tdri logo
tdri logo
14 พฤษภาคม 2021
Read in Minutes

Views

ปัญหาสังคมจากการระบาดระลอกที่ 3

การเข้าสู่กระบวนการกักตัวและโรงพยาบาลสนามเป็นปัญหาสังคมสำคัญที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกที่ 3

จุดเริ่มต้นของการระบาดในครั้งนี้ ขยายขึ้นจากปัญหาสังคมเดิมซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วช่วงการระบาดระลอกที่ 2 คือ การไม่ระมัดระวังตนเพื่อป้องกันความเสี่ยง เกิดพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ เช่น ใช้บริการสถานที่แออัดอย่างสถานบันเทิง อันนำไปสู่ปัญหาการไม่เปิดเผยไทม์ไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกประนามจากสังคม รวมถึงการไม่ป้องกันความเสี่ยงในการแพร่เชื้อของตน ผู้ที่มีความเสี่ยงยังคงเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวันอยู่ ก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระขายของเชื้อจนไม่สามารถควบคุมได้[1]

เนื่องจากการแพร่ระบาดในระลอกนี้เกิดขึ้นจากเชื้อ “สายพันธุ์อังกฤษ” ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่ในไทย การไม่ระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้นำมาสู่การแพร่ระบาดในวงกว้างซึ่งไม่สามารถป้องกันได้ จำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวันนับตั้งแต่ “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ถูกเปิดเผยข้อมูลช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 พุ่งสูงขึ้นจากยอดเดิมก่อนหน้ามาก[2]

ในการนี้ ปัญหาสังคมทางอ้อมได้เกิดขึ้น คือ การที่ประชาชนซึ่งตื่นตระหนกต่อการแพร่ระบาด เข้าใช้บริการทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก จนผู้ป่วยอื่นๆ เข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ การบริหารจัดการการแพร่ระบาดในวงกว้างที่ไม่มีประสิทธิภาพเช่นนี้ ได้เพิ่มภาระแก่โรงพยาบาลขึ้น ความตื่นตระหนกจากสายพันธุ์อังกฤษได้ทำให้ประชาชนเข้าใช้บริการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลสูง จนเป็นเหตุให้โรงพยาบาลหลายแห่งไม่สามารถรองรับการตรวจได้อีก เนื่องจากบุคลากรและสถานที่ไม่เพียงพอรองรับ ชุดเครื่องมือสำหรับการตรวจไม่เพียงพอ[3]

จำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นนี้ เป็นเหตุให้เกิดความจำเป็นของการต้องกักตัวและใช้งานโรงพยาบาลสนามในการควบคุมการแพร่กระจายและความเสี่ยงต่อชีวิตขึ้น สาธารณสุขไทยได้มีการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ผู้ที่อาจจะมีภาวะเสี่ยงในการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อให้ทำการกักบริเวณเพื่อเฝ้าระวังอาการ ในขณะที่โรงพยาบาลสนามถูกจัดตั้งขึ้นหลายแห่งเพื่อลดภาระของโรงพยาบาลลง

ในส่วนนี้ ปัญหาสังคมส่วนแรกได้เกิดขึ้น คือ การไม่เข้าสู่กระบวนการกักตัวของผู้ที่มีภาวะเสี่ยง ปัญหานี้เกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น ผู้ที่เคยอยู่ในสถานที่เสี่ยงไม่ยอมกักตัวเอง ยังคงเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ อยู่[4] หรือผู้ที่ถูกกำหนดให้ต้องกักตัว มิได้ดำเนินการกักตัวถูกต้องตามหลักการ บางส่วนยังคงมีการเดินทางออกนอกสถานที่กักตัวอยู่ (โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่มีบุคคลใกล้ชิดช่วยอำนวยการสนับสนุนการกักตัว ที่จะต้องพึ่งพาการดำรงชีพประจำวันโดยตนเอง) บางส่วนทำการกักตัวไม่ครบกำหนด 14 วัน[5] เป็นต้น การที่ระบบการเฝ้าระวังความเสี่ยงและการกักตัวเองที่ไม่มีประสิทธิภาพเช่นนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงกระจายออกไป

ไม่เพียงแค่นี้ แม้ว่าปัญหาการแพร่ระบาดโดยหลักจะเกิดจากการไม่ระมัดระวังเรื่องการแพร่เชื้อ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เหตุที่การแพร่ระบาดที่ไม่สามารถควบคุมได้เกิดขึ้นจากการที่ผู้ที่มีความเสี่ยงไม่ทราบได้ว่า เมื่อเกิดความเสี่ยงหรือเกิดการติดเชื้อแล้วจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร ขณะที่ช่องทางสายด่วนเพื่อเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อมีศักยภาพในการดำเนินการที่จำกัด ไม่สามารถรองรับปริมาณผู้ติดเชื้อที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากได้[6] จนบางรายเสียชีวิตเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงระบบรองรับผู้ป่วย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้ามาดูแลได้[7]

นอกจากนี้ โรงพยาบาลสนามเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น ในการระบาดระลอกก่อนๆ จะพบว่า ชุมชนหลายแห่งแสดงออกถึงการต่อต้านการนำโรงพยาบาลสนามมาตั้งในพื้นที่ เนื่องจากกังวลเรื่องความเสี่ยงของการติดเชื้อ ในการระบาดระลอกนี้ แม้ว่าการต่อต้านจะลดลงบ้างเนื่องจากความจำเป็นในการตั้งโรงพยาบาลสนาม รวมถึงเอกชนเข้ามาสนับสนุนพื้นที่ในการตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น หากแต่ก็ได้นำมาสู่ปัญหาเกี่ยวกับโรงพยาบาลสนามใหม่ คือ ปัญหาประชาชนไม่อยากเข้าใช้งานโรงพยาบาลสนาม

          ปัญหาสังคมส่วนที่สอง ประชาชนไม่อยากเข้าใช้งานโรงพยาบาลสนามโดยหลักเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลสนามไม่เหมาะควรหรือเหมาะสมกับมาตรฐานการใช้งาน ความเห็นของประชาชนหลายแห่งมองว่า การที่โรงพยาบาลสนามไม่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว เช่น ไม่มีการใช้ฉากกั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่อยากเข้าใช้บริการ[8] ขณะเดียวกัน การที่โรงพยาบาลสนามหลายแห่งไม่สามารถควบคุมมาตรฐานได้ ความปลอดภัยได้กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ มีรายงานว่า คนไข้สตรีในโรงพยาบาลสนามถูกคุกคามทางเพศจากคนไข้ชายโดยการแอบถ่าย[9]

          จากปัญหาข้างต้น จะพบว่า ปัญหาโดยหลักที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในระดับบุคคลที่ไม่มีประสิทธิภาพ 2) ปัญหาการกักตัวและใช้งานโรงพยาบาลสนามที่ไม่มีประสิทธิภาพ และ 3) การบริหารจัดการความตื่นตระหนกอันนำไปสู่การเข้ารับบริการทางการแพทย์โดยไม่จำเป็น เพื่อลดทอนสิ่งที่เกิดขึ้นจากปัญหาเหล่านี้ บทความชิ้นนี้จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ

          1. ภาครัฐต้องมีระบบรองรับการกักตัวที่บ้านที่มีประสิทธิภาพ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่มีความเสี่ยงไม่ออกเดินทางจากสถานที่กักตัวภายในบ้าน เช่น มีระบบจัดหาอาหารเพื่อนำส่ง หรือมีเงินอุดหนุนสำหรับยังชีพระหว่างการกักตัว เนื่องจากผู้ที่ต้องกักตัวบางส่วนอาจมีข้อจำกัดในการดำรงชีวิตประจำวัน บางส่วนอาจมีข้อจำกัดทางรายได้ทำให้ต้องเดินทางออกจากบ้าน เป็นต้น

          2. การดำเนินการโรงพยาบาลสนามจะต้องมีมาตรฐานที่ถูกต้อง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่ต้องใช้งานโรงพยาบาลสนามเข้ามาใช้บริการ เช่น มีระบบรักษาความปลอดภัยและรับข้อร้องเรียน มีการควบคุมความแออัดภายในพื้นที่ มีฉากกั้นรักษาความเป็นส่วนตัว เป็นต้น

          3. ภาครัฐลดการเข้าสู่โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันความแออัด อันนำไปสู่การเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ โดยการสร้างแนวทางปฏิบัติตัวที่ชัดเจน (จัดทำคู่มือ (Guideline) การปฏิบัติตัว เพื่อใช้ประเมินความเสี่ยง/หนัก/เบา) มีการเผยแพร่อย่างทั่วถึง อาจประสานความร่วมมือกับบุคคลที่มีชื่อเสียง (Influencer) เพื่อใช้ลดความตื่นตระหนก

          4. ภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นด้านการรับมือโรคระบาดให้เกิดขึ้นในประชาชน ปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่ขยายตัวขึ้นโดยหลักเป็นผลจากการที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นในการดำเนินงานของภาครัฐ เช่น ประชาชนไม่เชื่อมั่นการควบคุมการแพร่กระจาย ส่งผลให้ประชาชนตื่นตระหนกและเข้ารับการตรวจโรคหรือเข้ารับบริการทางการแพทย์โดยไม่จำเป็น (ซึ่งอาจจำกัดผู้ที่จำเป็นให้เข้าไม่ถึงได้) ประชาชนปกปิดไทม์ไลน์ของตน เพราะกลัวว่าภาครัฐจะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนต่อสาธารณะในลักษณะของการประจาน ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือในการกักตัว เพราะไม่รัฐไม่ดำเนินการสนับสนุนการดำรงชีพระหว่างกักตัว รวมไปถึงการที่บุคลากรระดับสูงของภาครัฐติดเชื้อ ก็เป็นอีกเหตุสำคัญของความไม่เชื่อมั่นดังกล่าว

          ในส่วนนี้ ภาครัฐจะต้องแสดงความโปร่งใสในการบริหารจัดการโดยปฏิบัติด้านการรักษากับผู้ป่วยอย่างเท่าเทียมกัน มีมาตรการรองรับการกักตัวสำหรับสนับสนุนการดำรงชีวิต และสร้างมาตรฐานแก่โรงพยาบาลสนาม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า หากประชาชนติดเชื้อ หรือเกิดความเสี่ยงต้องกักตัว จะได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะควร


[1] ‘ไทม์ไลน์’ ที่หายไป พร้อมคลัสเตอร์ทองหล่อ, https://www.prachachat.net/columns/news-656713

[2] คลัสเตอร์ทองหล่อ โควิดสายพันธุ์อังกฤษ ระบาดแรงเร็ว 1.7 เท่า, https://www.prachachat.net/general/news-644473

[3] แห่ ‘ตรวจโควิด’ ทะลัก รพ.เอกชน, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/931318; ผอ.รพ.เอกชน แจงไม่รับตรวจเหตุเตียงไม่พอ รับรอบนี้อันตราย แนะรัฐเร่งนำเข้าวัคซีนอื่น, https://www.matichon.co.th/politics/news_2665753

[4] จวกยับ สาววัย 21 ติดเชื้อคลัสเตอร์ทองหล่อ บินกลับบ้านภูเก็ตใช้ชีวิตปกติ, https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6333407

[5] ญาติข้องใจ กักตัวไม่ครบ 14 วัน ก่อนกลับมาฟุบดับหน้าบ้าน, https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6386577

[6] เปิดสาเหตุ สายด่วน 1668 หาเตียงโควิด “โทรติดยาก”, https://www.pptvhd36.com/news/สุขภาพ/146027

[7] หัวหน้าทีมอีสปอร์ตยุคบุกเบิก เสียชีวิตจากโควิด-19 โพสต์ไม่มี รพ.รับตรวจ สายด่วนไม่รับ, https://www.thairath.co.th/sport/worldsport/esport/2076198

[8] ฟ้ากับเหว!! เทียบ “รพ.สนาม” ไทย-ต่างประเทศ ไร้ฉากกั้น-สวัสดิการพัง-ถูกคุกคาม-สุขภาพจิตเสื่อม, https://mgronline.com/live/detail/9640000037087

[9] น.ศ.โดนแอบถ่ายใน รพ.สนามเชียงใหม่ แจ้งความคนถ่าย-โพสต์-แชร์-เมนต์เสียหาย ทนายเผยเข้าข่ายกว่า 30 ราย, https://www.matichon.co.th/region/news_2692074

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

คณะวิจัย TDRI
14 พฤษภาคม 2564

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด