รวมเป็นเวลา 25 วันโดยมีจุดสูงสุดอยู่ที่การติดเชื้อต่อวันที่ 188 ราย สำหรับการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 เกิดขึ้นเป็นเวลา 103 วันและมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดที่ 959 ราย แต่สำหรับการแพร่ระบาดในรอบที่ 3 นี้ ได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จนถึงปัจจุบันผ่านมา 50 วัน (นับถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2564) ก็ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูง โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดอยู่ที่ 9,635 ราย ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อ ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ยังอยู่ที่ 2,636 ราย

รูปที่ 1: สถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ (ราย)

ที่มา: สถิติจากกรมควบคุมโรค (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2564)

          ผลกระทบของการแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 ได้ถูกประมาณการโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (2564)[3] ว่าจะขึ้นกับความสามารถในการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) โดยสถานการณ์ที่ดีที่สุดจะเป็นกรณีที่ภาครัฐสามารถสร้างภุมิคุ้มกันหมู่ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 ในขณะที่สถานการณ์อีก 2 กรณีที่เป็นไปได้ คือ เกิดภูมิคุ้มกันในช่วงเดือน กันยายน 2565 และ ธันวาคม 2565

รูปที่ 2: คาดการณ์ปริมาณการฉีดวัคซีนและช่วงเวลาที่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย (2564)

ทั้ง 3 กรณีจะให้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยในกรณีแรก (ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 65) เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะเติบโตเพียงร้อยละ 2.0 ในขณะที่กรณีที่สอง (ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ปี 65) เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะเติบโตเพียงร้อยละ 1.5 ในขณะที่กรณีที่สาม (ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 65) เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะเติบโตเพียงร้อยละ 1.0

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการประมาณการในช่วงก่อนการแพร่ระบาดระลอกที่ 3[4] ซึ่งคาดการณ์อัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.0 จะพบว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 จะส่งผลต่อเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 1.0-2.0 ขึ้นกับความสามารถในการฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

รูปที่ 3: ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจจากการคาดการณ์ช่วงเวลาที่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย (2564)

ผลกระทบของการแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 จึงต้องการมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐเพื่อลดทอนผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยผลจากการประมาณการข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการมาตรการที่เหมาะสมทั้งในเรื่องของการอุดหนุนในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และปรับเปลี่ยนเป็นมาตรการการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และทำให้เศรษฐกิจกลับมาคืนมาเป็นปกติในที่สุด

คำถามในเชิงนโยบายที่สำคัญสำหรับการวางมาตรการอุดหนุนจะมีอยู่ด้วยกัน 3 คำถามที่สำคัญ คือ 1. ใครคือกลุ่มเป้าหมายสำหรับการวางนโยบาย 2. ขนาดและระยะเวลาที่อุดหนุนควรจะเป็นเท่าใด และ 3. นโยบายทางเลือกที่จะช่วยอุดหนุนควรจะเลือกใช้อย่างไร ซึ่งบทความนี้จะนำเสนอข้อเสนอที่ตอบคำถามทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. กลุ่มเป้าหมาย
โดยพื้นฐานทางหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐควรที่จะมุ่งไปที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลัก และควรจะหลีกเลี่ยงไม่อุดหนุนกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบเพราะเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือ

เมื่อพิจารณาในมุมมองนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจใน 3 นัยยะที่สำคัญ คือ

นัยยะที่ 1: ความสามารถในการปรับตัวในระยะยาว

คณะผู้วิจัยจำแนกกลุ่มธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจสินค้าคงทน (Durable goods) เช่น รถยนต์ ธุรกิจสินค้ากึ่งคงทน (Semi-durable goods) เช่น สิ่งทอ ธุรกิจสินค้าไม่คงทน (Non-durable goods) เช่น อาหาร และธุรกิจบริการ (Services)

โดยอาศัยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าธุรกิจในกลุ่มสินค้าไม่คงทนสามารถที่จะปรับตัวได้ดีที่สุด ตามด้วยสินค้ากึ่งคงทนที่มีความสามารถในการปรับตัวที่ใกล้เคียงกัน ในขณะที่สินค้าไม่คงทนจะปรับตัวได้ค่อนข้างช้า และธุรกิจบริการจะสามารถปรับตัวได้น้อยที่สุด[5]

รูปที่ 4: สถิติการขายของธุรกิจแต่ละกลุ่ม ณ เดือน ธันวาคม 2019 เทียบกับการขายสินค้าของแต่ละหมวดในช่วงที่เกิดโควิด-19

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

นัยยะที่ 2: ผลกระทบในระยะสั้นจากระลอกที่ 3

ผลกระทบในระยะสั้นในระลอกที่ 3 จะเกิดขึ้นกับบางธุรกิจที่ถูกจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐ โดยในส่วนนี้ คณะผู้วิจัยได้ทำการประเมินธุรกิจที่ได้รับผลในเชิงบวกและลบจากมาตรการควบคุมการระบาดในระลอกที่ 3 ดังนี้

รูปที่ 5: สรุปภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในระสั้นจากการระบาดระลอกที่ 3

ที่มา: ประเมินผลกระทบของมาตรการโดยคณะผู้วิจัย

นัยยะที่ 3: ผลกระทบของโควิด-19 กับขนาดของธุรกิจ

หากเปรียบเทียบผลกระทบของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในมิติของขนาดของธุรกิจจะพบว่าธุรกิจขนาดกลางและย่อมจะได้รับผลกระทบที่สูงกว่า ซึ่งเกิดขึ้นจาก 3 เหตุผล ดังนี้

1. พื้นฐานของ SMEs มีความเปราะบางมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ โดย SMEs มักจะมีสภาพคล่องฉุกเฉินที่ใช้เงินสะสมที่ต่ำกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกเรียกเก็บจาก SMEs จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.88 ซึ่งสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่ถูกเรียกเก็บที่ร้อยละ 6.24 นอกจากนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีเครื่องมือทางการเงินในการระดมเงินที่มากกว่า เช่น การอาศัยตลาดหลักทรัพย์ในการออกหุ้นเพิ่มทุน การออกหุ้นกู้ เป็นต้น

2. มาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่อง อันได้แก่ มาตรการ Soft loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกออกแบบมาให้ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้รับความเสี่ยงหากเกิดหนี้ผิดชำระ ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและย่อมสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ยากกว่า

3. ผลการประเมินผลกระทบ พบว่าธุรกิจขนาดใหญ่มีรายได้ที่ลดลงน้อยกว่าในปี 2563 โดยพิจารณาจากธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ที่มีรายได้ลดลงเพียงร้อยละ 1.4 ในขณะที่เศรษฐกิจในภาพรวมจะมีการหดตัวลงในปีเดียวกันถึงร้อยละ 6 ทำให้เห็นว่าค่าเฉลี่ยของภาพรวมที่รวมเศรษฐกิจรายย่อยและรายใหญ่จะหดตัวลงสูงกว่าค่าสถิติของธุรกิจรายใหญ่จึงสะท้อนว่าธุรกิจรายเล็กได้รับผลกระทบที่สูงกว่า นอกจากนี้ หากพิจารณาคุณภาพหนี้ในภาคบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างสูง (ตามที่วิเคราะห์ในนัยยะที่ 1) พบว่าหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อมจะมีสถานการณ์ที่น่ากังวลใจมากกว่าทั้งหนี้ที่ถูกจับตามอง และหนี้ที่สงสัยจะสูญ[6]

นั่นคือ กลุ่มธุรกิจที่เป็นเป้าหมายของมาตรการอุดหนุน ควรจะเป็น กลุ่มธุรกิจที่ขายสินค้าไม่คงทน และธุรกิจบริการเป็นหลักตามมุมมองความสามารถในการปรับตัว กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในระยะสั้น ได้แก่ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร การท่องเที่ยวและโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ ก่อสร้างเอกชน และสื่อสาร และกลุ่มธุรกิจเป้าหมายควรจะเป็นธุรกิจขนาดกลางและย่อมเป็นหลัก

เมื่อพิจารณาผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เป็นกลุ่มแรงงาน จะพบว่า แรงงานจะได้รับผลกระทบใน 3 นัยยะ คือ

นัยยะที่ 1: จำนวนคนว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น

ข้อมูลการสำรวจสภาวะการทำงานของสำนักงานสถิติ พบว่า ในช่วงก่อนที่เกิดปัญหาโควิด-19 นั้น จำนวนผู้ว่างงานในไทยจะอยู่ที่ประมาณ 3.5-3.95 แสนคน ในขณะที่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จำนวนผู้ว่างงานมีเพิ่มขึ้นเป็น 7.45-7.58 คน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3 แสนคน จึงอนุมานได้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแรงงานตามนัยยะแรก คือ จำนวนคนที่ว่างงานสูงขึ้น ประมาณ 3 แสนคน

รูปที่ 6: ข้อมูลการสำรวจสภาวะการทำงาน

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

นัยยะที่ 2: มีงานทำแต่อาจจะไม่ได้รับค่าตอบแทน

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มแรงงานในรูปแบบของ “เสมือนว่างงาน” โดยพบว่ามีกลุ่มแรงงานจำนวนไม่น้อยที่ทำงานมากกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไป แต่ได้ค่าตอบแทนไม่ใช่ในรูปแบบของเงิน ในขณะเดียวกัน มีแรงงานบางส่วนที่ไม่ได้ทำงาน หรือทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง อาจจะได้ค่าแรงหรือไม่ได้ค่าแรง แต่ยังมีตำแหน่งงานที่สามารถกลับไปทำได้ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มมักจะได้รายได้ที่ต่ำและไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

รูปที่ 7: จำนวนผู้เสมือนว่างงาน

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

จำนวนผู้เสมือนว่างงานข้างต้น พบว่าเกิดขึ้นมากในช่วงการแพร่ระบาดที่รุนแรงในระลอกที่ 1 และในระลอกที่ 2 โดยมีจำนวนแรงงานในกลุ่มนี้สูงถึง 5.41 และ 4.38 ล้านคนตามลำดับ สถิติสำหรับระลอกที่ 3 ยังไม่ปรากฎแต่คาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์น่าจะรุนแรงไม่น้อยไปกว่ากัน

นัยยะที่ 3: กลุ่มแรงงานที่มีงาน ได้รับค่าตอบแทน แต่อาจจะได้ค่าตอบแทนลดลง

ปัญหาประการหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ จำนวนชั่วโมงการทำงานมีทิศทางลดลงจำนวนมากในช่วงที่เกิดการระบาดระลอกที่ 1 และ 2 โดยชั่วโมงการทำงานลดลงเหลือ 38.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 40.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตามลำดับ เมี่อเทียบกับก่อนที่เกิดโควิด (ปี 2019) ที่ชั่วโมงการทำงานจะอยู่ที่ 41.3-43.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

รูปที่ 8: จำนวนชั่วโมงการทำงาน

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

นั่นคือ กลุ่มแรงงานที่เป็นเป้าหมายของมาตรการอุดหนุน ควรจะเป็นกลุ่มแรงงานที่ว่างงาน เสมือนว่างงาน และกลุ่มที่ได้รับค่าตอบแทนลดลงอันเนื่องมาจากชั่วโมงการทำงานลดลง

2. ขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสม

หลักการในการช่วยเหลืออุดหนุนในเรื่องของขนาดและระยะเวลา ควรจะมีการสนับสนุนมากเพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจและแรงงานสามารถประคองตัวให้ได้จนกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นคืนได้ดีพอที่จะเอาตัวรอดได้

คณะผู้วิจัยกำหนดหลักการในเรื่องของขนาดว่าควรจะให้การสนับสนุนที่เพียงพอโดยยึดเอาจากสภาพคล่องของภาคธุรกิจที่ประสบปัญหา (สำหรับภาคธุรกิจ) และรายได้ขั้นต่ำในการดำรงชีวิต (สำหรับแรงงาน) สำหรับภาคธุรกิจ สภาพคล่องที่ภาคธุรกิจประสบปัญหาควรจะพิจารณาจากหนี้ที่ถูกกล่าวถึง หรือ Special Mentioned Loan ซึ่งหากใช้สถิติจากธนาคารแห่งประเทศไทยจะพบว่าหนี้ส่วนนี้มีมากถึง 7.75 แสนล้านบาท[7]

ตารางที่ 1: ยอดคงค้างสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษจำแนกตามหมวดธุรกิจ

หมวดเศรษฐกิจยอดคงค้าง SM
การเกษตร การป่าไม้ และการประมง           14,420
การเหมืองแร่และเหมืองหิน           15,959
การผลิต         233,171
การก่อสร้าง           39,503
การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์         208,970
กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย           22,905
กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์           57,193
การสาธารณูปโภคและการขนส่ง           46,132
การบริการ         134,028
อื่น ๆ             2,925
รวม         775,206

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับกลุ่มแรงงาน หากพิจารณารายได้ขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และคิดวันทำงาน 26 วันต่อเดือนจะพบว่ารายได้ขั้นต่ำในการดำรงชีวิตจะเท่ากับ 7,800 บาท ซึ่งหากภาครัฐควรจะอุดหนุน ควรจะอุดหนุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของรายได้ขั้นต่ำ (เนื่องจากรายได้บางส่วนจะถูกใช้ในการออมและการชำระหนี้ที่ควรจะพักชำระหนี้ไปก่อน เหลือเพียงร้อยละ 60 ในการใช้จ่ายในครัวเรือน) หรือเทียบเท่ากับ 4,680 บาทต่อเดือน

หลักการในเรื่องของระยะเวลา แม้ว่าการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ. ถึง ธ.ค. ปี 2565 แต่การอุดหนุนเพื่อประคองเศรษฐกิจอาจจะไม่ต้องใช้ระยะเวลามากถึงขนาดนั้น โดยหากพิจารณาจากสถานการณ์การฟื้นตัวในระลอกแรก จะพบว่าการฟื้นตัวของกำลังซื้อสามารถกลับมาได้เร็วมากและเกิดขึ้นแม้ในขณะที่จำนวนการติดเชื้อรายวันยังไม่เป็นศูนย์

รูปด้านล่างแสดงสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดระลอกแรก พบว่าการฟื้นตัวเกิดขึ้นภายใน 3-4 เดือนนับหลังจากที่การแพร่ระบาดรายวันลดลงน้อยกว่า 40 คนต่อวัน

รูปที่ 9: การฟื้นตัวสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดระลอกแรก สะท้อนจากดัชนีต่าๆ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

หากใช้หลักคิดนี้ในการประมาณการร่วมกับข้อมูลการประมาณการการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ของ อ. บวรศม และ SCB EIC จะพบว่า การแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 น่าจะสิ้นสุดลงในช่วงเดือน มิ.ย – ส.ค. ซึ่งสะท้อนระยะเวลาในการช่วยเหลือประมาณ 3-4 เดือน

รูปที่ 10: ข้อมูลการประมาณการการแพร่ระบาดระลอกที่ 3

ที่มา: ข้อมูลจาก อ. บวรศม และ SCB EIC

3. นโยบายทางเลือกที่เหมาะสม

หากพิจารณาจากการแพร่ระบาดระลอกที่ 1 และ 2 มาตรการทางเลือกที่ภาครัฐได้ดำเนินการ ประกอบไปด้วยชุดมาตรการที่สำคัญ 6 ชุด ได้แก่ มาตรการลดค่าครองชีพ มาตรการอุดหนุนแบบให้เปล่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (คนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน) มาตรการช่วยเหลือผ่านกองทุนประกันสังคม มาตรการช่วยเหลือทางภาษี และมาตรการทางด้านการเงินในการให้สินเชื่อ

คณะผู้วิจัยได้ทำการสรุปผลการประเมินตัวคูณทางเศรษฐกิจโดยอ้างอิงจากบทความวิจัยที่ผ่านมาในรายงานนี้ จะพบว่าตัวคูณทางเศรษฐกิจจะสูงที่สุดในโครงการคนละครึ่ง เพราะมีรูปแบบการใช้จ่ายแบบ Copay ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องลงเงินตัวเองด้วยในการใช้จ่าย และยังมีประสิทธิผลสูงจากการที่มีข้อกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการในแอฟฟลิเคชั่นของภาครัฐ ซึ่งกำหนดให้ร้านที่เข้าร่วมเป็นร้านขนาดย่อมค่อนข้างเยอะ

สำหรับมาตรการลดค่าครองชีพ กับเงินอุดหนุนให้เปล่าจะมีประสิทธิภาพเป็นอันดับที่สอง โดยมีจุดเด่นคือ การช่วยเหลือคนที่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเข้าร่วมโครงการ Copay กับภาครัฐ เช่น คนที่ขาดรายได้จากการว่างงานอย่างเรื้อรัง เป็นต้น

ท้ายที่สุด จะเป็นกลุ่มมาตรการที่มีประสิทธิภาพต่ำ ประกอบไปด้วย โครงการเราเที่ยวดัวยกัน (ค่าตัวคูณ 0.64) การอุดหนุนผ่านมาตรการประกันสังคม (ค่าตัวคูณ 0.59-0.70) มาตรการอุดหนุนทางภาษี (ค่าตัวคูณ น้อยกว่า 0.8) และมาตรการให้สินเชื่อแบบ Soft loan (ค่าตัวคูณ 0.34-0.56)

ทั้งนี้ แม้ว่าประสิทธิภาพของมาตรการดังกล่าวจะอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่ทั้ง 4 มาตรการต่างก็มีจุดเด่นในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยโครงการเราเที่ยวดัวยกันมีจุดเด่นที่การเข้าถึงธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ มาตรการประกันสังคมจะช่วยให้ธุรกิจชะลอการเลิกจ้างแรงงานได้ดี มาตรการอุดหนุนทางภาษีจะช่วยได้เฉพาะธุรกิจที่เสียภาษีเท่านั้น แต่การเป็นธุรกิจที่เสียภาษีย่อมสะท้อนว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับภาครัฐเพื่อนำมาใช้พัฒนาประเทศตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว จึงไม่ควรจะละเลยไม่เข้าไปช่วยเหลือ ท้ายที่สุดมาตรการทางด้านการเงินกลุ่ม Soft loan จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจรายย่อยได้รับสินเชื่อสภาพคล่องเพื่อประคองเศรษฐกิจ

มาตรการช่วยเหลือจึงควรจะอยู่ในรูปของการผสมผสานทั้ง 6 มาตรการข้างต้นเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ครบถ้วน เพียงพอ และปรับเพิ่มน้ำหนักให้กับมาตรการที่ตัวคูณทางเศรษฐกิจสูง

ตารางที่ 2: สรุปตัวคูณทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของมาตรการช่วยเหลือต่างๆ

มาตรการตัวคูณทางเศรษฐกิจประสิทธิภาพ
1. ลดค่าครองชีพ0.85ประสิทธิภาพอันดับที่สอง จุดเด่นคือ สำหรับประชาชนที่ไม่มีรายได้มา Copay
2. เงินอุดหนุนให้เปล่า0.85
3. มาตรการกระตุ้นศก.
  – คนละครึ่ง1.08-1.83ประสิทธิภาพสูงเพราะมี Copay และยิ่งดีเพราะกำหนดเงื่อนไขร้านเข้าร่วมโครงการ
  – เราเที่ยวด้วยกัน0.64ประสิทธิภาพต่ำ แต่ช่วยภาคท่องเที่ยวได้ดี
มาตรการตัวคูณทางเศรษฐกิจประสิทธิภาพ
4. ประกันสังคม0.59-0.70ประสิทธิภาพจำกัด แต่ช่วยเรื่องการจ้างงาน
5. มาตรการทางภาษี<0.8ใช้ได้กับธุรกิจที่เสียภาษีเท่านั้น
6. Soft loan0.34-0.56ประสิทธิภาพต่ำ แต่ช่วยธุรกิจขนาดเล็กให้มีสภาพคล่อง

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัยในบทความก่อนๆ และตัวคูณมาตรการทางภาษีใช้ข้อมูลจาก KKP[8]


[1] https://www.thairath.co.th/news/crime/2068660

[2] คณะผู้วิจัยกำหนดให้ค่าสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยกว่า 40 รายต่อวันเป็นเกณฑ์ในการระบุว่าการแพร่ระบาดได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาได้เกือบเป็นปกติและผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจที่จะจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง

[3] ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2564) “ส่องเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤติโควิด ด้วยวัคซีน.”

[4] https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/MonetPolicyComittee/MPR/Pages/default.aspx

[5] การวิเคราะห์ประเมินจากสถิติการขาย ณ เดือน ธันวาคม 2019 เทียบกับการขายสินค้าของแต่ละหมวดในช่วงที่เกิดโควิด-19 เพื่อสะท้อนว่ากลุ่มใดสามารถฟื้นตัวได้เร็วจากการแพร่ระบาดในระลอกที่ 1 (เม.ย. 20) ระลอกที่ 2 (ม.ค.-มี.ค. 20)

[6] พิจารณาเฉพาะหนี้ในธุรกิจท่องเที่ยว สัดส่วนหนี้ที่ถูกจับตามองสำหรับธุรกิจขนาดกลางและย่อมอยู่ที่ร้อยละ 13.9 เทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ร้อยละ 10.6 และสัดส่วนหนี้ที่สงสัยจะสูญสำหรับธุรกิจขนาดกลางและย่อมจะอยู่ที่ร้อยละ 6.4 เทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ร้อยละ 0.2

[7] https://www.bot.or.th/Thai/Statistics/FinancialInstitutions/SM/Pages/default.aspx

[8] https://thaipublica.org/2020/02/kkp-research05/

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

คณะวิจัย TDRI
20 พฤษภาคม 2564

นักวิจัย

แชร์บทความนี้