ประสิทธิภาพของโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ (Co-payment) จากรัฐบาล

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระยะเริ่มแรกต่อประเทศไทยส่วนหนึ่งเกิดจากรายได้หลักของประเทศอย่างการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ธุรกิจภาคท่องเที่ยวหลายแห่งจำเป็นต้องหยุดดำเนินกิจการ การระบาดยังส่งผลต่อเศรษฐกิจมหาภาคซึ่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศ จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 62 และจำนวนผู้ที่มีงานประจำแต่ไม่ได้ทำงานเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 314 ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนถึงเมษายน 2563 ดังตารางที่ 1 กลุ่มที่น่าเป็นห่วงจากภาวะตลาดแรงงานที่หดตัวคือกลุ่มเด็กจบใหม่ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวน 4.27 แสนคน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่มีตำแหน่งงานรองรับ

ตารางที่ 1: การมีงานทำและการว่างงานเดือน มกราคม.-เมษายน. 2563

ที่มา: คำนวนจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร รายเดือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ

โครงการ Co-payment คือ มาตราการตอบสนองจากภาครัฐที่จะบรรเทาการว่างงานของเด็กจบใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 โครงการตั้งงบประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท อุดหนุนค่าจ้างให้นายจ้างในระบบประกันสังคมที่จ้างงานเด็กจบใหม่ครึ่งหนึ่งของอัตราเงินเดือนขึ้นต่ำตามวุฒิการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จนถึงระดับปริญญาตรี (ม.6 ปวช. ปวส. และ ปริญญาตรี) สูงสุด 7,500 บาทต่อตำแหน่ง รวมทั้งสิ้น 260,000 ตำแหน่ง เป็นระยะเวลา 15 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564

เงื่อนไขสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ Co-payment แบ่งเป็นส่วนของนายจ้างและเด็กจบใหม่ เงื่อนไขของนายจ้างในการเข้าร่วมโครงการหลัก ๆ คือเป็นนายจ้างในระบบประกันสังคม และไม่มีการเลิกจ้างเกินร้อยละ 15 ของการจ้างงานเดิมภายในระยะเวลา 1 ปี เงื่อนไขสำหรับเด็กจบใหม่ คือ เป็นผู้ไม่เคยอยู่ในระบบประกันสังคมมาก่อน เป็นผู้จบการศึกษาในปี พ.ศ. 2562 หรือ 2563 หรือ มีอายุไม่เกิน 25 ปี

สถิติผลการดำเนินงานงานโครงการ ณ เดือนเมษายน 2564 พบว่า โครงการเกิดจ้างงาน 3 หมื่นตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 27 จากตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร 1.1 แสนตำแหน่ง โดย 6.7 หมื่นตำแหน่งเป็นตำแหน่งงานต่ำกว่าปริญญาตรี และร้อยละ 67 เป็นตำแหน่งงานที่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง นอกจากนี้ 1.1 แสนตำแหน่งงานที่เปิดในโครงการคิดเป็นเพียงร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับเป้าหมายโครงการ 2.6 แสนตำแหน่งงาน หากประเมินจากความจุรวมของโครงการทั้งหมด 3.9 ล้าน man-month[1]  ปัจจุบันใช้ไป 2.1 แสน man-month คิดเป็นเพียงร้อยละ 12 เมื่อคำนวนจากการจ้างงานที่เกิดขึ้น 3 หมื่นตำแหน่ง

รูปที่ 1 ผลการดำเนินงานโครงการ ณ เมษายน 2564

ที่มา: เว็บไซต์โครงการ โดยกรมการจัดหางาน (https://www.จ้างงานเด็กจบใหม่.com/register/landing)

จากผลการดำเนินงานระยะเวลาร่วม 7 เดือนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการแสดงให้เห็นว่าโครงการมีประสิทธิภาพต่ำ ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่กระทบเกือบทุกอุตสาหกรรม หลายธุรกิจไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ และกิจการที่ดำเนินการจำเป็นต้องลดต้นทุนเพื่อให้กิจการอยู่รอดการจ้างงานจึงเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นเงื่อนไขทางธุรกิจทำให้การจ้างงานเกิดขึ้นได้เฉพาะในอุตสาหกรรมที่เติบโต หรือคงตัวเท่านั้นกิจการที่ได้รับผลกระทบจะไม่สามารถจ้างงานได้เว้นแต่จะเลิกจ้างพนักงานเก่า อีกส่วนหนึ่งคือเงื่อนไขของโครงการที่ช่วยอุดหนุนเฉพาะการจ้างตำแหน่งงานประจำ และจำเป็นต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ทำให้โครงการไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจขนาดเล็กที่จ้างงานเพียงไม่กี่ตำแหน่ง และอาจต้องการจ้างงานแบบไม่ผูกมัด

ดังนั้นแนวทางการพัฒนาโครงการจึงควรลดเงื่อนไขข้อจำกัดการเข้าร่วมโครงการ เช่น เงื่อนไขการเลิกจ้างไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 และไม่ควรจำกัดเฉพาะการจ้างงานประจำ ควรเพิ่มขอบเขตการจ้างงานมากขึ้น เช่น part-time การฝึกงาน หรือสัญญาจ้างชั่วคราว


[1] 260,000 ตำแหน่ง * 15 เดือน = 3.9 ล้าน man-month

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

คณะวิจัย TDRI
14 พฤษภาคม 2564