ประมาณการผลของกฏหมายแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (American Rescue Plan) ต่อประเทศไทย

ในเดือนมีนาคม 2564 ประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามในกฏหมายแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (American Rescue Plan) ในวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตกต่ำของสหรัฐอเมริกาอันเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมีมาตรการช่วยเหลือที่สำคัญ คือ การจ่ายเช็คโดยตรงจำนวน 1,400 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 75,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี การขยายการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานจำนวน 300 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ไปจนถึงวันที่ 6 ก.ย. 2564 การเพิ่มความช่วยเหลือด้าน Food Aid การขยายการลดหย่อนภาษีบุตรเป็น 3,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อบุตร 1 คนสำหรับบุตรที่อายุต่ำกว่า 6 ปี และ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อบุตร 1 คนสำหรับบุตรอายุ 6-17 ปี การให้เงินอุดหนุนโรงเรียนและมหาวิทยาลัย การให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจ การให้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนและการตรวจโควิด-19 และการช่วยเหลือรัฐบาลระดับรัฐและระดับท้องถิ่น

หากไม่พิจารณาถึงแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (American Rescue Plan) สํานักงบประมาณของสภาคองเกรส (Congressional Budget Office, CBO) ได้ประมาณการณ์ว่า Real GDP ของสหรัฐอเมริกาในปี 2564 จะมีอัตราการเจริญเติบโตเท่ากับร้อยละ 4.6 ต่อปี หลังจากการใช้แพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (American Rescue Plan)  สถาบันต่างๆ ได้มีการประมาณการณ์อัตราการเจริญเติบโตของ Real GDP ของสหรัฐอเมริกา ดังเช่น Zandi and Yaros (2021) จาก Moody’s คาดการณ์ว่า Real GDP ของสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7 ต่อปีในไตรมาสแรกของปี 2564 และเพิ่มเป็นร้อยละ 8 ต่อปีในไตรมาศอื่นๆ ของปี 2564 และในปี 2565 Real GDP ของสหรัฐอเมริกาจะมากกว่าภาวะปกติร้อย 4 ต่อปี ในขณะที่ Feler (2021) จาก University of California, Los Angeles (UCLA) ประมาณการณ์ว่า Real GDP ของสหรัฐอเมริกา จะมีอัตราการเจริญเติบโตเท่ากับร้อยละ 6.3 และ 4.6 ต่อปีในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ นอกจากนี้ KPMG (2021) ได้ประมาณการณ์ว่า Real GDP ของสหรัฐอเมริกา จะมีอัตราการเจริญเติบโตเท่ากับร้อยละ 5.9 และ 4.3 ต่อปีในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ (ตารางที่ 1)

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอาจส่งผลต่อประเทศไทยในด้านการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา จากการประมาณการณ์โดยแบบจำลองทางเศรษฐมิติ พบว่า หาก Real GDP ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลให้การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.12 โดยเฉลี่ย  หากพิจารณาอ้ตราการเจริญเติบโตของ Real GDP ของสหรัฐอเมริกาที่ประมาณการณ์โดย Moody’s ว่าผลของแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (American Rescue Plan) ซึ่งมีผลการประมาณการณ์ที่สูงสุดที่นำมาพิจารณา จะทำให้ Real GDP ของสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นจากเดิมโดยเฉลี่ยร้อยละ 3.1 ต่อปีในปี 2565 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปีในปี 2565 เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (American Rescue Plan)  ดังนั้นจะพบว่า ผลของการใช้แพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (American Rescue Plan) จะทำให้การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นมากกว่ากรณีไม่มีแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (American Rescue Plan) โดยเฉลี่ยเท่ากับ ร้อยละ 6.57 ต่อปีในปี 2564 และร้อยละ 8.48 ต่อปีในปี 2565 (เมื่อกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่) หากพิจารณาการเติบโตของ Real GDP ของสหรัฐอเมริกาที่ประมาณการณ์โดย KPMG ซึ่งมีผลการประมาณการณ์ที่ต่ำสุดที่นำมาพิจารณา จะทำให้ Real GDP ของสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 1.3 ต่อปีในปี 2565 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ต่อปีในปี 2565 เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (American Rescue Plan)  ดังนั้นจะพบว่า ผลของการใช้แพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (American Rescue Plan) จะทำให้การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นมากกว่ากรณีไม่มีแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (American Rescue Plan) โดยเฉลี่ย เท่ากับ ร้อยละ 2.76 ต่อปีในปี 2564 และร้อยละ 2.97 ต่อปีในปี 2565 (เมื่อกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่) (ตารางที่ 2) ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าผลของแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (American Rescue Plan) อาจทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2564 เพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ 2.76 – 7.75 และในช่วงปี 2565 เพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ 2.97 – 8.48

ตารางที่ 1: ประมาณการณ์อัตราการเจริญเติบโตของ Real GDP ประเทศสหรัฐอเมริกา (หน่วย: ร้อยละต่อปี)

หมายเหตุ: ค่าในวงเล็บ คือ (ส่วนต่างระหว่างค่าคาดการณ์กรณีมี American Rescue Plan กับกรณีไม่มี มี American Rescue Plan

ที่มา: Congressional Budget Office (2021), KPMG (2021), Feler (2021), Zandi and Yaros (2021)

ตารางที่ 2: ประมาณการณ์ร้อยละของการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของประเทศไทยไปสหรัฐอเมริกาเมื่อเทียบกับกรณีไม่มี American Rescue Plan จำแนกตามการประมาณการณ์อัตราการเจริญเติบโตของ Real GDP ของสหรัฐอเมริกาของสถาบันต่างๆ (หน่วย: ร้อยละต่อปี)

สถาบัน25642565
KPMG2.762.97
UCLA4.494.49
Moody’s (เฉลี่ย)6.578.48

ที่มา: จากการคำนวณ

สำหรับด้านการนำเข้าของไทยจากสหรัฐอเมริกา พบว่า การเปลี่ยนแปลงของ Real GDP ของสหรัฐอเมริกาไม่ส่งผลต่อการนำเข้าของประเทศไทยจากสหรัฐอเมริกา

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐ Kraipornsak (2020) พบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริง ทุนสำรองระหว่างประเทศ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวประชากร หนี้ระหว่างประเทศ เมื่อพิจารณาร่วมกับผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐต่อการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา หากปัจจัยอื่นๆ คงที่ การส่งออกของประเทศไทยไปสหรัฐอเมริกาจะทำให้ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น โดย Kraipornsak (2020๗ พบว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อวัดเป็นจำนวนเดือนของมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น 1 เดือนจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐลดลงร้อยละ 0.16 เมื่อพิจารณาทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อวัดเป็นจำนวนเดือนของมูลค่าการนำเข้าของไทยในเดือน มกราคม 2564 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 12.306 เดือน (CEIC, 2021) อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะลดลงประมาณร้อยละ 0.05 (KPMG), 0.09 (UCLA), 0.13 (Moody’s) ในปี 2564 และลดลงประมาณร้อยละ 0.06 (KPMG), 0.09 (UCLA), 0.17 (Moody’s) ในปี 2565 ซึ่งถือว่าส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างน้อย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ผศ.ดร. ปิยะพรรณ ช่างวัฒนชัย และทีมวิจัย
14 พฤษภาคม 2564